ที่มา thaifreenews
เขาว่ากระแสไม่เอาเจ้าแพร่ไปทั่วแล้ว
ใจ อึ๊งภากรณ์
ถ้าใครอ่านบทความของ ชัยอนันต์ สมุทวาณิช ใน ผู้จัดการ ๒ สิงหาคม ๕๒ จะเห็นว่าฝ่ายอำมาตย์เริ่มยอมรับกันแล้วว่า “กระแสไม่เอาเจ้าแพร่หลายไปทั่วประเทศแล้ว” และ ชัยอนันต์ ยังยอมรับอีกว่า “คนชนบทชอบทักษิณ... ก็เพราะทักษิณเป็นนักการเมืองคนแรกที่ทำประโยชน์ให้แก่ประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม ที่สำคัญก็คือ เรื่อง 30 บาทรักษาทุกโรคกับกองทุนหมู่บ้าน”
แต่หลังจากนั้น ชัยอนันต์ ก็เริ่มเข้าสู่แดนแห่งนิยาย เช่น
1. ชัยอนันต์ ตั้งคำถามว่าทำไมกระแสไม่เอาเจ้าแพร่ไปทั่ว? แล้วพยายามหาคำตอบที่ไม่ใช่คำตอบง่ายที่สุดและตรงกับความจริงที่สุด ก็เลยเสนอว่ามีการปลุกระดม... คำถามคือทำไมการปลุกระดมได้ผล?... ก็เพราะมันตรงกับสิ่งที่คนคิดอยู่แล้ว!! คำตอบที่ง่ายที่สุดและตรงกับความจริงที่ ชัยอนันต์ ไม่กล้าพูดคือ ตั้งแต่การก่อตั้งของพันธมิตรฯ ผ่านการทำรัฐประหาร ๑๙ กันยา การใช้ศาลเป็นเครื่องมือล้มพรรค การใช้ความรุนแรงปิดทำเนียบ รัฐสภา และสนามบิน ฯลฯ จนถึงวันนี้ ฝ่ายเสื้อเหลืองเอาเรื่องเจ้ามาเป็นข้ออ้างในการทำลายประชาธิปไตย ล้มรัฐบาลที่ประชาชนส่วนใหญ่เลือกมา และดูถูกประชาชนเหล่านั้นว่า “โง่” หรือไร้วุฒิภาวะที่จะลงคะแนนเสียง มีการใช้กฎหมายหมิ่นเดชานุภาพกับคนที่คัดค้านรัฐประหาร แถมยังมีกรณีที่ราชินีไปงานศพพันธมิตรฯ และกรณีที่ในหลวงไม่ออกมาพูดอะไรในเดือนธันวาคมปีที่แล้วอีกด้วย คำตอบและคำอธิบายมันง่ายอย่างนี้ครับ ใครๆก็รู้ ไม่ต้องเป็นนักวิชาการจบดอกเตอร์หรอก สรุปแล้วคนส่วนใหญ่ในประเทศคิดเองเป็น ไม่ถูกล้างสมอง ตรวจสอบสถาบันกษัตริย์ในวิกฤตการเมืองที่ร้อนแรง แล้วพบว่าไม่มีประโยชน์ในการปกป้องรัฐธรรมนูญ ประชาธิปไตย และสิทธิเสรีภาพของประชาชน ตรงกันข้าม ไปอยู่กับฝ่ายที่เป็นศัตรูประชาชนและศัตรูของประชาธิปไตย จะไม่เกิดกระแสไม่เอาเจ้าที่ยิ่งใหญ่ทั่วประเทศได้อย่างไร? พวกอำมาตย์มั่นใจในตนเองมากไป คิดว่าล้างสมองประชาชนได้ แค่อ้างกษัตริย์แล้วเขาจะทำอะไรก็ได้ ไม่จริงครับ ถูกพิสูจน์ได้ แล้วพวกอำมาตย์อาจใช้การปราบปรามหรือการสร้างความกลัวให้บางคนไม่กล้าพูดได้ แต่เปลี่ยนใจลึกๆ ของคนไม่ได้หรอก การปิดเวป การปิดวิทยุชุมชน การเซ็นเซอร์ หรือการโกหกที่รัฐบาลอำมาตย์ทำอยู่ก็ไม่มีผลอย่างที่เขาต้องการ
