ที่มา ประชาไท
(ที่มาของภาพ:-จากนิตยสาร VOLUME)
ในฐานะที่คุณเป็นคนเชียงใหม่ คุณมองเชียงใหม่เปลี่ยนไปมากไหม? ตั้งแต่มีพ่อแพนด้า แม่แพนด้า ลูกหมีแพนด้ามาอยู่เชียงใหม่ วัฒนธรรมเปลี่ยนไปมากไหม?
มีคนถามคำถามนี้กับดิฉันบ่อย บ่อยจนอยากตอบว่านับแต่ครั้งแรกที่ถูกถาม เชียงใหม่ไม่ค่อยเปลี่ยนแล้วล่ะ (หัวเราะ) เชียงใหม่ไม่เปลี่ยนในแง่ที่เป็นเมืองที่ทางเท้าห่วย แคบ ขรุขระเหมือนเดิม เป็นเมืองที่ให้ priority กับรถยนต์มากกว่าคนเดินเท้าและจักรยานเช่นเดิม เป็นเมืองที่มีแต่คนตั้งหน้าตั้งตาสร้างโรงแรม ขายความ exotic ล้านนา พุกาม จีน แขก ขอม ได้มั่วซั่วเหมือนเดิม มีงานevent เปิดตัวสินค้า เปิดห้างสรรพสินค้าที่ผูกขาดโดยออร์กาไนซ์เซอร์กลุ่มหนึ่งที่ถนัดแต่ทำกาดหมั้ว แบบมั่วๆ จับสาวๆ หนุ่มๆ มาใส่ชุดเหมือนหนังจักรๆ วงศ์ๆ มีฟ้อนประหลาดๆ มีเต้นย้อนยุคสุนทราภรณ์ เรียกได้ว่าเป็นเมืองที่ขายวัฒนธรรมได้น่าขบขันมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่เชื่อลองเปิดดูหน้าข่าวสังคมตามหนังสือที่เรียกว่า free newspapers ดูสิ มีแต่เรื่องตลกๆ งานตลกๆ
เทรนด์ล่าสุดของเชียงใหม่ที่น่าจับตามองมากคือ อาการโหยหา “เจ้า” เจ้าเชียงใหม่เหลือกี่คน ขุดมาใช้ให้คุ้ม ออกทุกงาน และพยายามจะพูดถึง “เจ้า” แบบนับญาติสนิทชิดเชื้อ ราวกับจะสถาปนาตัวเองเป็น “เจ้า” ไปด้วย อาการนี้น่าจะสืบเนื่องมาจากแฟชั่นแต่งตัวเป็น เจ้านายฝ่ายเหนือตามสตูดิโอในไนท์บาร์ซาร์ที่มาพร้อมกับกิจการเช่าชุด- ผ้าพื้นเมืองโบราณที่เริ่ม เมื่อเกือบยี่สิบปีที่แล้ว
ล่าสุดได้ยิน “เจ้า” เชียงใหม่คนหนึ่งบอกว่าภูมิใจที่ตระกูลของท่านอยู่ที่นี่มา 700 ปี เราก็เอ๊ะ ตระกูล เจ้า เชียงใหม่นี่ เพิ่งจะมีมาเมื่อ สัก 200ปี ตอนที่เป็นอิสระจากพม่าแล้วย้ายมาสวามิภักดิ์กับ
สยามแทนไม่ใช่เหรอ มันเป็น 700 ปีตั้งแต่เมื่อไหร่วะ?
