ที่มา มติชน
แต่ไม่กี่เดือนต่อมากลุ่มคนเสื้อแดงยังกลับมาชุมนุมและสร้างกระแสได้อย่างต่อเนื่อง โดยปรากฏผลเห็นชัดเจนจากผลการเลือกตั้งซ่อมที่ จ.สกลนคร และศรีสะเกษ ที่แม้คู่แข่งจะระดมสรรพกำลังทั้งบนดินและใต้ดินก็ไม่อาจต้านทานกระแสเสื้อแดงฟีเวอร์ได้
จนมาถึงเกมถวายฎีกาของ "วีระ มุสิกพงศ์" แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช. ) ที่ปลุกแดงทั้งแผ่นดิน ประกาศจะรวบรวมรายชื่อได้ให้ 1 ล้านรายชื่อ เพื่อถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
เพียงช่วงระยะเวลาระหว่างเดือนมิถุนายนที่ "วีระ" ประกาศถึงเดือนกรกฎาคม ไม่น่าเชื่อที่คนเสื้อแดงจะสามารถรวบรวมรายชื่อได้ถึง 5 ล้านคน
ซึ่งก็มีคำถามว่ารายชื่อเหล่านี้มาโดยสุจริตหรือไม่
เช่นเดียวกับพรรคภูมิใจไทย นำโดย "ชวรัตน์ ชาญวีรกูล" หัวหน้าพรรคและฐานะเจ้ากระทรวงมหาดไทย ได้นำลูกพรรคแถลงข่าวคัดค้านการถวายฎีกา พร้อมขึ้นป้ายคัดเอ๊าต์ขนาดใหญ่ 4 มุมเมืองและแจกจ่ายพิมพ์สติ๊กเกอร์ "หยุดดึงฟ้าต่ำ หยุดทำหินแตก หยุดแยกประชาชน หยุดล่ารายชื่อถวายฎีกา"กระจายไปทั่วประเทศ
และใช้กลไกของกระทรวงสั่งผ่านทางปลัดกระทรวงมหาดไทย ตรงไปทางผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ และผ่านไปทางนายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตั้งโต๊ะรับลงชื่อถอนและคัดค้านฎีกาแดง
โดยอ้างเหตุผลว่าต้องการหาทางออกให้กับประชาชนที่ถูกหลอกลงชื่อถวายฎีกา
จนเป็นที่มาของข่าวลือที่ส่งตรงจากแกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงว่า "งานเข้า" โดยปูดออกมาว่าแผนต้านฎีกาครั้งนี้มี "เนวิน ชิดชอบ" หัวหน้ากลุ่มเพื่อนเนวิน พรรคภูมิใจไทยอยู่เบื้องหลัง
และ "รับงาน" นี้เพื่อแลกกับคดีกล้ายางที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมืองจะตัดสินในวันที่ 17 สิงหาคมนี้ ซึ่งตรงกับวันที่เสื้อแดงประกาศว่าจะถวายฎีกา
การตั้งโต๊ะรับลงชื่อของกระทรวงมหาดไทยมียอดตัวเลขที่ทะยานขึ้นอย่างรวดเร็ว เพียงช่วงเวลากว่า 1 สัปดาห์สามารถรวบรวมรายชื่อได้มากกว่า 5 ล้านชื่อ
แม้จะถูกตั้งคำถามถึงที่มาของรายชื่อและหลักฐานการลงรายชื่อของประชาชน แต่ "บุญจง วงศ์ไตรรัตน์" รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กลับออกมาขวางโดยระบุว่า "ประชาชนมาร่วมลงชื่อด้วยความสมัครใจ ไม่จำเป็นต้องมีการเปิดเผยรายชื่อใดๆ ทั้งสิ้น"
หลายคนก็ตั้งข้อสังเกตว่ากลไกของกระทรวงมหาดไทยนั้นง่ายต่อการสร้างตัวเลข
แต่ตัวเลขเหล่านี้คือของแท้แค่ไหน
และสิ่งที่หลายคนกังวลคือวิธีการของกระทรวงมหาดไทยคือสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่
เป็นการแบ่งแยกประชาชนออกจากกันหรือเปล่า
แต่หากจะย้อนดูผลงานของ "เนวิน" ที่ผ่านๆ มาจะพบรอยด่างหลายต่อหลายรอย
อาทิ ทีมเสื้อน้ำเงินไปร่วมพิทักษ์การประชุมอาเซียนซัมมิทที่พัทยา ป้องกันคนเสื้อแดงขัดขวางการประชุมจนเกิดการปะทะ ตีกันเลือดตกยางออก จนในที่สุดการประชุมก็พังลง
หรือแม้แต่ตอนที่ยังดื่มด่ำกับทาง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็เคยจัดคารวานคนจนมาตั้งเวทีที่สวนจตุจักรมีเจตนาต้องการชนกับกลุ่มคนเสื้อเหลืองของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และเหตุการณ์ม็อบที่เข้าปิดสำนักงานเนชั่นใครกันที่แน่ที่อยู่เบื้องหลัง
ถึงวันนี้จึงเกิดคำถามเมื่อยึดโยงกับเหตุการณ์ในอดีต การใช้กลไกครั้งนี้เป็นเรื่องตัวบุคคลหรือส่วนรวม
หากทำไปเพื่อส่วนรวม ผลที่ออกมาในครั้งนี้จะเป็นผลดีต่อประเทศชาติแค่ไหน
ในฐานะที่เป็นพรรครัฐบาลน่าจะมีแนวทางสมานฉันท์ที่ดีกว่าปล่อยให้ประชาชนออกมาชนเผชิญหน้ากัน
การกระทำครั้งนี้แม้จะมีหลายฝ่ายออกมาวิพากษ์วิจารณ์ แต่ก็ไม่มีใครจะทัดทานนโยบายที่ส่งตรงมาจากผู้มีอำนาจได้
ผลของการกระทำจะเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงเจตนาของผู้สั่ง
แต่ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร "ประชาชน" ตาดำๆ ย่อมเป็นผู้รับกรรมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้...