ที่มา มติชน
เป็น "วาทะ" ที่ไม่ต้อง "ตีความ"
เป็น "วาทะ" ที่ไม่ต้อง "ถอดรหัส" ใดๆ ทั้งสิ้น
หากแต่เป็น "วาทะ" ที่แล้วแต่ใครจะตีความ
ชัดเจนว่า ฝายสนับสนุนคำพูดของ พล.อ.เปรม ก็มองว่า นั่นเป็นการ "เตือนสติ" พล.อ.ชวลิต ด้วยความหวังดี จากใจจริง
"เรื่องที่มีคนไปเขียนลงในหนังสือพิมพ์ในทำนองว่า ผมไปว่าเขาเป็นคนทรยศต่อชาติ ซึ่งไม่ถูกต้อง สิ่งที่ถูกต้องคือวันนั้น ก่อนที่จิ๋วจะไปสมัครสมาชิกพรรคเพื่อไทย ผมให้คนไปบอกเขาว่า จะทำอะไร ขอให้คิดให้รอบคอบ ไตร่ตรองให้รอบคอบ ผมใช้คำว่าไตร่ตรองให้รอบคอบ ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นการกระทำที่เป็นการทรยศต่อชาติ ผมไม่ได้กล่าวหาว่าเขาเป็นคนไม่ดี ทรยศต่อชาติบ้านเมือง"
เป็นความหวังดี ที่ไม่ต้องการให้ เพื่อนที่รัก ต้องไปตกอยู่ในวังวนของความขัดแย้งทางการเมือง
ขณะที่ ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับ "วาทะ" พล.อ.เปรม อย่างพรรคเพื่อไทย ก็แสดงออกด้วยมุมคิดที่ตรงกันข้าม
ด้วยการ ออกแถลงการณ์ตอบโต้..
"คำสัมภาษณ์ของ พล.อ.เปรม มีลักษณะดูถูกเหยียดหยามพรรคเพื่อไทย เป็นคำพูดที่สื่อให้เข้าใจว่าการเข้าเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย เป็นพรรคการเมืองชั่วร้าย มีเป้าหมายทำลายประเทศไทย เป็นคำพูดที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อพรรคเพื่อไทยอย่างร้ายแรง"
ปรากฏการณ์ดังกล่าว ถูกวิเคราะห์วิจารณ์กันว่า เป็นการ "ล่อเสือออกจากถ้ำ"
เพราะที่ผ่านมา พล.อ.เปรม รู้และเข้าใจบทบาทดีว่า จะต้องไม่กระทำสิ่งใดๆ ที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 14 ที่ระบุว่า "องคมนตรีจะต้องไม่แสดงอาการฝักใฝ่ในพรรคการเมืองใดๆ"
แต่ปรากฏการณ์คำพูดของ พล.อ.ชวลิต เป็นเหมือนสิ่งเร้าที่ทำให้ พล.อ.เปรม เลือกที่จะออกมายืนอยู่แถวหน้า เพื่อให้สปอร์ตไลน์จับจด อย่างชัดเจน
ชัดเจนยิ่งขึ้น เมื่อเอ่ยปากกับสื่อ ก่อนที่จะถูกซักถาม ด้วยคำพูดว่า "ผมจะไม่ให้สื่อตั้งคำถาม แต่ผมจะพูดเรื่องจิ๋วเอง"
การที่ พล.อ.เปรม เลือกที่จะมา "ยืนแถวหน้า" จะด้วยเหตุผลปกปักพิทักษ์ ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ หรือจะด้วยเหตุผลอื่นก็ตาม
ส่งผลให้กลุ่มคนเสื้อแดง และพรรคเพื่อไทย จะใช้เป็น "ข้ออ้าง" และ "เหตุผล" ในการวิพากษ์วิจารณ์ พล.อ.เปรม ในทางเสียๆ หายๆ ได้
เหมือนที่ "ปลอดประสพ สุรัสวดี" รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่บอกชัดๆ ว่า
"รู้สึกเสียใจที่ พล.อ.เปรม มีความเข้าใจผิดต่อพรรคและกล่าวร้ายต่อพรรคเช่นนี้ และการให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.เปรม ถือเป็นการพูดทางการเมือง และการสมัครเข้าสมาชิกพรรคเพื่อไทยเป็นการตัดสินใจทางการเมืองของแต่ละบุคคล เป็นกิจกรรมที่ไม่เกี่ยวข้องกับประธานองคมนตรี เพราะหน้าที่ขององคมนตรีคือ การถวายความเห็นต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว"
พรรคเพื่อไทย พยายามจะสื่อว่า พล.อ.เปรม กำลังละเมิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 14
และที่พยายามจะสื่อให้ลึกกว่านั้นก็คือ พล.อ.เปรม ไม่ชอบพรรคเพื่อไทย ไม่ชอบพรรคที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ให้การสนับสนุน ไม่ชอบกลุ่มคนที่ยังยกย่องเชิดชู พ.ต.ท.ทักษิณ
ด้วยเหตุผลดังกล่าว บวกเข้ากับ "วาทะ" พล.อ.เปรม ที่เอื้อนเอ่ยเอาไว้เมื่อครั้ง ประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่ชื่อ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ"
"..รัฐบาลนี้ดี และผมก็เคยพูดว่านายกรัฐมนตรีคนนี้ดี ดังนั้น เราคงจะหวังได้ว่า ท่านจะเป็นผู้นำที่ดี และจะทำให้ประเทศดีขึ้น"
แต่เมื่อถูกผู้สื่อข่าวซักถามต่อว่า นายกฯอภิสิทธิ์จะสามารถนำประชาชนฝ่าวิกฤตของประเทศได้หรือไม่ พล.อ.เปรม ตอบสั้นๆ และชัดเจนว่า "..ผมเชียร์.."
ทำให้สมมติฐานของพรรคเพื่อไทย และเสื้อแดง ถูกทำให้มีน้ำหนักมากยิ่งขึ้น
หากดูบริบทของ "ปรากฏการณ์บิ๊กจิ๋ว" จนถึง "วาทะป๋าเปรม" บวกเข้ากับความขัดแย้งทางการเมืองที่ยังไม่มีท่าทีลดราวาศอก
ความหวัง ความฝัน ที่จะเห็น "ความสมัครสมานสามัคคี" ภายในชาติ เพื่อความอยู่ดี กินดี อารมณ์ดี มีความสุข คงยังเป็นแค่แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์เท่านั้น
ซึ่งไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะเดินไปถึง