ที่มา ประชาไท
ภาพประกอบที่ 11 – 12
พิมพ์ไทย ฉบับวันที่ 10 สิงหาคม 2508 และภาพ พตอ.สงัด กำลังถูกหามจากรถพยาบาลเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ จากฉบับเดียวกัน
รายงานการปะทะ 8 สิงหาคม 2508 ในหนังสือพิมพ์ภาษาไทย
หนังสือพิมพ์ภาษาไทยในขณะนั้นทุกฉบับก็รายงานข่าวการปะทะที่นครพนมเช่นกัน ซึ่งยืนยันว่าเหตุการณ์ที่ต่อมาถูกเรียกว่า “วันเสียงปืนแตก” นั้น เกิดขึ้นในวันที่ 8 จริงๆ ไมใช่วันที่ 7 ไทยรัฐ ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ยอดจำนวนสูงสุด ฉบับวันจันทร์ที่ 9 สิงหาคม 2508 ไม่ให้ความสำคัญกับข่าวนี้นัก เมื่อเทียบกับฉบับอื่น คือลงเป็น “ข่าวสุดท้าย” ในหน้า 1 ไม่มีพาดหัวตัวใหญ่แยกต่างหากจากข่าว และไม่มีรูปประกอบใดๆ (ดูภาพประกอบที่ 8) เนื้อข่าวก็มีเพียงสั้นๆ ดังนี้
ภาพประกอบที่ 8
ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 9 สิงหาคม 2508 หน้า 1 “ข่าวสุดท้าย” คือคอลัมภ์หัวสีเขียวเล็กๆ ตรงมุมล่างด้านขวา
ตร.ปะทะเหล่าร้าย
พตอ.ถูกยิงสาหัส
ผกก.นครพนมนำกำลังตำรวจ 30 นาย รุดไปปราบผู้ก่อการร้าย ระหว่างทางถูกซุ่มดักยิงกราดด้วยปืนกล เลยเกิดยิงต่อสู้กันอย่างดุเดือด ผกก.ถูกยิงคว่ำอาการสาหัส และ สตอ.ถูกยิงดับ ฝ่ายเหล่าร้าย ถูกยิงตาย 1 คน
07.00 น. วันวาน [ที่ 8] พตอ.สงัด โรจน์ภิรมย์ ผกก.จังหวัดนครพนม ได้นำกำลังตำรวจประมาณ 30 นาย เพื่อเดินทางไปกวาดล้างบรรดาผู้ก่อการร้าย ที่ ต.พระซอง อ.นาแก จ.นครพนม
แต่ระหว่างที่กำลังตำรวจดังกล่าวเดินทางมาถึงบริเวณบ้านนาบัวเขตตำบลหนองฮี อ.เมือง นครพนม ได้ถูกเหล่าร้ายซึ่งดักซุ่มอยู่กราดปืนยิงอย่างดุเดือด เลยเกิดการต่อสู้กันอย่างทรหด เป็นเหตุใด้ พตอ.สงัด ถูกกระสุนเหล่าร้าย 3 แห่ง คือที่ราวนมข้างขวา ต้นแขน และขาขวาหัก อาการสาหัส สตอ.ชัยรัตน์ สิงห์ด้วง ตำรวจทะเบียนพล ถูกยิงที่ท้ายทาย ไหปลาร้า และขา ตายคาที่ สตอ.มนต์ชัย โพธิ์ดอกไม้ ถูกยิงขาหัก อาหารสาหัส ฝ่ายเหล่าร้ายถูกยิงตายคาที่ 1 คน
หลังเกิดเหตุ พตท.อัมพร อังคะมานนท์ และ พตท.สว่าง ศรีทองสุข รอง ผกก.ได้ยกกำลังไปช่วย และตามล่าเหล่าร้ายต่อไปอย่างใกล้ชิด ส่วน พตอ.สงัด ได้ถูกนำขึ้นเครื่องบิน นำตัวส่งกรุงเทพฯ โดยด่วน