ตั้งเป็นข้อสังเกตให้จับตาดูเอาไว้ว่าเดี๋ยวจะมี “เจ้า” ผุดขึ้นมาในหน้าข่าวสังคมเชียงใหม่อีกมากพร้อมกับพิธีกรรม และ ประเพณีที่จะถูกประดิษฐ์โดยกลุ่มธุรกิจจัดงานอีเวนต์นี่แหละ แห่ช้างแห่ม้าหาเงินกันสนุก ส่วนเราก็นั่งดูพลางปลงพลางว่า เฮ้อ “เจ้า” ของเราทางเหนือเนี่ยะ จริงๆ แล้วไม่ได้ทำการทำงานให้เป็นที่ภูมิใจได้สักนิด – คนเชียงใหม่ในฐานะที่เป็นคนไทยก็ไม่รู้ประวัติศาสตร์ไทย และคนเชียงใหม่ในฐานะที่ครั้งหนึ่งเป็นเมืองขึ้นสยามก็ไม่เคยได้มีโอกาสทำความรู้จักตัวเอง เศร้าสองต่อนะคะ
เรื่องแพนด้า ไม่อยากแสดงความเห็นมาก ดิฉันว่า ชาวบ้านร้านช่องไม่ได้ตื่นเต้นกับแพนด้ามากเท่ากับที่ “สื่อ” พยายามจะสร้าง และบอกตามตรง ค่าเข้าสวนสัตว์ เพื่อจะดูแพนด้าและอื่นๆ ที่เป็นไฮไลต์นั้นแพงเกินกว่าที่ชาวบ้านชาวช่องจะเข้าไปดูได้ค่ะ สมมุติค่าใช้จ่ายในการไปสวนสัตว์เท่ากับ 500 บาทต่อคน (รวมค่ารถ ค่าอาหาร) ครอบครัวหนึ่งมี 4 คน ต้องใช้เงิน 2,000 บาทแล้วนะคะ สมมุติค่าแรงขั้นต่ำวันละ 250 บาท พ่อมีรายได้เดือนละ 7,500 บาท แม่อีก 7,500 บาท การไปเที่ยวครั้งละ 1,500 บาทนี่คิดเป็น 10 % เลยนะคะ ยังไม่นับว่าในครอบครัวมีค่าใช้จ่ายที่จำเป็นอื่นๆ อีก เช่น ค่าเช่าบ้าน อาหาร ค่าใช้จ่ายสำหรับการศึกษาของลูก เพราะฉะนั้นการไปสวนสัตว์สำหรับบางครอบครัวเป็นเรื่องฟุ่มเฟือยไปแล้ว เพื่อนของดิฉันเคยบอกว่า เงินน้อยก็ไปเดินเล่นหน้ากรงลิง กรงนกแก้วไปก่อน
ดิฉันถึงตั้งคำถามไปยังสวนสัตว์ว่า ด้วยทรัพยากรที่มีอยู่ ไม่ต้องตะกายดาวไปเอาหิมะ เอาเท่าที่ทรัพยากรของเราที่มี สวนสัตว์จะให้ (Contribute) อะไรกับคนท้องถิ่นและคนส่วนใหญ่ที่มีรายได้น้อยได้บ้าง?
กรณีปัญหาไข้หวัด 2009 ที่กำลังกลายเป็นกระแสของการตื่นกลัวในขณะนี้ คุณมีความเห็นต่อเรื่องนี้อย่างไร ชาวบ้านอย่างเราๆ จะตั้งรับกันอย่างไรดีละ...เพราะดูเหมือนชาวบ้านเริ่มไม่เชื่อมั่นต่อคำพูดของรัฐบาลแล้ว ที่ก่อนหน้านั้น จะบอกว่า “เราควบคุมการแพร่ระบาดได้” ซึ่งว่ากันว่านั่นเป็นการส่งสัญญาณที่ผิดพลาด ทำให้ประชาชนไม่ได้เตรียมตัวเท่าที่ควร เป็นความผิดพลาดในเรื่องของการบริหารจัดการของรัฐบาล ?
อันนี้ดิฉันไม่รู้ ตอบไม่ได้จริงๆ คำว่า “หวัด” มันเป็นเหมือนเรื่องเล็กน้อย และเส้นแบ่งของความระมัดระวังกับการตระหนกตกตื่นจนเกินกว่าเหตุมันบางมาก เมื่อก่อนดิฉันอยู่ญี่ปุ่น คนใส่ มาสก์เวลาเป็นหวัดเป็นเรื่องปกติมาก เราเป็นหวัด เราต้องปิดปาก ในแง่ของภาษาที่สื่ออกไปคุณกำลังบอกกับสังคมว่า “ฉันมีความรับผิดชอบต่อสังคมนะ ฉันป่วยและฉันระวังไม่เอาเชื้อโรคไปติดใคร” แต่การใส่มาสก์ในเมืองไทยที่รณรงค์กันอยู่คือ คนไม่ป่วยใส่ เพื่อป้องกันตัวเองไม่ให้ติด มันกลับกัน ซึ่งก็สะท้อนให้เห็นสองอย่าง
