ที่มา Thai E-News
วาทะของริชาร์ด ลอยด์ แพร์รี่ TIMES ONLINE-สิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในไทยเวลานี้ ถือเป็นสัญญาณอันตรายต่อความเป็นประชาธิปไตยในสังคมไทย และถือเป็นความเจ็บปวดมากยิ่งขึ้น เมื่อความจริงอันน่ารังเกียจเหล่านี้มาเกิดขึ้นภายใต้การนำของ นายอภิสิทธิ์ ชายผู้ซึ่งได้ชื่อว่า มีความชาญฉลาดมีความสามารถ และมีคุณสมบัติที่ดีครบถ้วนทุกประการ ยกเว้นเพียงอย่างเดียว คือ ความถูกต้องชอบธรรมตามหลักประชาธิปไตย
ที่มา THE TIMES ONLINE
แปลเรียบเรียงโดย ทีมข่าวไทยอีนิวส์
10 พฤศจิกายน 2552
ข่าวเกี่ยวเนื่อง:สื่อลิ้ม-สื่อหลักไร้ยางอายบิดเบือนจากภักดีเป็นล้มสถาบัน คำต่อคำทักษิณสัมภาษณ์TIMESONLINE
ตามที่ไทยอีนิวส์ได้รายงานไปแล้วว่า บทสัมภาษณ์ฉบับจริงของทักษิณ ชินวัตร กับTIMES ONLINEนั้น ทักษิณได้ย้ำตลอดการให้สัมภาษณ์ถึงความจงรักภักดีสถาบันกษัตริย์ แต่เพราะTIMESนำบางตอนไปพาดหัวทำนองว่า เมื่อสมเด็จพระบรมฯขึ้นเป็นกษัตริย์องค์ใหม่ตามคำถามนำของนักข่าวTIMESนั้นพระองค์จะเป็นกษัตริย์ที่ดี สามารถนำพาประเทศไปสู่ความเจริญได้ เพราะได้เรียนรู้จากในหลวงมาก แต่สื่อกระบอกเสียงพันธมิตรคือASTVได้บิดเบือนเป็นว่าทักษิณกล่าวให้ร้ายในหลวงที่ทรงพระประชวรอยู่ แล้วสื่อหลักต่างๆนำไปขยายผลทำลายทักษิณ
รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ออกมาขยายผลทันควัน ทั้งการที่อภิสิทธิ์กล่าวตีกินว่า"ทักษิณคงรู้ว่าไม่เหมาะสมในการให้สัมภาษณ์ จึงได้ออกมาแก้ไขข่าว"(โดยไม่พูดให้หมดว่าทักษิณประณามที่TIMESนำบางคำของเขาไปพาดหัวโดยตีความไปเอง และเป็นคำที่"มิบังควร"ในวัฒนธรรมการเมืองแบบไทยๆ) และนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีต่างประเทศแถลงโจมตีทักษิณในนามของรัฐบาลไทย
จะเห็นได้ว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์ได้ฉกฉวยความบิดเบือนของสื่อมวลชนไทยที่บิดเบือนโฆษณาชวนเชื่ออย่างขาวเป็นดำ(black propaganda)ไปขยายผล โดยไม่ได้คำนึงถึงสัจจะความจริงที่ว่าตลอดการให้สัมภาษณ์ของทักษิณนั้น ทักษิณได้กล่าวแสดงความจงรักภักดีถวายพระเกียรติ และแก้ต่างให้พระราชวงศ์ที่ถูกนักข่าวถามตลอดเวลาว่ามีบทบาทแทรกแซงการเมืองไทยว่าไม่เป็นความจริง
ผิดกับครั้งหนึ่งที่หนังสือพิมพ์ The Times Online ของอังกฤษ ได้ตีพิมพ์บทวิพากษ์ของ นาย ริชาร์ด ลอยด์ แพร์รีย์ (Richard Lloyd Parry)บรรณาธิการภาคพื้นเอเชีย ซึ่งเคยเป็นศิษย์ร่วมมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดกับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เคยเขียนวิจารณ์นายอภิสิทธิ์อย่างรุนแรงในตอนที่อภิสิทธิ์จะเดินทางไปเยือนอังกฤษ เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เวลานั้นอภิสิทธิ์ กษิต และรัฐบาลของเขาไม่เคยที่จะกล่าวถึงรายงานข่าวชิ้นนั้นเลยแม้แต่น้อย
ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมานายอภิสิทธิ์มีกำหนดการเดินทางเยือนอังกฤษ และจะขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ที่มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดในหัวข้อ "Taking on the Challenges of Democracy"
บทความเรื่องThe charmer making a mess of his country
The Prime Minister of Thailand, best friends at Eton with Boris Johnson, is presiding over a chaotic and callous regimeโดย นายแพร์รีย์ ระบุว่า ถึงแม้ว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของไทย จะได้ชื่อว่าเป็นนักการเมืองหนุ่มไฟแรงที่มีหน้าตาดี ฉลาดหลักแหลม และเป็นขวัญใจของชนชั้นกลางในกรุงเทพมหานคร รวมทั้งการที่ นายอภิสิทธิ์ เคยเป็นอดีตนักเรียนเก่าของ Eton College โรงเรียนเอกชนชายล้วนชื่อดังระดับโลกของอังกฤษ ร่วมกับ นายบอริส จอห์นสัน นายกเทศมนตรีกรุงลอนดอนคนปัจจุบัน วัย 44 ปี ซึ่งถือเป็นเพื่อนสนิทของ นายอภิสิทธิ์ ในสมัยนั้น