วันต่อมา (อังคารที่ 10) ไทยรัฐ รายงานการแถลงข่าวการเกี่ยวกับปะทะโดยนายถวิล สุนทรศาลทูร ปลัดกระทรวงมหาดไทย แต่อยู่ในหน้า 3 โดยพาดหัวว่า “มีคนต่างด้าวข้ามหนุนผู้ก่อการร้ายอีสาน” บทนำ “ความสามัคคีในชาติ” ในฉบับวันพุธ (หน้า 3) ยกเหตุการณ์นี้มาเรียกร้องประชาชนช่วยกันปกป้องเอกราชและ “ความเป็นไท”
ขณะเดียวกัน เดลินิวส์ ให้ความสำคัญกับข่าวการปะทะมากกว่า โดยฉบับวันจันทร์ที่ 9 สิงหาคม พาดหัว 1 บรรทัดเต็มตลอดความกว้างของหน้าแรก “พวกก่อการร้ายนครพนมยิง พตอ.สาหัส” ถือเป็นข่าวสำคัญรองลงมาจากข่าวเด่นประจำวันนั้น เรื่องการยึดทรัพย์สฤษดิ์ (ดูภาพประกอบที่ 9) เนื้อหาของข่าว ช่วงแรกที่บรรยายเรื่องการปะทะ อันที่จริง ก็ไม่ต่างจาก ไทยรัฐ นัก แต่ เดลินิวส์ มีรายละเอียดมากกว่า และมีข้อมูลเพิ่มเติมน่าสนใจ ดังนี้
ภาพประกอบที่ 9
เดลินิวส์ ฉบับวันจันทร์ที่ 9 สิงหาคม 2508
เดลินิวส์ ฉบับวันจันทร์ที่ 9 สิงหาคม 2508
ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดนครพนมได้รายงานเข้ามาเมื่อวันวานนี้ [ที่ 8] พตอ.สงัด โรจนภิรมย์ ผู้กำกับการตำรวจภูธร นครพนม ได้นำกำลังตำรวจภูธรประมาณ 30 คน บุกเข้าไปในป่าเขตบ้านดงอีนำ ต.พระซอง อ.นาแก จ.นครพนม .........
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม เดือนก่อน พวกก่อการร้ายประมาณ 50 คน ได้ซ่องสุมชุมนุมพล ยุแหย่ชาวบ้านให้เกิดความปั่นป่วน อยู่ที่บ้านโพนตูม อ.นาแก พตอ. สนั่น สอาดภักตร์ พตอ.สงัด โรจนภิรมย์ ได้นำกำลังไปปราบปรามกวาดล้าง และเกิดการปะทะกันขึ้นอย่างดุเดือด พวกก่อการร้ายได้หลบหนีเข้าป่าไป จากการกวาดล้างครั้งนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ค้นพบแหล่งซ่องสุมของพวกก่อการร้ายในป่าทึบ และเจ้าหน้าที่ได้ยึดอาวุธปืน วิทยุสนาม เสบียง ของพวกก่อการร้ายได้ 63 รายการ หลังจากนั้น พตอ.สงัด ได้นำกำลังออกติดตามพวกก่อการร้ายอย่างไม่ลดละ จนกระทั่งเกิดการปะทะกันที่บ้านดงอีนำดังกล่าว ……
ตามรายงานนี้ เท่ากับยืนยันข้อมูลของวิรัช ผู้นำ พคท. ที่ผมยกมาในตอนต้นบทความที่ว่า “การปะทะกับศัตรูไม่ใช่ครั้งนั้นครั้งเดียว ก่อนหน้านั้นก็มี” แม้ในบริเวณดังกล่าวเอง (อ.นาแก) อย่างน้อยก็เคยเกิดการปะทะในปลายกรกฎาคม มาแล้ว
วันต่อมา (อังคารที่ 10) เดลินิวส์ นอกจากรายงานการแถลงข่าวของถวิล สุนทรศารทูร เช่นเดียวกับ ไทยรัฐ แล้ว ยังรายงานเพิ่มเติมถึง “นาทีนองเลือด” เมื่อ พตอ.สงัด . . .
