ที่มา ประชาไท
12 ส.ค.52 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ศาลพม่าสั่งกักบริเวณนางออง ซาน ซูจี ผู้นำฝ่ายค้านในพม่าอีก 18 เดือน ข้อหาละเมิดกฎหมายความมั่นคงภายใน ว่า ขณะนี้ได้ประสานอยู่กับสถานทูตของกลุ่มประเทศในอาเซียน และคาดว่าในวันนี้ในฐานะประธานอาเซียนจะมีแถลงการณ์ออกมา สาระหลัก ๆ คือ 1.เราก็ผิดหวังกับคำพิพากษาของคดีนางออง ซาน ซูจี ที่เกิดขึ้น 2. อาเซียนยังยืนยันจุดยืนเดิมที่เคยมีแถลงการณ์ คือต้องการที่จะเห็นการปล่อยผู้ที่ถูกกักขังในทางการเมืองทั้งหลาย เพื่อที่จะให้กระบวนการของการนำไปสู่กระบวนการประชาธิปไตยตามขั้นตอนของพม่าสามารถดำเนินการได้ การเลือกตั้งก็จะเป็นการเลือกตั้งที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง 3. อาเซียนมีความพร้อมในการที่จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับพม่าในการที่จะสามารถปฏิบัติตามขั้นตอนต่างๆ ที่จะมีการนำไปสู่เรื่องของประชาธิปไตยเพื่อให้เป็นไปตามแผนและขั้นตอน และสนับสนุนบทบาทของสหประชาชาติในการทำเรื่องนี้ต่อไป
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่รัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซียเรียกร้องให้มีการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนฉุกเฉินเพื่อพิจารณาเรื่องนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในเบื้องต้นจะประสานเพื่อให้มีแถลงการณ์ออกมา จะเป็นในนามประธาน หรือจะในนามอาเซียนร่วมกันก็ตาม ส่วนขณะนี้นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกำลังประสานความเป็นไปได้ว่าก้าวต่อไปควรจะเป็นอย่างไร
ผู้สื่อข่าวถามว่า แต่ขณะนี้มีเสียงเรียกร้องจากนานาชาติโดยเฉพาะประเทศแถบตะวันตกว่าควรจะให้มีการคว่ำบาตรพม่าทางอาเซียนจะมีท่าทีต่อเรื่องนี้อย่างไรบ้าง นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ก็ต้องปรึกษาหารือกันในกลุ่มอาเซียน และเป็นประเด็นที่เราเคยแสดงความห่วงใยมาหลายครั้งว่าถ้าหากว่าการตอบสนองต่อเสียงสะท้อนของประชาคมโลกไม่เกิดขึ้น สุดท้ายแทนที่อาเซียนจะได้สามารถช่วยกันแก้ปัญหาได้ เรื่องนี้ก็จะถูกยกระดับไปสู่เวทีอื่น เราก็พยายามสื่อสารกับพม่ามาโดยตลอดด้วยความปรารถนาดี ว่าจริงๆ แล้วน่าจะต้องมาปรึกษาหารือกันในอาเซียนดีที่สุด เมื่อประเทศต่างๆ เริ่มเคลื่อนไหวเราก็คงจะต้องมาติดตามดู เท่าที่ติดตามในขณะนี้จะเป็นการเรียกร้องเรื่องการค้าอาวุธเป็นเรื่องหลัก
ต่อมากระทรวงการต่างประเทศ ได้เผยแพร่ถ้อยแถลงของ นายอภิสิทธิ์ ในฐานะประธานอาเซียน เรื่องพม่า มีใจความว่า
“ประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียน ได้รับทราบด้วยความผิดหวังอย่างยิ่งที่ ออง ซาน ซู จี ถูกศาลพิพากษาลงโทษให้ถูกกักบริเวณในบ้านพัก โดยมีอิสระภาพที่จำกัดเป็นเวลา 18 เดือน
ประธานอาเซียนปรารถนาจะย้ำเตือน ข้อเรียกร้องของรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 42 และการประชุมว่าด้วยการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ครั้งที่ 16 เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2552 ที่ จ.ภูเก็ต ให้ปล่อยตัวผู้ที่ถูกคุมขังทั้งหมดโดยทันที รวมทั้ง ออง ซาน ซู จี เพื่อให้บุคคลเหล่านี้ สามารถเข้าร่วมการเลือกตั้งทั่วไปในปีหน้าได้
การดำเนินการดังกล่าว จะเอื้ออำนวยต่อการปรองดองแห่งชาติ การเจรจาที่มีความหมาย และการพัฒนาไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยในพม่าต่อไป การเลือกตั้งที่เสรี ยุติธรรม และให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมเท่านั้น ที่จะปูทางให้พม่าสามารถบูรณาการเข้ากับประชาคมระหว่างประเทศได้อย่างสมบูรณ์
ประเทศสมาชิกอาเซียนหวังที่จะเห็นพม่า ซึ่งเป็นเพื่อนสมาชิกอาเซียน มีสันติสุข เจริญรุ่งเรือง และได้รับความนับถือจากประชาคมโลก เราพร้อมที่จะร่วมมือกับรัฐบาลพม่า ในความพยายามต่าง ๆ เพื่อให้บรรลุตามแนวทาง 7 ขั้นตอน สู่ความเป็นประชาธิปไตย และจะยังคงมีปฏิสัมพันธ์อย่างสร้างสรรค์กับพม่า เพื่อสร้างประชาคมอาเซียนร่วมกัน และเราจะยังคงสนับสนุนบทบาท การประสานงาน (good offices) ของเลขาธิการสหประชาชาติ ที่ยังดำเนินอยู่ และเรียกร้องให้พม่าร่วมมือกับสหประชาชาติอย่างเต็มที่ต่อไป”