WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Thursday, August 13, 2009

สัมภาษณ์ไชยันต์ รัชชกูล: “เมืองนี้เป็นเมืองป่า”

ที่มา ประชาไท

คุยกับ รศ.ดร.ไชยันต์ รัชชกูล ว่าด้วยการมองการเมืองไทยผ่านวิธีทางประวัติศาสตร์, การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ถึงขบวนการคนเสื้อแดง, แนวรบของอำมาตยาธิปไตย, เมืองป่าและกฎของเจ้าป่า และสองมาตรฐานในสังคมไทยที่มี “ผู้ดี” กับ “ขี้ครอก”


ไชยันต์ รัชชกูล อาจารย์ประจำสถาบันศาสนา วัฒนธรรม และสันติภาพ มหาวิทยาลัยพายัพ
(ที่มา: ภาพันธ์ รักษ์ศรีทอง (แฟ้มภาพ/สิงหาคม 2550)
ในปี 2550 ก่อนการลงประชามติรัฐธรรมนูญวันที่ 19 ส.ค.50 ท่ามกลางกระแสโหมให้ “รับ” รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ในช่วงเวลานั้น “เขา” มี “วิธีการแก้กลุ้ม” ด้วยการแจกโปสเตอร์ ใบปลิว รณรงค์ “ไม่รับ” ร่างรัฐธรรมนูญในละแวกบ้าน ในโรงเรียนเมื่อมีการเรียกประชุมผู้ปกครองนักเรียน กระทั่งมีคนขอเอาไปแจกในที่ประชุม อบต.
หลังจากนั้นประชาไทมีโอกาสสัมภาษณ์ “เขา” ผู้มี “วิธีการแก้กลุ้ม” ดังกล่าว
ในการสัมภาษณ์ครั้งนั้น (อ่านที่นี่) “เขา” เห็นว่ากรณีที่เกิดการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ทำให้ได้เห็นถึง “พลัง Conservative” แต่เขาเชื่อว่า “อนาคตข้างหน้าเราอาจจะได้มาชันสูตร และพบว่านี่อาจเป็นก้าวที่ผิดพลาดอย่างใหญ่หลวงของพลัง Conservative และพลังของพวกไฮโซ”
ถัดมาอีกปีในเดือนกรกฎาคม 2551 ประชาไทเผยแพร่บทสัมภาษณ์ “เขา” อีกครั้ง (อ่านที่นี่) ครั้งนั้นเขามีความเห็นต่อข้อเสนอ “การเมืองใหม่” สรรหา 70 เลือกตั้ง 30 ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย โดยเขาเห็นว่า “มันไม่มากไปหน่อยหรือครับพี่ มันไม่จี้ไปหน่อยหรือน้อง”
ล่าสุด ประชาไทได้สัมภาษณ์ “เขา” รศ.ดร.ไชยันต์ รัชชกูล อาจารย์ประจำสถาบันศาสนา วัฒนธรรม และสันติภาพ มหาวิทยาลัยพายัพอีกครั้ง
โดยเป็นการสัมภาษณ์ในโอกาสครบรอบ 2 ปี การลงประชามติรัฐธรรมนูญ 2550 และเป็นการสัมภาษณ์ในห้วงเวลาที่ผู้ชุมนุมเสื้อแดงเพิ่งเดินยุทธศาสตร์ชุมนุมฉลองวันชาติ 24 มิถุนายน ขณะเดียวกันก็มีการระดมรายชื่อเพื่อถวายฎีการ้องทุกข์ในสัปดาห์หน้านี้
การพูดคุยกันครั้งนี้ไชยันต์มีข้อเสนอการพิจารณาการเมืองไทยที่ต้องใช้หน่วยการวิเคราะห์ที่ “อย่างน้อยต้องกลับไปที่ ‘2545’ ” ซึ่งในสเกลของวิชาประวัติศาสตร์ถือว่าเป็นช่วงที่ไม่ยาว ถ้าไม่เอาหน่วยการวิเคราะห์ช่วงยาวขนาดนี้ ผลสรุปจะเป๋ไป๋ไปเลย
ขณะเดียวกันเขาก็มีวิธีแก้กลุ้มในเดือนเมษายนที่ผ่านมาด้วยการร่วมชุมนุมกับคนเสื้อแดงในกรุงเทพมหานคร เช่นเดียวกับที่ในช่วงกระแสโหมให้รับรัฐธรรมนูญ 2550 เขาเคยแก้กลุ้มรณรงค์ไม่รับรัฐธรรมนูญในพื้นที่ประกาศกฎอัยการศึก “แบบบ้านๆ”
เขามองว่าการชุมนุมเดือนเมษายนที่ผ่านมาเป็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่มีคนจำนวนมากเข้ามามีส่วนร่วมมากกว่าการตอนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ตุลาคม 2516 หรือ พฤษภาคม 2535 มีกิจกรรมทางการเมือง “ในทุกตำบลของสยามประเทศ”
เขาวิจารณ์ว่าการชุมนุมในเดือนเมษายนถือว่าคนเสื้อแดงประเมินด้านกำลังของตัวเองถูกต้อง แต่ยุทธศาสตร์เผด็จศึกไม่สำเร็จ ต้องถือเป็นบทเรียน เพราะประเมินกำลังอีกฝ่ายหนึ่งต่ำเกินไป
เขาไม่ได้ใช้คนนะครับ เขาครองอำนาจรัฐอยู่ และอำนาจรัฐนี้ไม่ใช่เฉพาะอำนาจบริหาร อำนาจนิติบัญญัติก็อยู่กับเขา อำนาจตุลาการก็อยู่กับเขา แล้วก็อำนาจของระบบราชการอีก”
และท้ายที่สุดชัยชนะก็เป็นของฝ่ายที่มีทหารซึ่งเป็นกำลังที่ชี้ขาด “คุณจะเถียงผมด้วยเหตุผลที่ดีอย่างไรก็ตาม แต่ผมหมัดหนักกว่า คุณจะเอาอะไรมาสู้ผม เพราะฉะนั้นในท้ายที่สุดก็คือใครจะชนะมันขึ้นอยู่กับว่าใครต่อยจนล้มอีกฝ่ายหนึ่งได้”
ดังนั้นเรื่องที่ใครบ่นว่ามีสองมาตรฐานนั้น เขาเสนอว่า “สังคมที่มีขี้ครอกกับผู้ดี มันก็ต้องมีสองมาตรฐาน ไม่ต้องบ่นแล้ว” “That’s the way it is.”
“พอเหตุการณ์ผ่านไปผ่านไป เมื่อมองย้อนกลับไป ทำให้เราเข้าใจเหตุการณ์ก่อนหน้านี้ดีขึ้น นี่คือข้อดีของวิชาประวัติศาสตร์ หลังพฤษภาคม 2535 เราชวนกันเข้าใจผิด คิดว่านี่คือครั้งสุดท้ายของการรัฐประหาร เราเข้าใจผิด เรามองประวัติศาสตร์สั้นเกินไป หน่วยการวิเคราะห์ของเราสั้นเกินไป และฝังความคิดอยู่ด้วยการเคลื่อนไหวครั้งล่าสุด เลยคิดว่าทหารจะเคารพกติกา ซึ่งก็เห็นกันแล้วว่า ใครหมู่ใครจ่า ใครยืนพิงอยู่กับใคร” นี่เป็นข้อสรุปจากไชยันต์
ข้อเสนอของเขาสำหรับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยจึง “ต้องวางยุทธศาสตร์ให้คล้องกับพลังที่มี” “คือไม่ใช่คิดยุทธศาสตร์ไปตามที่เรานึกฝัน กำลังเรามีอย่างไร เราต้องวางยุทธศาสตร์แบบนั้น
อะไรจะเป็นการวางยุทธศาสตร์ให้คล้องกับพลังที่มี แล้วการที่คนเสื้อแดงเข้าชื่อถวายฎีการ้องทุกข์ เป็นเรื่องสอดคล้องหรือต่างจากข้อเสนอของไชยันต์หรือไม่ โปรดติดตามจากบทสัมภาษณ์ขนาดยาวนี้
000
1
“การพิจารณาเรื่องรัฐประหารแต่ละครั้งแต่ละคราวนั้นใช้ช่วงเวลาน้อยเกินไป จริงๆ แล้ว หน่วยของการวิเคราะห์อย่างน้อยต้องกลับไปที่ ‘2475’
ฟังดูสำหรับเราแล้ว มันย้อนไปไกล แต่ในสเกลของประวัติศาสตร์มันไม่ยาวเลย ลองดูสิครับ ลองพิจารณาว่า ถ้าไม่เอาหน่วยการวิเคราะห์ช่วงยาวขนาดนี้ ผลสรุปจะเป๋ไป๋ไปเลย เพราะฉะนั้นจึงมีนักวิชาการหรือแม้กระทั่งนักประวัติศาสตร์บางคนไล่ทักษิณ หาว่าทักษิณโกง นี่เป็นการมองแค่หน่วยการวิเคราะห์เฉพาะตัวทักษิณนะครับ แล้วบางคนก็เชียร์อภิสิทธิ์ เขียนเชียร์อภิสิทธิ์ว่าสมควรเป็นนายกฯ เพราะมีคุณสมบัติที่ดี นี่มันหน่วยการวิเคราะห์อะไร (หัวเราะ)