ได้บุกเข้าไปค้นหาพวกก่อการร้ายผู้หนึ่งซึ่งหลบซ่อนตัวอยู่ในพุ่มไม้ พอเข้าไปใกล้ระยะประมาณ 3 เมตร ผู้ก่อการร้ายผู้นั้นก็ออกจากที่ซ่อนกระหน่ำยิง พตอ.สงัด ด้วยปืนออโตเมติกขนาด 9 ม.ม. ถูก พตอ.สงัด ล้มลง พตอ.สงัด จึงใช้ปืนรีวอลเวอร์ขนาด .22 ยิงโต้ตอบไปทันที ต่างฝ่ายกระหน่ำกระสุนใส่กันจนกระสุนหมดลำกล้องไปทั้งคู่ ผลปรากฎว่าฝ่ายผู้ก่อการร้ายถูกยิงดับชีพ ส่วน พตอ.สงัด ถูกกระสุนเข้าที่ต้นแขนขวา ขาขวากระดูกแตก และที่ต้นแขนซ้าย
รายละเอียดนี้คล้ายกับ Bankgok Post ข้างต้น แต่มีความแตกต่างกันเล็กน้อย
ภาพประกอบที่ 10
ชาวไทย ฉบับวันที่ 10 สิงหาคม 2508
ชาวไทย ฉบับวันที่ 10 สิงหาคม 2508
ชาวไทย เป็นหนังสือพิมพ์อีกฉบับหนึ่งที่รายงานเรื่องนี้โดยพาดหัวข่าวในลักษณะเดียวกับ เดลินิวส์ คือ 1 บรรทัดตลอดความกว้างของหน้าแรก “ตำรวจปะทะกับกองโจรคอมมิวนิสต์ในป่านครพนมดุเดือด” และมีรายละเอียดนอกเหนือจากฉบับอื่นที่น่าสนใจ คือ
ที่ตึก “ตวงสิทธิ์อนุสรณ์” [โรงพยาบาลตำรวจ] พตอ.สงัด ได้ชี้แจงกับผู้สื่อข่าว “ชาวไทย” ว่า เข้าใจว่าหัวหน้าของพวกก่อการร้ายกลุ่มนี้ก็คือ นายจ่อย ราชสิทธิ์ ผู้ซึ่งเคยเดินทางไปรับการอบรมลัทธิคอมมิวนิสต์จากนอกประเทศมาแล้ว รวมทั้งเคยได้ยิงต่อสู้กับตำรวจมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี ๒๕๐๔ ด้วย
นายจ่อยผู้นี้เป็นตัวการคอมมิวนิสต์ทีสำคัญคนหนึ่งในภาคอีสานซึ่งหลบรอดการจับกุมของเจ้าหน้าที่มาได้หลายคราวแล้ว ..... สำหรับ สยามรัฐ เนื่องจากออกวางตลาดตอนบ่าย ฉบับวันที่ 9 สิงหาคม 2508 จึงตีพิมพ์ข่าวการแถลงของถวิล สุนทรศารทูล ในเช้าวันนั้นเองได้ที่หน้า 1 (หัวข้อข่าว “เผยเหตุตำรวจปะทะคอมมิวนิสต์ / ว่าที่ต้องเสียเปรียบเพราะอยู่กลางแจ้ง / ฝ่ายโจรอยู่ในที่ซ่อนจึงยิงเอา”) และนำรายงานการปะทะที่นครพนม ไปตีพิมพ์เป็นอีกข่าวหนึ่งในหน้า 4 (หัวข้อข่าว “ผู้ก่อการร้าย / นครพนม / สู้ตำรวจหนัก”) พร้อมข่าวการนำตัว พตอ.สงัด มารักษาในกรุงเทพ แยกเป็นอีกข่าวหนึ่ง (“นำ พ.ต.อ. ยิงสู้แดงเข้ากรุง / เผยเหล่าร้ายมีอาวุธทันสมัย”) ที่น่าสนใจคือ วันต่อมา (10 สิงหาคม) สยามรัฐ ตีพิมพ์ข่าวในหน้าแรก ภายใต้หัวข้อข่าว ดังนี้
จีนคอมมิวนิสต์ร่วมกับเสรีไทย
จัดตั้งที่มั่นทางทหารที่อีสาน
