WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Thursday, August 13, 2009

แต่งตั้ง"วิเชียร"รรท.ผบ.ตร.

ที่มา เดลินิวส์

ระหว่างวันที่12-18ส.ค.โครงสร้างใหม่ส่อเลื่อนรวมทั้งโผ152บิ๊กตำรวจ

“อภิสิทธิ์” ตั้ง “วิเชียร” รักษาการ ผบ.ตร.อีกครั้ง ตั้งแต่ 12-18 ส.ค. แจงไม่ได้แทรกแซงตำรวจ ไม่ได้มีอะไรขัดแย้ง ที่ทำเพื่อให้คดียิงสนธิ เดินหน้าได้ ระบุ “เติ้ง” ส่งคนมาบอกไม่เคยให้สัมภาษณ์ว่า นายกฯแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายนายตำรวจ ด้าน “สุเทพ” เรียกประชุม ก.ตร. แต่ไม่มีวาระแต่งตั้งโยกย้าย คาดเลื่อนประกาศใช้โครงสร้างใหม่ตำรวจ ส่อเลื่อนโผ 152 นายพลออกไปอีก ขณะเดียวกันให้ ระงับทำโผเล็ก ตั้งแต่ รองผู้บังคับการลงมา คาดอาศัยช่วงที่ ผบ.ตร.เดินทางไปราชการภาคใต้ทำต่อ ด้าน “วิเชียร” แย้ม โครงสร้างใหม่ อาจประกาศใช้ไม่ทันในวันที่ 15 ส.ค. จะขอมติที่ประชุมทำตามกรอบเดิม หรือขยายเวลาออกไป ส่วนการทำโผ ผบ.ตร. หรือ รรท.ผบ.ตร.เป็นผู้มีอำนาจดำเนินการเท่านั้น ด้าน รองอธิบดี ดีเอสไอ ระบุตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง รถที่ยึดได้จากบ้านแม่ยาย ส.ต.ท.วรวุฒิ มุ่งสันติ ว่าอยู่ในความดูแลของใคร รวมถึงผู้ที่เซ็นรับรถไปใช้

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 12 ส.ค. ที่หน้าบ้านพักภายในซอยสุขุมวิท 31 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ นายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตหัวหน้าพรรคชาติไทย วิจารณ์ถึงการที่นายกรัฐมนตรี เข้าไปแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายนายตำรวจว่า เรื่องตำรวจนั้นไม่มี และนายบรรหารได้ให้คนมาบอกตนว่า ที่มีหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งไปลงเป็นบทสัมภาษณ์พิเศษของนายบรรหารนั้น นายบรรหารบอกว่าไม่เคยให้สัมภาษณ์ เมื่อถามว่ารวมถึงเรื่องที่นายบรรหารบอกว่าไม่อยากให้นายกฯไปยุ่งกับโผโยกย้ายตำรวจด้วยหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า “นั่นแหละครับ ไม่เห็นมีอะไร และผมก็ไม่ได้ไปยุ่งเกี่ยวอะไรด้วย”

ผู้สื่อข่าวถามว่าภาพที่ออกมาดูเหมือน นายกฯ ลงไปจัดการกับการโยกย้ายตำรวจเอง นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนไม่ได้ไปยุ่งอะไรกับเรื่องนี้เลย แต่มีหน้าที่เดียวคือ ให้คดีลอบยิง นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เดินได้ ส่วนเรื่องตำรวจ มี 2 ประเด็นที่เป็นเชิงนโยบาย ไม่ได้เป็นเรื่องตัวบุคคลคือ 1.การโยกย้ายแต่งตั้ง ซึ่งมีความคาบเกี่ยวกับการจัดโครงสร้างตำรวจใหม่ที่ต้องระมัดระวังในข้อกฎหมาย เพราะที่ผ่านมาตนในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) เห็นความไม่รอบคอบในเรื่องกฎหมาย และขัดต่อกฎหมาย จึงต้องถูกยับยั้งไป และ 2.มันมาซ้อนกับการโยกย้ายประจำปีคือ ต้องคิดถึงอนาคตที่เราต้องมีผู้บริหารสูงสุดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ถ้าไปทำอะไรไว้ ผู้บริหารใหม่เข้ามาบริหารงานไม่ได้ งานก็เสียหายเท่านั้น ตนไม่ได้ไปดูเลยว่าตัวบุคคลใครเป็นใคร