แต่ตอนนี้ผมดีใจมากเลยที่มีคนมองย้อนขึ้นไป ผู้ชุมนุมคนเสื้อแดงจำนวนมาก เขามองโยงไปถึง 24 มิถุนายน 2475 ข้อนี้น่ายินดีอย่างยิ่ง ลึกซึ้งกว่านักสังคมศาสตร์ และนักประวัติศาสตร์จำนวนมากเลย ลองคิดดูนะ การที่คนเสื้อแดงจัดชุมนุมถึงแม้จะเป็นวันที่ 27 มิถุนายน แต่ว่าโยงกับ 24 มิถุนายน ใช่ไหมครับ โอเค อาจจะโยงกับเรื่องอื่นได้ด้วย ที่สำคัญคือยังมีความสนใจถึงพลังที่สั่งสมมาจากอดีต เมื่อก่อนไม่ค่อยมีพูดถึงปรีดี พนมยงค์ เดี๋ยวนี้ชาวบ้านร้านตลาดเขาพูดถึง”
2
“ปรากฏการณ์นี้เป็นสัญญาณการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่มาก คิดดูนะครับ สมัยหลัง 14 ตุลา นักศึกษาไปเผยแพร่ประชาธิปไตย คือไปสั่งสอนประชาธิปไตยให้ชาวบ้านเข้าใจ ลองจินตนาการดูสิว่า ถ้าจะทำอย่างนั้นในปัจจุบันมันจะเป็นไปได้ไหม และถ้าจะเป็นไปได้ มันจะพิลึกไหม
การปราบทำลายพลังนักศึกษาจนถึงวันที่ 6 ตุลานั้น แม้ว่ายากกว่า การตัดตอนพวกคณะราษฎร แต่เมื่อเปรียบเทียบกับตอนนี้ การปราบผู้คนกันกึ่งประเทศจะเหมือนปอกกล้วยหรือปอกทุเรียนกันแน่”
3
“ฝ่ายเสื้อแดงที่ชุมนุมเดือนเมษายน คือวันที่ 8 กะเผด็จศึกฮะ คือเขาประเมินกำลังว่าจะมากมายมหาศาล ซึ่งก็ประเมินถูกต้อง อันนี้น่านับถือ แต่ว่ายุทธศาสตร์กะเผด็จศึกนั้นไม่สำเร็จ อันนี้คือบทเรียนนะครับ
คงเพราะว่าเราประเมินกำลังของอีกฝ่ายหนึ่งต่ำเกินไป เขาไม่ได้ใช้คนนะครับ เขาครองอำนาจรัฐอยู่ และอำนาจรัฐนี้ไม่ใช่เฉพาะอำนาจบริหาร อำนาจนิติบัญญัติก็อยู่กับเขา อำนาจตุลาการก็อยู่กับเขา แล้วก็อำนาจของระบบราชการอีก
และในท้ายที่สุด ก็เป็นเรื่องของการต่อสู้ คือต่อสู้กันอย่างไร คือคุณจะเถียงผมด้วยเหตุผลที่ดีอย่างไรก็ตาม แต่ผมหมัดหนักกว่า คุณจะเอาอะไรมาสู้ผม เพราะฉะนั้นในท้ายที่สุดก็คือใครจะชนะมันขึ้นอยู่กับว่าใครต่อยจนล้มอีกฝ่ายหนึ่งได้ นี่คือ Decisive ครับ เพราะฉะนั้นกำลังทหารก็คือกำลังที่ Decisive ที่สุด”
4
“ตอนนี้มันถึงขั้นที่ไม่มีใครแอบอยู่หลังฉากแล้ว ออกมาสู้กันไม่ว่าหน้าอินทร์ หน้าพรม และเปิดไพ่สู้กันหมดหน้าตัก เดิมพันกันสูงมาก ถึงยอมกันไม่ได้ ตอนที่เสื้อแดงชุมนุม ก็คิดไปว่าเขาคงไม่ปราบ เพราะหลงคิดไปว่า ทีเสื้อเหลืองมันชุมนุม ก็ไม่เห็นมีการปราบ เมื่อคิดแบบนี้ ก็คิดว่าไปว่าจะไม่มีการใช้กำลังทหารแบบที่เคยทำกับเสื้อเหลือง แต่มันไม่ใช่ละครับ บ้านเรายังเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อน ถ้าใช้การรัฐประหารเป็นมาตรการวัดความล้าหลังของประเทศ ประเทศไทยก็ป่าเถื่อนไม่น้อยหน้าใครในโลกนี้”
5
“ผู้ดีกับขี้ครอกเขาใช้เหตุผลเดียวกันเมื่อไหร่เล่า ไม่อย่างนั้นเขาจะเรียกว่าขี้ครอกหรือ สังคมที่มีขี้ครอกกับผู้ดี มันก็ต้องมีสองมาตรฐาน ไม่ต้องบ่นแล้ว “That’s the way it is.” มันแสนจะธรรมดาสำหรับสังคมเส็งเคร็งแบบนี้
ที่น่าสนใจคือ พอเหตุการณ์ผ่านไปผ่านไป เมื่อมองย้อนกลับไป ทำให้เราเข้าใจเหตุการณ์ก่อนหน้านี้ดีขึ้น นี่คือข้อดีของวิชาประวัติศาสตร์ หลังพฤษภาคม 2535 เราชวนกันเข้าใจผิด คิดว่านี่คือครั้งสุดท้ายของการรัฐประหาร เราเข้าใจผิด เรามองประวัติศาสตร์สั้นเกินไป หน่วยการวิเคราะห์ของเราสั้นเกินไป และฝังความคิดอยู่ด้วยการเคลื่อนไหวครั้งล่าสุด เลยคิดว่าทหารจะเคารพกติกา ซึ่งก็เห็นกันแล้วว่า ใครหมู่ใครจ่า ใครยืนพิงอยู่กับใคร”
6
“ต้องวางยุทธศาสตร์ให้คล้องกับพลังที่มี “We have to decide our strategy to match our forces.” คือไม่ใช่คิดยุทธศาสตร์ไปตามที่เรานึกฝัน กำลังเรามีอย่างไร เราต้องวางยุทธศาสตร์แบบนั้น พ.ค.ท. ชอบพูดว่าต่อสู้ทุกรูปแบบ แต่จริงๆ ไม่ได้ต่อสู้ทุกรูปแบบครับ ทางรัฐสภาก็ไม่เอา ทางมวลชนจริงๆ ก็ไม่เอา ต่อสู้ทุกรูปแบบของเขาหมายความว่าต่อสู้ทางทหาร ซึ่งไม่ใช่ทุกรูปแบบเลย แต่อำมาตยาธิปไตยสิครับ ต่อสู้ทุกรูปแบบจริงๆ ฐานมวลชนก็เอา รัฐสภาเอาไหม เอา เศรษฐกิจเอาไหม เอา ทางความคิดเอาไหม ทาง Propaganda เอา ทหารเอาไหม เอา ทุกรูปแบบ นี่คือการต่อสู้ทุกรูปแบบ และเขามีกำลังที่จะต่อสู้ทุกรูปแบบ”
7
“การที่ประวัติศาสตร์ไทยสั้น ทำให้การมองประวัติศาสตร์สั้น เพราะฉะนั้นการมองประวัติศาสตร์ของเรา ในสเกลทางประวัติศาสตร์สากลถือว่าแค่วันสองวันนี้เอง
ถ้าจะว่ากันไปแล้ว 2475 นี้เป็นแค่ช่วงชีวิตคนรุ่นเดียว ถ้าคนเกิดปี 2475 ก็อายุ 77 ปี เราจะมีผู้ใหญ่ในสังคมไทยซึ่งยังมีชีวิตอยู่ ยังรับรู้เกี่ยวกับ 2475 นี่เป็นสเกลชีวิตมนุษย์ ชีวิตมนุษย์นี้มันประเดี๋ยวประด๋าว มีคนพูดว่า “ชีวิตเราสั้น แต่ศิลปะยาวนาน” น่าจะใช้คำนี้กับประวัติศาสตร์ด้วย แล้วเราก็วิเคราะห์อะไรกันเพียงแค่ในช่วงเวลาสั้นๆ ตามหนังสือพิมพ์ หนังสือพิมพ์เป็นตัวอย่างที่ดี คือเป็นการวิเคราะห์ในสเกลวันต่อวัน นี่ไม่ได้หมายความว่าหนังสือพิมพ์ไม่มีประโยชน์นะ”
8
“พวกที่ว่าการถวายฎีกาทำให้ระคายเคืองเบื้องยุคลบาทบ้าง ดึงฟ้าต่ำบ้าง ถ้าไม่มีผลประโยชน์ทางการเมืองอยู่เบื้องหลัง ก็เป็นพวก ‘Ultra Royalists’ คือพยายามทำตัวให้เป็นพระราชายิ่งกว่าพระราชาเอง เป็นเรื่องน่าชวนหัว คล้ายๆ พวกเศรษฐีใหม่ทำอวดรวยกว่าเศรษฐีแท้ๆ หรือพวกนักเรียนไทยไปเมืองนอกประเดี๋ยวประด๋าว แล้วชอบทำตัวเป็นฝรั่งกว่าฝรั่งเอง”
9
