WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Sunday, November 8, 2009

จักรภพ เพ็ญแข : องคมนตรีในรัฐธรรมนูญ

ที่มา Thai E-News

ที่มา คอลัมน์ 'ผมเป็นข้าราษฎร'
หนังสือพิมพ์ Thai red news

เมื่อวันก่อนผมสนทนายาวเกือบสามชั่วโมง กับทีมงานของเว็ปคนไทยยูเคในเรื่องต่างๆ ความจริงนัดคุยกันเรื่องการประชุมสุดยอดอาเซียนที่หัวหิน แต่คำถามจากท่านผู้ฟังที่ไหลเข้ามาดั่งสายน้ำ พาเราไปสู่เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจและเกี่ยวกับจุดยืนของฝ่ายประชาธิปไตยทั้งนั้น

เรื่องหนึ่งในนั้นคือ จุดยืนเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งหลายท่านถามเข้ามาอย่างสนใจมาก ผมตอบไปแล้ว ก็มานั่งคิดในภายหลังว่า เรื่องนี้สำคัญเกินกว่าจะพูดแล้วก็ผ่านเลยไป

ผมจึงขอนำประเด็นหนึ่งที่ได้สนทนามาเขียนบันทึกไว้ ณ ที่นี้อีกครั้ง เพื่อให้ชัดเจนเป็นหลักฐานและเป็นสาธารณะพอที่จะถกเถียงกันต่อไป นั่นคือประเด็นที่เกี่ยวกับฐานะของกลุ่มบุคคลที่เรียกว่า องคมนตรี ซึ่งในรัฐธรรมนูญปรากฏอยู่ในหมวดอันเกี่ยวแก่พระมหากษัตริย์

พูดเพียงเท่านี้ คนที่อยู่ในกรอบความคิดแบบประเพณีก็จะรู้สึกว่า เป็นเรื่องต้องห้าม ไม่ควรที่ใครจะเข้าไปแตะไปต้องทั้งสิ้น

แต่ปัญหาคือ องคมนตรีจำนวนหนึ่ง เข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองมากเกินไป จนผู้คนเขารู้สึกกันทั้งบ้านทั้งเมืองว่า ไม่สมควร และไม่ใช่หน้าที่ พลอยให้คนอีกไม่น้อย คิดเลยไปถึงองค์พระมหากษัตริย์อย่างไม่สมควร และไม่เป็นมงคล

ถ้าองคมนตรีบางท่าน ไม่แสดงบทบาทดังกล่าว ประเด็นล่อแหลมอย่างนี้ ก็จะไม่เกิดขึ้น

อย่าลืมว่า เมื่อประธานองคมนตรีและองคมนตรี เข้ามาเป็นรัฐบาลพิเศษภายหลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ จนกลายเป็นรัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์นั้น สังคมเขาก็ไม่ได้ว่าอะไรมาครั้งหนึ่งแล้ว เพราะถือว่า เป็นการยุติสภาพอนาธิปไตยในบ้านเมือง

แต่พฤติกรรมทั้งก่อนและหลังการรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ หรือ ๓๓ ปี หลังรัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นคนละเรื่องกัน เพราะเป็นพฤติกรรมของคนที่จงใจ เจตนา ทำลายรัฐบาลของมวลชนที่ได้รับความนิยมอย่างมาก และมีทีท่าจะเป็นคู่แข่งที่สมน้ำสมเนื้อได้ โดยอาศัยข้อกล่าวหาคลาสสิก ๓ ข้อคือ ไม่จงรักภักดี ทุจริตคดโกง และคิดเป็นเผด็จการ

เราต้องนำบทเรียนในเรื่องนี้มาแก้ไขเสียใหม่ ในรัฐธรรมนูญ และหาทางบังคับใช้ให้ได้ตามนั้น ไม่เช่นนั้นก็จะมีรัฐบาลเปรม ๑๐๐ หรือสุรยุทธ์ ๒ หรือพลากร ๑ ให้อับอายขายหน้าชาวโลกเขาต่อไป

ขนาดรัฐบาลอภิสิทธิ์ ๑ เขาก็แสดงอาการรังเกียจ จนการประชุมสุดยอดอาเซียนต้องล่มสลายในทางสาระไปเรียบร้อยแล้ว นี่อุตส่าห์ไปประชุมกันถึงหัวหินนะครับ

ตั้งประเด็นกันเสียให้ถูกว่า องคมนตรีคือใคร และมีความสัมพันธ์กับปวงชนชาวไทยอย่างไร