อย่างแรก คือ คนไทยรู้ว่าพึ่งรัฐไม่ได้ ก็พึ่งตนเอง ป้องกันตนเอง อย่างที่สอง เราไม่ได้ใส่มาสก์เพราะคิดถึงคนอื่นหรือเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อคนอื่นที่อยู่ร่วมกับเราแต่เราใส่มาสก์เพื่อป้องกันตัวเราเอง เป็นการเอาตัวรอดแบบ ดิฉันไม่อยากพูดว่า “แบบคนไทย” คือมันเป็น mentality ที่อยู่กับสังคมไทยที่เราคุ้นเคย คนอื่นเป็นไงก็ช่าง สังคมเป็นไงก็ช่าง ตัวกู ลูกกู ครอบครัวกูรอดก็แล้วกัน ถ้าโยงไปหาปัญหาอื่นๆ ก็คือ สมมุติว่าจะมีคนมาสร้างเตาเผาขยะข้างบ้านเรา เราเดือดร้อน แต่ถ้ามันไกลจากบ้านเราไป เราจะคิดว่า อื่ม...ไม่ใช่ปัญหาของเรา ปล่อยให้คนที่นั่นสู้กันไป เราไม่จำเป็นต้องเข้าไปสนับสนุนหรือส่งเสียงไปเพื่อช่วย support เผลอๆไปด่าเขาอีก
ที่น่าจับตาดูคือ หลังการระบาดของหวัดมันจะทำให้เกิดกระแสคลั่ง Hygiene ขึ้นมาในสังคมไทยหรือเปล่า ตอนนี้เราก็บ้าเจลล้างมือกันแล้ว อีกหน่อยจะเหมือนญี่ปุ่นที่มีคนผลิตทิชชูไว้เช็ดราวบันไดเลื่อน เพราะประสาทแดก กับเชื้อโรค กลัวว่าคนก่อนหน้าเราที่จับราวนั้นอาจจะสกปรก –ไม่ใช่สกปรกธรรมดา แต่สกปรกจนรับไมได้ - ทีนี้ในสังคมไทยที่ช่องว่างทางชนชั้น ทางเศรษฐกิจมันถ่างกว้างมาก แถมมาด้วยมีแรงงานต่างชาติ ทีนี้เชื้อโรค ความป่วยไข้ ความสกปรก จะถูกโยนไปที่คนจน แรงงานต่างด้าว คนไร้บ้าน และคนชายขอบของสังคมทั้งหมด อันนี้จะเป็นโศกนาฏกรรมยิ่งกว่าโรคระบาด
วกกลับมาเรื่องการเมืองในสายตาชาวบ้านบ้าง จากการที่คุณคลุกคลีอยู่กับคนท้องถิ่น มองชาวบ้านร้านถิ่นตอนนี้เขาสนใจการเมือง เข้าใจไปในทิศทางใดบ้าง... หลังผ่านรัฐประหาร ผ่านทั้งรัฐบาลแต่งตั้งและเลือกตั้งฯ ผ่านทั้งเหลืองๆ แดงๆ แล้วชาวบ้านเขารู้จักประชาธิปไตย เขารู้จักเผด็จการกันดีขึ้นบ้างหรือไม่ หลังจากได้ลิ้มลองมาหลายรสหลายแบบ มานานหลายปีแล้ว ?
คำถามนี้ไม่ตอบได้ไหมคะ แบบว่า เบื่อแล้ว (หัวเราะ) ดิฉันว่ามันชัดเจนในบทความที่ดิฉันเขียนเรื่อง “นับแต่นี้ไปไม่เหมือนเดิม” (หมายเหตุ...อ่านบทความล้อมกรอบท้ายบทสัมภาษณ์)
แล้วคุณมีความเห็นยังไงที่ดูเหมือนสีเหลืองจะเริ่มจาง และสีแดงกลับดูเหมือนจะเข้มข้นขึ้นทุกที? (...ดูได้จากปฏิกิริยาตีกลับ กรณีพระเอกกลายเป็นผู้ก่อการร้าย ถูกตั้งข้อหาฯ...หรือรัฐบาลอภิสิทธิ์เคลื่อนไปทางไหน ก็จะถูกแดงลุกฮือขัดขวางไปทั่ว)
ดิฉันคิดว่าตอนนี้มันซับซ้อนกว่าเรื่อง 2 สี ต้องมองว่า กลุ่มสีแดงจะขยับกระบวนการให้ไปสู่การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่ไม่ใช่แค่เอาทักษิณกลับมา (เว้นแต่ทักษิณจะเป็นสัญลักษณ์ของอีกสิ่งหนึ่งที่ตรงกันข้ามกับสิ่งที่เขาอยากขจัดให้พ้นจากการเมืองไทย เขาจึงชูทักษิณในฐานะที่เป็นสัญลักษณ์เท่านั้น) ดิฉันคิดว่าจุดเปลี่ยนผ่านการเมืองไทยช่วงนี้ละเอียดอ่อนมาก ไม่มีซ้าย ขวา เหลือง แดง น้ำเงิน ที่เป็นเส้นแบ่งออกจากกันชัด ชนชั้นนำทุกกลุ่มไม่ว่าจะสีอะไรมีผลประโยชน์เกี่ยวกันอีรุงตุงนังกันไปหมด แต่ประเด็นสำคัญคือ สิ่งที่ประชาชนได้เรียนรู้จากกระบวนการที่เกิดขึ้น
