WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Monday, March 24, 2008

พิชิต สวนกลับทุนเก่าล้าสมัยผูกขาดกิจการทำไทยล้าหลัง

รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ ฟันธง “ทุนเก่า” ภายใต้ระบบ “ทุนศักดินา-ทุนอภิสิทธิ์ชน-ทุนนิยมผูกขาด” ฮุบกิจการหลายอย่างในประเทศไทยมากว่า 50 ปี สร้างความร่ำรวยกันไม่กี่ตระกูล ทั้ง ธนาคาร-โรงปูน-โรงเหล็ก-โรงกลั่น ทำชาติหายนะในวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 เพราะทุนพวกนี้เก่งแต่การผูกขาด จึงไม่ทันการแข่งขันในกระแส “โลกาภิวัตน์” การเปิดเสรีทางการเงินและการค้า


*หมายเหตุ : งานสัมมนา “โลกาภิวัตน์กับวิกฤติทุนนิยมไทย” หนึ่งในโครงการศึกษา “โลกาภิวัตน์กับพัฒนาการของไทย” จัดโดยสถาบันประชาธิปไตย กลุ่มเพื่อนรัฐธรรมนูญ 40 และชมรมฟ้าใหม่
ณ ห้องประชุมจิตติ ติงศภัทิย์ ชั้น 1 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันเสาร์ที่ 15 มีนาคม ที่ผ่านมา

ในเรื่องแรกจะคุยถึงวิกฤตการณ์ณ์เมื่อปี 2540 ว่ามันเกิดอะไรขึ้น และมันมีผลหรือนัยอย่างไรหลังจากนั้น ผมยังมองว่าตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา จนกระทั่งถึงรัฐประหารเมื่อ 19 กันยายน 2549 เกี่ยวโยงกับวิกฤตการณ์ณ์เศรษฐกิจปี 2540 ท่าทีที่เรามีต่อรัฐประหาร 2549 ว่ามันเป็นรัฐประหารที่ดี หรือมันเป็นรัฐประหารที่เลว เราจะปฏิเสธ หรือเราจะรับมันขึ้นอยู่กับมุมมองของคนคนนั้นที่มีต่อวิกฤตการณ์ณ์ปี 2540 อย่างชัดเจน
วิกฤตการณ์ปี 2540 มันเกิดมาก็ 10 ปีแล้ว ขึ้นปีที่ 11 ปัญหามีอยู่ว่า ผู้คนที่มองปัญหาเมื่อปี 2540 ก็ยังมองไปคนละทิศคนละทาง และก็สรุปกันไปคนละอย่าง ยกตัวอย่างง่ายๆ นะครับ ในคณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ นี้เอง ในหมู่คณาจารย์ที่เป็นนักเศรษฐศาตร์ที่เชื่อว่าตัวเองเป็นนักเศรษฐศาสตร์ชั้นยอดแล้วนะครับ ผมบอกว่าเชื่อว่านะครับ แต่จริงหรือเปล่าไม่รู้ คนที่เชื่อว่าเป็นนักเศรษฐศาสตร์ชั้ยยอดของประเทศไทยแล้วเนี่ย ก็ยังมองไปคนละอย่างเลย มองไปคนละทางว่าวิกฤตการณ์ปี 2540 นั้นมันเกิดขึ้นได้อย่างไร และบทเรียนต่อประเทศไทยข้างหน้าควรจะทำอย่างไร สรุปกันไปคนละทางแบบ 180 องศาเลยนะครับ บางคนสรุปว่าเราต้องใช้เศรษฐกิจพอเพียง คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เนี่ยนะครับ แต่งเป็นเพลง แต่งเป็นกลอนออกมาร้องกันในคณะ ขณะที่บางคนซึ่งอาจจะมีผมคนเดียวมั้ง กับอีก 2-3 คนที่ไม่กล้าออกหน้า
สรุปได้อีกอย่างหนึ่ง บอกว่าโลกาภิวัตน์นั้นมันมีประโยชน์ต่อประเทศไทย อยู่ที่ว่าเราจะใช้มันอย่างไรให้ได้ประโยชน์ แล้วการใช้ให้ได้ประโยชน์มันคือการที่ประเทศไทยมีการปรับตัว ประเทศที่เขาสามารถใช้ประโยชน์จากโลกาภิวัตน์ จนกระทั่งนำความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและสังคมมาสู่ของเขาได้นั้นมีตัวอย่างอยู่ และเราสมควรที่จะไปศึกษาประสบการณ์ตรงนั้น อันนี้ก็เป็นข้อสรุปอีกแบบหนึ่ง ซึ่งตรงข้ามกันเลย ยกตัวอย่างว่า วิกฤตการณ์เมื่อปี 2540 ที่มีผลกระทบกับการเมืองในปัจจุบันนี้อย่างชัดเจนเลยนะครับ สิ่งที่เราปฏิเสธกันไม่ได้เลยก็คือ แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ถ้าไปดูประวัติ แนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเราจะเห็นว่าเป็นครั้งแรกเลยว่า เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2540 คือ ไม่กี่เดือนหลังจากเกิดวิกฤตการณ์ แล้วประเทศเข้าสู่ไอเอ็มเอฟ
แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงที่เสนอในตอนนั้น ถ้ากลับไปอ่านจะทราบว่าเป็นการเสนอ มันไม่ใช่ปรัชญาการดำรงชีวิต แต่มันเป็นแนวทางการบริหารประเทศที่เสนอออกมาอย่างชัดเจนในเวลานั้น เพิ่งจะมาเมื่อระยะเวลา 1 ปี ที่ผ่านมานี้ที่ได้เปลี่ยนไปเป็นปรัชญาการดำเนินชีวิตไป อย่างนี้เป็นต้น
นี่คือนัยทางการเมืองของวิกฤตการณ์ปี 2540 นั้น จึงมีความจำเป็นที่จะย้อนหลังกลับไปคุยเพื่อดึงเอาบทเรียนนี้กลับมา ผลสอนอยู่ที่คณะเศรษฐศาสตร์ ผมให้นักศึกษาเขียนบทความเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยในระยะ 10 กว่าปีที่ผ่านมา นักศึกษาเกือบทั้งหมดที่เขียนส่งมาให้ผมนะครับ โทษว่าวิกฤติการณ์ปี 2540 เกิดจากการเปิดเสรีทางการเงิน และการเดินตามแนวทางทุนนิยม สรุปกันอย่างนี้เลยนะ นักศึกษาที่นี่ คณะเศรษฐศาสตร์ จะเขียนโดยไม่ได้ศึกษาข้อมูล และสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะว่าเมื่อ 10 ปีที่แล้วนักศึกษาที่นี่เพิ่ง 7-8 ขวบ ยังไม่รู้เรื่องอะไรหรอก แต่ว่าพอโตมาแล้วไปตามกระแส ไปตามสื่อต่างๆ ที่มันจะพูดถึงเหตุการณ์ปี 2540 ย้อนหลังไปบ้างตามสื่อ แล้วฟังอาจารย์เขียนตามห้องเรียนบางอะไรบ้าง แล้วเอามาเขียนให้ผม บอกว่าวิกฤตการณ์ปี 2540 เกิดจากประเทศไทยมีความพยายามที่จะพัฒนาเป็นทุนนิยม อย่างนี้เป็นต้น

