ที่มา ประชาไท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 10.30 น. วันนี้ (12 ส.ค. 52) พล.ต.ท.วรพงษ์ ชิวปรีชา ผบช.น. ได้เรียกประชุมนายตำรวจระดับ รอง ผบช.น. รับผิดชอบงานความมั่นคง และงานด้านการจราจร ผู้บังคับการตำรวจนครบาล (ผบก.น.1-9) ผู้บังคับการตำรวจปฏิบัติการพิเศษ (ผบก. ตปพ.) ผู้บังคับการตำรวจจราจร (ผบก. จร.) และผู้บังคับการอำนวยการ (ผบก. อก.) ในฐานะผู้ควบคุมกำลังพล วางแนวทางปฏิบัติซักซ้อมทำความเข้าใจ แผนปฏิบัติดูแลความสงบเรียบร้อยรักษาความปลอดภัย กลุ่มผู้ชุมนุมแนวร่วมประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (นปช.) รวมพลเคลื่อนไหวบริเวณท้องสนามหลวง เตรียมยื่นรายชื่อถวายฎีกาต่อสำนักราชเลขาธิการ อภัยโทษให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ วันที่ 17 ส.ค. พร้อมประเมินสถานการณ์ผู้เข้าร่วมชุมนุม ซึ่งคาดว่า มีเป็นจำนวนมาก เพื่อกำหนดมาตรการปฏิบัติให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
“พรรคเพื่อไทย” เรียกทูต 30 ประเทศเข้าพบ 14 ส.ค. ปัดเอี่ยวฎีกา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับความเคลื่อนไหวทางการเมืองของพรรคเพื่อไทย ล่าสุดพรรคได้เชิญคณะทูตานุทูตกว่า 30 ประเทศเข้าพบและหารือกันอย่างไม่เป็นทางการ โดยพรรคเพื่อไทยจะได้ชี้แจงถึงสถานการณ์ทางการเมือง สถานการณ์ประชาธิปไตยในประเทศไทย รวมทั้งความสัมพันธ์ของพรรคกับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีและกลุ่มคนเสื้อแดง
12 ส.ค. 52 - นายปานปรีย์ มหิทธานุกร รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า สำหรับการเชิญคณะทูตานุทูตเพื่อเข้าพบ และหารือกับคณะผู้บริหารพรรคเพื่อไทยครั้งนี้นั้น ก็เพื่อเป็นการทำความรู้จักกัน เพราะตั้งแต่พรรคเพื่อไทยเข้ามาเริ่มทำงานเป็นฝ่ายค้านนั้น ก็ยังไม่มีโอกาสได้พบปะหารือกัน ตนยอมรับว่าสิ่งที่คณะทูตมีความเป็นห่วงมากในประเทศไทย ก็จะมีเรื่องความสมานฉันท์ ความเป็นประชาธิปไตย สถานการการณ์การเมืองในประเทศ ร่วมทั้งจะได้มีหารือถึงแนวนโยบายของพรรคเพื่อไทยว่าเป็นอย่างไรหากได้เข้ามาบริหารประเทศ
นายปานปรีย์ กล่าวว่า ในแง่ของประชาธิปไตยเราจะอธิบายว่าวันนี้ประเทศไทยมีการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย แต่ก็มีข้อบังคับตามรัฐธรรมนูญบางประเด็นที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย ซึ่งคงต้องมีการดำเนินการแก้ไขต่อไป ส่วนกรณีการยื่นถวายฎีกาของกลุ่มคนเสื้อแดงนั้น หากมีคณะทูตถามขึ้นมา เราจะชี้แจงว่าการยื่นถวายฎีกาดังกล่าวเป็นเรื่องของกลุ่มคนเสื้อแดง ก็เป็นสิ่งที่เขาทำได้ แต่ไม่เกี่ยวข้องกับพรรคเพื่อไทย พรรคเองไม่เคยมีมติอะไรออกมาให้มีการล่าชื่อถวายฎีกา ซึ่งฝ่ายการเมืองของพรรคเองได้วิเคราะห์กันว่าการถวายฎีกานี้ เป็นสิทธิ์ที่เขาสมารถทำได้ แต่ก็มีบางกลุ่มออกมาคัดค้าน ซึ่งประเด็นนี้ยอมรับว่ามีความละเอียดอ่อนมาก พรรคจึงไม่อยากจะเข้าไปเกี่ยวข้อง ถ้าเข้าไปแตะเรื่องนี้จะไม่เป็นผลดีกับพรรค
สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างพรรคเพื่อไทยกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ นั้น นายปานปรีย์ กล่าวว่า เราเองต้องชี้แจงให้เขาเข้าใจว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นอดีตหัวหน้าพรรคไทยรักไทย กระทั่งถูกยุบพรรคไป มาเป็นพรรคพลังประชาชน ก็ถูกยุบอีก จนมาถึงวันนี้เป็นพรรคเพื่อไทย ต้องยอมรับว่านโยบายหลายอย่างของพ.ต.ท.ทักษิณ เป็นที่พอใจของประชาชนเสมอมา ซึ่งความสัมพันธ์ของพรรคเพื่อไทยกับพ.ต.ท.ทักษิณต้องบอกว่าดีมาก ทุกคนในพรรคยังมีความเคารพรักในตัวพ.ต.ท.ทักษิณอยู่ แต่ในด้านการบริหารพรรคนั้น เราคณะผู้บริหารและคณะทำงานด้านต่างๆ ในการขับเคลื่อนพรรคอยู่แล้ว ส่วนการที่ท่านโทรมาหาส.ส.หรือโฟนอินมาในเวทีต่างๆของพรรค ก็เป็นเรื่องปกติที่ท่านหวังดีได้ให้คำปรึกษาในการบริหารพรรค บริหารประเทศ ส่วนการสนับสนุนด้านต่างๆที่ท่านจะให้นั้น เราเองก็ยินดีพร้อมรับ ซึ่งพ.ต.ท.ทักษิณเองก็เป็นที่ชื่นชอบของประชาชนจำนวนมากก็จะเป็นผลดีกับพรรคเช่นกัน
ด้านนายปลอดประสพ สุรัสวัสดี รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า กล่าวว่า การเชิญคณะทูตานุทูตครั้งนี้ สืบเนื่องมาจากที่ผ่านมามีคณะทูตจากประเทศอาเจนตินาและอังกฤษ ได้ขอพบส.ส.พรรคเพื่อไทยโดยเฉพาะส.ส.อีสาน และได้ลงพื้นที่จริง ทำให้เขาเข้าใจได้รู้ความจริงว่าส.ส.อีสานเกือบทั้งหมดเป็นของพรรคเพื่อไทย ดังนั้นเราจึงคิดว่าถ้าเป็นอย่างนี้ ก็คงไม่ต้องรอให้คณะทูตจากประเทศต่างๆมาขอพบ จึงได้ดำเนินการทำหนังสือเชิญถึงคณะทูตานุทูตประมาณ 30 - 40 ประเทศ ให้เข้าพบและหารือกับคณะผู้บริหารของพรรคอย่างไม่เป็นทางการในวันศุกร์ที่ 14 ส.ค.นี้ ซึ่งเราได้ทำหนังสือเชิญประเทศใหญ่ๆเกือบทุกประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น โดยเฉพาะในทวีปยุโรป เช่น ฝรั่งเศส อังกฤษ
“ที่ผ่านมาน่าแปลกใจว่าพรรคเพื่อไทยเป็นฝ่ายค้านที่มีส.ส.มากที่สุด แต่ไม่ค่อยได้รับการติดต่อเข้าพบจากคณะทูตประเทศต่างๆ ก็ไม่ทราบว่ามีการใครมาห้าม หรือกลัวจะไปกระทบใครหรือไม่ ต่างจากเมื่อครั้งพรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้าน จะมีการกับพบของคณะทูตอยู่เป็นประจำ ” นายปลอดประสพ กล่าว
นายปลอดประสพ กล่าว่า สำหรับเนื้อหาในการหารือนั้นจะได้มีการแลกเปลี่ยนมุมมองซึ่งกันและกัน ทั้งในด้านการเมือง ประชาธิปไตยในประเทศไทย เช่น ในทางการเมืองตนก็จะเล่าปัญหาให้ฟังตั้งแต่การรัฐประหาร มีการยุบพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน มีความเป็นมากอย่างไร และการเล่นการเมืองในปัจจุบันนั้นตนอย่างให้หงายไพ่เล่นกันไปเลย ไม่ต้องมาหมกเม็ดอะไรกันอีกต่อไป ให้ทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย ตามขนมธรรมเนียมประเพณีอย่างนี้จะดีที่สุด ส่วนในด้านประชาธิปไตยนั้น เราเห็นว่าตอนนี้ประเทศไทยไม่ได้เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง ยังมีการครอบงำจากเงามืดของทหารอยู่ ก็ต้องชี้แจงให้เขาเข้าใจ
