วันที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยออกมาตะโกนถามทหารถึงหน้ากรมกองว่า ยังสบายดีกันอยู่หรือ มีนัยที่เรียกร้องให้ทหารออกมาจัดการรัฐบาลทักษิณ เป็นการเรียกร้องให้จัดการโดยไม่คำนึงถึงวิธีการว่าเป็นความสูญเสียอธิปไตยของประชาชนหรือไม่ ผลของการเรียกร้องเช่นนั้นนำพาบ้านเมืองย่อยยับถอยหลังทั้งทางการเมือง และ
เศรษฐกิจ การเรียกร้องดังกล่าวไม่น่าจะเกิดขึ้นได้เลยในพ.ศ.นี้ เพราะแม้จะถอยหลังกลับไปหลังปี พ.ศ. 2535 ทิศทางความเชื่อของผู้คนส่วนมากไปในทำนองว่า สังคมประชาธิปไตยบ้านเราได้ยกระดับสูงขึ้นมาก มากจน กระทั่งทหารส่วนมากมีความคิดและศรัทธาในระบอบประชาธิปไตย ให้น้ำหนักงานไปที่ทหารช่าง ทหารพัฒนากันเป็นส่วนมาก
แต่แล้วกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่า องค์กรภาคประชาชน นักกิจกรรมการเมือง ที่ควรจะหวงแหนประชาธิปไตย หวงแหนความมีอยู่ของรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน กลับไปเรียกร้องให้ทหารเข้ามาจัดการกับ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เพื่อหวังผลกลุ่มคน หรือพรรคพวกพ้องฝ่ายตนเข้าสู่อำนาจทางการเมือง โดยไม่มอง ถึงผลเสียหายมหาศาลที่จะมาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงที่ก่อ ทั้งที่มีอดีตอันไม่ไกลนักเป็นบทเรียนว่า ไม่มีทางแก้ปัญหาบ้านเมืองด้วยการปฏิวัติรัฐประหาร และไม่มีทางสำเร็จด้วยประการทั้งปวง
การปฏิวัติรัฐประหารจึงไม่ต่างอันใดกับการเผาเรือนไล่เรือด เป็นการลงทุนที่มองเห็นความเสียหายย่อยยับได้แต่เริ่มต้น ลองตรองดูว่ามีใครได้ประโยชน์จากการปฏิวัติบ้าง หรือถ้าจะมีใครได้เงินไปสักพันสองพันล้าน ใครคนนั้นจะใช้เงินได้อย่างมีความสุขหรือ ท่ามกลางความหายนะของพี่น้องร่วมชาติ
วันนี้พี่น้องประชาชนไทยต้องคิดร่วมกันแล้วว่า เราจะต้านรัฐประการกันอย่างไร ทำอย่างไรการปฏิวัติรัฐประหาร เมื่อ 19 กันยายน 49 จะเป็นครั้งสุดท้ายของบ้านเมืองนี้จริงๆ
นักวิชาการ (น้ำดี) กลุ่มหนึ่ง ร่วมกับหนังสือพิมพ์ ประชาทรรศน์ จุดประกายความคิดพร้อมกับโยนคำถามไปให้สังคมไทยร่วมกันหาวิธีต้านรัฐประหาร ด้วยข้อเสนอนานาประการ เราหวังว่าจะช่วยกระตุกเตือนให้พี่น้องประชาชนชาวไทยแสวงหาทางออกร่วมกัน
น.พ.กิตติภูมิ จุฑาสมิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลภูสิงห์ เสนอทางออกที่ดุดันเอาจริงว่า ตั้งกองกำลังอาสาสมัครประชาธิปไตย - ติดอาวุธภาคประชาชนสู้โจรปล้นประชาธิปไตย – ตรวจสอบทรัพย์สมบัติทหาร – ยกเลิกเกณฑ์ทหาร – จำกัดงบประมาณจัดซื้ออาวุธ - กำจัดสื่อชั่ว