ลำดับที่มา “ทุนนิยมโลก”
ผมจะสรุปโครงสร้างสภาวะเศรษฐกิจไทยโดยย่อๆ ก่อนเกิดวิกฤตการณ์เศรษฐกิจไทย ปี 2540 สภาวะที่เปลี่ยนแปลงไปของโลก และเศรษฐกิจไทยที่ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง และมีการเปิดให้มีเงินทุนไหลเข้าเฉพาะรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ซึ่งในเวลานั้นเรียกกันอย่างผิดๆ ว่า เป็นการเปิดเสรีทางการเงินซึ่งไม่ใช่ จากนั้นจะพูดถึงวิกฤตการณ์ 2540 ว่าเกิดอะไร และจะพูดถึงว่า หลังจากเกิดวิกฤตการณ์แล้ว วงการวิชาการ วงการการเมือง มีการสรุปผลเป็นอย่างไร
สิ่งที่เกิดขึ้นก่อนปี 2540 ในเหตุการณ์สำคัญคือ การล่มสลายของสังคมนิยมในปี 1989-1990 เริ่มต้นจากการล่มสลายของเยอรมันตะวันออก การพังทลายของกำแพงเบอร์ลิน สำหรับอายุอย่างพวกเรารู้ดี จนกระทั่งการล่มสลายของโซเวียต ประชากร 2-3 พันล้านคนที่อยู่ในระบบสังคมนิยม เข้าสู่ระบบทุนนิยม ประเทศเหล่านี้เปิดตลาด ให้มีกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลในทรัพย์สิน ให้ธุรกิจส่วนบุคคล เปิดตลาดคน 2-3 พันล้านคน เคยอยู่ในขอบ ถูกเปิดออก แล้วมีเศรษฐกิจใหม่ มีเงินทอง มีการผลิตสินค้าและบริการที่อยู่ในกลุ่มนั้น และขณะเดียวกันเป็นโอกาสทำให้ตลาด 2-3 พันล้านคน คุณจะเอาของไปขาย หรือเอาเงินไปลงทุนได้ ทุกวันนี้เราจะเปิดภัตตาคารอาหารไทยในรัสเซียทำได้ จากที่เมื่อก่อนทำไม่ได้ เห็นไหมครับ การล่มสลายของสังคมนิยม และการขยายตลาดของทุนนิยม เป็น “ทุนนิยมโลก” เป็นครั้งแรก ถอยหลังขึ้นไป เรายังไม่มีระบบทุนนิยม ที่เรียกว่า ทุนนิยมโลก อย่างแท้จริง เพราะประชากรโลก 1 ใน 3 ไม่ได้อยู่ในระบบตลาด
เมื่อเกิด “ทุนนิยมระดับโลก” อยู่ๆ มีพื้นที่ให้คุณขยายไปอีกกว่า 30% ส่งของไปขาย ส่งเงินไปลงทุน เพราะฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นคือการค้าระหว่างประเทศพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วมาก 200-300% ในช่วงเวลาไม่กี่ปี และรูปแบบที่สำคัญไปกว่าการไหลเวียนสินค้าคือ การไหลเวียนของเงินทุน เพราะถ้าการลงทุนระยะสั้น การผลิตของขายมันใช้เวลาผลิตที่นี่ส่งไปที่โน่น กับการส่งเงินไปพั้วะ เอาไปลงในนั้น เอาไปซื้อหุ้น ซื้อพันธบัตรในนั้น ถ้าอย่างยาวหน่อยคือไปสร้างเป็นโรงงาน จ้างแรงงานผลิตของออกมา คุณไม่ถูกจำกัดจะต้องลงทุนในญี่ปุ่น เกาหลี สหรัฐอเมริกา หรือยุโรป ซึ่งค่าแรงมันแพงมาก เป็นไปได้ถ้าคุณไปลงทุนในจีน เวียดนาม รัสเซีย หรือยุโรปตะวันออก ซึ่งค่าแรงถูกสุดๆ แต่อัตรากำไรสูงมาก ประชากรเริ่มมีเงิน แต่ไม่มีของให้ซื้อ ประชากรเริ่มมีเงินทำธุรกิจแต่ทำธุรกิจไม่ค่อยจะเป็น นี่คือโอกาสใหญ่ของทุนนิยมโลกที่ขยายเข้าไป

3 ปัจจัยที่ทำให้เกิด “โลกาภิวัตน์”
สิ่งที่เกิดขึ้นคือ การไหลเวียนของสินค้าและเงินทุนขนาดมหาศาล และปัจจัยของการเกิดโลกาภิวัตน์ประการแรกคือ 1.การล่มสลายของสังคมนิยม 2.นโยบายของประเทศทุนนิยมที่เจริญแล้ว นำโดยอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ประเทศที่เจริญแล้วทั้งหลาย เริ่มดำเนินนโยบายเศรษฐกิจเสรี ระดับโลกก่อนคนอื่นเขา ด้วยการผลักดันเปิดเศรษฐกิจเสรีในประเทศตัวเอง และผลักดันให้มีการเปิดเศรษฐกิจเสรีกับประเทศอื่นๆ ผลักดันให้มีการจัดตั้งองค์การการค้าโลก หรือ WTO ประเทศพัฒนาแล้ว ประเทศกำลังพัฒนา ร้อยกว่าประเทศทั่วโลก มาเจอกัน ตกลงกันว่าพร้อมใจกันหั่น หรือลดอัตราภาษีนำเข้าพร้อมกัน สินค้าที่เคยซื้อขายกันไม่ได้เลยซื้อขายกันได้ มีการส่งเสริมให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกลดภาษีนำเข้า ลดอุปสรรคการไหลเวียนของเงินทุน ลดอุปสรรคการลงทุน มาตรการที่กีดกันต่างชาติไม่ให้มาลงทุนประเทศของตัวเองค่อยๆ ลดลงไปเรื่อยๆ บางประเทศทำมาก ทำน้อย แล้วแต่ แต่ที่ทุกประเทศทำคือแข่งกันเปิดโอกาสให้ทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศของตัวเอง ในกิจการที่มีสัดส่วนการถือหุ้นเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
อย่างในอเมริกา ธนาคารพาณิชย์ไทย ถ้ามีความสามารถหรือมีปัญญาพอนะครับ สามารถเข้าไปเปิดธนาคาร เปิดสาขาแข่งกันในสหรัฐอเมริกาได้ ในอังกฤษเช่นกัน มีสถานะเท่ากับธนาคารสัญชาติสหรัฐอเมริกาหรืออังกฤษ ซึ่งหากเทียบกับในประเทศไทย ถ้าธนาคารต่างชาติจะมาเปิดในประเทศไทย เปิดเป็นสำนักงาน และมีสาขาได้ไม่เกิน 3 สาขา เป็นสำนักงานตัวแทน เช่น มีเอทีเอ็ม 1 ตู้ ถือเป็น 1 สาขา แบบนี้นะครับ ขณะที่ธนาคารเปิดสาขาเป็นเท่าไรก็ได้ เป็นร้อยๆ สาขา บางที 3 สาขาติดกันได้ ที่ท่าพระจันทร์ เคยเห็นใช่ไหมครับ 3 ธนาคาร ติดกันเลย ไม่รู้เปิดทำไม
3.การปฏิวัติทางเทคโนโลยี คือการปฏิวัติทางสารสนเทศและการสื่อสาร ไอซีที การเปิดอินเตอร์เน็ต การติดต่อสื่อสารในระบบไร้สายและดาวเทียม ซึ่งมันช่วยส่งข้อมูลกันได้ในเวลาอันรวดเร็ว และผลข้างเคียงคือการส่งตัวเลข ซึ่งพอส่งตัวเลขปุ๊บคือเรื่องเงิน ดังนั้นการปฏิรูป การปฏิวัติในระบบดิจิตัลทำให้เกิดการหมุนเวียนเงินทุนในระดับโลก แทนที่จะเป็นกระดาษ พันธบัตร ใบๆ ส่งกัน เป็นเพียงตัวเลขขึ้นหน้าจอเท่านั้นเอง แล้วกดดู
ใครที่อ่านโลกาภิวัตน์ รายละเอียดจะเยอะ แต่สรุปหลักๆ มีแค่ 3 อันนี้ เงื่อนไขการเกิด เมื่อภาวะเป็นแบบนี้ประเทศต่างๆ เริ่มเห็นหนทาง เอ๊ะ...สหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น มันลดภาษีนี่นะ เราอยู่ประเทศไทย เราส่งของไปขายได้ง่ายขึ้น แต่นั่นหมายความเราต้องลดภาษีให้เขาส่งของมาขายเราได้ง่ายขึ้น เขาลดอุปสรรคการลงทุนด้วยการลดภาษี ทุนต่างประเทศให้เราไปลงทุนในจีน รัสเซีย อเมริกา ยุโรป จีน ได้ง่ายขึ้น เราต้องให้ทุนเหล่านี้มาลงทุนในไทยได้ง่ายมากขึ้นด้วย นี่คือต่างตอบแทน ระบบทุนนิยมไทยต้องดำเนินการตามนี้

วิกฤติเศรษฐกิจไทย เกิดเพราะอะไร
ก่อนเกิดวิกฤตการณ์ปี 2540 เราเป็นทุนนิยมเหมือนกัน แต่เป็นระบบทุนนิยมในยุคสงครามเย็น ซึ่งเป็นระบบค่อนข้างจะปิด การพัฒนายังไม่เชื่อมต่อกันอย่างป็นระบบ เป็นทุนนิยมที่เป็นรายประเทศ มีระดับการเปิดที่แตกต่าง ในประเทศไทยเรียกทุนนิยมรูปแบบหนึ่ง ในทางวิชาการเขาเรียก “อุตสาหกรรมทดแทนการนำเข้า” คือ ให้ทุนต่างชาติมาลงทุนในสาขาที่ประเทศไทยให้การสนับสนุน และกีดกันต่างชาติในสาขาที่ประเทศไทยไม่สนับสนุน เช่น สาขาแบงก์พาณิชย์ เราไม่ให้ต่างชาติมาลงทุน มาก็มีข้อห้ามมัดมือมัดเท้าไปหมด ไม่ให้ทำอะไรได้ หรืออุตสาหกรรมปิโตรเคมีในยุคนั้นนะครับ ต่างชาติจะมาลงทุนทำเม็ดพลาสติกก็ไม่ได้ ต้องขออนุญาตเป็นกรณีพิเศษ ต่างชาติจะมาลงทุนทำโรงงานเหล็กไม่ได้ ต้องขออนุญาตเป็นกรณีพิเศษ อุตสาหกรรมในเวลานั้นหลักๆ เป็นของกลุ่มทุนที่เติบโตมาในระบบเศรษฐกิจ 50-60 ปี บางกลุ่มเป็น 100 ปี แล้วพวกนี้เปลี่ยนแปลงกลุ่มทุน 2 กลุ่มคือ “ทุนขุนนาง” ซึ่งรวมถึงกลุ่ม “อภิสิทธิ์ชน” ด้วย ให้แปลงทรัพย์สินเดิมเป็นทุน และทุนได้แปลงจากระบบการผลิตเก่าแบบศักดินามาสู่เศรษฐกิจทุนนิยมอีกแบบหนึ่ง ลงทุนในธนาคาร ในโรงปูน อะไรต่อมิอะไร
ทุนขุนนางอีกส่วนหนึ่งคือ จีนเดิม ที่เข้ามาทำมาค้าขาย พึ่งพาศักดินาในการทำธุรกิจการค้า และมีผลประโยชน์ร่วมกัน จ่ายค่าต๋ง ค่านายหน้า เป็นนายหน้าทำธุรกิจให้ คอยส่งเงินให้ และเป็นหุ้นส่วนให้ อาศัย ทุนอภิสิทธิ์ชน และ ทุนรัฐ ในการแสวงหาอภิสิทธิ์ใบอนุญาต การส่งเสริมอะไรนิดๆ หน่อยๆ พวกนี้อยู่ในอุตสาหกรรมหนักทั้งหลายทั้งปวง เยอะแยะไปหมด เช่น รถยนต์ ปิโตรเคมี พลาสติก เหล็ก ปูนซีเมนต์ วัสดุก่อสร้าง การเงิน ธนาคารพาณิชย์ อุตสาหกรรทอผ้า เยอะไปหมด เป็นกลุ่มที่โตขึ้นมาด้วยทุนนิยมทดแทนการนำเข้า สร้างกำแพงภาษีสูงๆ เข้าไว้ ปี 2500 ย้อนไปเราต้องซื้อผ้า จะซื้อเสื้อเชิ้ตพวกนี้ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ จากอังกฤษ หรืออะไรต่อมิอะไร พอปี 2500 ขึ้นกำแพงภาษีเลย ต่อไปใครจะนำเข้าเสื้อเชิ้ตเข้ามาเสียภาษีเต็ม 100% แต่ให้ตั้งโรงงานขายเสื้อเชิ้ตภายในประเทศ ถ้าทุนภายในประเทศ ไม่ว่าทุนอภิสิทธิ์ชน หรือทุนจีนก็แล้วแต่ อยากจะลงทุนแต่ไม่มีเทคโนโลยี ให้ทุนต่างชาติมาร่วมหุ้น แล้วเอาเทคโนโลยีมาสร้างเครื่องจักร ทำของมาขาย ทำปูนขาย ทำอะไรขาย

