WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Tuesday, August 11, 2009

ก้าวต่อไปของขบวนการคนเสื้อแดง

ที่มา Thai E-News


ข้อดีของการมีทักษิณเป็นสัญลักษณ์การต่อสู้ที่เห็นชัดๆก็คือ ช่วยผนึกพลังมวลชนของขบวนการไว้ได้ เพราะฐานมวลชนสำคัญที่สุดคือผู้นิยมชมชอบทักษิณ แต่ข้อจำกัดก็คือขณะที่มีคนรักทักษิณฝังจิตฝังใจจำนวนมหาศาล ก็มีคนเกลียดเขาเข้ากระดูกจำนวนมหาศาลเช่นกัน

โดย ชาด โพทะเล
10 สิงหาคม 2552

สาระสำคัญที่ควรรณรงค์ น่าจะต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้ หนึ่ง เป็นประโยชน์ต่อการสร้างประชาธิปไตยให้เข็มแข็ง สอง ต่อสู้กับอำมาตยาธิปไตย สาม เป็นประเด็นที่มวลชนคนเสื้อแดงเข้าใจได้ง่าย เข้าร่วมได้อย่างสมัครใจ และสร้างสรรค์กิจกรรมได้ด้วยตน

ในที่นี้ขอเสนอประเด็นสำคัญที่คนเสื้อแดงน่าจะรณรงค์ดังต่อไปนี้ ข้อเสนอที่หนึ่ง การเลือกตั้งชอบธรรมและยุติธรรม เราต้องยอมรับผลการเลือกตั้ง ข้อเสนอที่สอง กระบวนการยุติธรรมต้องยุติธรรม ข้อเสนอที่สาม สื่อมวลชนต้องเป็นมืออาชีพ ข้อเสนอที่สี่ กระบวนการกล่าวหาฟ้องร้องข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพไม่เป็นธรรม


กิจกรรมที่เป็นรูปธรรม ก็เช่น ฟ้องร้องเพื่อสร้างบรรทัดฐานของวิชาชีพสื่อ หรือเพื่อให้ตุลาการภิวัตน์ต้องอับอายกระอักกระอ่วน อาจมีกลุ่มโครงการทำหน้าที่จับตาและเปิดโปงการละเมิดจรรยาบรรณของสื่อโดยเฉพาะ เป็นต้น


คนเสื้อแดงเป็นขบวนการที่เติบโตเร็วมากทั้งปริมาณและคุณภาพ แต่ปฎิเสธไม่ได้ว่าความเติบโตมาจากจุดหมายร่วมในสถานการณ์เฉพาะหน้าที่ประชาธิปไตยถูกทำลายเท่านั้น จึงรวมเอากลุ่มคนที่มีจุดยืนหลากหลายเข้ามาด้วยกัน

ขบวนการคนเสื้อแดงจึงมีทั้ง คนรักทักษิณฝังจิตฝังใจจ นมองข้ามปัญหาและข้ออ่อนของยุคทักษิณ ไปจนถึงคนที่ต่อต้านรัฐประหารและอำมาตยาธิปไตยทั้งหัวโจก และตัวแทนโดยไม่แคร์นักกับทักษิณ ทั้งหมดเห็นตรงกันว่าการเลือกตั้งเป็นกระบวนการชอบธรรมที่สุด
ท่ามกลางแนวร่วมกว้างขวางขนาดนี้ จึงมีโครงการต่างๆเพื่อทักษิณ เพราะถือเอาตัวทักษิณเป็นทั้งรูปธรรมและเป็นสัญญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย (ทักษิณเองก็ถือว่าตนเป็นศูนย์กลางของการต่อสู้) ในเวลาเดียวกัน ก็มีข้อวิจารณ์การเคลื่อนไหวจากคนที่ไม่ถือเอาทักษิณเป็นประเด็นใจกลางของการต่อสู้ เพราะพวกเขาถือว่าการต่อสู้กับอำมาตยาธิปไตยเป็นประเด็นใจกลาง


แต่ละปีกแต่ละกระแสของขบวนการคนเสื้อแดงมีผู้สนับสนุนมากพอสมควร อย่างไรก็ตามคงต้องยอมรับว่าคนรักทักษิณยังคงเป็นฐานมวลชนสำคัญที่สุดของขบวนการ

ในภาวะเช่นนี้ก้าวต่อไปที่คนเสื้อแดงจากหลากปีกหลายกระแสจะสามารถร่วมลงแรงผลักดันได้น่าจะเป็นอะไร? มีโครงการหรือวาระทางการเมืองอะไรหรือไม่ที่น่าจะโดดเด่นขึ้นมาท่ามกลางความหลากหลาย?

ทักษิณเป็นประเด็นใจกลาง: พลังและข้อจำกัด

ข้อดีของการต่อสู้เพื่อทักษิณที่เห็นชัดๆและปฎิเสธไม่ได้ว่าจะเป็นปัจจัยสำคัญไปอีกนาน ก็คือ ช่วยผนึกพลังมวลชนของขบวนการไว้ได้ เพราะฐานมวลชนสำคัญที่สุดคือผู้นิยมชมชอบทักษิณ แกนนำสามเกลอและแกนนำระดับกลุ่มชุมชนจึงมักจำกัดตัวเองอยู่กับกิจกรรมเพื่อทักษิณและกิจกรรมเพื่อแสดงพลัง เพราะพวกเขาต้องการเพียงผนึกพลังมวลชนของเขาไว้ให้ได้นานๆเท่านั้น

ข้อดีอีกอย่างที่ฝ่ายตรงข้ามไม่ยอมรับรู้เข้าใจก็คือ “ทักษิณ” ในการเมืองไทยขณะนี้เป็นตัวแทนของฝ่ายประชาธิปไตยในแง่ที่ว่า ประชาชนมอบอำนาจให้เขาอย่างชอบธรรมตามกฎกติกา ตามกระบวนการซึ่งถือว่าคนเราเสมอภาค มีอำนาจเท่ากัน ไม่ว่าจะยากดีมีจน เกิดมาต่ำหรือสูง หรือโง่ฉลาดกว่ากันสักเพียงไหนก็ตาม มวลชนอาจจะไม่สามารถกลั่นความคิดข้อนี้ออกมาเป็นนามธรรมที่เป็นระบบ แต่พวกเขาเข้าใจประชาธิปไตยได้อย่างเป็นรูปธรรมโดยไม่ต้องให้ใครมาสอนประชาธิปไตยให้พวกเขา


ประชาธิปไตยอาจจะไม่ใช่แค่การเลือกตั้ง แต่การเลือกตั้งเป็นกระบวนการประชาธิปไตยที่ใครหน้าไหนก็ปฏิเสธไม่ได้ ขาดไม่ได้ ล้มล้างไม่ได้ อ้างโน่นนี่เพื่อปฏิเสธการใช้อำนาจของประชาชนไม่ได้

นี่คือความหมายสำคัญที่สุดของการเลือกตั้ง ไม่ใช่เรื่องของคุณธรรม คอรัปชั่น หรือระดับภูมิปัญญา การต่อสู้เพื่อทักษิณจึงไม่ใช่แค่เรื่องติดตัวบุคคลอย่างที่ฝ่ายต่อต้านทักษิณกำลังพยายามป่าวร้อง การตามล่าทำลายล้าง “ทักษิณ” จึงมีความหมายเกินกว่าตัวบุคคล เพราะหมายถึงพยายามทำลายกระบวนการประชาธิปไตยที่ประชาชนทุกคนมีอำนาจเท่ากันและเป็นผู้ตัดสินว่าจะมอบอำนาจให้ใครเป็นรัฐบาล

แต่การต่อสู้เพื่อทักษิณมีปัญหาไม่น้อยเช่นกัน

ประการแรก คงปฎิเสธยากว่าเป็นการต่อสู้เพื่อตัวบุคคลด้วยและเป็นส่วนสำคัญไม่น้อย ไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นตัวแทนอุดมการณ์ หลักการ หรือกระบวนการนามธรรมใดๆ มวลชนของทักษิณจำนวนมากคงแยกความแตกต่างระหว่างทักษิณที่เป็นบุคคลกับทักษิณในฐานะตัวแทนประชาธิปไตยไม่ออก