องคมนตรี คือคณะบุคคลที่พระมหากษัตริย์ทรงตั้งขึ้นตามพระราชอัธยาศัย เพื่อทำหน้าที่ถวายคำปรึกษาตามพระราชอัธยาศัย รับสั่งไว้ในการเสด็จพระราชดำเนินเปิดทำเนียบองคมนตรีที่สวนสราญรมย์เองว่า องคมนตรี คือผู้ให้คำแนะนำแก่พระมหากษัตริย์ ถ้าไปให้คำแนะนำกับคนอื่น ถือว่าไม่ใช่องคมนตรี

แปลว่า บุคคลที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ เป็นองคมนตรี จะเป็นองคมนตรีเฉพาะกิจเท่านั้น ไม่ได้เป็นองคมนตรีไปจนถึงธนาคารกรุงเทพฯ ซีพี หรือเบียร์ช้าง

ในขณะที่ไปประสานให้เขาก่อการรัฐประหาร ยึดอำนาจ หรือห้ามมิให้เขาทำตามคำสั่งของรัฐบาลที่ประชาชนเลือกตั้งเข้ามา ทั้งๆ ที่รัฐบาล มุ่งรักษากฎหมายบ้านเมือง ในกรณีการยึดสนามบินนานาชาติ และทำเนียบรัฐบาล อย่างนี้โดยกระแสพระราชดำรัสแล้ว ก็มิใช่องคมนตรีเป็นผู้ประสาน แต่เป็นเรื่องส่วนตัวของนายพลเกษียณ ข้าราชการกระทรวงมหาดไทยเกษียณ และอื่นใดก็ตาม ที่ล้วนแต่เกษียณ หรือวางมือจากงานอื่นๆ แล้วทั้งสิ้น

จับประเด็นนี้แหละครับ มาแก้ไขรัฐธรรมนูญเสียให้เป็นผู้เป็นคนสักที ประธานองคมนตรีและองคมนตรี เป็นเอกสิทธิ์ของพระมหากษัตริย์ที่จะโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ก็ให้ดำรงสภาพเช่นนั้นตามประเพณี ให้ถือว่า จะทรงเลือกใครหรือมีพระบรมราชโองการให้ทำงานอย่างใด เป็นเรื่องส่วนพระองค์ หรือตามวลีที่ว่า ตามพระราชอัธยาศัยทั้งสิ้น

หากเกี่ยวกับการสืบราชสันตติวงศ์ สภาผู้แทนราษฎรก็มีอยู่แล้วทั้งสภา และโดยเจตนารมณ์ของประชาชนผู้เลือกตั้ง ก็คงไม่มีใครทำสิ่งใดที่ถือว่า ฝ่าฝืนโบราณราชประเพณี ซึ่งกำกับอยู่อย่างเคร่งครัดในกฎมณเฑียรบาลแล้ว

เมื่อเป็นเช่นนั้น ก็ไม่ต้องใส่มาตราใดๆ ที่เกี่ยวกับองคมนตรีไว้ในรัฐธรรมนูญ ตัดออกไปเลยครับ รัฐธรรมนูญต้องระบุเฉพาะสิทธิ เสรีภาพ และหน้าที่ของปวงชนชาวไทย ตามระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น นอกเหนือจากนั้น ไม่ต้องมาพ่วงไว้ในรัฐธรรมนูญ

เราต้องช่วยกันระวังเรื่องการกล่าวอ้างอะไรผิดๆ และนำมาถกเถียงกันอย่างชุลมุนวุ่นวาย ทำให้ปัญหาบ้านเมืองรุ่มร้อนไม่จบสิ้น อย่างในประเด็นที่หลายคนเผลอคิดไปว่า องคมนตรีเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงสมควรเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญทุกฉบับ และลอกต่อกันมาโดยไม่กล้าแตะต้อง

นี่เป็นเรื่องส่วนพระองค์ และเป็นพระราชอัธยาศัย ไม่ต่างอะไรกับผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ที่ปวงชนชาวไทยไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องเหมือนกัน

แก้ไขเสียอย่างนี้ ก็เท่ากับปลดพันธะทางการเมืองไปหนึ่งข้อ ซึ่งเป็นข้อใหญ่ ที่ออกจะมีความหมายและจะส่งผลกระทบในทางบวกต่อการพัฒนาประชาธิปไตยมาก

ที่สำคัญ จะเป็นการพิทักษ์สถาบันพระมหากษัตริย์อย่างเหมาะสมด้วยการกระทำ ไม่ใช่สอพลอ.