“ผมยื่นยันว่าการพบปะพูดคุยกับคณะทูตครั้งนี้ เราไม่มีพูดอะไรที่ทำให้ประเทศไทยเสียภาพพจน์อย่างแน่นอน” นายปลอดประสพ กล่าว
“ปณิธาน” ชี้พบกันอย่างไม่เป็นทางการทำให้การหารือไม่มีน้ำหนัก
ด้านนายปณิธาน วัฒนายากร โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เป็นเรื่องปกติที่พรรคฝ่ายค้านจะได้ร่วมหารือกับคณะทูตประเทศต่างๆ แต่ครั้งนี้พรรคเพื่อไทยไม่มีหัวหน้าพรรคฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ทำให้การหารือต่างๆ ไม่สามารถออกมาเป็นจุดยืนอย่างเป็นทางการได้ ทำให้การหารือในครั้งนี้ไม่มีน้ำหนัก คาดว่าการหารือครั้งนี้แน่นอนว่าจะมีมุมมองที่ต่างจากรัฐบาลแน่นอน แต่การที่ไม่มีผู้นำฝ่ายค้านนั้น ทำให้ไม่มีน้ำหนักในการหารือ ดังนั้น ตนจึงอยากเรียกร้องให้ฝ่ายค้านดำเนินการตั้งผู้นำฝ่ายค้าน เพื่อให้เกิดความชัดเจน และการติดต่อด้านต่างประเทศจะสามารถทำได้อย่างเป็นระบบเพื่อประโยชน์สูงสุดในการพัฒนาประเทศ
“ผมเชื่อว่าการพบกันระหว่างพรรคฝ่ายค้านกับคณะทูตครั้งนี้ จะไม่มีกระทบต่อภาพพจน์ของรัฐบาลอย่างแน่นอน เพราะ เป็นการพบกันอย่างไม่เป็นทางการทำให้การหารือไม่มีน้ำหนัก” โฆษกรัฐบาล กล่าว
"เทพไท"เรียกร้องให้ "บิ๊กจิ๋ว" เจรจาเสื้อแดงยุติความขัดแย้ง
ด้านนายเทพไท เสนพงศ์ โฆษกประจำตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี ออกมาแสดงความเห็นถึงกรณีที่กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. ยื่นถวายฎีกาเพื่อขอพระราชทานอภัยโทษให้กับพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองว่า แนวทางการสร้างความสมานฉันท์ และหันหน้ามาพูดคุยทำความเข้าใจกัน ถือเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการยุติปัญหาดังกล่าว ซึ่งในฐานะที่พลเอกชวลิต เป็นบุคคลที่กลุ่ม นปช. ให้ความเคารพนับถือ และต้องการเห็นข้อยุติในเรื่องดังกล่าว จึงอยากให้พลเอกชวลิต เป็นตัวแทนของคนไทยทั้งประเทศทำหน้าที่เป็นโซ่ข้อกลางเข้าไปเจรจากับกลุ่ม นปช. เพื่อยุติปัญหา อันเป็นการสร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นในสังคม
นายเทพไท กล่าวยืนยันว่า รัฐบาลและพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ได้ดำเนินการขัดขวางในการยื่นถวายฎีกาของกลุ่ม นปช. เพียงแต่ออกมาให้ความรู้และข้อมูลกับประชาชน ว่าการดำเนินการที่ถูกต้องเป็นอย่างไร โดยส่วนตัวเห็นว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นเพียงแผนการเคลื่อนไหว เพื่อให้เป็นประเด็นทางการเมืองของพันตำรวจโททักษิณ เนื่องจากขณะนี้พันตำรวจโททักษิณยังใช้ชีวิตเป็นปกติอยู่ที่ต่างประเทศ ไม่ได้เดือดร้อนอย่างที่กล่าวอ้าง
ที่มาข่าวเรียบเรียงจาก: เว็บไซต์เดลินิวส์, เว็บไซต์คมชัดลึก, เว็บไซต์สยามรัฐ