ส่วนที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่ง สำนักนายกรัฐมนตรีที่ 188/2552 ลงวันที่ 11 ส.ค. 2552 เรื่องให้ข้าราชการตำรวจรักษาราช การแทน โดยระบุว่า โดยที่สำนักงานตำรวจแห่ง ชาติมีราชการสำคัญเกี่ยวกับการสืบสวนสอบคดี ต่าง ๆ อันสืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ การเตรียมความพร้อมในการประชุมสุดยอดอาเซียน โดยทั้งสองกรณีเป็นเรื่องที่อาจส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อความมั่นคงของประเทศ ความสงบและสวัสดิภาพของประชาชน ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างราชอาณาจักรไทยและต่างประเทศ ซึ่งรองนายกรัฐมนตรี (นายสุเทพ เทือกสุบรรณ) ได้มีบัญชาให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเดินทางไปกำกับดูแลและติดตามผลการปฏิบัติอย่างใกล้ชิดด้วยตนเอง ระหว่างวันที่ 12-18 ส.ค. 2552

ดังนั้นเพื่อให้การปฏิบัติราชการในสำนัก งานตำรวจแห่งชาติเป็นไปด้วยความเรียบร้อยคล่องตัว และมีประสิทธิภาพ ในช่วงเวลาที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติไม่สามารถกลับมาปฏิบัติราชการในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 72(1) แห่ง พ.ร.บ. ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 นายกรัฐมนตรีจึงมีคำสั่งให้ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ที่ปรึกษา สบ 10 ด้านความมั่นคงและกิจการพิเศษเป็น รักษาการผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ โดยให้มีอำนาจหน้าที่ตามความในมาตรา 75 แห่ง พ.ร.บ. ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 12-18 ส.ค. 2552

พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี รรท.ผบ.ตร. กล่าวว่า ได้รับทราบคำสั่งให้รักษาราชการแทน ผบ.ตร. แล้วตามหนังสือ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีที่ นร 0405(ลน)/7344 ลงวันที่ 11 ส.ค. 2552 เนื่องจาก พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ต้องลงไปปฏิบัติราชการที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และที่ จ.ภูเก็ต ซึ่งในภารกิจแรกของ ตนในวันที่ 13 ส.ค. 2552 คือการเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจหรือ ก.ตร. ในเวลา 13.00 น. โดยวาระในการประชุมเพื่อพิจารณาการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจตามโครงสร้างใหม่ในตำแหน่ง รอง ผบก. ลงไปเพราะตามกำหนดการเดิมจะมีการประกาศราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 15 ส.ค. 2552 มีผลในวันที่ 16 ส.ค. 2552 แต่การพิจารณาแต่งตั้งอาจจะไม่ทันตามกรอบระยะเวลาเดิม ก็ต้องดูมติของที่ประชุมว่าจะมีมติในเรื่องนี้อย่างไร จะให้ทำตามกรอบเดิมหรือจะขยายระยะเวลาออกไป ส่วนใครจะเป็นผู้ดำเนินการเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายก็ต้องดูว่าในช่วงเวลานั้นใครมีอำนาจในการดำเนินการ ได้ตามกฎหมายก็เป็นผู้ดำเนินการ แต่ถ้าเป็นช่วงที่ตนรักษาการก็จะดำเนินการให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

รรท.ผบ.ตร. กล่าวต่อว่า ในวันที่ 14 ส.ค. ตนก็จะเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงเพื่อเตรียมพร้อมในการดูแลความสงบกรณีจะมีกลุ่มบุคคลจะยื่นถวายฎีกา ซึ่งเราก็ต้องเตรียมความพร้อมในเรื่องนี้อย่างเต็มที่ เพราะเป็นเรื่องสำคัญซึ่งในระหว่างนั้นจะสั่งการให้แต่ละหน่วยงานเตรียมข้อมูลรายงานมาเสนอในวันที่ 18 ส.ค. 2552 โดยตนจะเรียกประชุมผู้บริหารของสำนักงานตำรวจแห่งชาติตั้งแต่ระดับ รอง ผบ.ตร. ลงไปจนถึงระดับกองบังคับการทั่วประเทศ เพื่อให้รายงานผลการปฏิบัติงานในหน้าที่ของแต่ละหน่วยว่าดำเนินการเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่ เพื่อให้ทุกหน่วยทำงานอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อความสงบเรียบร้อยความผาสุกของพี่น้องประชาชน เพราะที่ผ่านมา 2 เดือนแล้วที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติยังไม่มี การประชุมบริหารของหน่วยงาน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ได้มีหนังสือเชิญประชุม ก.ตร. ครั้งที่ 10/2552 ในวันพฤหัสบดีที่ 13 สิงหาคมนี้ เวลา 13.00 น. ที่ห้องประชุม 1 ชั้น 2 อาคาร 1 ตร. โดยมีวาระสำคัญ ในวาระที่ 3 เรื่องที่เสนอเพื่อพิจารณา เรื่องที่ 1 การดำเนินการเกี่ยวกับการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ ขณะที่วาระที่ 4 เรื่องที่เสนอเพื่อทราบ 2 เรื่องได้แก่ รายงานการดำเนินการของ อ.ก.ตร.วินัย ที่ ก.ตร. มอบหมายให้ทำการแทน และรายงานการดำเนินการของ อ.ก.ตร. ร้องทุกข์ที่ ก.ตร. มอบหมายให้ดำเนินการแทน