เป็นความจริงว่า แยกออกลำบากจริงๆ ไม่ว่าจะฉลาดล้ำเลิศมาจากไหนก็คงแยกออกลำบาก ภาวะที่ตัวบุคคลกับสถาบันหรือกระบวนการแยกกันไม่ออกเกิดบ่อยครั้งกับทุกฝ่ายทุกอุดมการณ์ มีทั้งผลดีและเสีย ผลเสียที่เห็นชัดๆก็คือ ลงท้ายเรามักละเลยมองข้ามอุดมการณ์ หลักการ หรือกระบวนการไปเสีย กลายเป็นเรื่องของตัวบุคคลไปหมด

เข้าใจว่าทักษิณเองและบุคคลใกล้ชิดเขา หรือแม้แต่แกนนำสามเกลอ ก็แยกไม่ออกเช่นกัน โครงการรณรงค์ต่างๆจึงกลายเป็นเพื่อตัวบุคคลมากขึ้นทุกที แต่นัยต่อกระบวนการประชาธิปไตยกลับไม่ชัดเจน หรือมีไม่มาก หรือละเว้นไม่เป็นประเด็นไปเสียเฉยๆ

ทักษิณไม่ใช่เทวดา สิ่งที่เขาทำมีทั้งถูกและผิด แถมยังไม่ค่อยจะรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง และปลาบปลื้มกับภาวะที่ตัวเองเป็นศูนย์กลางของการเมือง ยิ่งในภาวะที่เขาตกเป็นเป้าของการตามล่าทำลาย ย่อมทำให้เขาต้องคิดถึงตัวเองมากยิ่งขึ้น

หากเป็นเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ การรณรงค์ต่างๆของคนเสื้อแดงจะยิ่งเป็นการทำเพื่อทักษิณ แต่อาจจะถอยห่างจากการต่อสู้เพื่อกอบกู้ประชาธิปไตยออกไปทุกที เพราะณ จุดใดจุดหนึ่งในภาวะเช่นนี้ ประโยชน์ต่อทักษิณอาจกลายเป็นคนละเรื่องกับประโยชน์ต่อประชาธิปไตย


อันที่จริงเราได้เห็นแล้วว่า ยามที่จุดหมายเคลื่อนจากประชาธิปไตยไปที่ทักษิณ มาตรการต่างๆมักก้าวร้าวเกินไปหรือประนีประนอมเกินไป หรือกลายเป็นอาศัยพลังประชาชนเพื่อเรียกหาความสนใจจากผู้มีบารมี เป็นต้น

ในภาวะเช่นนี้ คนที่สนับสนุนขบวนการเสื้อแดงเพื่อกอบกู้ประชาธิปไตย แต่ไม่ใช่เพื่อทักษิณ คงอยากจะถอยห่างออกไป

ประการที่สอง คงปฎิเสธได้ยากว่า ในขณะที่มีคนรักทักษิณฝังจิตฝังใจจำนวนมหาศาล ก็มีคนเกลียดเขาเข้ากระดูกจำนวนมหาศาลเช่นกัน และมีคนอีกมหาศาลที่เฝ้าดูหรือเห็นอกเห็นใจคนเสื้อแดง แต่มิได้เห็นอกเห็นใจทักษิณเท่าไรนัก

ในภาวะสังคมแยกขั้วเช่นนี้ การต่อสู้ที่ถือเอาทักษิณเป็นประเด็นใจกลาง จะยิ่งผนึกพลังของคนที่ศรัทธาเทิดทูนเขาให้หนักแน่นขึ้น จนเกิดความรู้สึกในหมู่คนเสื้อแดงว่ามวลชนเติบโตเข้มแข็งขึ้นทุกวัน แต่พวกเขาต้องตระหนักด้วยว่า ยิ่งเอาทักษิณเป็นประเด็นใจกลาง ผู้คนที่เห็นใจคนเสื้อแดงแต่มิได้เห็นใจทักษิณ จะยิ่งถอยห่างออกไปทุกที