ดิฉันคิดว่าความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับประชาชนสำคัญมากกว่า และความเปลี่ยนแปลงอันนี้มันไม่ได้เกิดขึ้นแบบเป็นเส้นตรงพุ่งไปข้างหน้า มันเปลี่ยนตรงนั้นนิด ตรงนี้หน่อย มันมีความขัดแย้งกันเองในอุดมการณ์ ในตรรกะที่เราใช้ มีการเดินหน้า มีการถอยหลัง ซึ่งดิฉันคิดว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา แต่เวลาเรามอง เราชอบจะไปจัดระบบ พยายามจะไปขีดเส้นแบ่งตรงนั้นออกจากตรงนี้ และหากมันไม่เป็นอย่างที่เราคิด ไม่ก้าวหน้าเท่าที่หวังเราก็หงุดหงิด
แล้วคุณคิดว่าทางออกมันไปทิศทางไหนละนี่... ในขณะที่หลายคนก็หันมาเสนอให้แก้รัฐธรรมนูญอีกตามเคย รวมทั้ง นปช.ก็ออกนโยบายเฉพาะหน้าของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) “แดงทั้งแผ่นดิน”
ดิฉันมองว่า การเรียนรู้ทางการเมืองมันเป็น “กระบวนการ” มันไม่จำเป็นต้องมีทางออก คำว่า ทางออกนี่คล้ายๆ นิพพาน (ยิ้ม) ทำไมเราต้องหาทางออก ออกแล้วจะไปไหน? ใช่ไหม ออกแล้วจะไปไหน มันไม่มีหรอกทางออก มันมีแต่การคลี่คลายจากสิ่งหนึ่งไปสู่อีกหนึ่ง ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ดิฉันมีความหวังกับพลังของประชาชนมากขึ้น และนี่เป็นสัญญาณที่ดีมาก เราไม่มีคำตอบที่สำเร็จรูปรออยู่ข้างหน้าว่า เมืองไทยต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่กระบวนการเมืองและตัวละครการเมืองจะเล่นต่อไปเรื่อยๆ
เราปฏิเสธไม่ได้ว่า จากที่ประชาชนเป็นตัวประกอบในละครการเมืองประเทศไทย ไม่ใช่ตัวประกอบธรรมดานะคะ เป็นตัวประกอบแบบเป็นต้นไม้ เป็นภูเขา ตอนนี้เปลี่ยนมาเป็นตัวแสดงนำ ทีนี้ตัวประชาชนที่ขยับขึ้นมาเป็นตัวแสดงนำ จะนำพาละครเรื่องนี้ไปสู่อะไร หรือจะพลาดถูกจับไปเล่นเป็นต้นไม้ เป็นภูเขาอีกหรือเปล่า ก็เป็นเรื่องที่เราต้องดู และแสดงไปพร้อมๆ กัน ทีนี้เราจะแสดงแบบที่อยากให้ประชาชนเป็นตัวนำ หรือแสดงแบบอยากเอาพระเอก นางเอกคนเก่ากลับคืนสู่เวที ตัวเราเองก็มีส่วนในการกำหนดทิศทางของละครด้วยเหมือนกัน
คุณอยากพูด อยากทำอะไรมากที่สุดในตอนนี้ ?
อยากพูดว่า ตอนนี้ดิฉันรังเกียจพรรคประชาธิปัตย์อย่างบอกไม่ถูก –personal มากนะคะ เป็นความคิดเห็นส่วนตัว และอยากถาม รัฐบาลชุดนี้ว่า ไม่อายน้ำหน้าตัวเองบ้างเลยหรือกับการขึ้นมาเป็นรัฐบาล แต่ละคนก็มีการศึกษาดีๆ มาจากครอบครัวดีๆ มีกินมีใช้ ไม่ได้ลำบากยากจนอะไรนักหนา ไม่ได้เป็นรัฐบาล เมียก็เดินซื้อเพชรได้ทุกวันอยู่แล้ว ทำไม๊ ทำไมหน้าด้านกันนัก
บทความประกอบ
นับแต่นี้ไปไม่เหมือนเดิม คำ ผกา มติชน สุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ 24-30 เมษายน 2552