“เมืองนี้เป็นเมืองป่าครับ ยิ่งเห็นชัดขึ้นทุกวัน เป็นเมืองป่าที่พยายามมีภาพพจน์ว่าเป็นเมืองที่เจริญ นี่เราไปเชื่อ Image มันพึ่งไม่กี่ปีนี้เอง จริงๆ แล้วความเป็นป่านี้เป็นพื้นฐาน”
000
อาจารย์เคยกล่าวว่า “วิชาประวัติศาสตร์จะคอย ‘เช็คบิล’ ศาสตร์ต่างๆ ที่ชอบทำ forecast” เครื่องมือนี้จะยังทำงานได้ดีหรือไม่ หากใช้พิจารณาการเมืองไทย
ข้อได้เปรียบของประวัติศาสตร์ก็คือได้ ”คำพรจากการมองย้อนหลัง” (the blessing of hindsight) เพราะว่าศาสตร์อื่นๆที่ชอบพยากรณ์กันนี้ เป็นเชิงคาดการณ์ทั้งนั้น ฉะนั้นยังไม่รู้ว่าอะไรเกิดขึ้น แต่วิชาประวัติศาสตร์ศึกษาสิ่งที่รู้แล้วว่าอะไรมันเกิดขึ้น ทำให้นักประวัติศาสตร์ต้องระวังในการทำนาย ในอดีตมีการทำนายกันอยู่เสมอๆ แต่ส่วนมากจะเฉไฉไปจากสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ มีศัพท์ในภาษาประวัติศาสตร์คำหนึ่งว่า ”ผลที่ตามมาโดยไม่ได้ตั้งใจไว้ก่อน” หรือ Unintended Consequences เนื่องจากว่า มีเหตุปัจจัย พลังต่างๆที่ปะทะกันอยู่มากมาย ยกเว้นพระเจ้าแล้ว ก็ไม่มีใครจะรู้ได้จริงๆว่า อะไรจะเกิดขึ้น
แน่นอน คนที่เกี่ยวข้องทางการเมือง เขาทำอะไร เขาต้องบอกว่า เพื่ออย่างนั้น เพื่ออย่างนี้ ใช่ไหมครับ นี่คือสิ่งที่เขาตั้งใจให้เกิดขึ้น เลยคิดว่าจะเกิดขึ้น เขาจึงทำอย่างนั้นอย่างนี้ แต่สิ่งมันเกิดขึ้นไม่ใช่ใครจะกำหนดได้คนเดียว คนอื่นๆเขาก็กำหนดเหมือนกัน มีคนกำหนดเยอะแยะ อย่างเช่น ฮิตเลอร์ตั้งใจชนะจะต้องครองยุโรปทั้งตะวันตกและตะวันออก แต่คนโปแลนด์ล่ะ คนรัสเซียล่ะ เขายอมศิโรราบให้ฮิตเลอร์เหยียบเสียเมื่อไร
เปรียบเทียบกับหมากรุก แน่นอนเราจะต้องกินขุนของฝ่ายตรงกันข้าม แต่เราจะทำได้หรือเปล่าล่ะ เพราะว่าอีกฝ่ายเขาจ้องจะกินขุนเราเหมือนกัน ถ้าฝีมือพอๆกัน มันก็มีแพ้มีชนะ เราไม่รู้แน่ๆ
มีบทเรียนประวัติศาสตร์บางข้อที่น่าจะถกเถียงกัน คือนอกเหนือจากให้คำนึงถึงผลที่ไม่ได้มาจากการกำหนดหรือความตั้งใจของมนุษย์แล้ว อีกข้อหนึ่งก็คือ เรามักจะคิดกันในเชิงที่เป็นเหตุเป็นผลคือ เมื่อเหตุเป็นอย่างนี้ ผลก็จะเป็นอย่างนี้ หรือ Causal Relation แต่แนวคิด Causal Relation คำนึงถึงช่วงเวลาจำกัด เช่น เพราะเมื่อปีที่แล้ว เพราะครั้งนั้นเป็นอย่างนั้น เพราะครั้งนี้เป็นอย่างนี้ แต่ความจริงถ้าเรารวม Causes หรือ เหตุสารพัด ซึ่งอาจจะย้อนไปไกลมากเลย รวมทั้งมีเหตุซึ่งเรานึกไม่ถึงว่ามันเป็นเหตุ ถ้าเรารวมนานาเหตุปัจจัย แนวคิดเกี่ยวกับ Causal Relation ก็จะเป็นเพียงฟิสิกส์มัธยมต้น
เราอาจบอกก็ได้ว่านี่คือข้อจำกัดของการคิดในวิชาต่างๆ รวมทั้งวิชาประวัติศาสตร์เองที่ไปเน้น Causal Relation เฉพาะในช่วงเวลาสั้นเกินไป หรือคิดถึงคำว่า Causes น้อยเกินไป
อีกข้อหนึ่งที่นักประวัติศาสตร์ชอบพูดกัน คือชอบพูดคำว่า ”บริบท” ซึ่งถ่ายทอดกันมารุ่นแล้วรุ่นเล่าจากการสอนประวัติศาสตร์ที่จุฬาฯ ซึ่งก็สมาทานความคิดของนักประวัติศาสตร์ตะวันตกในสมัยหนึ่งมา แต่ contextualism ชิดซ้ายตกคูไปแล้วในวรรณคดีศึกษา ส่วนในสยามประเทศจะกลายเป็นสัจพจน์ไปแล้ว คือ เหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้นในบริบทหนึ่ง แต่คำว่าบริบทในที่นี้ซึ่งเขาชอบพูดๆกัน ก็กำหนดเฉพาะในเรื่องของเศรษฐกิจ การเมือง สังคม (ไตรสรณคมน์ ของสังคมศาสตร์) แต่คำถามก็คือ อะไรล่ะที่ประกอบกันขึ้นเป็นบริบทเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ส่วนมากมักจะพูดถึงบริบท เฉพาะช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งซึ่งปกติจะสั้น หรือถ้าไม่ช่วงสั้น ก็ว่าเป็น ‘บริบททางวัฒนธรรม’ ซึ่งก็กลายเป็นอกาลิโกไปเลย วัฒนธรรมไทยก่อร่างสร้างขึ้นมาตาม ‘มิติเวลา’ (นี่ก็อีกศัพท์หนึ่งจากสำนักเทวาลัย) กาละไหน เทศะไหน คนที่ได้ปริญญาประวัติศาสตร์จากจุฬาฯ ช่วยบอกหน่อยได้ไหม
ความหมายเชิงบริบทก็อาจเป็นความหมายหนึ่ง แต่ยังมีความหมายอื่นๆ เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างความหมาย ซึ่งอาจจะไม่ได้ขึ้นโดยตรงกับเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง สังคม ที่เขาถือว่าเป็นบริบทในช่วงใดช่วงหนึ่ง
ปัญหาเรื่องการคิดเชิงบริบท ทำให้นึกถึงกองทัพบก หรือ กอ.รมน. ซึ่งมีส่วนในเหตุการณ์ปราบปรามเดือนเมษายน แต่หลังจากเหตุการณ์ก็สามารถคิดเรื่อง “หยุดทำร้ายประเทศไทย”ได้
เขาก็เอาเหตุผลอะไรก็ได้ที่มันเข้าทางตัวเองนะครับ คุณจะพูดอะไรก็ได้ คุณจะใช้คำอะไรก็ได้ คุณจะล้มการเลือกตั้งก็ได้ ในนามของประชาธิปไตย คุณจะมีการเลือกตั้งในนามของประชาธิปไตยก็ได้ คุณจะปราบปรามในนามของประชาธิปไตยก็ได้ คุณจะประท้วงในนามของประชาธิปไตยก็ได้
ก็เพราะคำเหล่านี้ไม่มีความหมายที่มีความสัมพันธ์โดยตรงกับสิ่งที่อ้างถึง เช่น การปราบปราม การยิงผู้ชุมนุม มันไม่ได้มีความหมายเชื่อมโดยตรงกับความหมายของคำว่า “ประชาธิปไตย” เพราะฉะนั้นถึงจับอะไรมาโยงกับอะไรก็ได้ เหมือนกับ สมมติว่าผมจะให้นักศึกษาจบ ผมก็จะให้เหตุผลก็ได้ว่าเป็นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพราะว่าช่วยนักศึกษาให้จบก็จะทำประโยชน์ได้ดีกว่าไม่จบ หรือตรงกันข้าม ผมเห็นว่าไม่ควรผ่าน ผมก็ให้เหตุผลในนามของการรักษามาตรฐานการศึกษา ผมจะพลิกลิ้นอย่างไรก็ได้
นี่คือจับแพะชนแกะอะไรไปเรื่อยนะครับ มันไม่ Logical เลย ถ้าจะว่ากันไปแล้ว การใช้เหตุผลต่างๆจากปากพวกที่หน้าสลอนกันทางโทรทัศน์ก็ไม่ Logical
เช่น คณะรัฐประหารระบุว่ามีเหตุผลทำรัฐประหาร 4 ข้อ และมีบันได 4 ขั้น?