ขบวนการฝ่ายซ้ายก่อน 6 ตุลา 2519 เคยอยู่ในภาวะสังคมแยกขั้วเช่นนี้มาก่อน พวกเขาสามารถผนึกกำลังมวลชนของตนจนเข้มแข็งขึ้นและขยายตัวขึ้น การเคลื่อนไหวแสดงพลังมวลชนจึงมีพลังทุกครั้ง มวลชนพื้นฐานของพวกเขายกระดับพัฒนาขึ้น จนสามารถระดมให้ช่วยงานกลายเป็นผู้ปฎิบัติงานก็ได้

แต่ขบวนการที่เข้มแข็งขึ้นกลับมิได้หมายความว่า ความได้เปรียบทางการเมืองจะยิ่งมีมากขึ้นเสมอไป หากมิได้ขยายฐานมวลชนผู้สนับสนุนในสังคมหรือทำให้ความคิดข้อเสนอทางการเมืองของขบวนการกลายเป็นที่ยอมรับของคนทั่วไปในสังคม ขบวนการที่เน้นแต่การผนึกกำลังแสดงพลังของตน มองไม่เห็นว่าประชาชนที่เห็นอกเห็นใจพวกเขายังมิได้หมายความว่ายอมรับข้อเสนอทางการเมืองของพวกเขา นานวันเข้าประชาชนผู้เห็นอกเห็นใจจะค่อยๆถอยห่างออกไปเป็นผู้ดูอยู่ตรงกลางมากขึ้นทุกที

ยิ่งต่อสู้ ขบวนการก็ยิ่งมีพลังเข้มแข็ง แต่กลับโดดเดี่ยวจากมวลชนและอ่อนแอลงทางการเมือง

การถือเอาทักษิณเป็นประเด็นใจกลางจึงมีข้อดีและเป็นปัญหาไม่น้อยในเวลาเดียวกัน หากไม่มีการปรับตัวหรือหากทักษิณเองก็มองเห็นไม่ไกลไปกว่าตัวเองเป็นศูนย์กลาง ขบวนการเสื้อแดงและทักษิณอาจไม่บรรลุเป้าหมายใดๆเลย ไม่ว่าเพื่อประชาธิปไตยหรือเพื่อทักษิณ

ข้อเสนอประเด็นที่คนเสื้อแดงน่าจะรณรงค์

คงยังจำกันได้ว่า พลังของคนเสื้อแดงพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก(ที่สุด?)ในช่วงการชุมนุม 8 เมษายน 2552 ประเด็นใจกลางในขณะนั้น คือการต่อสู้กับอำมาตยาธิปไตย ครั้งนั้นถึงกับกล่าวกันว่า คนเสื้อแดงข้ามพ้นการต่อสู้เพื่อทักษิณไปแล้วและทักษิณเป็นแค่ส่วนหนึ่งของขบวนการ เป้าหมายของการปรับตัวน่าจะอยู่ตรงนั้น

การปรับตัวไม่ได้หมายถึงยุติการรณรงค์เพื่อทักษิณลงหมดโดยสิ้นเชิง เพราะข้อดีมีอยู่ดังกล่าวมาแล้ว แต่หมายถึงต้องปรับทิศทางของทั้งขบวนการ หันมารณรงค์ในประเด็นเพื่อประชาธิปไตยที่ชัดเจนมากขึ้น

สาระสำคัญที่ควรรณรงค์ น่าจะต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้

หนึ่ง เป็นประโยชน์ต่อการสร้างประชาธิปไตยให้เข็มแข็ง
สอง ต่อสู้กับอำมาตยาธิปไตย
สาม เป็นประเด็นที่มวลชนคนเสื้อแดงเข้าใจได้ง่าย เข้าร่วมได้อย่างสมัครใจ และสร้างสรรค์กิจกรรมได้ด้วยตนเอง


ในที่นี้ขอเสนอประเด็นสำคัญที่คนเสื้อแดงน่าจะรณรงค์ดังต่อไปนี้

ข้อเสนอที่หนึ่ง การเลือกตั้งชอบธรรมและยุติธรรม เราต้องยอมรับผลการเลือกตั้ง มีปัญหาก็ค่อยๆแก้กันไป