หวังบ่อนทำลายและล้มรัฐบาล
เนื้อหาข่าว อ้างคำแถลงของ “สำนักงานแถลงข่าวจีนคณะชาติ” ที่ฮ่องกง ในวันที่ 10 นั้นเอง ว่าจีนคอมมิวนิสต์ได้ทุ่มกำลังทางวัตถุกำลังเงินและกำลังคนเพื่อช่วยคอมมิวนิสต์ในไทยเป็นการใหญ่ หวังสร้างที่มั่นทางทหารทางภาคอีสานของไทย เพื่อตรึงกำลังสหรัฐในเวียดนามและบ่อนทำลายรัฐบาลไทย โดย “จัดส่งนักก่อกวนที่ผ่านการฝึกอบรมเป็นพิเศษจำนวนมาก พร้อมด้วยอาวุธขนาดเบาชนิดต่างๆ” เล็ดลอดเข้าทางสกลนคร และหนองคาย เป็นต้น
กระแสข่าวกล่าวว่า จีนคอมมิวนิสต์กับ “เสรีไทย” (คนไทยในปักกิ่ง) ได้ร่วมกันวางแผนการก่อการจลาจลวุ่นวายขึ้นในประเทศไทยและทำการโค่นล้มรัฐบาลไทยในที่สุด สำหรับอาวุธและค่าใช้จ่ายที่จะใช้ในการก่อการจลาจลนี้ ทางฝ่ายจีนคอมมิวนิสต์เป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด พร้อมกับจัดส่ง “ที่ปรึกษา” กับเจ้าหน้าที่ “ผู้แนะนำ” ไปให้ ทราบว่าเพื่อสะดวกในการขยายองค์ลับใต้ดินในไทย จีนคอมมิวนิสต์จะได้จัดตั้งโรงเรียนอบรมขึ้นในเขตยึดครองของคอมมิวนิสต์เวียดนามและลาว เพื่อช่วยคอมมิวนิสต์ไทยฝึกอบรมนักก่อกวนเหล่านั้น แล้วส่งมาปฏิบัติการในไทยต่อไป
ผมคิดว่านี่เป็นการเสนอข่าวในลักษณะ “การเมือง” อย่างชัดเจน นอกจากอ้างการแถลงขององค์กรที่ไม่ได้มีความสำคัญอะไรนักแล้ว ที่สำคัญคือลักษณะการพาดหัวข่าว “จีนคอมมิวนิสต์ร่วมกับเสรีไทย” แม้ สยามรัฐ จะใส่วงเล็บอธิบายคำนี้ในเนื้อข่าวว่า “คนไทยในปักกิ่ง” ผมคิดว่าไม่เป็นปัญหาว่า สยามรัฐ ต้องการให้หมายถึงปรีดี ไม่เพียงตอนนั้นปรีดีอยู่เมืองจีน แต่คำว่า “เสรีไทย” ก็เป็นชื่อเฉพาะของขบวนการที่ปรีดีเคยเป็นผู้นำ แน่นอนมีคนไทยคนอื่นรวมทั้งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) อยู่ในจีนจริงๆในช่วงนี้ (ศรีบูรพา, มงคล ณ นคร เป็นต้น) แต่คนทั่วไปก็ไม่ได้รู้จักพวกเขาในฐานะ “เสรีไทย” อย่างไรก็ตาม ถ้าเรามองข้ามความเป็นการเมืองของข่าวและสนใจในแง่ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ความน่าสนใจของข่าวนี้ เช่นเดียวกับกรณีข่าว “Pridi Is Operator of Secret Radio” ของ Bangkok Post ที่ผมเล่าในตอนต้นของบทความ ก็คือ หลังจากนั้น 20 ปี คือหลังจากการล่มสลายของขบวนการคอมมิวนิสต์ในทศวรรษ 2520 แล้ว อดีตผู้นำนักศึกษาบางคนที่เคยเข้าป่า ได้บอกกับผมว่ามี “ร่องรอย” บางอย่างเกี่ยวกับการร่วมมือระหว่างปรีดี กับ พคท.