ลองดูว่าเหตุผล 4 ข้อ มันก็เป็นเหตุผลเดิมๆ ซึ่งคนทำรัฐประหารก็ชอบอ้างแบบนี้ เราถือคำอ้างแบบนี้เป็นสาระไม่ได้ สิ่งที่สำคัญกว่าในสังคมศาสตร์ทุกแขนงก็คือ ไม่ใช่ว่าเอาตามที่เขาพูด ถ้าพูดแบบนักข่าวคือเรารายงานข่าวตามคำแถลงของรัฐบาล แบบนี้ก็เป็นนักข่าวที่ใช้ไม่ได้
พูดอีกอย่างหนึ่งก็เช่น เหมือนหมอที่ฟังการเล่าอาการของคนไข้ ถ้าหมอเชื่อคนไข้โดยถือเป็นสาระความจริงหมดนะครับ แบบนี้ก็ไม่ต้องเรียนแพทย์หรอก เพราะมันมีลักษณะหรืออาการบางอย่างซึ่งคนไข้ไม่รู้ ต้องใช้วิธีการตรวจสอบ แล้วสิ่งที่คนไข้อธิบายอาจจะไม่เกี่ยวกับโรคนั้นๆก็ได้
ประเด็นของผมคือ การพิจารณาเรื่องรัฐประหารแต่ละครั้งแต่ละคราวนั้นน้อยเกินไป คือพิจารณาแคบเกินไป จริงๆแล้ว หน่วยของการวิเคราะห์อย่างน้อยต้องกลับไปที่ ‘2475’
คือฟังดูสำหรับเรามันยาว แต่ในสเกลของประวัติศาสตร์มันไม่ยาวเลย ลองดูสิครับ ลองพิจารณา สำคัญมากเลย สำคัญมากว่า ถ้าไม่เอาหน่วยการวิเคราะห์ช่วงยาวขนาดนี้ ผลสรุปจะเป๋ไป๋หมดเลย เพราะฉะนั้นจึงมีนักประวัติศาสตร์บางคนไล่ทักษิณ หาว่าทักษิณโกง นี่แค่หน่วยการวิเคราะห์เฉพาะตัวทักษิณนะครับ แล้วบางคนก็เชียร์อภิสิทธิ์ เขียนเชียร์อภิสิทธิ์ว่าสมควรเป็นนายกฯ เพราะมีคุณสมบัติที่ดี นี่มันหน่วยการวิเคราะห์อะไร (หัวเราะ) ก็จะทำให้เป๋ไป๋หมดเลย
แต่ตอนนี้ผมดีใจมากเลย ก็คือมีคนมองย้อนขึ้นไป ไม่ใช่เฉพาะนักประวัติศาสตร์ คนที่ชุมนุมคนเสื้อแดงบางคน เขามองโยงไปถึง 24 มิถุนา 2475 นะ มองไกลมากเลย อันนี้น่ายินดีมาก ดีกว่านักสังคมศาสตร์ และนักประวัติศาสตร์จำนวนมากเลย ลองคิดดูนะ การที่เสื้อแดงจัดชุมนุมถึงแม้จะเป็นวันที่ 27 มิถุนายน แต่ว่าโยงกับ 24 มิถุนายน ใช่ไหมครับ โอเค อาจจะโยงกับเรื่องอื่นด้วย และมีความสนใจถึง คือเมื่อก่อนไม่มีใครพูดถึงคือ ปรีดี พนมยงค์ เดี๋ยวนี้ชาวบ้านร้านตลาดเขาพูดถึง
มี ส.ส. บางคนพูดว่า “เดี๋ยวนี้เสื้อแดงจะนำ ส.ส. ไม่ใช่ ส.ส. นำเสื้อแดง” แต่มันไม่ใช่เฉพาะเสื้อแดงนำ ส.ส. นะ เสื้อแดงยังนำนักวิชาการอีก (หัวเราะ) นำนักวิชาการหลายแขนงด้วยทั้งรัฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์
อันนี้เป็นปรากฏการณ์ซึ่งโอ้โหเรียกว่าลบคำปรามาสต่างๆ ต่อชาวบ้านร้านช่อง ผมชอบสำนวน “อย่าดูถูกสติปัญญาของมวลราษฎร์” ซึ่งไม่ใช่เฉพาะนักการเมืองนะ ไม่ใช่เฉพาะอำมาตยาธิปไตยนะที่ดูถูกประชาชน นักวิชาการก็ดูถูก ชอบมาเขียนสั่งสอนประชาชน เละเทะฮะ เยอะแยะเลยที่ผมเห็น อย่างน้อยผมไม่เชื่อก็แล้วกัน เอาอย่างนี้ดีกว่า ตอนนี้ประชาชนก็ไม่เชื่อ
มีบางคนรู้สึกว่า ทำไมนักวิชาการจำนวนมากถึงไปเห็นดีเห็นงามกับฝ่ายเสื้อเหลือง หรือพวกอำมาตยาธิปไตย แล้วก็มองไปว่าเป็นวิกฤติทางวิชาการ ผมไม่เห็นอย่างนั้น ผมมองว่าราษฎรล้ำหน้าทางความคิดไปไกลกว่าวงวิชาการจะตามทันแล้ว ซึ่งไม่ใช่เรื่องวิกฤติ แต่เป็นเรื่องที่น่ายินดี
ลองคิดอย่างนี้ดู การเปลี่ยนแปลงในปี 2475 มีใครที่เกี่ยวข้อง นิดเดียว กลุ่มราชการนิดเดียว ไม่เกี่ยวกับคนนอกวงราชการด้วยนะ ไม่ใช่เฉพาะคนกรุงเทพด้วยนะ แต่เพียงวงกระจิ๋วเดียว กลุ่มราชการวงเล็กๆ ไม่ใช่ว่ามีพ่อค้า ประชาชน ไม่ใช่ แล้วเกิดขึ้นตรงไหน เฉพาะในกรุงเทพฯ แต่ไม่ใช่เฉพาะในกรุงเทพฯหรอก เฉพาะแถวอำเภอดุสิต พระนคร ยังไม่รวมถึงบางเขนเลยนะเนี่ย (หัวเราะ) อย่าไปพูดถึงตลิ่งชันเลย อาจจะรวมสามเสนนิดหน่อย นะครับ ต้องพูดว่าไม่ใช่กรุงเทพฯ นะ เฉพาะบางอำเภอในกรุงเทพฯ
ถือว่ายังไม่ข้ามไปฝั่งธนเลย ถึงแค่วัดเลียบ
(หัวเราะ) กระโดดให้ยาวหน่อย มา 14 ตุลา ใครที่เกี่ยวข้องกับ 14 ตุลา เฉพาะนักศึกษา ใช่ไหมครับ ในบางเขตบางอำเภอของกรุงเทพฯ พระโขนงยังไม่เกี่ยวเลย อาจจะเกี่ยวบ้างแถวรามคำแหง แถวหัวหมาก กลุ่มคนที่เกี่ยวข้องมีนิดเดียว
มาถึงพฤษภาคม 2535 ชักจะมีเสียงของคนที่อยู่ในจังหวัดต่างๆ มีประท้วงที่สุราษฎร์ ที่เชียงใหม่ บางจังหวัด หัวเมืองใหญ่ๆ แต่มันไม่ถึงนอกอำเภอเมือง
ตอนนี้เป็นยังไงบ้าง ไม่ใช่เฉพาะไม่ข้ามฝั่งธนฯ นะครับ เกือบทุกตำบลในสยามประเทศ อาจจะไม่เกือบทุกหมู่บ้าน แต่ระดับตำบลนั้นค่อนข้างแน่ โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคอีสาน ส่วนการมีกิจกรรมก็อาจจะต่างระดับกันไป แต่อย่างน้อยก็ติดตามเหตุการณ์ความเป็นไปในบ้านเมือง ที่น่าตื่นเต้นอย่างยิ่งก็คือ คนจำนวนนับล้านนี้โยงใยร่วมกัน ถึงขนาดจะเป็น Movement เดียวกัน คือสามารถจะรวมพลกันได้อย่างกว้างขวางในเวลาอันสั้น นี่แหละผมคิดว่าเมืองไทยกำลังเข้าสู่สิ่งที่เรียกว่า Mass Politics เป็นการเมืองของมวลชน การเมืองที่มีคนจำนวนมาก เข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ใช่ธรรมดาจริงๆ
ปรากฏการณ์นี้เป็นสัญญาณการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่มาก คิดดูนะครับ สมัยหลัง 14 ตุลา นักศึกษาไปเผยแพร่ประชาธิปไตย คือไปสั่งสอนประชาธิปไตยให้ชาวบ้านเข้าใจ ลองจินตนาการดูสิว่า ถ้าจะทำอย่างนั้นในปัจจุบันมันจะเป็นไปได้ไหม และถ้าจะเป็นไปได้ มันจะพิลึกไหม
การปราบทำลายพลังนักศึกษาจนถึงวันที่ 6 ตุลานั้น แม้ว่ายากกว่า การตัดตอนพวกคณะราษฎร แต่เมื่อเปรียบเทียบกับตอนนี้ การปราบผู้คนกันกึ่งประเทศจะเหมือนปอกกล้วยหรือปอกทุเรียนกันแน่
ที่ กอ.รมน. เดินสายชี้แจงสถานการณ์?