อีกไม่นานจะมีการเลือกตั้งครั้งใหญ่อีกแล้วแน่ๆ อย่าลืมว่าการเลือกตั้งเป็นแนวรบที่คนเสื้อแดงชนะทุกครั้ง เป็นฐานความชอบธรรมที่สำคัญที่สุด แต่กลับถูกพันธมิตรฯและพวกอำมาตย์โจมตีบิดเบือนทำลาย เราจะยอมให้เกิดเช่นนั้นอีกไม่ได้

คนเสื้อแดงน่าจะเริ่มรณรงค์ตั้งแต่บัดนี้ เพื่อให้สังคมยอมรับว่าการเลือกตั้งเป็นวิถีทางชอบธรรมที่สุดของระบอบประชาธิปไตย แม้ว่าจะไม่มีการเลือกตั้งที่ไหนในโลกที่บริสุทธิ์ไร้ข้อกังขา แต่การเลือกตั้งที่ชอบธรรม หมายถึงข้อบกพร่องทั้งหลาย ไม่มากหนักหนาถึงขนาดเปลี่ยนผลลัพธ์จากขาวเป็นดำ หรือบิดเบือนเจตนาของประชาชนผู้ลงคะแนน

ตรงกันข้าม การรัฐประหาร ตุลาการภิวัตน์ และม๊อบมีเส้นต่างหากที่เปลี่ยนผลลัพธ์กลับขาวเป็นดำและปฎิเสธเจตนาของประชาชน

คนเสื้อแดงต้องรณรงค์ล่วงหน้าให้คนในสังคมยอมรับผลการเลือกตั้ง อย่าอ้างข้อบกพร่องหรือการซื้อขายเสียง มาเป็นเหตุปฎิเสธเจตนาของประชาชนผู้ลงคะแนน

การต่อสู้ในประเด็นนี้จะเป็นผลดีต่ออนาคตของระบอบประชาธิปไตยทั้งระยะสั้นและยาว อีกทั้งในขณะนี้เป็นจุดแข็งของคนเสื้อแดง แต่เป็นจุดอ่อนของฝ่ายอำมาตย์และพันธมิตรฯ เพราะพวกเขากลัวการเลือกตั้งและกลัวประชาชนที่เสมอภาคทั่วหน้ากัน คนเสื้อแดงต้องผลักดันให้สังคมเตรียมพร้อม อย่าตกหลุมพวกอำมาตย์อีก สังคมต้องยืนยันยอมรับผลการเลือกตั้งอย่างไม่หวั่นไหวไปกับการบิดเบือนของพวกอำมาตย์ที่มุ่งปล้นทำลายประชาธิปไตย

การเลือกตั้งและระบอบประชาธิปไตยของมหาชน คือการต่อสู้ที่ดีที่สุดต่อพวกอำมาตยาธิปไตย และอาจเป็นวิธีการช่วยทักษิณที่เข้าท่ากว่าวิธีอื่นๆ ที่ทำมาแล้ว

ข้อเสนอที่สอง กระบวนการยุติธรรมต้องยุติธรรม

นิติรัฐต้องเป็นนิติรัฐที่บังคับใช้กฎหมายอย่างเสมอหน้า ไม่ใช่เลือกใช้กฎหมายอย่างสองมาตรฐานหรือไร้มาตรฐานเพียงเพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเมือง บุคคลากรของกระบวนการยุติธรรมต้องเที่ยงตรง มีหลักการและเป็นมืออาชีพ มิใช่ถวายตัวเป็นทาสอุดมการณ์หรือสถาบันทางการเมืองใดๆ

นี่เป็นประเด็นสำคัญมากต่อการกอบกู้ประชาธิปไตย เพราะกระบวนการยุติธรรมที่เชื่อถือได้เป็นสิ่งขาดไม่ได้ในระบอบนี้

ที่ผ่านมา ความเละเทะของกระบวนยุติธรรมภายใต้ตุลาการภิวัตน์ ก่อให้เกิดวิกฤตศรัทธาในหมู่ประชาชนอย่างกว้างขวาง มีคนมากมายเห็นอกเห็นใจคนเสื้อแดงที่โดนสองมาตรฐานรังแกครั้งแล้วครั้งเล่า