“ผมว่าค่อนข้างช็อกพอสมควรนะครับกับเหตุการณ์เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ผมคิดว่าใครที่เคยผ่านเหตุการณ์พฤษภาทมิฬเมื่อปี 2535 คงจะตกใจนะครับที่ว่าเมืองไทยของเรามีการรับประหารอีกแล้วหรือ เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เมื่อปี 2535 มีคนเสียชีวิตมากมาย คนหายอีกไม่รู้เท่าไหร่ และสังคมไทยยังไม่เรียนรู้ที่จะยกเลิกการรัฐประหารอีกหรือ ตอนคืนวันที่ 19 กันยายน ยังไม่น่าตกใจเท่าไหร่ครับ แต่ที่น่าตกใจก็คือวันที่ 20 กันยายน 2549 คือรับประหารเสร็จยังมีคนนำดอกไม้ไปให้คนที่ทำการรัฐประหาร สื่อมวลชลต่างๆต่างพากันสรรเสริญการทำรัฐประหารไปตามๆกัน ซึ่งน่าตกใจมาก ส่วนผมนี้ตกใจเป็น 2 เท่าเลยครับ เมื่อวันที่ 21 เพราะทางชมรมประธานแพทย์ชนบทที่ผมเป็นสมาชิกอยู่เนี่ย ได้ออกแถลงการณ์ เห็นด้วยกับการรัฐประหาร ยิ่งตกใจเข้าไปใหญ่
มันเกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทย จริงๆแล้วการรัฐประหารมันเกิดขึ้นมาเยอะมากกับสังคมไทย ซึ่ง ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์ประวัติศาสตร์ จะให้รายละเอียดได้มากว่า คือผมจำไม่ได้หรอกครับว่าเมืองไทยมันเกิดการรัฐประหารกันมากี่ครั้งกี่หน เพราะมันเกิดขึ้นเยอะมาก แล้วก็รัฐประหารกี่ครั้งกี่หนก็ไม่เคยปรากฎว่ามีอะไรดีขึ้นเลย ไม่เคยมีการรัฐประหารครั้งไหนที่เกิดขึ้นแล้วมันทำให้ดีขึ้น มีแต่ทำให้ประชาธิปไตยทดถอยลง และก็ลงท้ายด้วยการตายของประชาชน ผมแปลกใจนะครับว่าตั้งแต่ปี 2535 ถึงปี 2549 เป็นเวลา 14 ปี ผ่านมาเกิดมีการรับประหารซ้ำซากเกิดขึ้นได้ มันเป็นวงจรที่น่าอัศจรรย์มาก มันเกิดขึ้นได้อย่างไร
สำหรับผมนะครับ ผมคิดว่าวงจรนี้มันแปลก ในปี 2534 ที่เกิดการปฎิวัติรับประหาร รสช.เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ เนี่ย สภาพถ้าใครยังจำได้ มันไม่ต่างอะไรกับ 19 กันยายน 2549 วันรุ่งขึ้นก็มีดอกไม้ไปมอบให้กับคณะรัฐประหาร มีคณะต่างๆเข้าไปให้กำลังใจ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ท่านบิ๊กจ๊อด ท่านสุนทร คงสมพงษ์ รับดอกไม้มือไม่ว่างเลยครับ มีคณะนั้นคณะนี้เข้าไปมอบดอกไม้ให้กำลังใจ หนังสือพิมพ์มติชนที่ผมเคารพเป็นอย่างยิ่ง หนังสือพิมพ์มติชนพาดหัวในวันนั้น หลังจากได้ตีพิมพ์ฉบับแรกในตอนนั้น พาดหัวบอกว่า “ทหารล้างบางคนโกง” ผมซึ้งใจมากเลย ประกาศเลยว่ากูจะไม่ซื้อมติชนอ่านอีกแล้ว แต่ก็ไม่ซื้อได้ประมาณ 