2. ชัยอนันต์ เขียนว่า “กระแสต้านสถาบันพระมหากษัตริย์นั้น ในที่สุดคงไม่บังเกิดผลอะไร และในอดีตก็เคยมีมาแล้ว โดยเฉพาะปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมัยรัชกาลที่ 6” ผมอ่านแล้วหัวเราะ!!! เพราะนักประวัติศาสตร์ไทยทราบดีว่ากระแสไม่เอาเจ้าปลายรัชกาลที่ ๕ และในช่วงรัชกาลที่ ๖ ในที่สุดสะสมมากขึ้นจนเกิดการปฏิวัติ ๒๔๗๕ ในสมัยรัชกาลที่ ๗ ท่ามกลางกระแสไม่เอาเจ้าทั่วประเทศ
3. ชัยอนันต์ มองว่า “การวิจารณ์ “เจ้า” ก็ไม่อาจทำแบบเหวี่ยงแหได้ และก็ไม่มีข้อมูลข่าวสารหรือข้อเท็จจริงมาสนับสนุนคำวิจารณ์” ก็ฝันไปเถิดว่าไม่มีข้อมูลหรือข้อเท็จจริง แต่ในอีกแง่ก็เป็นคำดูถูกประชาชนอีกว่าเชื่ออะไรโดยไร้เหตุผล
4. ชัยอนันต์ มองว่า “คนรุ่นใหม่ที่อายุต่ำกว่า 30 ปี รู้สึกว่าจะไม่สนใจเรื่องนี้มากเท่าใดนัก” และ “คนหนุ่มคนสาว เวลานี้ซึ่งดูจะเป็นพวกวัตถุนิยมสุดขั้วกันมาก ถ้าจะพูดถึงความภักดีต่อชาติหรือสถาบันแล้ว คงหวังได้ยาก” ตรงนี้ ชัยอนันต์ คงรู้จักเด็กๆ จากตระกูลร่ำรวยที่เป็นนักศึกษา วชิราวุธวิทยาลัย ซึ่งไม่ใช่เด็กธรรมดาเหมือนประชาชนอื่นๆ ส่วนผมและเพื่อนๆ รู้จักเด็กนักเรียนในมหาวิทยาลัยของรัฐ จึงขอบอกว่าคนรุ่นใหม่ไม่จงรักภักดีกับอะไรง่ายๆ และถ้าคนรุ่นใหม่ “ไม่สนใจเรื่องกษัตริย์” มันหมายความว่าเบื่อกับการถูกบังคับให้จงรักภักดี แต่มันไม่ใช่ว่าเขาสนใจแต่เรื่องวัตถุนิยมหรือการบริโภคเหนือสิ่งอื่น จริงๆ แล้วพวกที่เป็นนักบริโภคนิยมสุดขั้วของสังคม ที่กอบโกยความร่ำรวยเข้ากระเป๋าตนเองมากที่สุด คือพวกเจ้าและอำมาตย์ ในขณะที่มาสอนเราให้มีความสุข “ความพอเพียง” ท่ามกลางความยากจนของเรา ดังนั้นถ้าใครยิ่งรวยยิ่งกอบโกยบริโภค ก็จะยิ่งหลงเชื่อในนิยายเรื่องเจ้า
อย่างไรก็ตาม ผมมีคำเตือนให้คนเสื้อแดงที่ “ไม่เอาเจ้า” เหมือนผม ถ้าฝ่ายอำมาตย์หลอกตนเองได้มันไม่ได้แปลว่าเราต้องหลอกตนเองไปด้วย เราต้องยอมรับความจริง และไม่ประเมินฝ่ายอำมาตย์ต่ำไป กระแสไม่เอาเจ้าที่แพร่ไปทั่วจะไม่เกิดผลโดยอัตโนมัติถ้าเราไม่รู้จักสู้ ดังนั้นเราต้องใช้ปัญญาในการทำภาระที่ยังค้างอยู่ของการปฏิวัติ ๒๔๗๕ ให้เสร็จสิ้น แล้วเราจะได้ประชาธิปไตยแท้
กระแสไม่เอาเจ้า ฉบับ ไชอนันต์ สมุทวาณิช