ใครๆ ก็รู้และรังเกียจพันธมิตรฯที่มีอภิสิทธิ์อยู่เหนือกฎหมาย แถมเคารพกฎหมายก็ต่อเมื่อเข้าข้างฝ่ายตน ครั้นไม่เข้าข้างฝ่ายตนก็เพิกเฉยไม่ปฎิบัติตามกฎหมาย แต่กลับไม่มีใครทำอะไรพันธมิตรฯได้ แม้ว่าฝ่ายพันธมิตรฯ และอำมาตย์จะได้เปรียบที่มีอำนาจรัฐ ทหาร ศาล และอำนาจเหนือรัฐหนุนหลังอยู่ แต่นี่เป็นจุดอ่อนทางการเมืองของพวกเขา

การต่อสู้ของคนเสื้อแดงจึงต้องสนใจสร้างกระบวนการยุติธรรมที่เชื่อถือได้

เราต้องกล้า เรียกร้อง ฟ้อง ฟ้องกลับ และร้องเรียนในกรณีที่ไม่เป็นธรรม ต้องป่าวประจานตุลาการภิวัตน์ให้อับอาย เรียกร้องให้พวกเขาเคารพหลักการและเป็นมืออาชีพ หรือจนกว่าบุคคลากรในกระบวนการยุติธรรมจะลุกขึ้นมาสะสางวงการของตน สลัดให้พ้นแอกของอำมาตยาธิปไตย

ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เพื่อแสวงหาอภิสิทธิ์เหนือกฎหมาย แต่เพื่อยุติความลำเอียง ไร้มาตรฐาน เพื่อสร้างบรรทัดฐานและกอบกู้กระบวนการยุติธรรมที่น่าเชื่อถือ ซึ่งจะเกิดได้ต่อเมื่อยุติตุลาการภิวัฒน์ลงเสีย

ข้อเสนอที่สาม สื่อมวลชนต้องเป็นมืออาชีพ

สื่อมวลชนที่มีประสิทธิภาพเป็นปัจจัยจำเป็นในสังคมประชาธิปไตยเช่นกัน

ที่ผ่านมา สื่อมวลชนพัฒนาแต่เทคโนโลยี แต่กลับไม่พัฒนาหรือยิ่งถอยหลังในทางวิชาชีพ ความสามารถของบุคคลากรเสื่อมถอยลงทุกระดับ ทั้งด้านฝีมือในวิชาชีพ ความรอบรู้มีวิจารณญาณ และความเที่ยงธรรมมีจรรยาบรรณของสื่อ

ความกล้าหาญหดหาย รู้จักแต่หดหัวต่ออำนาจ ยอมตัวเป็นเครื่องมือปล้นทำลายประชาธิปไตย

กลายเป็นว่าอาณาจักรของสื่อยิ่งขยายตัวยิ่งมีอำนาจและยิ่งร่ำรวย ความเป็นมืออาชีพเที่ยงธรรมกลับถดถอย จนกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองอย่างน่าสมเพช กลายเป็นว่ายุคที่ข่าวสารท่วมล้นชีวิตเราจากย่ำรุ่งยันย่ำค่ำ ยิ่งกว่าประเทศใดๆในโลก สังคมไทยกลับเต็มไปด้วยความงมงายไร้วิจารณญาณยิ่งกว่ายุคใดๆ

มีแต่คนในวงการสื่อเท่านั้นแหละที่มองไม่เห็นความเละเทะไร้ประสิทธิภาพของสื่อ ในขณะที่ผู้คนทั่วบ้านทั่วเมืองเอือมระอาสื่อเต็มทน จนละครน้ำเน่ายังน่าดูกว่าข่าวทีวี

การต่อสู้เรื่องสื่อจึงมิใช่เพื่อคนเสื้อแดงหรือทักษิณเท่านั้น แต่เพื่อประชาธิปไตยและอนาคตของสังคมไทย การต่อสู้ในเรื่องนี้ต้องมิใช่หยุดอยู่เพียงแค่เสนอสื่อของคนเสื้อแดงขึ้นมาตอบโต้กับสื่อกระแสหลัก ทางเลือกของคนเสื้อแดงเป็นสิ่งมีประโยชน์ แต่เราคงต้องรณรงค์ร่วมผลักดันให้วิชาชีพสื่อมวลชนยกระดับกว่าที่เป็นอยู่