เขาฟังกันขนาดไหนไม่รู้ หรือถึงจะต้องฟัง เขาเชื่อหรือเปล่าก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ประเมินการชุมนุมของคนเสื้อแดงเมษายนเป็นอย่างไร
เหตุการณ์นี้ยิ่งใหญ่มาก ไม่เคยมีมาก่อนในอดีต ทั้งในแง่จำนวนคนและช่วงเวลา รวมถึงประเภทของคนที่มาร่วม และที่น่าสนใจมาก คือประเด็นที่เกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์ของฝ่ายเสื้อแดง
ฝ่ายเสื้อแดงที่ชุมนุมเดือนเมษายน คือวันที่ 8 กะเผด็จศึกฮะ คือเขาประเมินกำลังว่าจะมากมายมหาศาล ซึ่งก็ประเมินถูกต้อง อันนี้น่านับถือ แต่ว่ายุทธศาสตร์กะเผด็จศึกนั้นไม่สำเร็จ อันนี้คือบทเรียนนะครับ
คงเพราะว่าเราประเมินกำลังของอีกฝ่ายหนึ่งต่ำเกินไป เขาไม่ได้ใช้คนนะครับ เขาครองอำนาจรัฐอยู่ และอำนาจรัฐนี้ไม่ใช่เฉพาะอำนาจบริหาร อำนาจนิติบัญญัติก็อยู่กับเขา อำนาจตุลาการก็อยู่กับเขา แล้วก็อำนาจของระบบราชการอีก
และในท้ายที่สุด ก็เป็นเรื่องของการต่อสู้ คือต่อสู้กันอย่างไร คือคุณจะเถียงผมด้วยเหตุผลที่ดีอย่างไรก็ตาม แต่ผมหมัดหนักกว่า คุณจะเอาอะไรมาสู้ผม เพราะฉะนั้นในท้ายที่สุดก็คือใครจะชนะมันขึ้นอยู่กับว่าใครต่อยจนล้มอีกฝ่ายหนึ่งได้ นี่คือ Decisive ครับ เพราะฉะนั้นกำลังทหารคือกำลังที่ Decisive ที่สุด อันนี้เราก็รู้ๆ กันอยู่นะ
และตอนนี้ทางฝ่ายตรงข้ามเสื้อแดงเขารู้แล้ว ตอนนี้เป็นบทเรียนเขารู้ เขารู้ว่าเขายึดอำนาจนี้อยู่และจะใช้ และจะใช้เมื่อถึงเวลา เมื่อจำเป็น แล้วใช้แล้วจะชนะ ในท้ายที่สุดแล้ว เขาจะใช้อำนาจปืน เมื่อใช้แล้ว ก็จะชนะ นี่เป็นบทเรียนใหญ่สำหรับฝ่ายเสื้อแดง ตราบใดที่พวกอำมาตย์ฯไม่ถึงกับแพ้ เขาก็จะเล่นตามกติกา แต่กติกานี้จะล้มเสียเมื่อไรก็ได้ เมื่อเขาจะเข้าตาจน กรรมการก็รับกติกาอะไรก็ได้หน้าตาเฉย กรรมเวรแท้ๆ สยามนามประเทืองว่าไทยแลนด์ เอ๋ย
เขาเชื่อว่าเขามีอำนาจทางการทหาร?
ข้อนี้จริง เพราะฉะนั้น เราจะไปชนกับเขาด้วยกำลังไม่ได้ เราจะชนะด้วยกำลังไม่ได้
ก็เหมือนว่า เอาคุณไปต่อยกับไมค์ ไทสัน เอาไหม ไม่ได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เขาพูดกันน่ะถูกแล้ว การต่อสู้ครั้งนี้ต้องวางแผนแบบยาวครับ ต้องยาว ชุมนุมได้ แต่ไม่ปะทะ ชุมนุมโดยที่ไม่มีการเผชิญหน้า คนเยอะดี เพราะฉะนั้นการชุมนุมตามสนามกีฬา สนามหลวง หรือจุดต่างๆ นี่คือวิธีที่ดีมาก ให้มันเป็นการรวมกำลังกันไว้ รวมใจกันไว้ และรักษาเครดิตอันนี้เอาไว้ ถ้าคุณเงียบไปเลย แล้วจู่ๆ วันดีคืนดีเรียกชุมนุม ไม่มีใครเขามาหรอก มันต้องผูกสัมพันธ์กัน แสดงถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันอย่างต่อเนื่อง
ผมถามคนหลายคนว่าวันที่ 13-14 เมษายน เสื้อแดงแพ้ไหม ต้องตอบว่าแพ้ครับ ในความเห็นผมว่าแพ้ แต่ก็สำนวนที่ใครๆ ก็พูดกันอยู่แล้ว การต่อสู้ไม่ใช่มียกเดียว เหมือนวิ่งทน เปรียบเทียบอย่างนี้ดีกว่า เราต้องวางยุทธศาสตร์วิ่งทน แต่ทีนี้การวางยุทธศาสตร์ครั้งเมษายนเป็นวิ่งเร็ววิ่งร้อยเมตร
ขอโทษ ไม่ใช่ผมจะอวดฉลาดหลังเหตุการณ์นะ แน่นอนหลังเหตุการณ์แล้วก็ว่าน่าจะอย่างนั้นน่าจะอย่างนี้ เหมือนกับเชียร์มวยอยู่ข้างเวที ไม่ได้หมายความอย่างนั้น
แต่หมายความว่า ตอนนี้มันถึงขั้นที่ไม่มีใครแอบอยู่หลังฉากแล้ว ออกมาสู้กันไม่ว่าหน้าอินทร์ หน้าพรม และเปิดไพ่สู้กันหมดหน้าตัก เดิมพันกันสูงมาก ถึงยอมกันไม่ได้ ตอนที่เสื้อแดงชุมนุม ก็คิดไปว่าเขาคงไม่ปราบ เพราะหลงคิดไปว่า ทีเสื้อเหลืองมันชุมนุม ก็ไม่เห็นมีการปราบ เมื่อคิดแบบนี้ ก็คิดว่าไปว่าจะไม่มีการใช้กำลังทหารแบบที่เคยทำกับเสื้อเหลือง แต่มันไม่ใช่ละครับ บ้านเรายังเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อน ถ้าใช้การรัฐประหารเป็นมาตรการวัดความล้าหลังของประเทศ ประเทศไทยก็ป่าเถื่อนไม่น้อยหน้าใครในโลกนี้
กฎหมายกับกฎป่าไม่ได้แยกจากกันนะ คนชอบพูดว่าเราต้องเคารพกฎหมาย แต่กฎหมายเป็นกฎป่าก็ได้ครับ ก็อย่างในป่า สิงโตเป็นคนออกกฎ แล้วมันบอกให้กวาง ละมั่ง กระต่าย บอกมึงต้องเชื่อกฎที่กูตั้งน่ะ นี่ก็เป็นกฎหมายเหมือนกันไง
คือคนพูดกันว่าเมืองไทยใช้เหตุผลลักลั่น เหตุผลสองมาตรฐาน มันไม่เข้าท่า มันอยู่แล้ว ไม่ต้องบ่นกันอยู่แล้ว มันแหงๆ อยู่แล้ว ผู้ใหญ่เดินเตะกระโถน พูดว่าใครเอากระโถนมาวางตรงนี้ พอเด็กเตะก็หาว่าซุ่มซ่าม คือไม่ต้องไปบ่นแล้ว มันเป็นอย่างนี้แล้ว ก็คือถ้าอยากจะให้มีมาตรฐานเดียว จะให้มีมาตรฐานเดียวได้อย่างไร ในเมื่อสังคมไทยเป็นอย่างนี้
ผู้ดีกับขี้ครอกเขาใช้เหตุผลเดียวกันเมื่อไหร่เล่า ไม่อย่างนั้นเขาจะเรียกว่าขี้ครอกหรือ ขี้ครอกก็เป็นแบบนี้ ผู้ดีก็ต้องเป็นแบบนี้ ผมอยากจะพูดว่า มันธรรมดา เหตุผลลักลั่นสองมาตรฐาน มันธรรมดาสำหรับสังคมเส็งเคร็งแบบนี้ สังคมที่มีขี้ครอกกับผู้ดี มันก็ต้องมีสองมาตรฐาน ไม่ต้องบ่นแล้ว “That’s the way it is.”
