ที่มา ข่าวสด
เป้าหมายการทำลายล้างนั้นชัดเจนตามญัตติ ว่านอกจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง และนายกษิต ภิรมย์ รมว.การต่างประเทศ จากพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งมีชื่อติดโผตั้งแต่ต้นจนจบ
ยังมีชื่อรัฐมนตรีพรรคร่วมรัฐบาลคือนายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รมช.คลัง พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมว.มหาดไทย และนายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รมช.มหาดไทย จากพรรคภูมิใจไทยรวมอยู่ด้วย
อย่างไรก็ตามการที่ส.ส.พรรคเพื่อแผ่นดินและประชาราชไม่ร่วมลงชื่อยื่นถอดถอน และในญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ รวมถึงภาพการชักเข้า-ชักออกชื่อของนายชวรัตน์ จนทำให้การยื่นญัตติคลาดเคลื่อนไม่ตรงตามฤกษ์เวลาที่กำหนด
ส่วนหนึ่งถึงจะสะท้อนความไม่มีเอกภาพและความไม่พร้อมของฝ่ายค้าน แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่รัฐบาลจะประมาทได้ โดยเฉพาะ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ประธานส.ส.พรรคเพื่อไทย ซึ่งทำหน้าที่เป็นหัวหมู่ทะลวงฟัน
ถึงระยะหลัง"สารวัตรเหลิม"จะราคาตกลงไปบ้าง แต่ครั้งนี้ด้วยข้อมูลเรื่องเงิน 250 ล้านบาทและ 23 ล้านบาทที่มีอยู่ มีการโหมประโคมว่าจะเป็นหมัดเด็ดที่จะสร้างปัญหาให้กับพรรคประชาธิปัตย์
อาจไม่ถึงกับน็อก แต่คงบอบช้ำไม่น้อย
อย่าว่ารัฐบาลยังต้องแบ่งสมาธิไปรับมือกับปัญหาภายในและภายนอกที่โหมกระหน่ำซ้ำเติมอยู่ในตอนนี้
สถานการณ์ภายนอกสภานั้น ม็อบเสื้อแดงหันมาใช้แผนดาวกระจาย ใช้กำลัง 20-30 คนไปดักถือตีนตบรัวใส่บรรดารัฐมนตรีที่ลงไปตรวจงานในพื้นที่
จัดเวทีสัญจรเปิดพื้นที่ให้พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โฟนอินถล่มรัฐบาลไปพลางๆ เป็นการโหมโรงก่อนการนัดชุมนุมใหญ่ขับไล่รัฐบาลช่วงปลายเดือน
ขณะที่พ.ต.ท.ทักษิณได้ปรับเพิ่มเนื้อหาการโฟนอิน
จากเดิมที่เน้นย้ำเรื่องความจงรักภักดี ส่งเสียงเรียกคะแนนสงสารจากชาวบ้านต่อชะตากรรมของตัวเองที่โดนยึดอำนาจและทรัพย์สินอย่างไม่เป็นธรรม ถูกตามล่าหมายหัวจนต้องใช้ชีวิตแบบหลบๆซ่อนๆในต่างแดน
หันมาพูดถึงประเด็นด้านเศรษฐกิจมากขึ้น
พ.ต.ท.ทักษิณหยิบยกผลงานสมัยที่ตัวเองเป็นนายกฯ อ้างถึงประสบการณ์ความเก่งกาจในการหาเงิน สร้างรายได้ให้กับประเทศจนสามารถปลดแอกหนี้ไอเอ็มเอฟได้สำเร็จ
มาเป็นเครื่องมือดิสเครดิตแนวทางการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดนี้ว่าเป็นไปแบบผิดทิศผิดทาง รู้จักแต่ใช้เงิน ไม่รู้จักหาเงินด้วยวิธีอื่นนอกจากขอกู้ต่างประเทศ
การโฟนอินของพ.ต.ท.ทักษิณอย่างถี่ยิบในระยะหลัง ตั้งแต่เวทีเล็กระดับหมู่บ้านไปจนถึงเวทีระดับจังหวัดและระดับชาติ สร้างความปั่นป่วนให้กับรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์เป็นอย่างมาก