1 ปี แต่ก็ต้องกลับไปซื้ออ่านอีกเพราะว่าอย่างไงก็ต้องอ่าน คุณชัย ราชวัตรที่ผมนับถือมาก เขียนการ์ตูน เป็นรูปอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แล้วก็มีฝนตกลงมา แล้วก็เขียนบรรยายว่า ฝนคัดช่อมะม่วง ทำนองว่าการรัฐประหารที่ผ่านมาเป็นการล้างให้ประชาธิปไตยดีขึ้น ผมก็ตั้งใจว่าจะไม่อ่านการ์ตูนของคุรชัยราชวัตร แต่ก็ไม่พ้นนะครับ ก็ต้องกลับไปอ่านอยู่ดี ในตอนปี 2534-2535 ศิลปินเพื่อชีวิตก็ไม่มีใครออกมาคัดค้านนะครับ คาราบาวที่ว่าปากกล้าไม่ได้ออกมาค้าน คาราวานที่ตอนนั้นแตกวงกันแล้วไม่มีใครออกมาค้าน แปลกมานะครับ แต่ยังดีกว่าปี 2549 นะครับ ปี 2549 นั้นออกมาสนับสนุนเลยนะครับ มีเพลงทหารพระราชาอะไรออกมา ถือว่าปี 2549 นี้อาจจะแย่กว่าปี 2534 ที่ผ่านมาด้วยซ้ำ...แต่ผมจะขอสรรเสริญศิลปินคนหนึ่ง ซึ่งไม่ดังและไม่ใช้ศิลปินเพื่อชีวิตด้วย ในช่วงปลายปี 2534 ปลายปี 2535 นั้นมีศิลปินคนหนึ่ง ชื่อปฐมพร ปฐมพร เป็นศิลปินเพลงป๊อบ ออกมาพูด แต่งเพลงด่าเผด็จการ ที่ทำการรัฐประหาร และแน่นอนครับวงจรมาถึงในปีนี้ คุณปฐมพร กลับมาอีกทีนะครับ ผมได้ไปดูการแสดงของท่านอยากจะรู้ว่าท่านจะเปลี่ยนแปลงไปเหมือนศิลปินท่านอื่นไหม เป็นที่น่ายินดีครับเมื่อสัปดาห์ก่อน ปฐมพร แสดง สิ่งหนึ่งที่เวลาปฐมพรแสดงท่านชอบเทศไปด้วย ท่านเคยบวชมาก่อน ท่านจะบอกว่า 2 -3 ปีที่ผ่านมาเนี่ย เบื่อกันบ้างไหมกับความแตกแยกในบ้านเมือง เขาบอกว่าคนเราคิดต่างกันได้ แต่ไม่ต้องเกลียดกันได้ไหม ไม่ต้องเป็นคนไทยครับ เอาแค่เป็นมนุษย์พอ”
คุณหมอนักสังเคราะห์การเมืองท่านนี้ยังมองไปที่สื่อด้วยความกังขาว่า “อีกเรื่องที่ผมอึดอัดใจ กับ สื่อมวลชนไทย นั้นเก่งมาก แต่กับนักการเมือง เก่งมากๆกับคนเล็กๆในสังคม เวลานักการเมืองทำผิดนี้จี้ถามได้อย่างเมามันเลยนะครับ หากใครได้ดูตอนที่ท่าน สมัครจะตั้งรัฐบาล มีนักข่าวสายโจร อันนี้เป็นชื่อที่เขาเรียกตัวเองนะครับ ถามแบบมันมากเลยครับ สนุก ผมชอบ แต่ขอให้ใช้มาตรฐานเดียวกันกับผู้มีอำนาจทุกคน เหมือนกับตอนที่ถามพล.อ.สนธิ (พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตประธานคมช.) ตอนยังมีอำนาจ นอบน้อมมาก แต่สังเกตไหมครับว่าตอนที่พล.อ.สนธิ หมดอำนาจนักข่าวซักถามใหญ่เลยนะครับ
และมีข้อหนึ่ง คือ สื่อของทหารไม่ควรจะมีเยอะ ช่อง 5 ช่อง 7 ผมไม่เข้าใจเลยทำไมแค่กองทัพเดียวต้องมีตั้ง 2 ช่อง ที่จริงควรไปใช้ที่เดียวกันเลยคือช่อง 11 จะเป็นประโยชน์มาก ไม่ต้องไปพูดถึงวิทยุของทหารที่มีเยอะอยู่ ถ้าจัดสรรตรงนี้ให้ดี เราไม่จำเป็นต้องไปแย่งคลื่นสื่อสาธารณะสื่ออิสระเสรีอะไรพวกนั้นนะครับ”
ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ คณะรัศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสนอให้ผ่าโครงสร้างคณะปฏิวัติรัฐประหาร เพราะอำมาตยาธิปไตย ใช้ 2 กลไกสำคัญคือ กองทัพ และ ตุลาการ ขณะนี้ยังไว้ใจไม่ได้ จนกว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 โดยนำรัฐธรรมนูญ 40 มาเป็นต้นแบบแทน ระบุมาตรการต่อต้านการปฏิวัติ ที่นำเสนอ ยังไม่ปฏิบัติได้จริง อย่าเผลอ เดี๋ยวมันกลับมาอีก
“รัฐประหาร 19 กันยา 49 ได้อ้างเหตุผล 4 ข้อ เหมือนกับอ้างว่ารัฐบาลทุจริตคอร์รัปชั่น ผมอยากจะถามกลับแบบเดียวกันว่า ทำไมรัฐบาลทุจริตคอร์รัปชั่นทำไม ต้องแก้ด้วยการรัฐประหาร เหมือนกันว่า มีการตั้งกรรมการ คตส.(คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ) ตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชั่นรัฐบาลทักษิณ ผมยืนยันได้ว่า เหลวไหลมาก คตส.(คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ)ไม่สามารถเสนอหลักฐาน ไม่สามารถเสนอข้อมูลที่หนักแน่นพอจะเห็นได้ชัดว่า รัฐบาลทักษิณ ทำการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างใหญ่โต มโหราฬ ตามที่กล่าวอ้างเลย ทุกเรื่องที่ คตส. ตรวจสอบจนป่านนี้ยังส่งฟ้องไม่ได้ ปีหนึ่งแล้ว ก็ยังทำอะไรไม่ได้ ถ้าหากว่ารัฐบาลทุจริตคอร์รัปชั่นมากมายมหาศาลตามกล่าวอ้างกันนั้น มันต้องเห็นแล้ว เรื่องที่ดินรัชดาฯนั่นก็ไม่ชัด เรื่องสุวรรณภูมิก็ไม่ชัดนัก เรื่องขายหุ้นเทมาเซ็ก ผมย้ำเสมอว่าไม่ได้ผิดกฎหมายตั้งแต่ต้นนะครับ เพียงแต่ตอนนั้นอดีตนายกฯทักษิณ คือทำไม่เหมาะสม
เป้าหมายจริงๆ ของคณะรัฐประหาร คือ ต้องการทำลายพรรคไทยรักไทย และ การเป็นนายกรัฐมนตรี ของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เรียนด้วยความจริงใจว่าล้มเหลวอีก ชัยชนะของพรรคพลังประชาชนในเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ยืนยันว่า ความพยายามทำลายคุณทักษิณ นั้นล้มเหลวไม่สำเร็จ คมช.นั้นล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง”
ครูประทีป อึ้งทรงธรรม (ฮาตะ) กรรมการสมาพันธ์ประชาธิปไตย ออกโรงเรียกร้อง 7 แนวทางป้องกันการปฏิวัติรัฐประหาร ในอนาคต ยุประชาชนเอารถเก่า ออกมาขวางรถถัง หรือ ร่วมกันนัดผละงาน แล้วออกมาชุมนุมอย่างสันติ จี้รัฐบาล เร่งขจัดผลผลิตของเผด็จการ คมช.ให้สิ้นซาก เพราะล้วนเป็นระเบิด ที่แอบวางเอาไว้