แม่บ้านในที่นี้ไม่ได้แปลว่าเมีย เพราะผัวแกตายไปนานแล้วแม่บ้านในที่นี้ ภาษาละครหลังข่าวเขาเรียกกันว่า คนใช้ ป้าทองจะเป็นอะไรก็ช่างฉันรู้แต่ว่า แกเป็นคนบ้านเดียวกับฉัน วันหนึ่งแกมาซื้อเนื้อที่หมู่บ้าน ฉันก็เลยหยั่งเสียงเกี่ยวกับการชุมนุมของคนเสื้อแดง และเหตุการณ์วุ่นวายที่เกิดขึ้นระหว่างสงการณ์ ในขณะที่พวกเรากำลังยุ่งอยู่กับการทำแกงฮังเลไปวัด “คนเขาไปเดินขบวนไล่รัฐบาลกันป้าทองว่ายังไง” “อู๊ยย...บ้านเมืองวุ่นวายร้อนร้าย ถ้าป้าทองเป็นรัฐบาล จะลาออก รู้ทั้งรู้ว่าประชาชนไม่ได้เลือกตัวเองมาเป็นรัฐบาลยังจะหน้าด้านอยู่ได้ เออ ถ้ายุบสภา เลือกตั้งใหม่ พรรคประชาธิปัตย์ชนะ ป้าไม่ว่าซ๊ากคำ จะยอมรับเสียงคนที่เขาเลือกโดยดี แต่นี่อะไรไม่รู้ อยู่ๆ ก็ขึ้นมาเป็นรัฐบาล สมควรแล้วที่จะโดนประชาชนขับไล่ จริงไหม” ป้าตอบยืดยาว สมฉายา ป้าทอง (โว) โว แปลว่าคุยโวโอ้อวดนั่นเอง ฉันยอมรับว่าอึ้งกับคำตอบของป้าทอง ป้าไม่ได้เรียนหนังสือมาก ไม่ได้อ่านหนังสือพิมพ์ ป้าดูข่าวและติดละครของแพนเค้ก เหมือนชาวบ้านอีกทั้งประเทศไทย ไม่ได้พูดคำว่าประชาธิปไตยแต่ป้าช่างอธิบายมันออกมาชัดเจนแจ่มกระจ่าง ความจำของป้าไม่ได้สั้นเหมือนใครบางคน ป้ายังจำได้ว่าการเลือกตั้งครั้งล่าสุด หลังจากรัฐบาลของ คมช.ป้ายังจำได้ว่าพรรคที่ได้เสียงข้างมากคือพรรคพลังประชาชน และหัวหน้าพรรคคือนายสมัคร สุนทรเวช ที่เป็นหัวหน้าพรรค ได้เป็นนายกรัฐมนตรี เหตุการณ์หลังจากนั้นป้าคงเข้าใจไม่ได้ ทำไม นายกฯ ที่มาจากพรรคที่ครองเสียงข้างมากถึงถูกถีบออกไปจากเวทีการเมืองไทยในเวลาอันสั้น ทำไมพันธมิตร ถึงสามารถชุมนุมยืดเยื้อได้หลายเดือนโดยไม่มีใครกล้าทำอะไร ทำไมคนเหล่านั้นถึงเข้าไปร้องรำทำเพลงในทำเนียบได้ นานนานแถมยังมีใครไม่รู้ไปอุตริจัดงานแต่งงานเป็นที่ครื้นเครง ทำไมแก๊สน้ำตาทำให้คนแขนขาขาดอย่างมีนัยสำคัญ งง ยิ่งกว่านั้น กลุ่มพันธมิตรไปยึดสนามบินตั้งหลายวัน ผู้คนเดือดร้อนมหาศาล เศรษฐกิจของชาติยับเยิน แต่คนที่เสียงดังในสังคมนี้กลับยกย่องคนยึดสนามบินว่าเป็นพวกกู้ชาติ กู้ประชาธิปไตย แกนนำไม่มีใครโดนจับดำเนินคดี น่าเจ็บใจกว่านั้น บางคนที่ชื่นชมม็อบพันธมิตรออกหน้าออกตา ยังได้เป็นรัฐมนตรี ไม่ใช่กระทรวงขี้หมูขี้หมา เป็นกระทรวงการต่างประเทศเสียด้วย ป้าทองไม่ได้อ่านหนังสือพิมพ์หรอก และไม่รู้ด้วยว่าฉายาของรัฐบาลนี้คือ เทพประทาน ป้าทองแค่ไม่เข้าใจว่าทำไมเสียงโหวตของประชาชนจึงไม่ได้รับการเคารพ ป้าทองไม่เข้าใจหรอกว่ามือที่มองไม่เห็น แปลว่าอะไร และเป็นใคร ป้าทองเข้าใจตามประสาป้าทองว่า เรามีการเลือกตั้งและเราควรจะยอมรับผลการเลือกตั้งนั้นแม้มันจะไม่ถูกใจเรา ฉันอึ้งกับคำตอบของป้าทอง เพราะมันแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าสังคมไทยไม่เหมือนเดิม