ที่น่าสนใจคือ พอเหตุการณ์ผ่านไปผ่านไป เมื่อมองย้อนกลับไป แล้วทำให้เราเข้าใจเหตุการณ์ก่อนหน้านี้ดีขึ้น นี่เป็นข้อดีของวิชาประวัติศาสตร์ ที่ว่าหลังพฤษภาคม (2535) ใหม่ๆ เราเข้าใจผิด เราคิดว่านี่คือครั้งสุดท้ายของการรัฐประหาร เราเข้าใจผิด เรามองประวัติศาสตร์สั้นเกินไป หน่วยการวิเคราะห์ของเราสั้นเกินไป และฝั่งความคิดนั้นอยู่ด้วยการเคลื่อนไหวครั้งล่าสุด เลยคิดว่าทหารจะไม่ ก็ไม่จริง ซึ่งก็เห็นกันแล้วว่า ใครหมู่ใครจ่า ใครยืนพิงอยู่กับใคร
แล้วทำไม ในอดีตประชาชนจึงล้มคณะรัฐประหารหรือว่าสุจินดา ได้
แล้วทำไม รัฐประหาร หรือว่าสุจินดาคนถึงล้มได้ เพราะสุจินดามิได้จะมีผลกระทบกระเทือนต่อระบบอำมาตยาธิปไตย เพียงแต่แค่เป็นความขัดแย้งในหมู่พวกอำมาตยาธิปไตยด้วยกันเอง แต่กรณีปัจจุบันนี้ไม่ใช่ จึงไม่เหมือน จึงจบไม่เหมือนกัน
และถ้ามองว่าใครได้ใครเสียจากเหตุการณ์เมษายนนี้นะครับ ฝ่ายทหารได้เปรียบมาก โกยเต็มๆเลย เขากินเยอะเลยครับ ไม่ต้องเป็นคู่กรณีของความขัดแย้งโดยตรง ตอนนี้เป้าโจมตีไม่ได้พุ่งไปที่ทหาร ในขณะที่พรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาลอยู่ต้องอิงทหาร ต้องพึ่งทหารถึงจะอยู่ได้ อาจจะสมคบกันอยู่แล้ว และทหารคือตัวชี้ขาด และทหารมีโอกาสเข้ามาทางการเมืองง่ายมากตอนนี้ ง่ายมากเลย แล้วทหารเขาก็รู้ด้วย นี่คือบทเรียนที่ยิ่งใหญ่มาก ใครได้ใครเสีย
ส่วนที่เสีย คือการต่อสู้ของเสื้อแดง รวน รวนไป อันนี้คือส่วนที่เสีย และอาจจะถูกทำลายได้ ถ้าอีกฝ่ายหนึ่งได้เปรียบเยอะ ต้องวางยุทธศาสตร์ให้ดีมากเลย ไม่อย่างนั้นพังได้
ทีนี้ก็เหมือนกับการต่อสู้ทั่วๆ ไป คือมีรุกมีรับ นะครับ ตอนนี้เขารุกครับ เหมือนกับหมากรุกเลย นะครับ การรับของเรา ไม่ใช่ว่าเราถอยนะ คนละอย่างกัน ในเกมหมากรุก เวลาเรามีหมากมาก ตำแหน่งเราได้เปรียบ เราก็เดินแบบหนึ่ง เวลาเราอ่อนกำลังกว่า เราก็ต้องเดินอีกแบบหนึ่ง
เรามีเบี้ยเยอะ แต่เบี้ยแต่ละตัวๆจะถูกม้า ถูกเรือกินง่ายมาก เพราะฉะนั้นที่สำคัญ ที่เบี้ยจะไม่ถูกกิน เบี้ยก็ต้องผูกกันเยอะๆ เมื่อเบี้ยผูกกันไว้ ต่อให้ตัวใหญ่ๆก็กินไม่ได้ คือก็กินได้ แต่ต้องแลกสูงนะ (หัวเราะ)
หลังพฤษภาคม 2535 ฝ่ายที่เสียมากที่สุดคือทหาร แต่ตอนนี้หลังจากเหตุการณ์ 17 ปีผ่านไปทหารกลับมาใหม่ หลังจากที่ซาไปนะ นี่อันตรายมาก แต่เขาไม่ต้องออกมาเต้นแร้งเต้นกาข้างหน้าเวที ไม่ต้องออกมาให้สัมภาษณ์ ไม่ต้องออกมาให้เห็นมาก เขาได้แล้วและคุมอยู่ข้างหลัง
งบประมาณทหาร ก็เห็นอยู่แล้ว นี่ก็เป็นการแสดงถึงอำนาจของเขาที่เขาต่อรองได้ และที่รัฐบาลบอกว่าตัดงบประมาณไปหลายหมื่นล้านบาท เขาตั้งเผื่อตัดไว้แล้ว มันเหมือนร้านแว่นและโรงแรมครับ เขาตั้งราคาสูงๆ แล้วก็ลดลงมา พอลดให้เท่านั้นเท่านี้ คนก็ดีใจ ทำนองเดียวกันสาธารณชนอาจหลงกลได้ว่ารัฐบาลนี้ตัดงบทหาร ความจริงเป็นการตัดรายการท้ายๆ นี่คือการเล่นลิเกครับ
และไม่ใช่เฉพาะทหารหรอก หน่วยราชการอื่นก็ตั้งงบประมาณเฟ้อๆ เพื่อให้ตัดเหมือนกัน แต่นี่ตั้งไว้เยอะไง ที่รัฐบาลเอามาคุยว่าตัดงบประมาณทหารได้ ก็คือนิทานหลอกกบในท้องนา
สิ่งที่เราต้องขอบคุณมากๆ ตั้งแต่ 2475 คือเราต้องขอบคุณคณะราษฎร และข้ามมาขอบคุณขบวนการนักศึกษาปี 2516-2519 และพฤษภาคม 2535 นี่เป็นพลังประวัติศาสตร์ที่ฝ่ายประชาธิปไตยเป็นฝ่ายรุก แต่หลายๆครั้ง เราเป็นฝ่ายรับแล้วเราแพ้ ตอนนี้สำคัญมากว่าเราจะแพ้หรือไม่แพ้
ยกหนึ่งเราแพ้ครับ ไม่ใช่แพ้น็อกนะ เราถูกนับ 8 แต่จะมีการชกกันยกต่อๆไป ซึ่งไม่แน่ว่าจะชนะนะ โอกาสชนะมี ต้องสู้กันไงอีกหลายยก แต่อาจจะถูกน็อกได้นะ
ผมขอยกกรณีหนึ่งเป็นตัวอย่างเป็นข้อบทเรียน มีนักกิจกรรม นักวิชาการฝ่ายซ้ายบางคน ตำหนิการเปลี่ยนแปลง 2475 ว่าไม่ใช่การปฏิวัติ เหตุผลของเขาก็คือไม่มีกำลังมวลชน แต่การพูดเช่นนี้ ลืมตาพูดหรือเปล่า จะทำอย่างนั้นได้หรือไม่ในปี 2475 ลองสมมุติดูนะว่า ถ้าวิญญาณของปรีดี พนมยงค์สามารถรับรู้ได้ว่าอะไรเกิดขึ้นในตอนนี้ คงคิดว่า ทำไมสถานการณ์แบบนี้ไม่เกิดในปี 2547 นะ อย่างนี้ๆ อย่างตอนนี้ แต่จะให้ปรีดีรอให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้ก่อนหรือ ไม่ต้องไปทำหรอกในปี 2475 ขอกินน้ำชาไปเรื่อยๆก่อน รอให้ปี 2552 ถึงจะทำ อย่างนั้นหรือ
เมื่อ 2475 ยังไม่มีฐานมวลชน ลองชักชวนคนไปชุมนุมที่สนามหลวงดูซิ วันรุ่งขึ้นจะไปอยู่ไหน ก็หัวไปทาง ตัวไปทางสิ
และบทเรียนนี้ต่อไปก็คือ ต้องวางยุทธศาสตร์ให้คล้องกับพลังที่มี “We have to decide our strategy to match our forces.” คือไม่ใช่คิดยุทธศาสตร์ไปตามที่เรานึกฝัน กำลังเรามีอย่างไร เราต้องวางยุทธศาสตร์แบบนั้น พ.ค.ท. ชอบพูดว่าต่อสู้ทุกรูปแบบ แต่จริงๆ ไม่ได้ต่อสู้ทุกรูปแบบครับ ทางรัฐสภาก็ไม่เอา ทางมวลชนจริงๆ ก็ไม่เอา ต่อสู้ทุกรูปแบบของเขาหมายความว่าต่อสู้ทางทหาร ซึ่งไม่ใช่ทุกรูปแบบเลย แต่อำมาตยาธิปไตยสิครับ ที่เขาสู้อยู่ตอนนี้ คือต่อสู้ทุกรูปแบบจริงๆ ฐานมวลชนก็เอา รัฐสภาเอาไหม เอา เศรษฐกิจเอาไหม เอา ทางความคิดเอาไหม ทาง Propaganda เอา ทหารเอาไหม เอา ทุกรูปแบบ นี่คือการต่อสู้ทุกรูปแบบ และเขามีกำลังที่จะต่อสู้ทุกรูปแบบ พ.ค.ท. น่าจะเรียนจากอำมาตยาธิปไตย
ทุกแนวรบอำมาตยาธิปไตยเขาได้ทั้งนั้นเลย เอ็งจะมาไม้ไหน ข้าโต้ทุกไม้ ทุกทาง และในเมื่อเขาพร้อมทุกแนวรบมีอย่างนี้ มันเป็นทั้งเพลงรบและป้อมปราการที่แข็งแรงมาก คือเขาสามารถที่จะตั้งสู้ในป้อมปราการและก็บุกในสนามรบ แล้วพร้อมที่จะส่งกำลังจากป้อมปราการไปช่วยอยู่ตลอด ส่วนพวกที่อยู่ในสนามรบ แพ้ก็วิ่งเข้าป้อมปราการได้ ป้อมปราการเขา Protect ดังนั้นศึกครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก
วิกฤตทางการเมืองระยะนี้จะยาวนานหรือไม่
ไม่เห็นเป็นวิกฤตเลย ทำไมเป็นวิกฤต ผมคิดว่า ถ้าไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลยนะ นั่งประชุมสภาก็ว่ากันไปเรื่อย โดยราษฎรไม่เกี่ยวข้องด้วย นั่นแหละวิกฤตทางการเมือง การที่ ส.ส. ตีต่อยกันในสภาถือเป็นการพัฒนานะ
ในไต้หวัน เกาหลี เราก็คงเคยเห็น ส.ส.ตะลุมบอนกัน ยิ่งกว่าในเมืองไทยหลายเท่า ทั้งในอิตาลี และฝรั่งเศส ก็เหมือนกัน ในอังกฤษน่ะด่าตะโกนลั่นกันในสภา ไม่ได้หมายความว่าเราจะเอาเขาเป็นตัวอย่างนะ แต่มันเป็นธรรมดาของความขัดแย้ง ดีกว่าเล่นละครหลอกกันหน้าโทรทัศน์ แล้วเดี๋ยวพออภิปรายจบก็ไปกินโอเลี้ยงกัน หรือกระทั่งเปลี่ยนข้างโอบกอดกัน มันไม่ Serious แต่นี่สิมี Commitment จริงๆ