ในช่วงแรกของการสร้างฐานที่มั่นบางแห่งจริงๆ แต่เรื่องนี้ต้องเก็บไว้อภิปรายต่างหาก (ในแง่ข้อมูลเช่นกัน บัดนี้ เราก็ทราบกันแล้วว่า เรื่องที่ “พรรคพี่น้อง” จีน-เวียดนาม-ลาว ให้ความช่วยเหลือ พคท.ในด้านการตั้งโรงเรียนฝึกอบรมผู้ปฏิบัติงานในเขตเวียดนามและลาว ที่ สยามรัฐ ใช้เป็นประเด็นโจมตีนั้น ก็เป็นความจริงเช่นกัน)
ประชาธิปไตย ดูจะเป็นหนังสือพิมพ์ที่สนใจข่าวการปะทะที่นครพนมน้อยกว่าฉบับอื่น (อาจจะเพราะทรัพยากรการหาข่าวน้อยกว่าฉบับอื่นก็ได้) เท่าที่ผมค้นได้ มีเพียงฉบับวันที่ 9 สิงหาคม เท่านั้น และก็เป็นเพียงรายงานข่าวการแถลงของถวิล สุนทรศาลทูล ไม่ใช่รายงานการปะทะโดยตรง แต่พาดหัวข่าวอย่างรุนแรงว่า “เผยกองบัญชาการแดงในอีสาน / ดูหมิ่นพระที่ไปเทศน์” (ข้อมูลเรื่องพระถูก “แดง” ดูหมิ่นก็เอามาจากถวิล : “เคยทราบมาว่าที่ อ.นาแกนี้ เวลามีงานหรือมีพระมาเทศนา ได้มีบุคคลหลายคนได้ออกมาแสดงกิริยาทำนองลบหลู่พุทธศาสนา แต่ไม่มีใครกล้าขัดขวาง นายถวิลกล่าว...”)
สุดท้าย ในบรรดาหนังสือพิมพ์ภาษาไทยที่รายงานเรื่องการปะทะที่นครพนม มีเพียง พิมพ์ไทย ที่มีรูปประกอบ คือ ในฉบับวันที่ 10 สิงหาคม 2508 ช่างภาพ พิมพ์ไทย สามารถถ่ายภาพขณะที่ พตอ.สงัด โรจนภิรมย์ กำลังถูกเปลหามลงจากรถพยาบาล (ที่ไปรับมาจากสนามบิน) เข้าไปในโรงพยาบาลตำรวจ (ดูภาพประกอบที่ 11 และ 12)
ภาพประกอบที่ 11 – 12
พิมพ์ไทย ฉบับวันที่ 10 สิงหาคม 2508 และภาพ พตอ.สงัด กำลังถูกหามจากรถพยาบาลเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ จากฉบับเดียวกัน
ภาพประกอบที่ 13
พิมพ์ไทย ฉบับวันที่ 9 สิงหาคม 2508
พิมพ์ไทย ฉบับวันที่ 9 สิงหาคม 2508
ในส่วนการรายงานข่าว พิมพ์ไทย ก็เป็นฉบับที่ให้ความสำคัญมากที่สุด หากดูจากพื้นที่การพาดหัวข่าว คือ เป็นพาดหัวข่าวสำคัญที่สุดของฉบับวันที่ 9 สิงหาคม 2508 ตัวหัวไม้ใหญ่สุด 2 บรรทัด (ดูภาพประกอบที่ 13)
พ.ต.อ.หลั่งเลือด “ปราบแดง”
ยังรบหนัก...ตายทั้งสองฝ่าย-ขอกำลังไปช่วยด่วน
