ที่มา Thai E-News
ที่มา เว็บไซต์ประชาไท
8 พฤศจิกายน 2552
เมื่อวันที่ 7 พ.ย.52 เว็บบอร์ดฟ้าเดียวกัน ในนามผู้ประสานงานชุมชน ได้ออกแถลงการณ์เรื่อง “ประณามการจับแพะกรณีทุบหุ้น” โดยระบุว่า การจับกุมผู้ต้องหาที่โพสต์ข้อความในเว็บบอร์ดทั้ง 3 คนเป็นการกระทำที่รัฐจงใจคุกคามสิทธิ เสรีภาพของประชาชนในการแสดงความคิดเห็นในเว็บบอร์ด หรือกระดานสนทนาต่างๆ เพราะไม่ว่าจะพิจารณาในแง่มุมใด ผู้ต้องหาทั้งสามก็มิใช่ต้นเหตุของความปั่นป่วนที่เกิดขึ้นในตลาดหุ้น จึงเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ดำเนินคดีโดยเปิดเผย และยกเลิก พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ซึ่งเป็นเหมือนส่วนขยายของมาตรา 112 ซึ่งขัดกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน พร้อมทั้งรณรงค์ให้ประชาชนคัดค้านการดำเนินการเช่นนี้ของรัฐ
การจับกุมอิสรชนสามท่าน ซึ่งได้แก่ คุณคฑา ปาจริยพงษ์ คุณธีระนันท์ วิปูชนินท์ และคุณ สมเจต อิทธิวรกุล ในข้อหาป่วนตลาดหุ้น จากข้อเท็จจริงคุณคฑา ได้แสดงความคิดเห็นถึงสาเหตุหลังเหตุการณ์หุ้นตกไปแล้ว และคุณจีระนันท์ ได้แปลข่าววิเคราะห์จากต่างประเทศถึงสาเหตุของการหุ้นตกที่ผ่านมา เห็นได้ว่า ทั้งสามท่านมิได้เป็น "ต้นเหตุ" ของภาวะเหล่านั้นไม่ว่าจะพิจารณาในทางใด เหล่านี้สะท้อนได้ว่า การจับกุมอย่างจงใจสะเพร่าเช่นนี้ เกิดขึ้นเพื่อรองรับมูลเหตุจูงใจบางประการ และพยายามเร่งขยายผลต่อไป เช่น การคุกคามเว็บบอร์ดของชุมชนฟ้าเดียวกัน(www. sameskyboard.com) เว็บบอร์ดประชาไท(www.prachataiwebboard.com) และกระดานสนทนาฟรีสปีช อื่นๆ โดยอาศัยกฎหมายล้าสมัยและไร้ศีลธรรมต่ำทรามอย่างที่สุด เช่น ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา๑๑๒ ซึ่งพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐ เป็นอีกหนึ่งในเครื่องมือแห่งการคุมคามนี้
การแสดงความคิดเห็น และการเผยแพร่ข่าวสารในเหตุการณ์ต่าง ๆ ล้วนเป็นสาระสำคัญพื้นฐานแห่งสิทธิเสรีภาพของประชาชน การอ้างภัยแห่งความมั่นคงนั้น ล้วนเป็นข้ออ้างของรัฐบาลเผด็จการทุกยุคสมัย
ในความเป็นจริง มีข่าวลือจำนวนมากในตลาดหุ้น รวมถึงปัจจัยตัวแปรต่าง ๆ การเจาะจงเรื่องนี้ ซึ่งก็คือ ข่าวลือเกี่ยวกับสถาบัน แสดงให้เห็นว่า ผู้มีอำนาจต้องการขยายผล เพื่อละเมิดสิทธิในเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนผู้ใช้อินเตอร์เน็ท- ชุมชนออนไลน์ต่างๆ โดยมีลักษณะเป็นเผด็จการในการปิดกั้นการรับรู้และแสดงออกทางการเมืองของ ประชาชน โดยพยายามอ้างนักลงทุนเป็นพวก
นอกจากนี้ ความปั่นป่วนในตลาดหุ้นที่เกิดขึ้น ย่อมสะท้อนให้เห็นว่า ประชาชนมีความไม่ไว้วางใจต่อ "แถลงการณ์จากรัฐ" หรือ "แถลงการณ์จากราชสำนัก" ภายใต้สังคมที่ปฏิเสธความจริง หรือปิดกั้นเสรีภาพ อยู่เนือง ๆ ย่อมสร้างภาพแห่งความไม่น่าเชื่อถือ ไม่ว่านักลงทุนไทยหรือต่างชาติ คงตระหนักซึ้งในเรื่องเหล่านี้ดี
การถูกบังคับให้เชื่อ ให้ได้ยิน ให้ได้ฟัง อยู่ด้านเดียวนี้เอง เป็นกลไกหนึ่งที่บั่นทอนความน่าเชื่อถือ "แถลงการณ์จากรัฐ" และ "แถลงการณ์จากราชสำนัก" จึงไม่น่าแปลกใจว่า "ข่าวลือ" จะสามารถปั่นป่วนตลาดหุ้นไทยได้ขนาดนี้ ทั้ง ๆ ที่แถลงการณ์สำนักพระราชวังได้ออกมาอย่างเนือง ๆ แต่หาสร้างน้ำหนักอันมีผลต่อการตัดสินใจไม่
