ที่มา ข่าวสด
รายงานพิเศษ
พลเดช ปิ่นประทีป/จรัส สุวรรณมาลา/สมพงษ์ จิตระดับ |
มีนายสุมิท แช่มประสิทธิ์ เป็นผอ.สพช. และนายประโภชฌ์ สภาวสุ น้องชายนาย กอร์ปศักดิ์ เป็นรองผอ.สพช.
สำหรับนายประโภชฌ์ เคยเล่นการเมือง เป็นส.ส.ศรีสะ เกษ แต่ระยะหลังวางมือไปทำธุรกิจ
ก่อนจะกลับมามีชื่อในหน่วยงานสพช.
และเกิดเรื่องราว กลายเป็น "เผือกร้อน" ที่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี พยายามหาทางออกปัดให้พ้นตัว
หลังพรรคเพื่อไทยออกมาเปิดประเด็นร้อน ว่าได้รับร้องเรียนจากประชาชนหลายเขตในพื้นที่กทม. ถึงความไม่ชอบมาพากลในการจัดซื้อสิ่งของให้ชุมชนตามโครงการดังกล่าว
เพราะยิ่งสาวก็ยิ่งส่อให้เห็นถึงพฤติกรรมในทางทุจริตและเอื้อประโยชน์ให้บุคคลในรัฐบาล โดยเฉพาะโครงการจัดซื้อตู้หยอดน้ำโซลาร์เซลล์ ที่ไม่ตรงกับความต้องการของชุมชน
และการสั่ง 3 เจ้าหน้าที่ในทีมสอบสวนชุดของ พล.อ.ชัชวาลย์ ทัตตานนท์ รองผอ.สพช. ที่เข้าไปตรวจสอบแล้วพบความไม่โปร่งใสที่จ.พระนครศรีอยุธยา พ้นจากสพช.
แม้นายกฯจะยืนยันว่าผลการตรวจสอบเบื้องต้นพบผู้ทุจริตโครงการชุมชนพอเพียงใน 2 ระดับ คือจากนักการเมืองท้องถิ่นและเจ้าหน้าที่โครงการ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่มีปัญหามาตั้งแต่โครงการเอสเอ็มแอลในสมัยรัฐบาลยุคก่อน
และโครงการที่ถูกวิจารณ์อยู่ในวงเงินเพียง 50 ล้านบาท หรือร้อยละ 1 ของโครงการที่อนุมัติงบประมาณไปแล้ว 5,300 ล้านบาทเท่านั้น
ย้ำด้วยว่าหากใครเกี่ยวข้อง พร้อมจัดการแน่
แต่ในทางกลับกัน บรรดาสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ต่างออกมาให้สัมภาษณ์ในทำนอง "อุ้ม" ทั้งนายกอร์ปศักดิ์และนายประโภชฌ์
ขณะที่ผลสำรวจของเอแบคโพลต่อกรณีดังกล่าว นอก จากจะเห็นว่าปัญหาการทุจริตจะกระทบต่อแนวคิดหลักเศรษฐกิจพอเพียงแล้ว ยังต้องการให้รัฐบาลรับผิดชอบต่อปัญหานี้ หาคนผิดมาลงโทษ และให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องลาออกทั้งคณะ
รวมทั้งกระแสสังคมที่เริ่มนำปัญหาทุจริตในโครง การชุมชนพอเพียง มาเทียบเคียงกับกรณีการแจก ส.ป.ก.4-01 ที่ทำให้รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ในขณะนั้นต้องประกาศยุบสภา
รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์จะเดินย่ำซ้ำรอยอดีตหรือไม่ เป็นเรื่องที่หลายฝ่ายจับตาเฝ้าดู
พลเดช ปิ่นประทีป
เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา
อดีตรมช.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
ผมดูแล้วน่าเป็นห่วงรัฐบาล เพราะโครงการแบบนี้หากไม่พิถีพิถันเรื่องกระบวนการความโปร่งใสก็เป็นจุดอ่อนได้ เพราะวันนี้มีขั้วทางการเมืองที่ต่อสู้กันอยู่ อีกขั้วพยายามหาหลักฐาน การตรวจสอบก็มีประสิทธิภาพ เพราะมีเป้าหมายทางการเมือง
หากรัฐบาลใส่ใจน้อยในโครงการนี้อาจเป็นจุดพลาดหรือจุดตายได้ เพราะหากมีหลักฐานมาแล้วการแก้ตัวต่อสังคมจะลำบาก โครงการดีๆ โปร่ง ใส ผมว่ามีเยอะมากกว่า แต่พอมีจุดเสียคนก็ต้องจับจ้องมาก ภาคประ ชาชน ภาคสังคมอดเป็นห่วงไม่ได้
โครงการชุม ชนพอเพียงเป็นโครงการต่อเนื่องจากเอสเอ็มแอล แต่เปลี่ยนวิธีการนิดหน่อย คือ ชุมชนพอเพียง เพิ่มเป็น 7 ระดับ วิธีการกระบวนการให้ชาวบ้านประชุมกัน
แต่เอาเข้าจริงก็ไม่มีการเตรียมชาวบ้านดีพอ เร่งรัดเวลา ไม่มีการประชุมกันจริง แต่ให้เซ็นชื่อกัน
เงื่อนไขโครงการต้องให้ชาวบ้าน 60-70% ประ ชุมกันเพื่อพิจารณาโครงการ เมื่อไม่มีการประชุมแต่ไปเอาลายเซ็นกันมา เป็นการโกหก
ความจริงเรื่องแบบนี้เป็นมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร รัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เพราะข้าราชการสอนชาวบ้านทำกันมา
ทั้งข้าราชการฝ่ายพัฒนาชุมชนหรือสายปกครอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ถูกเร่งรัดโดยเวลามาอีกทอดให้ทำเสร็จตามกรอบเวลา โกหกกันไปมาตลอด