ข้อเสนอที่สี่ กระบวนการกล่าวหาฟ้องร้องข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพไม่เป็นธรรม

อย่าใช้กฎหมายนี้อย่างฉ้อฉลเพื่อปกป้องหัวโจกตัวแทนขุนพลไพร่ราบของอำมาตยาธิปไตย อย่าใช้กฎหมายนี้เป็นเครื่องมือทางการเมืองทำลายฝ่ายตรงข้าม อย่าใช้กฎหมายนี้เพื่อปิดปากประชาชน

หากไม่ยอมแก้ไข เราก็น่าจะช่วยกันฟ้องประจานความเลอะเทอะเปรอะเปื้อนของกฎหมายนี้ให้หมดความหมายไปเลย

สร้างสรรค์และเป็นฝ่ายรุกอย่างมีวุฒิภาวะ

เราเชื่อมั่นว่า มีคนที่มีความคิดดีๆสามารถสร้างสรรค์กิจกรรมต่างๆหลายรูปแบบที่ส่งผลระยะสั้น ระยะยาว แถมไม่ต้องรวมศูนย์ภายใต้แกนนำใดๆ บางครั้งไม่ทำในนามคนเสื้อแดงก็อาจจะดีด้วยซ้ำไป

ลำพังการโต้แย้งแบบต่อปากต่อคำ ”เอามันส์” ถูกใจคนฟังหรือเอาใจแฟนคลับทางวิทยุหรืออินเตอร์เน็ต มีเสน่ห์ดึงดูดให้เราติดตามหรือเข้าร่วมต่อปากต่อคำด้วย แต่ความสะใจกลับมีผลอย่างมากก็แค่ยืนยันความคิดของเราเอง แต่ไม่สามารถสร้างประเด็นหรือวาทกรรมที่มีอิทธิพลทางสังคมได้

การประท้วงตอบโต้สาธารณะเป็นเรื่องจำเป็นตามสมควร แต่โดยมากมีลักษณะปกป้องตัวเองหรือเป็นฝ่ายรับ ไม่ใช่การสร้างสรรค์หรือเป็นฝ่ายรุกเท่าที่ควร

คนเสื้อแดงและผู้สนับสนุนทั้งหลายคงต้องสร้างสรรค์โครงการเชิงบวกและเป็นฝ่ายรุกให้มากขึ้น หมายความว่าเป็นกิจกรรมที่สร้างประเด็นหรือวาทกรรมทางสังคม อาจเป็นการเสนอปัญหาหรือเป็นข้อเสนอยกระดับกระบวนการยุติธรรมและสื่อ หรืออย่างน้อยน่าจะเป็นการประท้วงโต้แย้งที่มีนัยเชิงรุกและสร้างสรรค์ เพื่อสร้างบรรทัดฐานของวงการต่างๆ

เช่น ฟ้องร้องเพื่อสร้างบรรทัดฐานของวิชาชีพสื่อ หรือเพื่อให้ตุลาการภิวัตน์ต้องอับอายกระอักกระอ่วน อาจมีกลุ่มโครงการทำหน้าที่จับตาและเปิดโปงการละเมิดจรรยาบรรณของสื่อโดยเฉพาะ เป็นต้น


การชุมนุมแสดงพลังยังเป็นสิ่งจำเป็นแต่ไม่เพียงพอ เราต้องการโครงการที่มีวุฒิภาวะ ที่มีจุดหมายไกลกว่าเพื่อทักษิณ ขบวนการคนเสื้อแดงควรเป็นผู้มีวุฒิภาวะและเป็นฝ่ายสร้างสรรค์

ปล่อยให้พันธมิตรฯ ประชาธิปัตย์ และพวกอำมาตย์ เป็นฝ่ายตะแบงเอาแต่ต่อปากต่อคำผ่านโฆษกสารพัดของพวกเขาต่อไปเถอะ

อีกไม่นานจะมีการเลือกตั้งทั่วไปอีกแล้ว อย่าปล่อยให้พวกอำมาตย์ปล้นทำลายประชาธิปไตยไปอีกครั้ง
คนเสื้อแดงพร้อมหรือยัง?