น่าสนใจและต้องทำความจริงให้กระจ่าง เมื่อนายธาริต เพ็งดิษฐ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) หรือจะเปรียบว่า ป.ป.ช.ภาครัฐ...ว่างั้นเถอะ จะต่างกับ ป.ป.ช. ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่ว่าด้วยเรื่องของนักการเมือง ข้าราชการ
ได้สอบพบพิรุธการปฏิบัติหน้าที่ของกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ซึ่งขาดทุนจากการลงทุนในปี 2551 ทั้งนี้ จากการตรวจสอบข้อมูล กบข.ที่เผยแพร่ต่อสาธารณะพบว่ามีผลประกอบการขาดทุนถึง 54,991 ล้านบาท
ครับ...ตัวเลขขาดทุนไม่ใช่น้อย
กบข.นั้นเป็นกองทุนสะสมของข้าราชการทั่วประเทศกว่า
ล้านคน ที่จะได้ผลตอบแทนจากการบริหารจัดการของ กบข. ที่มีนายวิสิฐ ตันติสุนทร เป็นเลขาธิการ เมื่อพบประกอบการออกมาในรูปแบบขาดทุนจำนวนมากย่อมส่งผลกระทบต่อข้าราชการอย่างแน่นอน
ทั้งนี้ ป.ป.ท.ขอความร่วมมือไปยัง กบข. เพื่อขอเข้าตรวจสอบการดำเนินงาน หากไม่ยินยอมให้ตรวจสอบ จะทำหนังสือถึงนาย
พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรียุติธรรม ให้ประสานไปยังนายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีคลัง ในฐานะประธานบอร์ด กบข.
ประเด็นที่ตรวจสอบพบว่า เหตุที่ กบข.ประสบภาวะขาดทุนจำนวนมากนั้น นอกจากภาวะตลาดหุ้นที่ตกต่ำแล้ว ยังพบว่ามีการลงทุนซื้อหุ้นหลายกลุ่ม แต่มีการลงทุน 2 กลุ่มที่ส่อพิรุธชวนให้สงสัย เพราะซื้อหุ้นที่ขาดทุนและยังลงทุนซื้อเพิ่มอีก
นอกจากนั้น ยังพบว่าการลงทุนซื้อหุ้นธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่งปี 2550 จำนวน 16 ล้านหุ้น มูลค่า 2,100 ล้านบาท ปี 2551 ยังซื้อเพิ่มอีก 9 แสนหุ้น แต่มูลค่าหุ้นกลับติดลบ 800 ล้านบาท เมื่อดูจากยอดรวมพบว่า กบข.ถือครองหุ้นปี 2550 จำนวน 54,000 ล้านบาท ปี 2551 มูลค่าหุ้นลดลง 27,447 ล้านบาท
นี่คือข้อมูลที่ชวนสงสัย
ว่ากันว่าข้าราชการที่ยังไม่เกษียณปีนี้ยังมีความหวังในเงินสะสมจะเพิ่มขึ้น หากการลงทุนเป็นบวก แต่ข้าราชการที่เกษียณปี 2550 จะได้รับผลกระทบโดยตรง
นอกจากนั้น ยังพบว่าการลงทุนปี 2550 จำนวน 4 กลุ่ม จาก 6 กลุ่ม กลุ่มตราสารหนี้ในประเทศ ต่างประเทศ ตราสารลงทุนในประเทศและต่างประเทศมีผลประกอบการขาดทุน 54,991 ล้านบาท เมื่อเทียบมูลค่าแล้วพบว่าตราสารทุนในประเทศขาดทุน 28,150 ล้านบาท ตราสารทุนต่างประเทศลดลง 8,276 ล้านบาท
มีข้อสงสัยว่า เหตุใด กบข.ยังคงสัดส่วนการถือครองหุ้นในระดับที่มีการเปลี่ยนแปลงน้อยมาก บางกลุ่มยังซื้อเพิ่มในปี 2550 ทั้งๆที่พบว่าปี 2549 และปี 2550 มีปัญหาการเมืองในประเทศซึ่งแน่นอนว่าจะต้องประสบภาวะขาดทุนอย่างไม่ต้องสงสัย
ทั้งหลายทั้งปวงนี้ เพราะ กบข.เอาเงินอนาคตของข้าราชการที่สะสมไว้ไปดำเนินการเพื่อหากำไร ซึ่งแน่นอนว่าการลงทุนในตลาดหุ้นแน่นอนว่ามีกำไรดี หากตลาดหุ้นบูมและเลือกซื้อหุ้นในตัวที่คิดว่าจะมีผลกำไรดี
ขณะเดียวกัน ก็ต้องยอมรับว่าการลงทุนลักษณะนี้ต้องมีความเสี่ยงสูง เพราะแม้นักเล่นหุ้นมืออาชีพที่ว่าเก่งนักเก่งหนาก็มีโอกาสที่จะขาดทุน ซึ่งมีให้เห็นอยู่แล้ว ดังนั้น การตัดสินใจของ กบข. จึงมีความสำคัญและจะต้องมีความรับผิดชอบสูง
เพราะไม่ใช่เงินของตัวเอง แต่เป็นเงินของข้าราชการเพื่ออนาคตหลังเกษียณที่ กบข.จะต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ ไม่ใช่จะมาอ้างว่าเป็นเรื่องปกติที่มีกำไรและขาดทุน
ข้อสำคัญก็คือ การดำเนินงานของ กบข.หรือการตัดสินใจต่างๆ ดำเนินการอย่างอิสระ เป็นข้อมูลลับภายใน ที่คนนอกหรือเจ้าของเงินไม่มีทางรับรู้ รู้เพียงว่าผลกำไร-ขาดทุนเท่านั้น ตรงนี้จึงเป็นประเด็นสำคัญที่จะต้องแสดงความรับผิดชอบ
จะมา “ลอยตัว” อ้างโน่นอ้างนี่ไม่ได้แน่.
“สายล่อฟ้า”