สร้างกติกา “ทุนศักดินา” ผูกขาดธุรกิจ
ทุนนิยมก่อนปี 2540 เป็นเรื่องการเติบโตของ ทุนขุนนาง ทุนอภิสิทธิ์ชน ทุนอุปถัมภ์ ที่มีทุนต่างชาติ ส่วนหนึ่งเข้ามาร่วมมือ โตภายใต้การปกครองของรัฐ โดยนโยบายสร้างกำแพง และกำแพงนี้อยู่ของมันมาด้วยดีอยู่มาได้ตลอด และมีปัญหาของมันเอง อย่างเช่น ระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย จะคุมเอาไว้ บีบบังคับไม่ให้ทุนต่างชาติเข้ามาแข่ง และจำกัดให้ธนาคารพาณิชย์มีแค่ 16 แห่ง ไม่ให้มีการเกิด ใน 16 แห่งนี้เป็นธนาคารพาณิชย์ที่ใหญ่มีเพียง 5 แห่ง คือ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย ไทยพาณิชย์ ทหารไทย กรุงศรีอยุธยา นอกนั้นเป็นธนาคารเล็กๆ ทั้งหมด 16 แห่ง ภายใต้การคุ้มครองไม่ให้มีการแข่งขัน เพราะฉะนั้นธนาคารพวกนี้เป็นตัวอย่างที่ดีของระบบทุนนิยมอุปถัมภ์ที่คอร์รัปชั่นและอยู่มาได้โดยตลอด โดยการคุ้มครอง แบ็กอัพของรัฐ และเวลาเกิดปัญหาขึ้นมา เอาเงินภาษีของประชาชนไปอุด
ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยมีปัญหาหลายครั้ง อายุอย่างพวกเราคงจำกันได้ ธนาคารเอเชียทรัสต์ มีสำนักงานใหญ่ตรงบอร์ดเวย์ เจ๊งไปแล้ว ธนาคารไทยพัฒนา เรารู้จักกันไหม อายุเด็กในชั้นเรียนคงไม่รู้จัก ธนาคารไทยพัฒนา ดำเนินธุรกิจแบบคอร์รัปชั่น แบบโรงรับจำนำ เอ็งเอาโฉนดมา เอ็งเอาเงินไป ไม่สนใจเอาเงินไปทำอะไร เอาเงินฝากของประชาชนไปปล่อยกู้ให้ญาติพี่น้องพรรคพวกตัวเอง แล้วบริษัทเจ๊ง แต่เจ้าของบริษัทรวย ล้มบนฟูก ทำกันมาตลอด 30-40-50 ปี ก็เพราะแบบนี้ แล้วการเกิดบริษัทเงินทุนจำนวนมากมายมหาศาล โดยเฉพาะตัวเลขสูงสุด ตอนเกิดวิกฤตการณ์บริษัทเงินทุนและหลักทรัพย์มีจำนวน 92 แห่ง ในปี 2540 แล้วเกิดภายใต้นโยบายการคุ้มครองการส่งเสริมการผูกขาดในโลกธนาคารพาณิชย์



“ทุนอภิสิทธิ์ชน” ยึดแบงก์ทำมาหากิน
เพราะธนาคารพาณิชย์ 16 แห่งตั้งมาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 จนกระทั่งไล่มา แล้วคุณไม่ให้เขาเปิดเลย แต่ตั้งแต่ปี 2500 เป็นต้นมา มีอุตสาหกรรมต่างๆ เกิดมา อุตสาหกรรมทอผ้า อุตสาหกรรมรถยนต์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ จึงเกิดเศรษฐีกลุ่มพวกนี้ขึ้นมา เป็นกลุ่มทุนที่พัฒนาส่งเสริมทดแทนการนำเข้าขึ้นมา พวกนี้หลายตระกูลพอมันใหญ่ขึ้นมา มันอยากจะมีสถาบันการเงินของตัวเองบ้างล่ะ ขณะนั้นคุณเป็นเจ้าสัว เป็นเจ้าของโรงงานระดับเป็นหมื่นล้าน ความฝันของคุณคือต้องมีธนาคารเป็นของตัวเอง แต่พอคุณไปหาธนาคารชาติ บอกจะขอตั้งธนาคาร เขาบอกไม่ได้ ไม่ให้ตั้ง ปัจจุบันมี 16 แห่งพอแล้ว มีแต่เจ๊งถ้าเจ๊งให้ยุบไป ไม่ให้ตั้งเพิ่ม นั่นคือนโยบายธนาคารชาติเมื่อก่อนปี 2540 ทางออกของกลุ่มทุนพวกนี้ทำอย่างไร อยากมีธนาคารของตัวเองแต่ทำไม่ได้ ก็หาช่องโหว่ทางกฎหมาย จึงตั้งบรรษัทเงินทุน ตามกฎหมายรับเงินฝากประชาชนไม่ได้นะ ตั้งบรรษัทเงินทุนเข้ามา เป็นไฟแนนซ์ เลี่ยงกฎหมายกัน ไม่จดบัญชี แต่ใช้วิธีขายตั๋วสัญญาใช้เงิน 6 เดือน 1 ปี ก็แล้วแต่ เมื่อก่อนที่บอกว่า เอาเงินไปฝากไฟแนนซ์ นั่นคือการไปซื้อตั๋วสัญญาใช้เงินนั่นเอง ถึงเวลากำหนดไถ่ถอนคืน จึงเกิดไฟแนนซ์บานเลย
การผูกขาดธนาคารพาณิชย์ทำให้เกิดปัญหาหลายอย่างตามมา เพราะพอผูกขาดไม่ให้ธนาคารพาณิชย์โต ไม่ให้เกิดใหม่ ไม่ให้แข่งขัน คนไทยด้วยกันจะเปิดแบงก์ทำไม่ได้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ คนที่ต้องการกู้เงินควรจะโตขึ้นเรื่อยๆ แต่คุณเก็บเอาไว้กับธนาคารพาณิชย์มันอยู่กันแค่ไม่กี่ตระกูลแค่นี้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ธุรกิจไม่สามารถกู้เงินได้ คนจะกู้เงินจากไอ้ธนาคารพาณิชย์ต้องเป็นบริษัทใหญ่ ที่อยู่ในเครือของแบงก์เองบ้าง บริษัทที่อยู่ในเครือชนชั้นอภิสิทธิ์ชนบ้าง อุปถัมภ์ ขุนนางต่างๆ และเป็นบริษัทของพวกนายพล นายตำรวจ ทั้งนั้น ที่จะไปกู้ไอ้พวกนี้ได้ นักธุรกิจทั่วไป ถึงจะใหญ่อย่างไรก็กู้ไม่ได้
ฝ่ายประชาชน พัฒนาเศรษฐกิจอยู่ 30-40 ปี ประชาชนมีเงินมากขึ้น อยากจะออมเงินกับธนาคารที่ผูกขาดอยู่เพียงไม่กี่แห่ง พวกธนาคารว่าไง อย่างไงคุณต้องมาฝากผม คุณไม่มีทางทำอย่างอื่น คุณมีเงินเหลือคุณจะเอาไปทำอะไรหรือ คุณต้องเอาไปใส่ตุ่ม ไปฝังดิน หรือไปซื้อทอง หรืออะไรก็แล้วแต่ ตลาดหุ้นไม่ต้องพูดถึงมันยังเล็กในยุคนั้น การกีดกันคนกู้ กีดกันคนออม ช่องว่างนี้ไงจึงเกิดบรรษัทเงินทุน ผมมีเงินออมเยอะ ฝากธนาคารได้ดอกเบี้ย 3% ต่อปี แต่ไปซื้อตั๋วไฟแนนซ์ ผมได้ 6% ต่อปี ผมไปซื้อไฟแนนซ์ดีกว่า
พวกบริษัทต่างๆ เช่น อสังหาริมทรัพย์ที่โตขึ้นเพราะเศรษฐกิจดี ธุรกิจนี้โตขึ้นเร็วกว่าเพื่อน เกิดบริษัทอสังหาริมทรัพย์เต็มไปหมด เป็นของแบงก์บ้าง ของกลุ่มทุนเก่า ของอภิสิทธิ์ชนบ้าง พอจะกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์ แต่ธนาคารมันโตไม่ทัน เพราะแบงก์ชาติไปคุมกำเนิดมันไว้ จึงต้องไปกู้ไฟแนนซ์กันเต็มไปหมด แล้วไฟแนนซ์กฎเกณฑ์ควบคุมการกู้มันหย่อนยานกว่าธนาคารพาณิชย์ทั่วไปเยอะ เพราะถือว่าคุมไม่ได้ เพราะคุณไม่ได้รับเงินฝากจากประชาชน คนที่จะเอาเงินมาซื้อตั๋วต้องเป็นคนรวยเท่านั้น นั่นคือความเชื่อ เพราะฉะนั้นไม่ต้องไปดูแลมันมาก มันจะเอาเงินไปปล่อยกู้จากใครไม่ต้องไปเฝ้ามันมาก ถือเป็นความรับผิดชอบกันเอง ดังนั้นบริษัทต่างๆ จึงมากู้ไฟแนนซ์ จึงเกิดไฟแนนซ์ 90 กว่าแห่งในประเทศเล็กๆ จนๆ นี่นะครับ