และไม่มีวันจะเหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว ไม่มีครั้งไหนในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ชาวบ้านธรรมดาๆ อย่างป้าทองจะตระหนักในความหมายของเสียงหนึ่งเสียงที่ตัวเองกากบาทลงไปในบัตรลงคะแนน ไม่ว่าสื่อมวลชน ชนชั้นกลาง คนมีการศึกษา ที่คิดว่าตัวเองเป็นสัตว์ประเสริฐเหนือชาวบ้านร้านช่อง จะเฝ้าเรียกคนที่มาร่วมชุมนุมเสื้อแดงว่า เป็นผู้หลงผิด เป็นสาวกทักษิณ เป็นพวกขายสิทธิ ขายเสียง และยังไม่รู้ทันเล่ห์กลของนักการเมือง หนังสือพิมพ์บางเล่มยิ่งอาการหนัก เพราะเรียกผู้ชุมนุมสีแดงว่า หางแดง หรือ แดงประจำเดือน สะท้อนและส่อให้เห็นถึงวุฒิภาวะ และรสนิยมของหนังสือพิมพ์นั้นได้อย่างดี นักวิชาการที่สังวาสเสพสุขกับสื่อชนิดนี้ คงหมดแล้วซึ่งสามัญสำนึกแห่งผิดชอบชั่วดี โดยสิ้นเชิง มีคนพูดกันมากเรื่อง 2 มาตรฐาน ความแตกต่างระหว่างม็อบมีเส้น กับไม่มีเส้น มีหลายคนบอกว่าม็อบเสื้อแดงกำลังรุกเร้าให้เกิดเหตุการณ์รุนแรง ทั้งการเผารถเมล์ การเอารถแก็สมาขู่ การปะทะกันตรงนั้นตรงนี้ระหว่างคนหลายกลุ่ม หลายฝ่าย และความตึงเครียดระหว่างวันที่ 12-15 เมษายน ที่ผ่านมา แต่ฉันอยากจะทบทวนอีกสักนิดว่าก่อนที่จะเกิดการจลาจลและกีฬาสีสงคราม แดง เหลือง น้ำเงินนั้น มันเกิดอะไรขึ้น จะปฏิเสธไหมว่า หากไม่มีรัฐประหาร 2549 จะไม่มีสงครามสีในวันนี้ และใครก็ตามที่อยู่เบื้องหลังการรัฐประหารควรสำเหนียกว่าประเทศไทย ณ พ.ศ.นี้ ไม่เหมือนกับประเทศไทยปี 2550 อีกต่อไปแล้ว คนไทย ชาวนา ชาวไร่ กรรมกรไทย ไม่ใช่ราษฎรโง่ๆ เชื่องๆ แบบตัวละครเรื่องสั้น เขียดขาคำ ของลาว คำหอมอีกต่อไป ชาวบ้านไม่ได้เห็นนายอำเภอแล้วรีบก้มกราบอีกแล้ว เราไม่ได้อยู่ในยุคที่ขึ้นไปบนที่ว่าการอำเภอแล้วขาสั่นผับๆ เพราะกลัวเจ้ากลัวนาย เราไม่ได้อยู่ในยุคที่เรียกข้าราชการว่า เจ้าคนนายคน เราอยู่ยุคที่ นายกเทศบาลตำบลนั้นเป็นลูกของลุงศรีทน ที่มีนาติดกับนาของเราแถมยังฟ้อนผีมดร่วมกันทุกปี นายก อบต.ก็เป็นลูกหลานของคนบ้านนี้ เราอยู่ในยุคที่ไม่ได้ตื่นเต้นกับการไปดำหัวผู้ว่าฯ ที่ขอโทษเดี๋ยวนี้แทบไม่รู้เรื่องว่าชื่ออะไร เพราะมันช่างเป็นตำแหน่งที่ไร้ความหมาย หลังการกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่นเป็นรูปธรรมมากขึ้น คำว่าสถานที่ราชการ ที่เคยทรงอำนาจขู่ให้ประชาชนต้องเดินตัวลีบๆ บางทีถึงขั้นถอดรองเท้านั้นเกือบจะมีความหมายเท่ากับศาลพระภูมิ ในสมัยที่ชาวบ้านเปลี่ยนแปลงไปมากในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีของการสื่อสาร วิทยุชุมชน การทำงานภาคประชาชนของ NGO ที่ดำเนินการมายาวนานเราต้องยอมรับว่ามีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงจิตสำนึกของประชาชนคนเดินดิน