มีรายงานข่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีการประชุม คณะกรรมการพิจารณาการแต่งตั้งระดับ รอง ผบก.ลงมา ที่มี ผบ.ตร. เป็นประธาน และรอง ผบ.ตร.จเรตำรวจแห่งชาติ เป็นคณะกรรมการพิจารณาการแต่งตั้งแต่อย่างใด ส่วนหนึ่งยังไม่มีความชัดเจนของผู้ดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. ที่มีอำนาจการแต่งตั้ง ทำให้คาดการณ์ว่าในการประชุม ก.ตร.ในวันที่ 13 ส.ค.นี้ จะพิจารณาของมติ ก.ตร. เพื่อขอเลื่อนการประกาศ พ.ร.ฎ.แบ่งส่วนราชการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ลงในราชกิจจานุเบกษาออกไปก่อน จากกำหนดเดิมที่ ก.ตร. มีมติให้ประกาศในวันที่ 15 ส.ค. และมีผลในวันที่ 16 ส.ค. จึงเป็นที่จับตากันว่า การแต่งตั้ง 152 นายพล ที่ผ่านมติ ก.ตร.ไปแล้วจะต้องมีการนำมาพิจารณากันใหม่หรือไม่

วันเดียวกัน พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันท์ รองอธิบดี กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวถึงการยึดรถยนต์เก๋งยี่ห้อเชฟโรเลต ซาฟิร่า สีบรอนซ์เทา ทะเบียน ศว 8051 กรุงเทพมหานคร ได้ที่บ้านแม่ยายของ ส.ต.อ.วรวุฒิ มุ่งสันติ ตำรวจ บช.ปส. ช่วยราชการดีเอสไอ ซึ่งเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับคดีลอบยิง นายสนธิ ลิ้ม ทองกุล ซึ่งเป็นทะเบียนปลอม เพราะรถดังกล่าวมีทะเบียนจริงคือ กษ 3737 เชียงใหม่ ซึ่งผู้ครอบครองคือ นายชาญณรงค์ มูเซอ ผู้ต้องหาคดีค้าเฮโรอีน ที่ดีเอสไอจับได้เมื่อวันที่ 20 มี.ค. ที่ผ่านมา พร้อมกับอายัดทรัพย์มูลค่า 117 ล้านบาท และรถยนต์คันดังกล่าวเป็นของกลางในคดีโดยเป็นรถ 1 ใน 5 คัน ที่ยึดได้

อย่างไรก็ตามยอมรับว่าหลังยึดรถแล้ว ดีเอสไอได้ทำเรื่องขอใช้ประโยชน์เพื่อภารกิจราชการมาจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) โดย พล.ต.ท.กฤษณะ ผลอนันต์ เลขาธิการ ป.ป.ส. มีคำสั่งอนุมัติให้ดีเอสไอใช้รถยนต์ทั้ง 5 คัน เพื่อภารกิจในราชการได้ตั้งแต่เดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยเป็นไปตามอำนาจ ป.ป.ส. ซึ่งหนังสือดังกล่าวอยู่ระหว่างขั้นตอนดำเนินการนำหลักฐานธุรกรรมรถยนต์ของกลาง เข้าระบบใหม่ในการควบคุมของกลางของดีเอสไอ ดังนั้นมีความเป็นไปได้ที่ ส.ต.อ.วรวุฒิ อาจจะนำรถไปใช้ เนื่องจากรถยนต์คันดังกล่าวยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นของหลวง แต่ได้รับอนุมัติจาก ป.ป.ส. ให้นำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง

พ.ต.อ.ณรัชต์ กล่าวอีกว่า ดีเอสไอ พร้อมให้ความร่วมมือทางด้านข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกอย่าง โดย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อธิบดีดีเอสไอได้มีคำสั่งแต่งตั้งให้ นายชาติชาย โทสินสันติ ข้าราชการระดับ 8 ที่โยกย้ายมาจาก ป.ป.ส. และเป็นผู้ที่มีความรู้เรื่องดังกล่าว เป็นประธานตรวจสอบข้อเท็จจริง เมื่อวันที่ 11 ส.ค. ที่ผ่านมา โดยเชื่อว่าจะได้ข้อสรุปเร็ว ๆ นี้ว่า รถยนต์คันดังกล่าวหลุดรอดนำไปใช้ได้อย่างไร และผิดระเบียบหรือไม่ โดยกรรมการจะเป็นผู้ชี้ข้อเท็จจริงทั้งหมดว่าใครเป็นผู้เซ็นรับรถ และรถคันดังกล่าวอยู่ในการดูแลของผู้ใด.