“ทุนศักดินา” ผูกขาดยึดโรงปูน-เหล็ก
ในภาคธุรกิจอื่นเป็นแบบนี้หมด ภาคธุรกิจปูนในเมืองไทยมีเพียงปูนใหญ่ๆ 2-3 บริษัท ในช่วงนั้นมีเพียง 2 บริษัทเท่านั้นนะครับ ทีพีไอยังไม่เกิด ยุคนั้นมีปูนซิเมนต์ไทย ชลประทานซิเมนต์ และ ซีเมนต์นครหลวง แต่ที่ใหญ่สุดคือ ปูนซิเมนต์ไทย ส่วนอันอื่นไม่ต้องไปพูดถึงเลย เท่าขี้เล็บ แบบนี้เหมือนกัน รัฐบาลไปกีดกันการตั้งโรงปูนใหม่ จะนำเข้าปูนจากต่างประเทศ เจอภาษี 100% ต้องซื้อปูนของบริษัทนี้ ปิโตรเคมี พวกคุณไปดู เม็ดพลาสติก พลังงานทั้งหลาย กลุ่มทุนหน้าเดิมๆ ทั้งนั้นที่ผูกขาดเอาไว้ แล้วรัฐบาลไปตั้งกฎเกณฑ์เอาไว้ ก่อนปี 2540 โรงงานพลาสติกเปิดใหม่ไม่ได้ กระทรวงอุตสาหกรรมมีประกาศห้ามเปิดโรงงานใหม่ ใครจะเปิดโรงงานเม็ดพลาสติกต้องเป็นบริษัทของรัฐ หรือที่รัฐส่งเสริมเท่านั้น คุณไปดูแล้วกัน
อุตสาหกรรมเหล็กมีเพียง 2-3 ตระกูลเท่านั้นครับ ที่มีบริษัท 3 บริษัท ถ้าเราไปดูระบบทุนนิยมไทย ก่อนปี 2540 จะเป็นแบบนี้เกือบทุกส่วน (Sector) ใหญ่ๆ ของประเทศ ผมชอบยกตัวอย่างธนาคารพาณิชย์ เพราะมันเห็นภาพชัดเจนดี แต่ถ้าไปดูในส่วนอื่นๆ ปูนซีเมนต์ เม็ดพลาสติก ก่อสร้าง เหล็ก แบบนี้ทั้งนั้น

เมื่อ “ทุนไทย” คิดสู้ “โลภาภิวัตน์”
ทีนี้พอเกิดโลกาภิวัตน์ขึ้นมา เกิดการไหลเวียนของเงินทุนอย่างมาก ปริมาณเงินทุนที่ไหล ในเอเชีย โดยเฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มันเพิ่มขึ้นหลายเท่า แล้วศูนย์กลางทางการเงินในเอเชียในยุคนั้นคือ สิงคโปร์ รับใช้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อาเซียน ยุโรป และที่ฮ่องกง รับใช้เอเชียตะวันออก จีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น เกิดโลกาภิวัตน์ในปี 1990 มันเกิดตลาดใหม่ เกิดการล่มสลายของค่ายสังคมนิยม อย่างที่บอก และมีผลต่อประเทศไทยโดยตรง เพราะประเทศอินโดนีเซีย จีน เวียดนาม กัมพูชา เริ่มเปิดประเทศ รัฐบาลชาติชาย (พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ อดีตนายกรัฐมนตรี) มีนโยบาย แปลงสนามรบให้เป็นสนามการค้า ถ้าเราจำกันได้
และในเวลานั้นประเทศไทยเกิดโลกาภิวัตน์ขึ้นแล้ว เกิดการไหลเวียนสินค้า เกิดตลาดใหม่ขึ้นมา เงินทุนไหลเพิ่มขึ้น ประเทศไทยน่าจะฉวยโอกาสเอาบ้าง ไต้หวัน เกาหลี ใช้ประโยชน์จากทุนนิยมโลกาภิวัตน์ ส่งทุนออก เกาหลี ไต้หวันค่าจ้างสูง การส่งของออกไปยุโรปและสหรัฐอเมริกายอดเริ่มตก เพราะฉะนั้นทุนไต้หวัน เกาหลี ส่งออกทุน คือการมาลงทุนในประเทศไทย ราคาที่ดินสูงขึ้น 200-300% ในรัฐบาลชาติชาย เกิดจากอะไรครับ เกิดจากทุนไต้หวัน ทุนเกาหลี และทุนญี่ปุ่น ไหลมาลงประเทศไทยด้วย ทุนญี่ปุ่นตัดสินใจย้ายฐานการผลิตรถยนต์มาอยู่ในประเทศไทย เพราะมีปัญหากับสหรัฐอเมริกา ประเทศไทยจึงส้มหล่น เศรษฐกิจบูมๆๆๆ ในอินโดจีน ตลาดเปิดขึ้น ส่งของไปขายในลาว กัมพูชา ในเวลานั้นมีเงินบาทหมุนเวียนในลาวและกัมพูชาเป็นพันๆ ล้านบาท คนลาวคนเขมร ซื้อขายใช้เงินบาท ก่อนปี 2540 นะครับ สมัยนี้ไม่ต้องพูดแล้ว เขาไม่ใช้แล้ว เงินบาทกลายเป็นเงินภูมิภาค
ส่งผลให้ ทุนนิยมไทย ผ่านธนาคารแห่งประเทศไทย เกิดความฝันขึ้นมาอันหนึ่ง ประเทศไทยส่งออกสินค้าได้เยอะแล้ว ไปสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และมีตลาดใหม่คือลาวและกัมพูชา ยังไม่ได้ส่งทุนออก ส่งทุนไปยุโรป อเมริกา สู้กันไม่ไหว ส่งทุนไปจีนเพิ่งเริ่ม แต่ส่งทุนไปอินโดจีนมันง่ายกว่าเยอะ ยังไม่มีใครไป แล้วประเทศใกล้กัน แถมยังใช้เงินบาทของเราในการหมุนเวียน จึงมีความคิดว่าจะเปิดศูนย์กลางการเงินในภูมิภาคนะครับ เกิดขบวนการที่เรียกว่า บีไอบีเอฟ ขึ้น ก่อนหน้านั้นธนาคารแห่งประเทศไทยดำเนินการผ่อนคลายการปริวรรตเงินตรา คือการผ่อนคลายควบคุมระบบสถาบันการเงินมาเป็นขั้นตอนแล้ว การปล่อยเสรีอัตราดอกเบี้ย 2532–2535 หมายความว่า ต่อไปนี้ธนาคารพาณิชย์ไทยทั้ง 16 แห่ง กำหนดอัตราดอกเบี้ยด้วยตัวเอง