ที่ไม่เคยคิดว่าตัวเองเป็นประชาชน มีสิทธิ มีเสียง มีอำนาจในการกำหนดชะตากรรมของตนเองผ่านสิ่งที่เรียกว่านโยบายของรัฐบาล ชาวบ้านได้เรียนรู้ว่าหากเราไม่พอใจการตัดสินใจของรัฐบาล เราสามารถเรียกร้อง ต่อรอง ทำการรณรงค์กับประชาชนกลุ่มอื่นๆ เพื่อหาแนวร่วม หรือเพื่อประชาสัมพันธ์ให้ขอมูลข่าวสาร ที่แตกต่างออกไปจากโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาล สังคมไทยมีคนอย่างยายไฮ เกิดขึ้นแล้ว มีสมัชชาคนจน มีสหภาพแรงงานที่กำลังตื่นตัว มีกลุ่มพิทักษ์ผลประโยชน์ของผู้บริโภคอย่างแข็งขัน เรามีคนไข้ที่ลุกขึ้นฟ้องร้องหมอ (50 ปีที่แล้วยังเห็นหมอเป็นเทวดา และพูดภาษาเทพที่คนธรรมดาไม่เคยฟังรู้เรื่อง) เรามีกลุ่มองค์กรนอกรัฐที่เกิดขึ้นมาเพื่อยืนยันสิทธิ์ศักดิ์ศรีของคนไทย ที่หรือหน่วยราชการไม่เคยอ่าน เขาว่าเป็นคนที่มีศักดิ์ศรีและสิทธิแห่งความเป็นมนุษย์ เท่ากับคนอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ เครือข่ายหญิงบริการ ฯลฯ ลองคิดดูแล้วกันว่าสังคมเราเดินมาไกลขนาดไหน ไกลจนถึงจุดที่ทั้งกะหรี่ ทั้งกะเทย ออกมาเป็นแอ็คทิวิสต์ เดินสายประชุมกับเฟมินิสต์ นักวิชาการ และเพื่อนนักกิจกรรมทั่วโลกเพื่อยืนยันศักดิ์ศรีแห่งอาชีพของตน แล้วใครหน้าไหน ยังจะคิดว่าจะลุกขึ้นมาทำรัฐประหารได้ง่ายดายเหมือนยุคของสฤษดิ์ แล้วใครอย่ามาคิดว่าจะลุกขึ้นมา Exercise อำนาจอย่างเดียวกับที่ สฤษดิ์ เคยทำกับคนไทยสมัยนั้น ร้ายไปกว่านั้นในยุคแห่งการรื้อสร้างและเสียดสี การรณรงค์และโฆษณาชวนเชื่อในกฤษฏาภินิหารต่างๆ นานาเพื่อให้ประชาชนสมยอมอำนาจนั้นทำได้ยากขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ นอกจากจะไม่ชวนเชื่อ แล้วยังน่าหัวเราะเยาะและรังแต่จะถูกนำมาล้อเลียนให้เสียผู้เสียคนกันไปข้าง เราอยู่ในยุคเทคโนโลยีอยู่แค่การ คลิก คลิก คลิก โทรศัพท์มือถือของนาย ก. นาง ข. ที่ไหนก็ถ่ายรูปได้ สื่อของรัฐแสดงรูปๆ หนึ่ง ประชาชนก็สามารถเอารูปอีกรูปหนึ่งมาแสดงทาบกันคัดง้างความหมาย ความเชื่อกันได้อย่างทันท่วงที เพราะฉะนั้น การผูกขาดข้อมูลข่าวสารนั้นเป็นแค่ฝันเปียกของรัฐบาล ICT ทำได้แค่วิ่งไปปิดเว็บนั้น เว็บนี้ไปวันๆ ทว่ายิ่งปิดกั้น ยิ่งกักกัน ประชาชนยิ่งหลีกเร้น แหวกทางหาช่องใหม่ ภาษาใหม่ ถ้อยคำใหม่ สัญลักษณ์ใหม่ๆ ทีรัฐไม่มีวันจะตามไปปิดหูปิดตาได้มิดชิดอีกต่อไป ยิ่งปิดเรายิ่งสามารถค้นหาทางหนีได้แยบยลยิ่งขึ้น คำสามัญอย่าง “ซาบซึ้ง” กลับซ่อนนัยชวนหัวมีพลังถึงขั้นพลิกขั้วของโลกให้กลับตาลปัตรได้ เพราะฉะนั้นที่วิ่งไล่ปิดวิทยุชุมชน จนหัวสั่นหัวคลอนนั้นอย่าหวังว่าจะสามารถทำการผูกขาดข่าวสารข้อมูลได้ง่ายดาย และจะเอาประชาชนมาใส่ขื่อใส่คาได้ตามใจชอบ เพราะยิ่งปิดก็จะยิ่งมีช่องทางใหม่ๆ มาทดแทน นี่จึงเป็นกระบวนการต่อต้านรัฐประหาร (และขอไว้อาลัยแก่ภาพประชาชนที่เอาดอกกุหลาบไปให้ทหาร) หลังจากนั้นที่ดำเนินการมาอย่างเป็นอารยะนั่นคือ ไม่มีการออกมาชุมนุมหรือใช้ความรุนแรงใดๆ นอกจากภาพการรณรงค์ด้วยข้อมูลเท่าที่จะทำได้ ส่วนชาวบ้านอย่างป้าทองเชื่อว่า เมื่อมีการคืนอำนาจให้กับประชาชนด้วยการเลือกตั้ง ทุกอย่างจะกลับมาเป็นปกติอีกครั้ง ทีไหนได้ กลายเป็นว่ามีการใช้สถาบันตุลาการอย่างตั้งใจที่จะตัดตอนพรรคไทยรักไทย สุดท้ายเมื่อผลการเลือกตั้งออกมา กลับมีความพยายามที่จะใช้วิธีนอกกฎหมายในการกำจัดพรรคเพื่อไทย และรัฐบาลที่ประชาชนเลือกเข้ามาอย่างกดดันและต่อเนื่องผ่านพันธมิตรฯ ใส่เสื้อสีเหลือง มาถึงวันนี้ฉันคงไม่ต้องอ้อมค้อม เด็กมัธยม ยังรู้เลยว่านี่ไม่ใช่การเมืองภาคประชาชน แต่เป็นการ exploit การเมือง ภาคประชาชนที่ยิ่งใหญ่ที่สุด corrupt ที่สุดหน้าด้านและดัดจริตที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย วาทกรรมว่าด้วยประชาธิปไตยแบบไทยๆ บวกกับมายาคติว่าด้วยนักการเมืองชั่วช้าสามานย์ เข้ามาเพื่อกอบโกย มือสกปรกโกงกิน ถูกนำเสนออย่างต่อเนื่อง พร้อมกับกระแสเรียกร้องหาผู้ปกครองในอุดมคติปราศจากผลประโยชน์ทับซ้อน การเมืองโปร่งใส good governance ศีลธรรม คุณธรรม ไปจนถึงเกมชิงความจงรักภักดีอย่างเข้มข้นถึงตอนนี้คำว่า ประชาธิปไตย ไม่สำคัญเท่ากับ ฆ่าทักษิณออกจากจักรวาลการเมืองไทย ไม่มีประชาธิปไตยไม่เป็นไรขอให้เอาทักษิณออกไปให้ได้ก่อน ความผิด และความไม่ชอบธรรมของทักษิณ ไม่ได้นำมาพิจารณาไต่สวนกันด้วยเหตุผล แต่ข้อเท็จจริงเหล่านี้ถูกนำมาใช้เพื่อปลุกเร้าความเกลียดชังและ simplified ปัญหาของประเทศไปไว้ที่ผู้ชายชื่อทักษิณ ราวกับว่าหากไม่มีทักษิณเสียคน ประเทศไทยจะเรืองรองผ่องอำไพ ผุดผ่องงดงาม ขึ้นมาในบัดดล เมื่อดึงดัน ถีบส่ง และฆ่าทิ้งรัฐบาลที่ประชาชนเลือกเข้ามาอย่างหน้าด้าน และอีกพรรคหนึ่งก็หน้าด้านพอที่จะขึ้นมาเป็นรัฐบาล คุณอภิสิทธิ์ก็กล้าขึ้นมาเป็นนายกฯ ท่ามกลางเครื่องหมายคำถามจากทั่วโลก (ฉันอายแทนมากๆ ) และในที่สุดประชาชนก็ไม่อาจอยู่นิ่งเฉยได้ กลุ่มคนเสื้อแดงจึงลุกข้นมาชุมนุมเพื่อทวงถามความเป็นธรรม ความยติธรรม และความหมายของประชาธิปไตย ในขณะที่ก่อนหน้านี้กลุ่มพันธมิตรทำในสิ่งตรงกันข้าม นี่คือสัญญาณที่บอกชนชั้นนำไทยว่า การเมืองไทยจะไม่เหมือนเดิม คนไทย ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้วสำนึกทางการเมืองของพวกเราเปลี่ยนแปลงไปมากในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ชนชั้นนำไม่อาจ manipulate ชี้นำและสนตะพายเราด้วยคำพูดเพราะๆ หน้าหล่อๆ ยิ้มหวานๆ พิธีกรรมสารพัดพิธี อย่างที่เคยทำอีกต่อไป ประชาชนไทยเปลี่ยนไปแล้วมีแต่ชนชั้นนำที่ไม่รู้ตัว หรือเฝ้าหลอกตัวเองว่า ทุกอย่างยังเหมือนเดิม และจะต้องเหมือนเดิมตลอดไป |