เขาจะเอาอย่างนี้ใช่ไหม ตามสี่แยก “สงบ สันติ สามัคคี” นี่แหละคือวิกฤตล่ะ คือกูเหยียบมึงอยู่ไง มึงอยู่เฉยๆ
ความขัดแย้งก่อตัวมานับทศวรรษ ชนชั้นไฮโซที่กร่างอยู่ในสังคมไทยตอนนี้ สืบกำพืดไปไม่ได้ไกลนักหรอก มันแค่ไม่กี่ช่วงอายุคนเท่านั้น ลองอ่านหนังสืองานศพดูจะเห็นว่า เศรษฐีตอนนี้ รุ่นปู่ยังเป็นลูกศิษย์วัดก็มี พวกที่วันนี้มองตัวเองว่าเป็นผู้ดี ย้อนไปรุ่นทวดก็เป็นคนคอยหาบคอยคอน ตระกูลที่ว่าเก่าแก่ อายุน้อยกว่าร้านขายหมูในเยอรมัน ซึ่งในสเกลประวัติศาสตร์ถือว่าสั้นมาก หนังสือประวัติศาสตร์ไทยเป็นประวัติศาสตร์สั้น เราไม่ค่อยรู้นักเกี่ยวกับสุโขทัย หลักฐานที่เป็นลายลักษณ์ก็มีอยู่เพียงศิลาจารึกไม่กี่หลัก ซ้ำปลอมหรือเปล่า ก็ยังสรุปกันไม่เด็ดขาด หลักฐานเกี่ยวกับอยุธยาก็กระท่อนกระแท่น สมัยพระนเรศวรที่พูดกันมากๆนั้น เป็น fiction มากกว่า fact
การที่ประวัติศาสตร์ไทยสั้น ทำให้การมองประวัติศาสตร์สั้น เพราะฉะนั้นการมองประวัติศาสตร์ของเรา ในสเกลทางประวัติศาสตร์สากลถือว่าแค่วันสองวันนี้เอง
ถ้าจะว่ากันไปแล้ว 2475 นี้เป็นแค่ช่วงชีวิตคนรุ่นเดียว ถ้าคนเกิดปี 2475 ก็อายุ 77 ปี เราจะมีผู้ใหญ่ในสังคมไทยซึ่งยังมีชีวิตอยู่ ยังรับรู้เกี่ยวกับ 2475 นี่เป็นสเกลชีวิตมนุษย์ ชีวิตมนุษย์นี้มันประเดี๋ยวประด๋าว มีคนพูดว่า “ชีวิตเราสั้น แต่ศิลปะยาวนาน” น่าจะใช้คำนี้กับประวัติศาสตร์ด้วย แล้วเราก็วิเคราะห์อะไรกันเพียงแค่ในช่วงเวลาสั้นๆ ตามหนังสือพิมพ์ หนังสือพิมพ์เป็นตัวอย่างที่ดี คือเป็นการวิเคราะห์ในสเกลวันต่อวัน นี่ไม่ได้หมายความว่าหนังสือพิมพ์ไม่มีประโยชน์นะ
เมื่อเราอ่านหนังสือพิมพ์กันมากกว่างานศึกษาระยะยาว ทำให้นักวิเคราะห์แทนที่จะวิเคราะห์เชิงประวัติศาสตร์กลับวิเคราะห์แบบหนังสือพิมพ์วันต่อวัน ก็เลยกลายเป็นชมอภิสิทธิ์ว่าดีไปได้ หรือไล่ทักษิณโดยที่ไม่ได้มองอะไรเกินเรื่องทักษิณ
อาจารย์เคยกล่าวว่าช่วงที่เริ่มมีการไล่ทักษิณเมื่อปี 2548 มีลูกศิษย์ของอาจารย์คนหนึ่งมองว่าจะเป็นสงครามสี
ตอนนั้นตั้งแต่สนธิจัดชุมนุมที่สวนลุมฯ สงครามสียังไม่ชัดขนาดนี้ ตอนนี้ชัดเจนขึ้น ชัดเจนอย่างชนิดที่เรียกว่า ถ้าใครพูดเรื่องนี้คือพูดในสิ่งที่รู้ๆกันอยู่แล้ว และก็ใช่ด้วย ตอนนี้เขาเรียกว่า มันลากเส้นแบ่งข้างแล้ว “The battle line has been drawn.”
เมื่อก่อนนี้คำถามว่า “Where do you stand?” มันไม่ Make sense เดี๋ยวนี้มัน Make sense
ตอนนี้ ฝ่ายเสื้อแดง คิดว่าอะไรจะทำให้ชนะ มากกว่าจะทำอะไรให้ชนะ ซึ่งดูเหมือนว่าจะหวังจากเหตุการณ์ข้างนอกนะ ซึ่งไม่ได้มาจากการกำหนดของเราเอง ถ้ามันเกิดขึ้นอย่างนี้ อย่างนี้ เราก็จะมีทางเปลี่ยนแปลงไปในทางประชาธิปไตย แต่ “ถ้า” ซึ่งเป็นสิ่งที่หวังทั้งหลายไม่ได้อยู่ที่การกำหนดของเรา
ผมมีความกลัวอยู่ว่า จริงอยู่ ตอนนี้มีกระแสเสื้อแดง แต่กระแสนี้อาจจะหายไปก็ได้
หลักหนึ่งในการเมือง ก็คือ ถ้ายิ่งชนะ ยิ่งมีพวกมาก ยิ่งได้เปรียบ ยิ่งมีคนจะเข้าพวก คนเขาจะเข้าสู้ด้วยเมื่อเห็นทางชนะ เมื่อไม่เห็นทางชนะ ก็ยากที่คนจะมาร่วมด้วย อันนี้ผมมองจากข้อสังเกตในเดือนพฤษภาคม 2535 ถ้าเราลองย้อนดูช่วงชุมนุมกันสิบกว่าวัน วันไหนที่คนมาชุมนุมน้อย วันรุ่งขึ้นยิ่งน้อยลงไปใหญ่ เพราะคนบอกว่าหมดท่าแล้ว แต่ถ้าวันไหน มีกระแสขึ้น คนยิ่งมา นี่เป็นมิติหนึ่งนะ
พรรคไทยรักไทย ยิ่งชนะยิ่งได้เปรียบ คนก็จะเข้า พรรคอะไรก็ยุบมาเข้าไทยรักไทย ตอนนี้อยู่ในฐานะเพลี่ยงพล้ำ คนก็ไม่อยากเข้า แต่แพ้หรือชนะก็ว่ากันตามการรับรู้ ตามการประเมินของเขา ไม่แน่นอนตามความเป็นจริง
ไทยรักไทยและพลังประชาชนเคยได้เปรียบในพื้นที่ในสภา แต่เหมือนอาจารย์จะเสนอว่าแม้แต่พื้นที่ในสภาเองฝ่ายไทยรักไทยตอนนี้อยู่ในสภาพที่กำลังเพลี่ยงพล้ำ
มีคนชูกระแสโหวตโน นี่คือซ้ายไร้เดียงสา อย่าไปทำแบบประชาธิปัตย์ที่บอยคอตเลือกตั้งเด็ดขาด ประชาธิปัตย์ที่ทำแบบนั้นได้ เพราะมีกำลังทางอื่นสนับสนุน ถ้าไปทำแบบนั้นเข้าทางเขาเลย
ก็กลับไปที่ประเด็นการต่อสู้ทุกรูปแบบ ไม่เห็นมีทุกรูปแบบ ถ้าสู้อยู่แบบเดียวก็พัง คนน่ะชอบอ่านหนังสือพิมพ์ที่เราเห็นด้วย หรือชอบคุยกับคนที่ถูกคอกับเรา แต่มีคนหนึ่งที่ผมเคารพมาก เขาแนะนำให้อ่านหนังสือพิมพ์ฝ่ายขวาครับ ตอนที่เขาลี้ภัย เขาให้อ่าน Le Figaro หนังสือพิมพ์ฝ่ายขวาของฝรั่งเศส ส่วน L’Humanite นั้นอ่านเอามัน (หัวเราะ)
“We have to read the mind of our opponent.” ไม่ใช่มาเฮๆ กันเอง เชียร์กันเอง คิดกันเอง เออออกันเอง นี่เป็นอันตราย
แน่นอนเวลาคุยกัน คนคอเดียวกัน มันก็เอาไงเอากัน แต่ควรจะอ่านฝ่ายตรงข้ามว่า เขาคิดอย่างไร ไม่เหมือนกับที่เราคิดหรอก
ตอนนี้ เสื้อแดงไม่มีผู้นำจริง ผู้นำไม่ใช่เฉพาะผู้นำการชุมนุมเท่านั้นนะ นำทางปัญญาด้วย ไม่ใช่แค่ผู้นำทางยุทธศาสตร์ ความคิดแบบจาตุรนต์ ฉายแสง อาจจะไม่คล้องกับกระแสความรู้สึกของเสื้อแดงส่วนใหญ่ ตอนนี้ฝ่ายอำมาตยาธิปไตยยิ่งเสริมกำลังมาก เพราะไม่เคยถูกโจมตีหนักขนาดนี้มาก่อน เขาสั่งสมและเสริมกำลังทุกแนวรบ เขาอาจจะตีโต้เป็นจุดๆ หรืออาจตีโต้แบบใหญ่ก็ได้ แล้วแต่โอกาส เราไม่รู้
ในเมื่อตอนนี้ไม่ใช่การเมืองแบบเก่าอีกแล้ว ที่การเมืองอยู่ที่กรุงเทพ แต่คนเสื้อแดงมีอยู่ทั่วๆ ควรคิดถึงตรงนี้ การชุมนุมต้องมีเยอะๆ ทั่วๆ ไม่ต้องไปเฉพาะกรุงเทพฯ จะไปกรุงเทพฯ เมื่อจำเป็นจริงๆ เราไม่สามารถไปกรุงเทพฯ ได้บ่อยๆ นะ ค่าใช้จ่ายเยอะมาก จะไปนอนที่ไหน ไปกินที่ไหน
การชุมนุมประเภทเผชิญหน้านั้นเป็นการเมืองแบบเก่า แบบการเมืองที่ยังไม่ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา (หัวเราะ) ฝั่งธนฯ ยังไม่ถึง แต่ตอนนี้ไม่ใช่เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา ยังมี ปิง วัง ยม น่าน ชี มูล ต้องคิดอย่างนี้ เขาก็คงคิดกันอยู่แล้ว
หลายลุ่มน้ำในที่นี้ หมายถึงการเข้าชื่อถวายฎีกาหรือไม่ และการถวายฎีกาเกี่ยวข้องหรือไม่กับการวางยุทธศาสตร์ให้คล้องกับพลังที่มี
เป็นการเสนอและแสดงความคิดเห็นที่ราษฎรสามารถมีส่วนร่วมได้กว้างและทั่วถึง ฝ่ายรัฐบาลและอำมาตยธิปไตยออกมาคัดค้านประสานเสียงกันระงม เลยอยากจะถามกลับเป็นข้อๆว่า
หนึ่ง เวลาจะชุมนุม ก็คัดค้านว่าไม่ดีแก่ภาพลักษณ์ประเทศ สร้างความวุ่นวาย พอใช้วิธีร่วมลงชื่อ ก็หาว่าไม่เหมาะสม คำถามก็คือ จะให้ทำอย่างไรมิทราบ? ให้ปิดปาก ใช้หูฟังคุณอย่างเดียวหรือ?