เนื้อข่าวจริงๆของวันแรกที่รายงานนี้ มีไม่มากและไม่แตกต่างจากฉบับอื่นๆในวันเดียวกันนัก แต่ในฉบับวันต่อมา (10 สิงหาคม) พิมพ์ไทย ได้รายงานข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์ พตอ.สงัด โดยละเอียดกว่าฉบับอื่นๆ เช่น นอกจากจะมีการเอ่ยถึงชื่อของ “จ้อย ราชสิงห์” (หรือ จ่อย ที่ ชาวไทย เอ่ยถึงข้างต้นแล้ว) ยังมีเอ่ยชื่อ “ยอด ติสวัสดิ์” ที่ในแวดวง พคท.เองก็มีกล่าวถึงในลักษณะเป็น “ตำนาน” ด้วย ผมจึงขอคัดลอกมาทั้งหมด ดังนี้
พ.ต.อ.เผยวินาทีปะทะนองเลือด
ระบุหัวหน้า ‘แดง’ ถูกล้างสมองมา
ผู้กำกับฯ “ปราบแดง” พ้นขีดอันตรายแล้ว เผยวินาทียิง “เผาขน” กับพวกก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ว่า สองหัวหน้าใหญ่ถูก “ล้างสมอง” จาก “ลาวแดง” ส้องสุมพวกเข้ามาปลุกปั่นราษฎร เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายตามล่ามานานแล้ว เคยปะทะกันมาครั้งหนึ่งเมื่อ ๔ ปีก่อน
จากการได้รับบาดเจ็บสาหัสของ พตอ.สงัด โรจนภิรมย์ ผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดนครพนม ขณะนำตำรวจไปปราบปรามพวกก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ที่อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม เกิดยิงสู้กันขั้น “เผาขน” โจรตายหนึ่ง ตำรวจตายหนึ่ง และบาดเจ็บกันฝ่ายละหลายคน มีข่าวคืบหน้าวานนี้ว่า
พตอ.สงัดได้ถูกพาเข้ามารักษาตัวด้วยการเดินทางโดยเครื่องบินและถึงโรงพยาบาลตำรวจเมื่อ ๒๓ น.เศษ โดยมี นางสุภาพ ศรีภริยาของ พตอ.สงัด ติดตามมาเฝ้าอาการร่วมกับนายแพทย์ประสิทธิ์ วะน้ำค้าง ให้น้ำเกลือตลอดระยะทาง
พตอ.สงัด ถูกยิงทะลุไหล่ขวากระดูกหน้าแข้งขวาและฝ่าเท้าข้างขวา รวม ๓ นัด เมื่อนายแพทย์ตรวจอาการโดยละเอียด ลงความเห็นว่าไม่ถึงกับต้องตัดขา และวานนี้ (๙ สิงหาคม) พ้นขีดอันตรายแล้ว
จากคำเปิดเผยของ พตอ.สงัด กับ “พิมพ์ไทย” ถึงการปะทะกวาดล้างพวก “แดง” จนตัวเองได้รับบาดเจ็บสาหัสและ สตอ.ไพรัช สิงษ์ด้วง ตาย กับ สตอ.เฉลิมพล พวนชุมพล อาการสาหัสว่า