การปาฐกถาของพ.ต.ท.ทักษิณ ผ่านวิดีโอลิงก์ไปยังสโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศในฮ่องกง เป็นเครื่องยืนยันว่าความพยายามของรัฐบาล ในการประสานงานกับต่างประเทศเพื่อหาทางปิดปากพ.ต.ท.ทักษิณไม่ให้พูดโจมตีรัฐบาลนั้น
เป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ง่ายๆ
อย่างไรก็ตามขณะที่สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจอยู่ในภาวะติดลบอย่างต่อเนื่อง ปัญหาภายในรัฐบาลก็เริ่มเขม็งเกลียวซ้ำเติมสถานการณ์ทางการเมือง
ให้เกิดความไม่แน่นอนมากยิ่งขึ้น
ความขัดแย้งระหว่างนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ กับแกนนำบางคนในกลุ่มพันธมิตรฯ
อันเนื่องมาจากการจัดสรรผลประโยชน์ไม่ลงตัว การไม่ยอมช่วยเหลือในเรื่องคดีความ การไฟเขียวหมายเรียกคดี 7 ตุลา รวมถึงกรณีโยกย้ายนายตำรวจที่ขอไปแล้วเกิดการเบี้ยวกันขึ้น
การเตรียมจัดตั้งพรรคการเมือง"เทียน แห่งธรรม"หรือ"ประชาภิวัฒน์"ของกลุ่มพันธมิตรฯ ถ้าเป็นจริงขึ้นมาก็คือหลักฐานยืนยันว่าความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์กับกลุ่มพันธมิตรฯ ไม่หวานชื่นเหมือนก่อน
ส่วนจะพัฒนาไปถึงขั้นรบแตกหัก หรือจะต้องเป่านกหวีดระดมม็อบเสื้อเหลืองออกมาไล่ตะเพิดรัฐบาลซ้ำรอยเหมือนอย่างที่รัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เคยโดนหรือไม่
สังคมกำลังจับตามองด้วยความสนใจ
กับอีกปัญหาหนึ่งที่รัฐบาลมองข้ามไม่ได้คือการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ ผู้ว่าฯ ตำรวจ บอร์ดรัฐวิสาหกิจ รวมไปถึงการย้ายสถานที่จัดงานโอท็อป ไปจนการย้ายการบินไทยไปสนามบินสุวรรณภูมิ
ถ้ารัฐบาลตัดสินใจไม่ดีว่าจะเลือกเอาผลประโยชน์ของชาติบ้านเมืองหรือผลประโยชน์ของพรรคร่วมรัฐบาลเป็นหลัก เหล่านี้ก็อาจเป็นปัจจัยบั่นทอนอายุรัฐบาลด้วยอีกทางหนึ่ง
การโยกย้ายใหญ่ผู้ว่าราชการจังหวัด 28 ตำแหน่งสดๆร้อนๆเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ยังถูกมองว่าเป็นการแบ่งเค้กกันระหว่างพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทย เพื่อเตรียมการสำหรับการเลือกตั้งครั้งต่อไป
โดยเฉพาะการตัดสินใจย้ายนายสุกิจ เจริญรัตนกุล ออกจากอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น แล้วให้นายมานิต วัฒนเสน ผู้ว่าฯขอนแก่น ซึ่งมีความสนิทสนมกับนายเนวิน ชิดชอบ เข้ามาเป็นแทน โดยยอมเสี่ยงกับการที่นายสุกิจ ออกมาเปิดโปงเรื่องงบประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท
ด้านหนึ่งเป็นไปได้ว่ารัฐบาลมั่นใจในอำนาจที่ตัวเองมีอยู่ แต่อีกด้านหนึ่งก็เป็นไปได้เช่นกันว่าเพราะปัญหาภายใน-ภายนอกที่รุมเร้ารัฐบาลอยู่เวลานี้
ไม่ว่าจะเป็นศึกซักฟอก ม็อบเสื้อแดง ปัญหาทักษิณ ความขัดแย้งกับกลุ่มพันธมิตรฯ ตลอดจนวิกฤตเศรษฐกิจที่ไร้ทางออก
เหล่านี้คือแรงกดดันให้รัฐบาลต้องเร่งปูทางไว้
สำหรับการเลือกตั้งใหม่ตั้งแต่เนิ่นๆ