เปิดเสรีการเงิน “เจ้าสัว” ฮั้วดอกเบี้ย
ก่อนหน้านี้ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นคนประกาศ แต่ระบบการเงินของไทยไม่เสรี มีการผูกขาดรวมหมู่ของตระกูลไม่กี่ตระกูล ส่งผลให้การประกาศอัตราดอกเบี้ยแต่ละครั้งกลายเป็นแบงก์ใหญ่ 5 แบงก์ มันประชุมรวมหัวกันว่าจะตั้งอัตราดอกเบี้ยเท่าไร แล้วธนาคารเล็กๆ อื่นๆ อีกสิบรายก็ตั้งตาม อาจจะแพงกว่านี้หน่อย แล้วพวกไฟแนซ์ก็ตั้งตามอีกทีหนึ่ง ดังนั้นไม่มีอะไรมาก ในการบอกว่าปล่อยดอกเบี้ยเสรี กลายเป็นปล่อยให้ตระกูลใหญ่ๆ 5 แบงก์มากำหนด ดังนั้นจึงไม่ใช่เป็นการเปิดเสรีการเงินจริง
ขณะที่มาตรการปริวรรตเงินตราในเรื่องมาตรการผ่อนคลายการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตราสกุลต่างประเทศ ระหว่างบาทกับดอลลาร์ ก่อนหน้านั้นใครจะไปแลกเงินบาทกับดอลลาร์ นี่ ขออภัยนะครับ โค-ตะ-ระ-ยาก ขอใช้คำนี้นะครับ ต้องเอาพาสปอร์ต แบบฟอร์ม 20 หน้า ตั๋วเครื่องบิน รออีก 5 วันกว่าจะได้ แต่มีการลดมาตรการเหล่านี้ลง เช่น ไม่ต้องโชว์ตั๋วเรือบิน พาสปอร์ต ไม่ต้องยื่นคำร้อง ให้ธนาคารพาณิชย์ตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง ยกเว้นเงินก้อนใหญ่ คุณมาแลกเป็นแสนๆ ดอลลาร์ แบบนี้อาจจะต้องขอ รวมทั้งการขยายให้การขนเงินออก หรือการที่นักลงทุนต้องการถอนทุนออกจากประเทศไทย ถอนได้ง่ายขึ้น บางคนเรียกการปริวรรตเงินตรานี้ว่า การปล่อยเสรีอัตราแลกเปลี่ยน ไม่ใช่ ผิด เป็นแค่การผ่อนคลายอัตราแลกเปลี่ยน เพราะก่อนปี 2540 ไม่มีการเปิดเสรีครับ เพราะยังใช้อัตราแบบคงที่ 26 บาทกว่าๆ ต่อดอลลาร์ หากพูดในเชิงวิชาการเขาจะบอกว่า ตะกร้าเงิน (Basket Rate) โดยนำค่าเฉลี่ยเงินตราสกุลแข็ง 5 สกุล ประกอบไปด้วย ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา ปอนด์สเตอริงอังกฤษ ฟรังก์ฝรั่งเศส เยนญี่ปุ่น ดอยช์มาร์คเยอรมนี ที่บอกว่าอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ ไม่จริง เขาหลอก เพราะมันคำนวณจากค่าต่างๆ ที่ว่ามา
1.ที่บอกว่าเปิดเสรีอัตราดอกเบี้ย ไม่จริง 2.เปิดเสรีอัตราแลกเปลี่ยน ไม่จริง อันที่ 3 ที่บอกว่าเปิดเสรีการเข้าออกของเงินทุน หรือ บีไอบีเอฟ ในปี 2536 คือ ให้ธนาคารพาณิชย์สามารถปล่อยกู้เป็นเงินดอลลาร์ให้กับคนในประเทศได้ และคนเป็นลูกหนี้ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ เป็นคนกู้ โดยอัตราดอกเบี้ยจะแตกต่างจากการกู้เงินบาทจากสถาบันการเงินไทย เช่น กู้เงินบาท ดอกเบี้ย 7-10% แต่กู้เงินสกุลต่างประเทศ ดอกเบี้ยเท่ากับอัตราดอกเบี้ยในต่างประเทศเพียง 3% ซึ่งมีเจตนาฉกฉวยประโยชน์จากเงินทุนที่ไหลเวียนระดับโลกภายใต้โลกาภิวัตน์ สิงคโปร์ และฮ่องกง เป็นศูนย์กลางทางการเงินในภาวะที่ประเทศไทยเป็นระบบปิด ไทยไม่มีโอกาส เพราะฮ่องกงกับสิงคโปร์แย่งไปหมด

“บีไอบีเอฟ” ศูนย์กลางการเงิน-ศูนย์กลางหายนะ
แต่ในสภาวะก่อนปี 2540 คือการเปิดโอกาสโลกาภิวัตน์ให้กับประเทศไทย ก็คือ อินโดจีนเปิดตลาด และอินโดจีนมีธุรกิจและคนไทยไปลงทุนเยอะ ดังที่เรียนให้ทราบ แต่การไปลงทุนในอินโดจีนมีปัญหา นักลงทุนที่ผ่านตลาดฮ่องกง สิงคโปร์ จะไปลงทุนในอินโดจีนยังทำไม่ได้ เพราะในอินโดจีนในเวลานั้นเพิ่งเปิดตลาดกับระบบคอมมิวนิสต์ ไม่มีเงินดอลลาร์สำรอง มีแต่เงินบาทหมุนเวียน ประเทศไทยเห็นช่องทางนี้จึงอยากจะเอาบ้าง อยากจะเป็นสิงคโปร์สอง ก็คือให้กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางตลาดทางการเงินของภูมิภาค (Regional financial center) แต่ความเป็นจริงก็คือเป็นศูนย์กลางทางการเงินของอินโดจีน แล้วการเปิดบีไอบีเอฟ เจตนาที่แท้จริงของแบงก์ชาติ (ธนาคารแห่งประเทศไทย) ก็คือ ต้องการให้ธนาคารพาณิชย์ของไทยเพียงไม่กี่แห่ง เป็นท่อให้เงินดอลลาร์ไหลเข้ามาจากต่างประเทศ ผ่านฮ่องกง ผ่านสิงคโปร์ ก็ดี ไหลเข้ามาที่กรุงเทพฯ และจากกรุงเทพฯ ไปลงในลาวและเขมร
เพราะฉะนั้นธุรกรรมการปล่อยกู้เป็นดอลลาร์ของธนาคารแห่งประเทศไทย ผ่านบีไอบีเอฟ จึงมีสองประเภท คือ ธุรกรรม out in transfection คือเอาดอลลาร์จากต่างประเทศมาปล่อยกู้ให้คนไทย และธุรกรรม out out transfection คือ เอาเงินดอลาร์มาที่กรุงเทพฯ แล้วไปปล่อยในอินโดจีน ในลาวและเขมร และตอนที่เปิดบีไอบีเอฟขึ้นมาในปี 2536 คาดกันว่า out out transfection น่าจะมีตลาดใหญ่ เพราะหวังกันว่าธุรกิจไทยจะกู้เงินกันมากผ่านบีไอบีเอฟ แล้วนำไปขยายกิจการไปลงทุนในลาวและเขมร อินโดนีเซีย จีน หรือต่างชาติอย่าง ญี่ปุ่น อเมริกา หรือยุโรป ที่มาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทยแล้ว อยากจะขยายการผลิตไปที่ลาวและกัมพูชา ก็ให้ผ่านบีไอบีเอฟของไทย อย่างเช่น ทุนญี่ปุ่น ทุนไต้หวัน และทุนเกาหลี ที่มาอยู่ในประเทศไทยแล้วอยากจะขยายไปที่ลาวและเขมร ให้กู้บีไอบีเอฟจากกรุงเทพฯ เป็นดอลลาร์ เพื่อไปลงในเขมรและลาว ซึ่งถ้าทำได้ตามนั้น ตามความฝัน กรุงเทพฯ จะกลายเป็นศูนย์กลางทางการเงินของอินโดจีน ใครจะไปลงทุนในลาว ในเขมร ต้องมาที่กรุงเทพฯ