“ดิฉันเองคิดว่าการรัฐประหารไม่ว่าจะครั้งใดก็ตาม ผลประโยชน์ของผู้ทำรัฐประหารจะมีมากกว่า โดยการอ้างประเทศชาติขึ้นมา อย่างกรณี รสช.มีเหตุผล 5 ประการ ว่าคณะผู้บริหารประเทศในสมัยนั้น พล.อ.ชาติชาย ชุนหะวัณ ซึ่งคณะ รสช.ได้ทำการรัฐประหารเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 บอกว่า เหตุผลในการทำรัฐประหารคือ ฉ้อราชบังหลวง ข้าราชการการเมืองกดขี่ข้าราชการประจำ รัฐบาลเป็นเผด็จการรัฐสภา และทำลายสถาบันทหาร แต่ดิฉันคิดว่าอาจจะเป็นการทำลายตำแหน่งของบิ๊กทหารอะไรตรงนั้นหรือเปล่าไม่แน่ใจ ในสมัย 2534 ในขณะที่พล.อ.ชาติชาย จะนำรายชื่อของทหารขึ้นโปรดเกล้า โดยจะขึ้นเครื่องบินไป เลยโดนล๊อกซะก่อน แล้วเหตุผลที่ 5 คือการบิดเบือนคดีล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์
เหตุผลทั้ง 5 ประการนี้ คมช.เอามาใช้ คล้ายๆกัน โดยกล่าวหาว่า รัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นั้นฉ้อราษฎร์บังหลวง แต่เปลี่ยนมาเป็นคอรัปชั่น เปลี่ยนคำเท่านั้นเอง เผด็จการรัฐสภา เมื่อประชาชนเชื่อมั่นเขาเลือกตั้งมาจนเต็มรัฐสภา สมาชิกรัฐสภา ตอนที่ฉันเป็น สว. มี สว.บางคนบอกว่าชื่นชมรัฐบาลมาก ลาออกไปลงสมัคร ส.ส.ไม่อยากทำหน้าที่ตรวจสอบ ยังมีเลยนะ”
อ.จรัล ดิษฐาอภิชัย อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จี้รัฐบาลป้องกันรัฐประหารโดย ไม่ให้เคลื่อนกำลังทหารโดยง่าย ไม่ให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมีอำนาจมากเกินไป หยุดอ้างเรื่องเผด็จการรัฐสภา ทุนนิยม คนดี มีคุณธรรม เพื่อเป็นข้ออ้างในการทำรัฐประหาร จี้รัฐ ตั้งกองทุนสนับสนุนประชาธิปไตย และ ตั้งศาลประชาชน พิพากษากบฏ 19 กันยายน 2549
“ผมเศร้าใจสื่อมวลชน เศร้าใจมาก ผมเคยพูดหลายครั้งว่า นับเป็นครั้งแรกในโลกนี้ ที่สื่อมวลชน คนชั้นกลาง เห็นด้วยกับการรัฐประหาร ไม่มีประเทศไหนที่สื่อมวลชน หมายถึงบางคนบางฉบับ ปัญญาชน เห็นด้วยกับการรัฐประหารไม่มี มีแต่ประเทศไทย เป็นเรื่องที่น่าอับอายขายหน้า น่าอดสู ผมไปต่างประเทศอายแล้วอายอีก เขาถามว่า ทำไมสื่อมวลชนประเทศคุณ ปัญญาชนประเทศคุณ คนชั้นกลางประเทศคุณ เห็นด้วยกับรัฐประหาร คมช. เพราะอะไร…”
เพื่อเติมเต็มข้อมูลที่มากกว่า เอาไว้ต้านเผด็จการ ไปที่แผงครับถามหา ประชาทรรศน์รายสัปดาห์ ฉบับที่ 57 ประจำวันเสาร์ที่ 1 –ศุกร์ที่ 7 มีนาคม พุทธศักราช 2551 หน้าปกตามภาพประกอบนั่นเชียว แล้วข้อมูลท่านจะปึกปัก ทั้งแน่นทั้งเนียนเชียวครับ ให้ไว...อย่าพลาดพี่น้องคร้าบ.