สอง ถ้าจะถวายฎีกาก่อนคำพิพากษาของศาล ก็จะบอกว่า ทำไมไม่ให้ศาลตัดสินก่อน เมื่อศาลตัดสินแล้ว ก็บอกว่าต้องเป็นไปตามนั้น ถ้าใช้เหตุผลกลับไปกลับมาเช่นนี้ การถวายฎีกาก็กระทำมิได้ ใช่หรือไม่?
สาม การคัดค้านไม่ให้ถวายฎีกา ถือเป็นความพยายามที่จะปิดพระเนตรพระกรรณของพระราชาหรือไม่?
สี่ รัฐบาลเอากฎหมายฉบับไหน มาตราไหน มากั้นความสัมพันธ์ระหว่างพศกนิกรกับพระประมุข
ห้า ธรรมเนียมปฏิบัติในการถวายฎีกาสมควรให้สืบทอดต่อไปสำหรับผู้เดือดร้อนไม่ว่าจะในเรื่องใดๆหรือไม่?
ผมว่า การคัดค้านการถวายฎีกาคราวนี้มันเกินเลยกว่า การใช้สองมาตรฐาน แต่เป็นการใช้เหตุผลของหมาป่ากับลูกแกะ และมีวาระซ่อนเร้นที่ปกปิดไม่มิด พวกที่เหยียบหัวเราอยู่ตอนนี้บางทีก็ใช้เหตุผลของหมาป่า บางทีก็กะล่อนเหมือนเด็กเลี้ยงแกะ
พวกที่ว่าการถวายฎีกาทำให้ระคายเคืองเบื้องยุคลบาทบ้าง ดึงฟ้าต่ำบ้าง ถ้าไม่มีผลประโยชน์ทางการเมืองอยู่เบื้องหลัง ก็เป็นพวก ‘Ultra Royalists’ คือพยายามทำตัวให้เป็นพระราชายิ่งกว่าพระราชาเอง เป็นเรื่องน่าชวนหัว คล้ายๆพวกเศรษฐีใหม่ทำอวดรวยกว่าเศรษฐีแท้ๆ หรือพวกนักเรียนไทยไปเมืองนอกประเดี๋ยวประด๋าว แล้วชอบทำตัวเป็นฝรั่งกว่าฝรั่งเอง
ตอนสมัยรณรงค์รัฐธรรมนูญ 2550 อาจารย์มีโอกาสไปทำอะไรแก้กลุ้ม แล้วในเดือนเมษายนเป็นอย่างไรบ้าง
ผมได้โอกาสไปร่วมชุมนุมเมื่อวันที่ 8 เมษา ก็อยากไปเติมตัวเลขอีก 1 และอยากเห็นด้วยตาตัวเองด้วย ผมพนันกินเบียร์กับเพื่อนว่า คนมาชุมนุมจะเกิน 3 แสนหรือไม่ ผมว่าเกิน เพื่อนบอกว่าไม่ถึง ผลสุดท้ายก็ยังไม่รู้ว่าใครจะเสียเบียร์กันแน่ แต่แค่นี้ก็แก้กลุ้มได้แล้ว
ส่วนการแสดงความเห็นกันในหมู่บ้าน เขาไม่ตระโตกกระตากหรอกครับ มันเรื่องอะไรที่ต้องไปโพนทะนา คนที่โพนทะนาคือคนที่มีไมโครโฟน มีปากกา เขาไม่ใส่เสื้อแดงกันในหมู่บ้าน เขาคุยกันในวงเหล้า ตามตลาด เมื่อมีโอกาส เมื่อเขาเห็นว่าไม่เป็นอันตราย เมื่อนายอำเภอไม่จ้อง เมื่อทหารไม่ส่งคนไปสอดแนม ความจริงชาวบ้านก็ “Match their strategy according to their forces.”
ยกตัวอย่าง ผมเคยเอาป้าย เอาโปสเตอร์ไปติดว่าไม่รับรัฐธรรมนูญ (แล้วต่อมาถูกดึงออก) ไม่ใช่เรื่องความกลัว เรื่องอะไรจะต้องพูด ใครจะมาเห็น ก็เฉพาะคนในหมู่บ้านเห็น เขารู้กันอยู่แล้ว สิ่งที่สำคัญพวกนายอำเภอเห็น เมื่อนายอำเภอเห็นก็ “อ๋อหมู่บ้านนี้ แดงหรือ” ทำทำไม ไม่มีประโยชน์เลย เขาคิดถูกแล้ว ผมคิดผิด
เราไปหลงตามเขา ไปคิดเอาเองว่าเมืองไทยมีกติกาที่เป็นประชาธิปไตย แล้วก็มีกฎหมายที่เราควรจะเชื่อฟัง ที่ว่าเป็นไปตามกติกา เป็นไปตามกฎหมาย นี่เราไปเชื่อเอง เขาพูดให้เราเชื่อว่าเรามีเสรีภาพในการแสดงคิดเห็น เขาให้พูดเพื่อที่เขาจะได้รู้ว่าใครคิดอย่างไร
กฎป่าก็ยังเป็นกฎป่าหรือ?
Of Course, Of Course. เมืองนี้เป็นเมืองป่าครับ ยิ่งเห็นชัดขึ้นทุกวัน เป็นเมืองป่าที่พยายามมีภาพพจน์ว่าเป็นเมืองที่เจริญ นี่เราไปเชื่อ Image มันพึ่งไม่กี่ปีนี้เอง จริงๆ แล้วความเป็นป่านี้เป็นพื้นฐาน
สิ่งที่สำคัญอันหนึ่งนะ คือเราชอบพูดคำว่าชนชั้นกลาง แนวคิดนี้มันค่อนข้าง Misleading มีความเข้าใจผิดเรื่องชนชั้นกลาง เพราะว่านี่เป็นความคิดตามประเทศที่มี Aristocracy และ Royalty เป็นชนชั้นปกครอง และมีการปกครองแบบราชาธิปไตย เมื่อระบบเศรษฐกิจเปลี่ยนไป มีชนชั้นใหม่เกิดขึ้น ที่อยู่ระหว่างชนชั้นปกครอง กับชนชั้นล่าง จึงเรียกว่าชนชั้นกลาง Middle Class ในความหมายนี้ถึง make sense
แต่กรณีของไทยไม่ใช่อย่างนั้น สมัยที่มีการปกครองแบบราชาธิปไตย สังคมไทยไม่มีชนชั้นที่เราเรียกได้ว่าชนชั้นกลาง แบบชนชั้นนายทุน สมัยนี้ชนชั้นปกครองเป็นชนชั้นนายทุน ส่วนชนชั้น นายทุนก็ไปเข้ากับชนชั้นปกครองที่เปลี่ยนเป็นชนชั้นนายทุน
BBC ชอบมองว่า ความขัดแย้งระหว่างเสื้อเหลืองกับเสื้อแดง เป็นความขัดแย้งระหว่างเมืองกับชนบท ผมว่ามันก็ใช่ส่วนหนึ่ง แต่มีมิติอื่นๆอีก เช่นทัศนะต่อประชาธิปไตย วิสัยทัศน์ของแต่ละคนในอนาคตของประเทศ ความลักลั่นกันในเรื่องต่างๆ ฯลฯ มีคนแสดงการวิเคราะห์ว่านี่คือการต่อสู้ทางชนชั้น นี่พูดแบบกำปั้นทุบดิน จริงๆ แล้วการต่อสู้ทางชนชั้นมันเป็นแต่ไหนแต่ไรมา ไม่ใช่เฉพาะครั้งนี้ การต่อสู้เมื่อ 2745 ไม่ใช่หรือ 14 ตุลาคม 2516 ไม่ใช่หรือ พฤษภาคม 2535 ไม่ใช่หรือ ที่น่าจะพยายามทำความเข้าใจกันมากกว่าก็คือ รูปแบบ ลักษณะและคู่ต่อสู้มันเป็นอย่างไรในแต่ละกรณีเป็นอย่างไรมากกว่า
ท้ายที่สุด เป็นคำสารภาพส่วนตัว คือว่า แม้ผมอยากเห็นความเปลี่ยนแปลงขั้นมูลฐานในสังคมไทย แต่ไม่อยากให้เสียเลือด เสียเนื้อ ขอพรพระว่า ขอให้เราแก้ไขความขัดแย้งกันอย่างไม่ต้องเลือดตกยางออก ผมเป็นคนขวัญอ่อน เห็นเลือดแล้วจะเป็นลม บางครั้งเลยโมโหว่า ทำไมถึงไม่ยอมกันบ้าง อยากเห็นมิคสัญญีหรือ?