เรื่องความผิดหรือถูกเป็นส่วนของการปฏิบัติ เพราะเรื่องนี้ผ่านกลไกข้าราชการประจำสายมหาดไทย พัฒนาชุมชน เป็นปัญหาของระดับนี้ ไม่ใช่รัฐบาล นายกฯ หรือรองนายกฯ เพราะเขาไม่ใช่ผู้ปฏิบัติ
เว้นแต่มีหลักฐานเชื่อมโยงว่ามีพล พรรคการเมือง นักธุรกิจ พ่อค้าผลิตภัณฑ์ที่ขายผ่านเข้าโครงการมาแล้วมีปัญหาผลประโยชน์
ถ้าไปเจอหลักฐานก็เป็นจุดอ่อนจุดตายของรัฐบาลได้
ส่วนจะถึงขั้นไปซ้ำรอยเหตุการณ์ ส.ป.ก.4-01 หรือไม่ ต้องคอยติด ตามดู
จรัส สุวรรณมาลา
คณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ
การที่ฝ่ายค้านยกประเด็นทุจริตโครงการชุมชนพอเพียงขึ้นมาในช่วงนี้ ต้องดูว่าข้อมูลที่ฝ่ายค้านได้มานั้นมากแค่ไหน เก็บมาเพื่อทำวิจัยหรือไม่ หรือว่ามีคนร้องเรียนเพียง 1-2 ราย
การคอร์รัปชั่นไม่ใช่เรื่องแปลกที่ฝ่ายค้านหรือองค์ กรอื่นจะหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็น เพราะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาไม่ว่าภาครัฐหรือเอกชน เมื่อเกิดขึ้นแล้วรัฐบาลต้องเร่งแก้ไขปัญหา
แต่หากจะเทียบเคียงกับกรณีส.ป.ก. 4-01 ที่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์เคยมีปัญหาจนทำให้รัฐ บาลอยู่ไม่ได้ ต้องยุบสภานั้น คิดว่าต้องดูด้วยว่ากรณีชุมชนพอเพียง มีคนในฝ่ายการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องหรือไม่
เพราะกรณีส.ป.ก.4-01 มีคนในวงการเมือง คนในรัฐบาลขณะนั้นเกี่ยวข้องด้วย ฉะนั้นหากโครงการชุมชนพอเพียงมีนัก การเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยแสดงว่ารัฐบาลต้องรับผิดชอบ
แต่การเรียกร้องให้รัฐบาลลาออกนั้น ผมมองว่ามากเกินไป หากเป็นแค่ระดับปฏิบัติการหรือระดับชุมชนหรือชาวบ้าน รัฐบาลก็ต้องเข้าไปแก้ตรงนั้น และหาทางป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำอีก
เมื่อเทียบกัน กรณีส.ป.ก.4-01มีนักการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย แต่โครงการนี้ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่านักการเมืองเกี่ยวข้องหรือไม่
ถ้าเกี่ยวข้องด้วยรัฐบาลก็ต้องรับผิดชอบโดยตรง
สมพงษ์ จิตระดับ
นักวิชาการด้านสังคมและการศึกษา
โครงการชุม ชนพอเพียงเป็นโครงการที่ดี ในแง่ของหลักการนั้นรัฐบาลเดินมาถูกทางแล้ว เพราะงบประมาณที่ทุ่มลงไปนั้นสามารถตอบโจทย์ได้ดี
แต่เมื่อมีการทุจริต มีคนเข้าไปเกี่ยวข้องกับเงินในโครงการ
แต่นายกฯบอกว่าใช้เงินไป 50 ล้านบาทจากงบทั้งหมดที่ลงไปแล้วกว่า 5 พันล้านบาทนั้น เราจะดูจากยอดเงินอย่างเดียวไม่ได้ เพราะแนวโน้มว่าจะมีการทุจริตจริงนั้นเกิดขึ้นในหลายพื้นที่
การทุจริตนั้นเงินหายไปเพียง 10 บาทก็ถือว่าทุจริตแล้ว
รัฐบาลควรเอาจริงเอาจังลงไปตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่ให้มากกว่านี้ ไม่ ใช่ไปเอาผิดจากเจ้าหน้าที่เพียง 3-4 คน
ที่สำคัญโครงการชุมชนพอเพียงมีหลักการและวิธีการเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ นำหลักของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาใช้ หากเกิดปัญหาทุจริตขึ้นไม่เพียงแต่จะทำให้รัฐบาลเสียชื่อเสียง
แต่ถือเป็นเรื่องมิบังควรและเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก
รัฐบาลควรเร่งแก้ไขโดยมีมาตราการที่เข้มข้นมากกว่านี้ในการตรวจสอบ ควรตัดไฟแต่ต้นลม นำสิ่งที่เลวร้ายออกไป ด้วยวิธีการป้องกันไม่ให้เลือดมันไหล
หากยังปล่อยไว้โดยไม่แก้ไขจะทำให้มีผู้ที่ได้รับผลกระทบจำนวนมาก อาจซ้ำรอยเรื่องที่ดินส.ป.ก.4-01 เพราะเรื่องดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อรัฐบาลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
รัฐบาลควรให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเข้าไปตรวจสอบอีกทาง หรือไม่ก็สรรหาคนที่มีหลักธรรมาภิบาลประมาณ 10-12 คน เข้ามาตรวจสอบ และคนที่ตั้งขึ้นควรเป็นคนที่มีหลักความยุติธรรม
การตั้งคณะกรรมการของพรรคประชาธิปัตย์เข้ามาดูแลอย่างเดียวไม่เพียงพอแน่นอน