รัฐตำรวจที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย แต่เรียกหาเผด็จการ เปิดประเด็นขึ้นมาโจมตีรัฐบาลของ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี กำลังรื้อฟื้นขึ้นมาอีก เป็นคำถามที่ยังหาคำตอบไม่ได้ว่าเป็นรัฐตำรวจตรงไหน
แค่มีการย้าย นายสุนัย มโนมัยอุดม พ้นจากอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เด้ง พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ไปปฏิบัติหน้าที่สำนักนายกรัฐมนตรี โยก พ.ต.อ.สังวรณ์ ภู่ไพจิตรกุล รองผู้บังคับการตำรวจบุรีรัมย์ ไปช่วยราชการที่ จ.ศรีสะเกษ และล่าสุดให้ พล.ต.ต.ชัยยะ ศิริอัมพันธ์กุล รองผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล ไปฏิบัติงานในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ส่วนหน้า ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
ผมยังมองไม่ออกว่ารัฐบาลชุดนี้จะฟื้นรัฐตำรวจขึ้นมาได้อย่างไร และเชื่อว่าด้วยข้อกฎหมายและการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เป็นไปไม่ได้ที่รัฐตำรวจจะฟื้นขึ้นมาได้อีก
หากย้อนประวัติศาสตร์ชาติไทย มีอยู่ยุคเดียวเท่านั้นที่ได้รับการเรียกขานว่าเป็นรัฐตำรวจ คือ ในช่วงที่ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ เป็นอธิบดีกรมตำรวจ คนที่ 9 ระหว่าง พ.ศ.2494-2500 ในรัฐบาลของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม
ที่เรียกกันว่ารัฐตำรวจ เพราะตำรวจมีอำนาจล้นฟ้า ตามสโลแกนที่ว่า “ไม่มีอะไรภายใต้ดวงอาทิตย์นี้ที่ตำรวจไทยทำไม่ได้”
ในยุคนั้น ตำรวจสามารถออกหมายจับ จับกุม สอบสวน ได้ครบกระบวนการ และบางคดีก็ตั้งตนเป็นศาลเตี้ย นักเลง อันธพาล ถูกจับเข้าคุกเข้าตะรางกันเป็นแถว นักการเมืองที่เป็นศัตรูกับรัฐบาลก็ล้มหายตายจากไปหลายคน
แต่ยุคนี้สถานการณ์เปลี่ยนไป ตำรวจเป็นผู้บังคับใช้กฎหมาย เป็นกระบวนการยุติธรรมเบื้องต้น การจะตรวจค้นจับกุมก็ต้องขอหมายศาล ไม่ได้ออกหมายตรวจค้นและหมายจับกันได้ตามสะดวกเหมือนอดีต แม้กระทั่งวิสามัญฆาตกรรมก็ต้องให้คนร้ายต่อสู้ขัดขวางจึงสามารถชักปืนยิงได้
มีตัวอย่างให้เห็นมาแล้วเมื่อเร็วๆ นี้ ตำรวจ สน.ประชาชื่น ยิงทหารตายท่ามกลางสายตาประชาชนที่ตลาดนัดย่านประชาชื่น ตำรวจคนที่ยิงยังชักปืนของทหารออกมาจากเอว แล้วเขี่ยไปให้วางอยู่ใกล้มือทหาร เพื่อให้มีภาพว่าทหารชักปืนออกมา จึงต้องยิงเพื่อป้องกันตัวเอง
ถ้าเป็นรัฐตำรวจ มีหรือที่ตำรวจจะแคร์สายตาประชาชน แค่ย้ายตำรวจ 2-3 คน เป็นเหตุผลที่อ่อนเกินไป ฟังไม่ขึ้นหรอกที่จะบอกว่ารัฐบาลชุดนี้จะฟื้นรัฐตำรวจ
และการย้ายตำรวจในทุกระดับเป็นเรื่องปกติของการบริหาร แต่พวกที่ย้ายไม่ปกติ ผู้ที่สั่งย้ายก็มีเหตุผลที่รับฟังได้ อย่างกรณี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ก็มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนขึ้นมา เพื่อสอบสวนเรื่องต่างๆ ที่ถูกกล่าวหา
หรือกรณี พล.ต.ต.ชัยยะ ศิริอัมพันธ์กุล รองผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล ไปปฏิบัติงานที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ส่วนหน้า ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ดูเหมือนสามารถขยายความให้ดูเหมือนว่าการเมืองรังแกข้าราชการ เพราะ พล.ต.ต.ชัยยะ เป็นหัวหน้าขบวนการสอบสวนให้ใบแดงแจ้งโทษกับ นายยงยุทธ ติยะไพรัช ประธานสภาผู้แทนราษฎร
ขณะเดียวกัน นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กระโดดฮุบเรื่องนี้ยื่นเป็นกระทู้สดให้นายกรัฐมนตรีตอบ ปรากฏว่า พล.ต.ต.ชัยยะ ยิ่งยับเยินหนักไปอีก เพราะก่อนจะมีการเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2550 พล.ต.ต.ชัยยะ ก็ปฏิบัติงานอยู่ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ส่วนหน้าอยู่แล้ว
เมื่อจะมีการเลือกตั้ง ส.ส. ทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ได้ขอกำลังจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้มาคุ้มครองให้ความปลอดภัย กกต. และช่วยงานด้านสอบสวน พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ จึงส่ง พล.ต.ต.ชัยยะ กับตำรวจสันติบาลเกือบ 700 นาย มาช่วยราชการ
ซึ่ง พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ จะทราบหรือไม่ก็ไม่กล้าคาดเดาว่า พล.ต.ต.ชัยยะ เป็นนายตำรวจคนสนิทเดินตาม นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย มานานตั้งแต่เป็นผู้ช่วยนายเวรของ พล.ต.อ.แสวง ธีระสวัสดิ์ ซึ่งเป็นอธิบดีกรมตำรวจ ที่ พล.ต.ท.พงศพัศ พงษ์เจริญ ชื่อเดิม ไพรัช ผู้ช่วย ผบ.ตร. ที่เพิ่งพ้นจากโฆษกตำรวจ เป็นนายเวร อ.ตร.
เห็นกันแจ่มแจ้งแดงแจ๋หรือยังว่า การย้ายทุกตำแหน่งที่ผ่านมามีเหตุมีผล ก็ได้แต่สงสาร นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ที่รู้ไม่จริง ต้องตกเป็นเครื่องมือของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ตั้งกระทู้สดขึ้นมาโดยรู้ไม่จริง ไม่ตรวจสอบให้ละเอียดรอบคอบ เข้าข่ายดีใส่ตัว ชั่วให้คนอื่น
แต่...จะบอกว่า นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ตกเป็นเครื่องมือของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ดูเหมือนจะเป็นข้อกล่าวหาสบประมาทกันเกินไปหรือเปล่า เมื่อนึกถึงภาพของ นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ เป็นแกนนำคนสำคัญของคนกลุ่มนี้ ทำให้คิดได้ว่าเป็นความตั้งใจไม่ได้ตกเป็นเครื่องมือ