ด้วยการสืบทราบร่วมกันของตำรวจภูธร, สันติบาลกองสอบสวนกลาง และกองรักษาความปลอดภัยกลางว่า พวกฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ที่มั่วสุมในเขตป่าลึกและเทือกเขาสูง ที่บ้านนาบัว ดอนหมากแข้ง ตำบลเรณู อำเภอธาตุพนม โดยมีนายยอด ติสวัสดิ์ เป็นหัวหน้าใหญ่ ผู้ช่วยชื่อนายจ้อย ราชสิงห์ ซึ่งทั้งคู่ถูกลาวแดง “ล้างสมอง” แล้วส่งมาในเขตไทย ร่วมกับสมัครพรรคพวกคอยเกลี้ยกล่อมจูงใจชาวบ้านให้นิยมลัทธิ “แดง” ซึ่งเมื่อเร็วๆนี้ พตอ.(พิเศษ) สนั่น สอาดพรรค รองผู้บังคับการตำรวจภูธรเขต ๔ กับ พตอ.สงัด บุกทลายรัง ยึดได้เอกสาร อาวุธปืนมากมายหลายชิ้นส่งสันติบาล ส่วนพวกก่อการร้ายหนีได้หมด เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายจึงยกกำลังออกติดตาม กระทั่งทราบแน่ชัดว่าหนีมาซุ่มอยู่ที่ป่าทึบระหว่างเขตตำบลพระซองกับตำบลหนองฮี
พตอ.สงัด จึงยกกำลังมีตำรวจ ๒๙ นายเข้าล้อมป่า แต่ตอนกลางคืนจนรุ่งเช้า พวก “แดง” ประมาณ ๑๕ คน โผล่ออกมาจากป่าประจันหน้ากัน ตำรวจถูกยิงก่อนก็โต้ตอบด้วยปืน ทว่าพวก “แดง” ส่วนมากมีอาวุธปืนกลมือทันสมัย พตอ.สงัด เองยิงสู้อย่างเผาขนกับพวกก่อการร้ายในชุดดำแบบชาวนาตัวต่อตัว ระหว่างปืนพกรีวอลเวอร์ ลูกกรด .๒๒ อาวุธคู่มือของผู้กำกับการ และคนร้ายใช้ปืนพวกโอโตเมติกขนาด .๓๘
พตอ. สงัด ยิงหมด ๖ นัดรวด และในจังหวะเดียวกัน พวกก่อการร้ายในคราบชาวนาก็ยิงสวนควันปืน โดนผู้กำกับฯสงัด ๓ นัดดังกล่าว ทว่าคนร้ายตายในเวลาต่อมา ยังไม่ทราบชื่อว่าเป็นใคร
ที่โรงพยาบาลตำรวจวานนี้ ปรากฏว่าคนสำคัญในกระทรวงมหาดไทย อาทิ นายถวิล สุนทรศารทูล ปลัดกระทรวงฯได้ไปเยี่ยม และนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ก็เอากระเช้าดอกไม้ไปเยี่ยมคับคั่ง และอวยพรให้หายในเร็ววัน
วันเดียวกันนี้ พล.ต.ต.แฝด วิชชุพันธ์ ผู้บัญชาการตำรวจภูธร ได้เดินทางไปถึงจังหวัดนครพนม เพื่อวางแผนปราบแล้ว
สรุป
จากข้อมูลร่วมสมัยทั้งหมดนี้ ผมคิดว่า ไม่น่าเป็นที่สงสัยแล้วว่า เหตุการณ์ปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจและกำลังติดอาวุธของ พคท.ที่บริเวณบ้านนาบัว อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม ที่ภายหลังทั้งฝ่าย พคท.และฝ่ายรัฐบาล เรียกขานกันว่าเป็น “วันเสียงปืนแตก” นั้น เกิดขึ้นเมื่อเช้าวันอาทิตย์ที่ 8 สิงหาคม 2508 ไม่ใช่วันเสาร์ที่ 7 สิงหาคม 2508 อย่างแน่นอน