ในครานี้ ฝ่ายรัฐ กลับตอกย้ำปมปัญหา โดยการคุกคามสิทธิเสรีภาพอีกครั้ง และเป็นการจับแพะได้อย่างน่าละอายยิ่ง วิญญูชนล้วนตระหนักดี และเล็งเห็นได้ว่าจะมีการ "หาเรื่อง" และ "จับแพะ" เพิ่มเติม การจงใจสะเพร่าเช่นนี้ จะอ้างว่า ให้พิสูจน์ในชั้นศาล ไม่อาจฟังขึ้น เพราะเป็นการใช้อำนาจตามอำเภอใจ อยากจับใครก็ได้ ให้พิสูจน์ในชั้นศาลเอาเอง ซึ่งขัดต่อหลักสาระสำคัญแห่งสิทธิเสรีภาพในรัฐประชาธิปไตย และการบังคับใช้กฎหมายอย่างบิดเบือน อันบั่นทอนหลักนิติรัฐ เรื่องเหล่านี้ในนามชุมชนเว็บบอร์ดฟ้าเดียวกัน ไม่อาจยอมรับได้ และขอเรียกร้องดังนี้
๑. แม้จะเป็นการเริ่มต้นดำเนินคดี อย่างมิชอบ แต่เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐ ได้ดำเนินคดีแล้ว ก็ต้องเคารพระเบียบกระบวนการทางกฎหมาย โดยหลักการประชาธิปไตยในโลกสากล ตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ และรัฐธรรมนูญทุกฉบับของราชอาณาจักรไทย ได้เคารพในหลักการว่าผู้ถูกกล่าวหาคือผู้บริสุทธิ์ จนกว่าจะถูกพิสูจน์โดยกระบวนการอันชอบด้วยกฎหมายว่ากระทำความผิด โดยกระบวนการพิสูจน์ตามกฎหมายนั้น จะต้องกระทำโดยเปิดเผยและให้โอกาสต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่
ด้วยเหตุผลดังกล่าว ในขณะนี้ ผู้ใช้อินเตอร์เน็ททั้งสามท่านที่ถูกดำเนินคดี จะต้องถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ และ ขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจตลอดจนเจ้าพนักงานในกระบวนยุติธรรมทางอาญาทั้งหลายที่เกี่ยวข้อง ต้องดำเนินคดีต่อผู้ถูกกล่าวหาทั้งสามท่าน อย่างเปิดเผยและเป็นไปตามปฏิญญาสากลของสหประชาชาติ รัฐธรรมนูญ และกฎหมายด้วย
๒. พระราชบัญญัติความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ที่ถูกบังคับใช้ในครั้งนี้ ทำหน้าที่เสมือนส่วนขยายของ กฎหมายอาญาฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ ซึ่งขัดต่อปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน มาตรา ๒ โดยชัดแจ้ง ในทางหนึ่ง แม้แต่องค์พระมหากษัตริย์รัชกาลปัจจุบันเอง ยังเคยมีพระราชดำรัสว่า กฎหมายดังกล่าวสร้างความเสื่อมเสียให้กับสถาบันกษัตริย์
๓. พลเมืองเสรีประชาธิปไตย โปรดประณามการจับกุมในรูปแบบนี้ และเผยแพร่พฤติกรรมที่น่าละอายของเจ้าพนักงานรัฐไทย แพร่ขยายไปยังสื่อทั้งในและนอกประเทศ
๔. พระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐ , บรรดากฎหมายซึ่งออกโดยคณะรัฐประหารทั้งปวง ตลอดถึงกฎหมายที่ละเมิดหลักเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและที่ละเมิดต่อหลัก การสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน ทุกฉบับ ทุกมาตรา ต้องถูกยกเลิกโดยเร็วที่สุด
๕. การใช้อำนาจคุกคามสิทธิเสรีภาพทางความเห็น ไม่ว่าจะอาศัยอำนาจโดยในหรือนอกกฎหมาย ต้องไม่เกิดขึ้นอีก
๖. เราคาดว่าน่าจะมีการ"หาเรื่อง"และ" จับแพะ" เพิ่มเติม ซึ่งเราผู้รักประชาธิปไตยนั้นไม่เห็นด้วยและจะพยายามคัดค้านในทุกวิถีทาง
สุดท้ายนี้เราอาจกล่าวต่อท่านว่า แม้ท่านอาจจะปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงเจตนาเพียงใด แต่สิทธิอันท่านไม่อาจก้าวล่วง และไม่อาจหาเครื่องมือในการปิดกั้นหรือบังคับได้เลย คือ "สิทธิในการคิด ในความศรัทธา ในความรัก ในความเกลียดชัง" อันเป็นสิทธิสัมบูรณ์โดยแท้ที่ไม่มีผู้ใดเคยสามารถที่จะจำกัดบังคับได้