จุดล่มสลายบีไอบีเอฟ ทำกลับหัวกลับหาง
แล้วคนที่กินเนื้อหวานๆ อยู่ตรงนี้ บีไอบีเอฟ คือใครครับ คือธนาคารพาณิชย์ไทย เพราะธนาคารพาณิชย์ไทยได้รับการคุ้มครองอย่างที่เรียนให้ทราบไปตั้งแต่ต้น แบงก์ชาติคุ้มครองอย่างเต็มที่ ไม่ให้ต่างชาติเข้ามาแข่งขัน และให้ไปเปิดสาขาในลาวในเขมรได้อย่างเต็มที่ จะปล่อยกู้ในประเทศ ในลาว เขมร ก็ต้องผ่านรูปแบบเช่นนี้อีก คือ การกินค่าหัวคิว เพราะฉะนั้นการเปิดบีไอบีเอฟ ก็คือ การสนองตอบต่อระบบการเมืองแบบผูกขาด ที่ต้องการให้มีการขยายการผูกขาดจากตลาดธนาคารแห่งประเทศไทย ให้ขยายไปผูกขาดระบบการเงินของลาวและเขมร โดยผ่านบีไอบีเอฟ
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับไม่ได้เป็นไปตามที่เขาคาดไว้ ตลอดปี 2536 จนถึง 2540 ปี 2536 เกิดบีไอบีเอฟ หลังจากนั้นเพียงแค่ 3 ปี เกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ ช่วง 3 ปีกว่าที่เกิดบีไอบีเอฟ เกิดอะไรขึ้น คือ 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ของบีไอบีเอฟ คือการปล่อยกู้ให้คนไทยด้วยกันเองในประเทศไทย มีไม่ถึง 10% ที่เป็นการปล่อยกู้ในลาวและกัมพูชา หมายความว่า บีไอบีเอฟ ธนาคารพาณิชย์ของไทย และนักธุรกิจไทย ไม่ได้นำเงินไปใช้ขยายการลงทุนและการค้าในกัมพูชาและในลาวตามที่ตั้งใจเอาไว้เลย ท่อบีไอบีเอฟกลับถูกพวกกลุ่มทุนทั้งหลายที่มันผูกขาดระบบเศรษฐกิจไทยมันดูดเอาไปใช้ของมันเอง เอาไปขยายตั้งโรงงาน คุณประชัย เลี่ยวไพรัตน์ เอาไปขยายตั้งโรงงานทีพีไอ ขยายจากอุตสาหกรรมเคมีเดิมมาเป็นกลั่นน้ำมัน แล้วตั้งโรงปูนขึ้นมา โดยที่ไม่รู้ว่าไปเหยียบตาตุ่มใครเข้า แต่ตอนนี้รู้แล้ว
เพราะฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นคือว่า เงินดอลลาร์ที่ไหลผ่านเข้าท่อบีไอบีเอฟเข้ามา แทนที่จะไหลต่อ แทนที่ทุนไทยจะเห็นว่านี่คือโอกาสที่จะขยายไปสู่ทุนระดับโลก มันไม่ใช่อย่างนั้นครับ แต่กลับเอามากินกัน เอาไปลงทุนเละเทะไปหมด ลงทุนสนามกอล์ฟทั่วทั้งประเทศ และมีแต่สนามกอล์ฟร้างๆ ลงทุนสร้างตึกโรงงาน ขยายโรงงาน เหล็กนี่ก็ลงทุนขยายโรงงานเหล็กเป็นล้านๆ ตัน ทั้งที่ประเทศไทยใช้เหล็กปีหนึ่งไม่ถึงแสนตัน แล้วคุณจะไปขายใคร แล้วผลิตออกมาส่งออกก็ไม่ได้ เพราะเหล็กไทยคุณภาพห่วย อย่างนี้เป็นต้น
เงินเหลือมากๆ เข้าลงทุนในปิโตรเคมี ในโรงกลั่นน้ำมัน ลงทุนในโรงปูน ลงทุนจนกระทั่งอิ่ม มันจุกอกอีก เงินยังไหลเข้ามาอีก ทำยังไงครับ เอาไปลงที่ดิน ออกเป็นทาวเฮาวส์ บ้านเดี่ยว บ้านจัดสรร ขึ้นเป็นตึกเป็นโครงเต็มไปหมดอย่างที่เราเห็นก่อนปี 2540 พอขึ้นมากๆ เข้าเงินยังเหลืออีก ทำอย่างไร เงินไหลไปเข้าตลาดหุ้น ทำให้เกิดฟองสบู่ตลาดหุ้น ดรรชนีขึ้นประมาณ 1,400 จุด ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นคือเงินทุนต่างชาติที่ไหลเข้ามันไปตามภาคเศรษฐกิจต่างๆ

นโยบายการเงินผิดพลาด บีไอบีเอฟพัง
คำถามคือว่า เหตุใดกลุ่มทุนเหล่านี้จึงกู้เงินมาลงทุนเกินตัวเต็มไปหมด คำตอบคือ ในช่วงระยะเวลานั้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ภายในประเทศไทยมันแพงมาก 7-8% สูงสุด 10% เพราะช่วงที่เกิดเศรษฐกิจฟองสบู่ขึ้นมา เกิดภาวะเงินเฟ้อสูง คนใช้จ่ายเยอะ ราคาสินค้าพุ่งขึ้น แบงก์ชาติในเวลานั้นขึ้นดอกเบี้ย ขึ้นดอกเบี้ยเพื่อให้ประชาชนลดการใช้จ่าย เพื่อกดดันไม่ให้เงินเฟ้อขึ้น ขึ้นอัตราดอกเบี้ยในประเทศไปเรื่อยๆ แต่อัตราดอกเบี้ยต่างประเทศมันต่ำ 3-4% เอง แล้วคุณมีท่อบีไอบีเอฟไว้ คุณเป็นนักธุรกิจไปกู้แบงก์ไทยเป็นเงินบาทเสียดอกเบี้ย 7-8% แต่ถ้าไปกู้บีไอบีเอฟเสียแค่ 3% จะกู้อันไหน คนเลยแห่กันไปกู้บีไอบีเอฟหมด
ในเวลานั้นคนมีหนี้เป็นเงินดอลลาร์เต็มไปหมด นี่คือแรงจูงใจที่เกิดขึ้น เกิดจากนโยบายของการควบคุมธนาคารที่เกิดขึ้นจากแบงก์ชาติ ที่สะท้อนถึงการบริหารแบบเก่า คือทุนนิยมแบบเก่าในยุคก่อนโลกาภิวัตน์ ซึ่งไม่เข้าใจว่ามีกลไกอื่นๆ ที่ควรต้องทำ คุณปล่อยให้เงินทุนไหลเข้ามาแต่ยังบีบอัตราดอกเบี้ย ถ้าคุณปล่อยให้เงินทุนไหลเข้าคุณต้องปล่อยให้อัตราดอกเบี้ยไหลตาม ถ้าอัตราดอกเบี้ยของโลกลง คุณต้องลงตาม ถ้าอัตราดอกเบี้ยของโลกไหลขึ้น คุณต้องขึ้นตาม นั่นคือตรรกะการไหลเวียนของเงินทุน
ประเด็นต่อมาก็คือ ทำไมพวกคุณ พวกเรา ถึงกล้ากู้เป็นเงินดอลลาร์ 26 บาทต่อดอลลาร์ในเวลานั้น ตั้งแต่เกิดจากท้องพ่อท้องแม่มา เราก็จำได้ว่า 26 บาทต่อดอลลาร์ จนกระทั่งแก่ก็ยัง 26 บาทต่อดอลลาร์ แบงก์ชาติประกาศทุบโต๊ะโครมๆ 26 บาทต่อดอลลาร์ชั่วฟ้าดินสลาย เพราะฉะนั้นเวลาคุณกู้มา อีก 5 ปีตอนใช้หนี้ก็มั่นใจได้ว่า 26 บาทต่อดอลลาร์ ก็สบายใจ เพราะฉะนั้นดอกเบี้ย 3% ก็หวานหมู

หนี้ดอลลาร์ท่วมไม่มีปัญญาคืน
เพราะฉะนั้นคือการเกิดเศรษฐกิจแบบฟองสบู่ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ พอเงินเฟ้อขึ้นทำให้อัตราดอกเบี้ยขึ้น อัตราดอกเบี้ยขึ้นภายใต้โครงสร้างที่มีบีไอบีเอฟ และระบบธนาคารที่ผูกขาด และกลุ่มทุนผูกขาดในสาขาต่างๆ เขาใช้ช่องว่างของระบบการเงินดูดเงินต่างประเทศเข้ามาลงทุนในกิจการเก็งกำไรเยอะแยะไปหมด
ประเด็นต่อมาอีกประเด็นหนึ่งที่ทำให้เกิดการบิดเบือนกันมากคือ บอกว่า “เงินไหลเข้าแต่ไม่ไหลออก” การที่เงินไหลเข้าแต่ไม่ไหลออก ส่วนหนึ่งเกิดจากดอกเบี้ยภายในประเทศมันสูงกว่า ดอกเบี้ยต่างประเทศต่ำ ดังนั้นเงินจึงไหลเข้า แต่ปัญหาที่สำคัญคือว่า นโยบายต่างประเทศของไทย ก็คือ การกีดกันทางการเงิน อย่างที่บอกไปตั้งแต่ต้น ไม่ให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนแล้วยังกีดกันการไหลออกของเงินทุน คนที่จะขนเงินออกนอกประเทศได้ต้องเป็นทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยอยู่ก่อนแล้ว ถ้าอยากจะเลิกเงินทุนเอาเงินกลับออกไป ต้องขออนุญาตกลับไป อันนี้เขาไม่ว่า
แต่อย่างคุณหรืออย่างผม สมมตินะ มีเงินเป็นพันพันล้านบาท ไปลงทุนทำธุรกิจหรือไปฝากเงินในสิงคโปร์ ไปลงทุนทำโรงงานตั้งโรงงานในเกาหลี ไต้หวัน เขาไม่ให้ทำนะครับ ทำได้แต่ต้องขอเป็นกรณี เป็นเรื่องๆ ไป ก็ไหลเข้าแต่ไหลออกยาก เหมือนคนนะครับ กินข้าวเข้าไป อัดเข้าไป ก็ต้องถ่ายเทออก มันจะเกิดอะไรขึ้น เพราะฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นคือว่า พอมีเงินทุนไหลเข้าต้องมีการลงทุน แล้วประชาชนนักธุรกิจที่อยู่ในเมืองไทย กลุ่มทุน ทุนเก่าทั้งหลายที่มีเงินสะสมอยู่เป็นหมื่นๆ ล้าน ไปลงทุนภายนอกไม่ได้ ต้องมาลงทุนในประเทศ พอลงทุนในประเทศไทย พอลงทุนไปเรื่อยๆ ต้องไปลงทุนในโครงการที่มันห่วยๆ โครงการที่ไม่มีกำไร เพราะคุณเอาเงินออกนอกประเทศไม่ได้ ต้องผ่านขั้นตอนและข้อห้ามเยอะแยะไปหมด มันยาก เพราะฉะนั้นมีเงินเท่าไรก็ต้องลงทุนภายในประเทศ โครงการมันแย่ยังไง ผลตอบแทนต่ำยังไง คุณต้องลงทุน แล้วความที่เคยอยู่กับระบบทุนแบบผูกขาด การที่รัฐเข้ามาห้ามนู่นห้ามนี่ ห้ามมีคู่แข่งอะไรต่อมิอะไร คุณลงทุนยาก ผลตอบแทนจะต่ำไม่เป็นไร นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น