แต่อย่างไรก็ตาม เสน่ห์อันน่าหลงใหลของ นายอภิสิทธิ์ ก็ไม่ควรที่จะนำมาเป็นปัจจัยที่เบี่ยงเบนความสนใจของประชาคมโลกจากความจริงอันน่ารังเกียจของสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ที่ทำให้ประเทศไทยกลายสภาพจากการเป็นหนึ่งในประเทศที่มีเสรีภาพและมีเสถียรภาพมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กลายเป็นประเทศที่มีความวุ่นวายและแตกแยกมากที่สุดในภูมิภาค
นาย ริชาร์ด ลอยด์ แพร์รีย์ ยังระบุในบทความชิ้นนี้ด้วยว่า ความจริงอันน่ารังเกียจของประเทศไทย รวมถึงการที่ บรรดานักเขียน นักคิด นักวิชาการ และ นักข่าว จำนวนมากต่างถูกจับเข้าคุกนานถึง 12 ปี หรือไม่ ก็ต้องหนีตายไปลี้ภัยในต่างประเทศหลังจากที่พวกเขาได้วิพากษ์วิจารณ์สถาบันเบื้องสูงของไทย ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของไทย,
รวมทั้งการผลักดันกลุ่มผู้อพยพชาวโรฮิงญานับพันคนจากพม่าที่หมดหนทาง และสิ้นหวังให้ออกไปพบกับความตายในทะเล การที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยถูกบีบและกดดันให้พ้นจากอำนาจไป ทั้งโดยน้ำมือของกองทัพและโดยน้ำมือของม็อบ และการจับกุมตัวเว็บมาสเตอร์ของเว็บไซต์อิสระแห่งหนึ่ง ภายหลังจากการออกมายืนยันของ นายอภิสิทธิ์ เพียงไม่กี่ชั่วโมงว่า รัฐบาลของเขาเคารพหลักการว่าด้วยเสรีภาพ ในการแสดงความคิดเห็นของสื่อมวลชน
จากเหตุการณ์ทั้งหลายข้างต้น นาย แพร์รีย์ จึงมองว่า น่าจะไม่ค่อยเป็นการเหมาะสมนัก หาก นายอภิสิทธิ์ จะขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ในหัวข้อ "Taking on the Challenges of Democracy" ซึ่งเกี่ยวข้องกับความเป็นประชาธิปไตยที่อ็อกซ์ฟอร์ด
นายแพร์รีย์ ระบุว่า ตั้งแต่ นายอภิสิทธิ์ได้ขึ้นเป็น หน.พรรคประชาธิปัตย์ ในปี 2005 ได้มีการเลือกตั้ง 2 ครั้งแล้วในไทย ซึ่ง นายอภิสิทธิ์ ได้เคยคว่ำบาตรการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยเมื่อปี 2006 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งที่ พ.ต.ท.ทักษิณ คว้าชัยได้เป็นครั้งที่ 3 ติดต่อกัน
โดย นายแพร์รีย์ ชี้ว่าผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งชาวไทยส่วนใหญ่ได้เทใจให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ให้ชนะการเลือกตั้งครั้งแล้วครั้งเล่า แทนที่จะเป็น นายอภิสิทธิ์ เนื่องจาก พ.ต.ท.ทักษิณ มีผลงานในการเปลี่ยนชีวิตของชาวชนบทหลายล้านคนให้มีชีวิตที่ดีขึ้น ผ่านทางนโยบายและโครงการต่างๆ อาทิ โครงการรักษาพยาบาลในราคาถูก ซึ่งช่วยให้คนที่ยากจนได้เข้าถึงการรักษาได้เป็นครั้งแรกในไทย หรือ โครงการกองทุนหมู่บ้านก่อนที่ พ.ต.ท.ทักษิณ จะถูกโค่นอำนาจ
ในทางกลับกัน นาย แพร์รีย์ มองว่า การก้าวสู่ตำแหน่งนายกฯของ นายอภิสิทธิ์ ไม่ได้เกิดขึ้นจากเจตจำนงของคนส่วนใหญ่ และได้รับการสนับแบบไม่ชอบธรรมจากกลุ่มที่ต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ จนได้ก้าวสู่ตำแหน่งนายกฯในที่สุด ทั้ง กองทัพ รวมทั้ง กลุ่มพันธมิตร ซึ่งกลุ่มพันธมิตรนี้เอง ที่ได้รับการสนับสนุนจาก(เซ็นเซอร์)ของไทย
ในตอนท้ายของบทวิพากษ์ นายแพร์รีย์ ระบุว่า สิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในไทยเวลานี้ ถือเป็นสัญญาณอันตรายต่อความเป็นประชาธิปไตยในสังคมไทย และถือเป็นความเจ็บปวดมากยิ่งขึ้น เมื่อความจริงอันน่ารังเกียจเหล่านี้มาเกิดขึ้นภายใต้การนำของ นายอภิสิทธิ์ ชายผู้ซึ่งได้ชื่อว่า มีความชาญฉลาดมีความสามารถ และมีคุณสมบัติที่ดีครบถ้วนทุกประการ ยกเว้นเพียงอย่างเดียว คือ ความถูกต้องชอบธรรมตามหลักประชาธิปไตย