จากข้อมูลของ พคท.เองในสมัยหลัง (ดูข้อเขียนของ วิรัช อังคถาวร ผู้นำพรรคที่ผมอ้างในตอนต้นบทความ) การปะทะด้วยอาวุธระหว่างสองฝ่าย ไมใช่เพิ่งเกิดขึ้นครั้งนี้เป็นครั้งแรก ซึ่งข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ร่วมสมัยที่ผมนำมาแสดงก็ยืนยันเรื่องนี้ เช่น ก่อนหน้าการปะทะครั้งนี้ ก็เพิ่งมีการปะทะกันในปลายเดือนกรกฎาคมปีเดียวกันในบริเวณอำเภอนาแกนั้นเอง ยิ่งกว่านั้น จากข้อมูลชุดเดียวกัน (ดุคำให้การของ พตอ.สงัด ใน ชาวไทย และ พิมพ์ไทย ข้างต้น) ในปี 2504 ก็ดูเหมือนจะเคยปะทะกันมาครั้งหนี่ง* แต่หลังเหตุการณ์ปะทะในวันที่ 8 สิงหาคม ไม่นาน พคท.ได้ตัดสินใจเลือกเอาการปะทะนี้ เป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มต้นต่อสู้ด้วยอาวุธ เหตุการณ์นี้จึงถูกรู้จักในนาม “วันเสียงปืนแตก” แต่ด้วยสาเหตุใดที่ยังไม่เป็นที่ทราบ พคท. “จำ” ว่าวันที่เกิดเหตุการณ์คือวันที่ 7 สิงหาคม 2508 ซึ่งฝ่ายรัฐบาลก็รับช่วงความจำที่ผิดนี้มา ตลอดเวลาเกือบ 20 ปี ที่มี “สงครามประชาชน” ระหว่างสองฝ่าย จนกลายเป็น “ความทรงจำร่วมที่คลาดเคลื่อน” ของสังคมไทยในวงกว้างไปด้วยจนปัจจุบัน
หมายเหตุโดยผู้เขียนบทความ:
* เรื่องนี้ บังเอิญว่าในระหว่างที่ผมเขียนบทความนี้ เนชั่นสุดสัปดาห์ ฉบับที่กำลังวางตลาด ได้ตีพิมพ์บทความเรื่องหนึ่ง เสนอว่า “วันเสียงปืนแตก” หมายถึงวันที่มีการปะทะด้วยอาวุธระหว่าง พคท.กับรัฐบาล ครั้งแรกสุดที่บ้านนาบัวนั้น แท้จริง ต้องเป็นวันที่ 20 สิงหาคม 2504 โดยอ้างข้อมูลจากอดีตนักรบของ พคท.คนหนึ่ง ความจริง ดังที่เห็นข้างต้นแล้วว่า พคท.เองไม่เคยบอกว่า การปะทะที่บ้านนาบัวเมื่อ “7 สิงหาคม” เป็น “ครั้งแรกสุด” แต่อย่างใด แม้แต่สำหรับบริเวณนั้นเอง และบทความ เนชั่นสุดสัปดาห์ เอง ก็ยังเข้าใจผิดว่า วันที่เกิดการปะทะในเดือนสิงหาคม 2508 คือวันที่ 7 (ดู “เสียงปืน ‘นัดแรก’ ที่บ้านนาบัว 20 สิงหา..ไม่ใช่ 7 สิงหา!”, เนชั่นสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 897 วันที่ 3 สิงหาคม 2552, หน้า 13-14.) แต่อย่างน้อย เรื่องนี้ ก็สอดคล้องกับคำให้สัมภาษณ์ของ พตอ.สงัด ในปี 2508 ทีว่า เคยมีการปะทะกันครั้งหนึ่งแล้วในปี 2504
หมายเหตุโดยประชาไท:
บทความตอนแรกเคยตีพิมพ์ในมติชนสุดสัปดาห์ 13-19 สิงหาคม 2547 และปรับปรุงแก้ไขเล็กน้อยโดยผู้เขียนเพื่อเผยแพร่ในประชาไท สำหรับตอนที่ 2 นี้ เผยแพร่ครั้งแรกในประชาไท