กระสุนนัดแรก “ลั่น” ทุนต่างชาติถอนตัว
ทีนี้ผลจากการที่ประเทศไทยยอมใช้ประโยชน์จากโลกาภิวัตน์ โดยการกู้บีไอบีเอฟเงินไหลเข้า ผลคือว่า หนี้สินภาคเอกชนที่เป็นเงินดอลลาร์พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว ภายในเวลา 2-3 ปี จากแค่ 10-20 กว่าพันล้าน เป็นหนึ่งร้อยกว่าล้านดอลลาร์ นี่เป็นการคำนวณตัวเลขย้อนกลับ ทีนี้ต่างชาติให้ทุนกู้ตลอดเวลาเป็นเงินดอลลาร์ เสร็จแล้วคุณก็สะเปะสะปะเอาไปทำอะไรต่อมิอะไร ผมเป็นเจ้าหนี้ ผมถือสัญญาเงินกู้เป็นดอลลาร์ คุณเป็นลูกหนี้ผม ผมก็ต้องตามดูว่าคุณเอาเงินไปทำอะไรบ้าง แล้วเวลาผมจะเอาเงินคืน ผมอยากได้คืนทั้งดอกเบี้ยและเงินต้นที่เป็นดอลลาร์ใช่ไหมครับ ไม่ใช่ว่าตอนกู้จากผมไปเอาไปเป็นดอลลาร์ แล้วเปลี่ยนเป็นเงินบาทเพื่อเอาไปทำอะไรต่อมิอะไร แต่พอคืน เอาเป็นเงินบาทมาให้ผม ผมไม่เอา เพราะฉะนั้นต่างชาติเขาดูประเทศไทย จึงดูว่าประเทศไทยมีดอลลาร์เหลืออยู่เท่าไร พอที่จะใช้หนี้เขาไหม คราวนี้หนี้สูงขึ้นเรื่อยๆ ปัญหาคือว่าหนี้เยอะไม่เป็นไร ตราบใดที่ยังมีเงินดอลลาร์ไหลเข้าประเทศไทยอยู่ โอเค ทางที่จะได้เงินดอลลาร์ไหลเข้ามาในประเทศมีสองทาง ยอดหนึ่งคือการไปกู้คนอื่นมาลงทุน ยอดหนึ่งคือการส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ ผมเป็นเจ้าหนี้ผมจะสบายใจ
แต่สิ่งที่เกิดขึ้น แต่ทั้งหมดนี้ไม่ว่าจะเป็นบีไอบีเอฟ ทุนต่างชาติที่กู้เข้ามา การลงทุนในบ้านในที่ดิน ในสนามกอล์ฟร้างๆ ในโรงงานร้างๆ การเก็งกำไรเยอะๆ พวกนี้เป็นทุนระเบิด มีข่าวสารเทคโนโลยีพร้อมมารอให้คนจุดไฟ แล้วไฟที่จะจุดคืออะไรครับ ให้กับระเบิดระเบิดตูมขึ้นมาคือการส่งออก เพราะก่อนปี 2540 ประเทศไทยขาดดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัด เราติดลบมาตลอด ในแง่ของการขายของเพื่อเอาเงินดอลลาร์เข้า เราขาดทุน 40-50 ปี อย่างไรก็ตาม ถ้าช่องว่างซื้อมากกว่าขายนิดหน่อย เรายังพอไปได้ใช่ไหม นั่นคือ นำเข้ามากกว่าส่งออก แต่เงินลงทุนจากต่างประเทศยังมี แต่หากช่องว่างระหว่างการนำเข้ากับส่งออกมันห่างมากขึ้น มากขึ้นเรื่อยๆ คุณเป็นเจ้าหนี้คุณเป็นอย่างไรครับ คุณใจคอไม่ดีแล้วใช่ไหม ทำให้เงินทุนไหลเข้ามันน้อยลง
ลูกหนี้คนไทยที่กู้เงินดอลลาร์เริ่มมีปัญหาการใช้หนี้ ธุรกิจลงทุนไม่ได้กำไร ลงทุนรีสอร์ต กลายเป็นรีสอร์ตร้าง ลงทุนในสนามกอล์ฟ กลายเป็นสนามกอล์ฟร้าง ลงทุนในทาวเฮาส์ ในคอนโดเริ่มขายไม่ออกแล้ว ลงทุนในโรงปูนก็ล้นตลาดขายไม่ออก แต่ผมซึ่งเป็นเจ้าของกิจการต้องส่งดอกเบี้ยและเงินต้นเป็นดอลลาร์ ผมเริ่มมีปัญหา และสัญญาณที่บอกว่าธุรกิจในประเทศเริ่มมีปัญหาส่งดอกและส่งต้นเป็นดอลลาร์ คือ บริษัทสมประสงค์ ซึ่งทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เป็นบริษัทแรกที่ออกหุ้นกู้ และเป็นบริษัทแรกที่ประกาศเบี้ยวหนี้ ปลายปี 2539 ต่อปี 2540 ไม่ใช่ บีบีซี ไม่ใช่ธนาคาร เงินทุนก็เริ่มหยุด เงินดอลลาร์ที่ไหลเข้าในรูปเงินให้กู้ หรือเงินลงทุน ก็เริ่มชะลอ การส่งออกเริ่มตกลง
สัญญาณที่ผมมองว่าเป็นตัวจุดชนวนยิงกระสุนนัดแรก คือ เดือนตุลาคม 2539 เป็นเดือนแรกที่การส่งออกของไทยมีอัตราการเติบโต 0.5% คือเกือบไม่เพิ่มเลย เดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน ปี 2539 ผมจำได้แม่น เพราะผมตามสถิติอยู่เหมือนดูหนังเลยตอนนั้น เงินทุนไหลเข้าเป็นเดือนแรกที่เริ่มติดลบ เพราะฉะนั้นปลายปี พฤศจิกายนหรือธันวาคม 2539 การส่งออกเริ่มมีปัญหา คือส่งออกไปไม่ได้ ไม่โต เงินทุนไหลเข้าเริ่มหยุด ตัวเลขจริงๆ ติดลบนะครับ มันร้ายแรง สาเหตุเพราะอะไรรู้ไหมครับ เพราะเงินเฟ้อ เพราะ 4-5 ปีก่อนหน้านี้เศรษฐกิจมันบูมมาก ราคาสินค้าขึ้น เงินเฟ้อขึ้น ค่าแรงขึ้น ค่าแรงต่อวันในเวลานั้นตามกฎหมายขึ้นไปเร็วมาก จาก 100 กว่าบาทต่อวัน จนเกิดวิกฤติปี 2540 ขึ้นเป็น 140-150 บาทต่อวัน แล้วค่าจ้างที่จ่ายจริงเวลานั้นคือ 200 บาทต่อวันนะครับ สูงกว่าอัตราค่าจ้างตามกฎหมาย เพราะมันเกิดการขาดแคลนแรงงาน เศรษฐกิจมันโตมาก แต่ค่าจ้างสูงขึ้น เรื่อยๆ แต่การส่งไปมันทำไม่ได้เพราะค่าจ้างแพง ซึ่งการส่งออกพึ่งแรงงานในการผลิต เมื่อส่งออกไปแพงคุณก็ขายของไม่ออก

การส่งออกชะงัก “ทุนโลก” หนีกระเจิง
วิกฤตการณ์ปี 2540 ถูกยิงด้วย 2 นัด คือ การส่งออกที่ไม่โต 0% และเงินทุนเริ่มติดลบ สิ่งที่เกิดตอนนั้นตามหลักเศรษฐศาสตร์คืออะไรครับ คุณขายของไม่ออก คุณต้องลดค่าเงินบาท 26 บาทต่อดอลลาร์ แพงเกินไปแล้ว ถ้าคุณขายของไม่ออกต้องเป็น 30-40 บาทต่อดอลลาร์ เพื่อให้ของมันถูก แต่แบงก์ชาติไม่ยอม ดึงเอาไว้ ปล่อย แล้วประเทศไทยเจ๊ง เพราะอะไรครับ เพราะบริษัทใหญ่ๆ ทั้งหมดของประเทศไทยมีหนี้เป็นดอลลาร์ทั้งนั้นเลยนะครับ แล้วหนี้ตอนนั้นคิดเป็น 26 บาทต่อดอลลาร์ หากปล่อยเงินบาท ทำให้บริษัทเหล่านั้นหนี้งอกเกือบ 100% บริษัทพวกนี้เจ๊งข้ามคืนเลยนะครับ ถ้าคุณทำงบดุลทรัพย์สินอยู่ด้านหนึ่ง หนี้สินอยู่อีกด้านหนึ่ง หนี้สินเพิ่มขึ้นมาจากอัตราแลกเปลี่ยน
แบงก์ชาติเจอปัญหาคือ ส่งออกไม่ได้ เพราะเงินบาท 26 บาทต่อดอลลาร์มันแพงไป แต่ถ้าจะลดค่าบาทเป็น 30-40 บาทไม่ได้อีกในเวลานั้น บริษัทในประเทศไทยเจ๊ง ปูนซิเมนต์ไทยอย่างนี้ มีหนี้ต่างประเทศเท่าไร ธนาคารพาณิชย์ไทย ทุกธนาคาร กู้เงินจากต่างประเทศเต็มพุง นั่นคือหากปล่อยให้ค่าเงินบาทไหล พวกนี้เจ๊งหมด ดังนั้นธนาคารแห่งประเทศไทยจึงดึงเอาไว้ เป็นจุดอ่อน เกิด จอร์จ โซรอส เข้ามาโจมตีค่าเงินบาท ประวัติศาสตร์เรารู้ดีนะครับว่าธนาคารแห่งประเทศไทยเอาเงินสู้แหลก สู้จนกระทั่งสุดท้ายวันที่ 14-15 พฤษภาคม ชนะ ชนะต่างชาตินะครับ เสร็จแล้วเปิดแชมเปญฉลองกันว่าชนะต่างชาตินะครับ แต่ปรากฏว่าเงินในกระเป๋าเหลืออยู่แค่ 7,000 ล้าน จาก 30 พันล้าน หลังจากนั้นพวกเรารู้กันดีว่าเกิดอะไรขึ้น พอถึงตอนนั้นเงินเหลือน้อยนิดเดียว ปรึกษาไอเอ็มเอฟเข้ามาดูแล้ว คุณสู้กับทุนต่างชาติถึง 3 รอบ ชนะทั้ง 3 รอบ คุณใช้กระสุนเงินยิงมันแล้วชนะทั้ง 3 รอบ แต่...แต่มันยังมีรอบที่ 4 รอบที่ 5 รอบที่ 6 แล้วมานั่งดูว่า เอ้ย คุณมีกระสุนเหลืออีกเท่าไร เหลืออยู่ 7 นัด สุดท้ายก็ต้องยอมปล่อย ค่าเงินบาทในวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 เงินบาทไหลไป
ผมจำได้ ตอนเย็นวันที่ 1 กรกฎาคม 2540 ธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาประกาศตอนเย็นๆ ว่าจะลดค่าเงินบาท พอเช้าวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 พวกเทรดเดอร์ หรือนักค้าเงิน พอเข้าสำนักงาน เปิดจอคอมพิวเตอร์ วันนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยคำนวณค่าเงินเป็นเท่าไร ในระบบตะกร้าเงิน แต่เปิดจอขึ้นมาเป็นหน้าเปล่าๆ ไม่มีการระบุราคาจากธนาคารแห่งประเทศไทยแล้ว คุณจะซื้อกันเท่าไรตามใจคุณ คุณตั้งราคากันเอาเอง พวกเทรดเดอร์ ไม่เคยเทรดแบบนี้ มาถึงเจอมึนๆ นั่งงง จะเอายังไงดี ลองกำหนดราคากันเอง เช้าวันนั้นเริ่มที่ 27 บาท เย็นวันนั้นปิดตลาดอยู่ที่ 29 บาท พอเดือนตุลาคม 36 บาท พอเดือนพฤศจิกายน ปลายปี 2541 ราคาอยู่ที่ 55-56 บาท หนักที่สุด

บทสรุป “ขุนนาง-อภิสิทธิ์ชน” ทำชาติป่นปี้
ดังนั้นสรุปได้ว่า การเกิดวิกฤตการณ์ปี 2540 คือความพยายามของทุนนิยมไทย ที่จะใช้ประโยชน์ฉกฉวยจากโลกาภิวัตน์ และการไหลเวียนของเงินทุนและการค้าเสรี ภายใต้โครงสร้างเศรษฐกิจ ทุนนิยมแบบเดิมๆ แบบผูกขาดตัดตอน แบบที่รัฐและทุนอภิชนเข้าครอบงำเศรษฐกิจต่างๆ แบบระบบที่ควบคุมและกีดกัน โดยเปิดโอกาสให้กลุ่มทุนบางกลุ่มแสวงหาผลประโยชน์ในระบบ โดยที่กลุ่มทุนธุรกิจขนาดเล็ก เอสเอ็มอีทั่วๆ ไป และประชาชนคือเหยื่อ จะไปกู้เงินก็ไม่รู้จะไปกู้ที่ไหน สถาบันการเงินไม่ปล่อยสินเชื่อ มีเงินเหลือจะไปฝาก ไม่รู้จะฝากที่ไหน ต้องฝากสถาบันการเงิน มันเป็นแบบนี้ นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น
วิกฤตการณ์ปี 2540 ที่เกิดขึ้น ไม่ได้เกิดจากการเปิดเสรีทางการเงิน ไม่ได้เกิดจากการปฏิรูประบบเศรษฐกิจแบบเสรี จนเกิดวิกฤตการณ์เศรษฐกิจ ผมขอฟันธงตรงนี้ ไม่ใช่ ข้อสรุปที่นักเศรษฐศาสตร์หลายคน สื่อหลายคน และบรรดาเอ็นจีโอทั้งหลายสรุปว่า เพราะเราเดินตามทุนนิยมเสรีจึงเกิดวิกฤตการณ์ปี 2540 ไม่ใช่ ตรงกันข้าม เราเดินตาม ระบบทุนนิยมผูกขาด ระบบทุนนิยมขุนนาง และทุนนิยมอุปถัมภ์ของอภิสิทธิ์ชน แล้วเอาโครงสร้างแบบนี้ไปสู้ในระบบโลกาภิวัตน์ เราถึงถูกมันยิงกลับมานะครับ
แต่การที่คนกลุ่มหนึ่ง นักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์หลายคน สื่อหลายคน และบรรดาเอ็นจีโอสรุปบิดเบือนว่า การเกิด วิกฤตการณ์ปี 2540 เกิดจาก การปฏิรูประบบทุนนิยมเสรี การที่เราพยายามจะเป็นประเทศที่เจริญแล้วเหมือนประเทศอื่น ไม่รู้จักเจียมเนื้อเจียมตัว คนพวกนี้จึงนำไปสู่ข้อสรุปว่า โลกาภิวัตน์เลว โลกาภิวัตน์ชั่ว โลกาภิวัตน์มีแต่ทำร้ายประเทศไทย โลกาภิวัตน์มีแต่ทำให้ประเทศไทยเสียหาย เราเดินทางตามเส้นทางทุนนิยมโลกาภิวัตน์ไม่ได้ เราต้องเดินทางตามเส้นทางระบบเศรษฐกิจแบบไทยๆ เศรษฐกิจแบบไหนแล้วแต่ เอ็นจีโอบอกว่า เศรษฐกิจแบบชุมชน ลัทธิสังคมนิยม บอกว่า ชุมชนอณาธิปัตย์ แนวคิดแบบเศรษฐกิจพอเพียงเกิดขึ้นภายใต้บริบทนี้ เศรษฐกิจพอเพียงเป็นการดึงข้อสรุปจากวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 บนสมมติฐาน บนข้อสรุปที่ว่า วิกฤตการณ์ปี 2540 เกิดจากการที่ประเทศไทยไม่รู้จักเจียมเนื้อเจียมตัว อยากจะเร่งพัฒนาให้เหมือนประเทศที่เจริญแล้ว เร่งเปิดเสรีต่างๆ เพื่อให้ทันประเทศตะวันตก เพราะฉะนั้นเราเลยเจ็บตัว เราจึงไม่จำเป็นต้องเดินตามเส้นทางนั้น จึงต้องใช้เศรษฐกิจพอเพียง แบบนี้เป็นต้น ผมไม่ได้ตีความนะครับว่าเศรษฐกิจพอเพียงคืออะไร เพียงแต่เป็นปฏิกิริยาโต้กลับจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
สรุปอันสุดท้ายแล้วครับ คือ การเกิดวิกฤตการณ์ปี 2540 ทำให้เกิดข้อสรุปที่ตรงกันข้ามกัน แต่ข้อสรุปที่เป็นกระแสหลักในเวลานั้น ทั้งของธนาคารแห่งประเทศไทย ของโลก และของเอ็นจีโอ ของใครๆ คือ เกิดจากการปฏิรูประบบทุนนิยมเสรี และระบบโลกาภิวัตน์ หรือโลกาภิวัตน์คือภัยของประเทศไทย เพื่อนผมเอง ไม่ต้องเอ่ยชื่อนะครับ นักวิชาการเปรตกู้ เพื่อนผมนี่แหละ ก่อนปี 2540 เขียนเรื่องโลกาภิวัตน์ก่อนผมอีก ศึกษาเรื่องโลกาภิวัตน์ก่อนผมอีก หนังสือที่เป็นเล่มเล็กๆ เรื่องโลกาภิวัตน์ เขาเป็นคนเขียน แต่เขาต้องกลับลำ 180 องศา ทุกวันนี้ชูเศรษฐกิจพอเพียงเป็นธงนำ อย่างนี้เป็นต้น เกิดจากการดึงวิกฤตการณ์ปี 2540 และวิกฤตการณ์นี้ทำให้เกิดการปฏิรูปการเมืองปี 2540 ซึ่งเป็นหัวข้อที่เราจะนำมาพูดกันในคราวหน้า หากจัดได้นะครับ ขอบคุณครับ