ที่มา Thai E-News
โดย วันลา วันวิไล
1 พฤศจิกายน 2552
14. บทเพลงแห่งฤดูหนาว
พอหมดฝนในต้นพฤศจิกายน สายลมเย็นก็เริ่มพัด อากาศเย็นลงเรื่อย ๆ จนหนาวสั่นเกือบตลอดวันเมื่อถึงปลายเดือนธันวาคม ยามเช้าสายหมอกสีขาวจะพาดริ้วตามภูเขา สูงขึ้นไปเป็นละอองจาง ๆ ส่วนพื้นล่างเป็นน้ำค้างเย็นเฉียบเกาะตามยอดหญ้า
ผมชอบหน้าหนาวในป่าเพราะมียุงน้อยหรือถึงจะมีบ้างตอนกลางคืนเราก็นอนคลุมโปงสบาย ผิดกันหน้าร้อนที่มียุงชุมแถมนอนคลุมโปงไม่ได้ กลางดึกหน้าหนาวมักจะตื่นขึ้นมาเพราะผ้าห่มไม่ทำให้อุ่นพอ
อยู่ในค่ายบ้านฝาขัดแตะข้างเดียวกันลมไม่ได้ต้องผูกเปลกับเสาบ้านแล้วก่อไฟผิง ไฟกองหนึ่งเพื่อน ๆ จะมาผูกเปลซ้อนกันรอบ บางทีไฟแรงร้อนเกินต้องพลิกตัวหมุนรอบ ๆ เหมือนตัวเองเป็นไก่ย่าง ถ้าอยู่ในเขตงานใกล้บ้านคนก่อไฟไม่ได้ ยามลมหนาวพัดลอดใต้เปลจะเย็นหลังวาบ ต้องใช้ผ้ามุ้งนิ่มๆพันตัวเอาไว้ มันอุ่นกว่าผ้าห่มผ้าสำลีเสียอีก
ถึงช่วงตีข้าว แม้อากาศจะเย็นตั้งแต่โพล้เพล้แต่พวกเราเหงื่อท่วมตัว เลิกงานดึกแค่ไหนก็ต้องลงไปอาบน้ำในห้วย ช่วยกันหอบฟางมาวางที่ท่าน้ำ จุดไฟกองโตขึ้น ผิงไฟพออุ่นแล้วกระโจนลงน้ำเย็นยะเยือก ทุกคนขึ้นมายืนถูสบู่รอบกองไฟเสร็จแล้วกัดฟันกระโจนน้ำอีกที พอได้ใส่เสื้อผ้าอุ่นก็เดินโม้กลับที่พักได้ ส
ำหรับคนหนุ่มสาว ความหนาวเย็นในป่าเขาประเทศเมืองร้อนไม่ได้เลวร้ายเลยสักนิด เช่นเดียวกับสิ่งที่พวกเราคิดและทำ เพราะเราเลือกเราฝันที่จะแก้ไขความทุกข์ยากของคนยากจน ใฝ่หาสังคมที่ดีกว่า แม้ผู้คนจำนวนหนึ่งสาปแช่งเกลียดชังก็ไม่ได้ทำให้เราเหน็บหนาวหัวใจเพิ่มขึ้น
ฤดูหนาวทำให้ความคิดคนเปลี่ยน ผมสรุปเช่นนี้เพราะเห็นว่า สิ่งใหม่ๆมักเกิดขึ้นเมื่อฤดูหนาวผ่านไป ต้นไม้ต้นไล่ก็ผลิแตกหน่อใหม่หลังจากสะสมความอุดมสมบูรณ์ไว้ก่อนหน้านั้น และตระเตรียมอย่างเงียบๆกลางฤดูหนาว
ผมเป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมดาๆคนหนึ่ง นอกจากเรียนหนังสือก็เล่นกีฬากับเพื่อนๆ เพื่อให้มีสังคมปะทะสังสรรค์เท่านั้น
แต่พอฤดูหนาวมาถึงในปีหนึ่ง ผมเริ่มอ่านหนังสือเศรษฐศาสตร์และการเมือง กลางคืนที่หนาวเย็น ผมออกไปติดโปสเตอร์กับเพื่อน สนับสนุนการเรียกร้องของชาวไร่ชาวนาในยุคนั้น ผมใส่เสื้อม่อฮ่อม บางครั้งก็เสื้อชาวเลสีเขียว นั่งคุยกับเพื่อนกลางลานสนามหญ้าจนดึกดื่น และรู้สึกว่าตัวเองเปลี่ยนไป
ปกติเด็กไทยและคนไทยที่เติบโตมา มักจะถูกสอนให้ว่านอนสอนง่าย ตกกันเป็นทอดๆมานานแล้ว สังคมนี้ไม่เคยต้อนรับคนขบถ ความเห็นที่แตกต่างกันอย่างมากจึงลงเอยด้วยการเหยียบย่ำทำลายกันในปี 2519 ฤดูหนาวปีนั้น ผมก็เปลี่ยนไปตามสถานการณ์ เปลี่ยนเป็นใส่ชุดดำ และชุดทหารป่า
ถึงฤดูหนาวปี 2521 ผมเกือบจะกลายเป็นนักปฏิวัติเต็มตัว ดูเหมือนว่าความคิดผมกำลังเป็นไปในแนวทางของพรรคฯเต็มที่ เหลือเพียงความรู้สึกและความเข้าใจบางอย่างเท่านั้นที่ยังเป็นช่องว่างอยู่
ในงานฉลองวันพรรค ฯ ผมแต่งเพลงขึ้น 2 เพลง เพลงหนึ่ง ชื่อ ป่าเขาสีแดง เขียนขึ้นบนเปลในคืนมืดใต้เงาทึบของไม้ใหญ่ ท่วงทำนองเลียนแบบเพลงของ “วงจันทร์ ไพโรจน์” ให้คุณดวง (เสียชีวิตแล้ว) เป็นคนร้อง ป่าสีแดง หมายถึง ป่าแห่งการต่อสู้ ดังท่อนสุดท้ายว่า
ป่าภูเขาที่มีสีแดง ด้วยเลือดคนไทยไหลแรง
สีแดงลงซับซึมซ่าน ธงสีแดงจึงโบกพลิ้วนาน
คนไทยจะได้ชื่นบาน ไม่นานได้ปลดปล่อยเอย
อีกเพลงหนึ่ง ชื่อ ชนบทล้อมเมือง เนื้อร้องพูดถึง ยุทธศาสตร์การต่อสู้แบบป่าล้อมเมือง ทำนองและจังหวะเป็นรำวงสนุก ๆ ทั้งเนื้อร้องและทำนองแสดงออกอย่างรวบยอดที่สุด สำหรับความคิดความเข้าใจรวมทั้งประสบการณ์แต่งเพลงของผมในช่วงนั้น
ยุทธศาสตร์ยุทธวิธี พรรคฯเราได้ชี้ไว้ไม่ใช่คุยเขื่อง
ชนบทนั้นอ่อนเปราะ เราจึงต้องค่อยเลาะตัดออกจากเมือง
สะสมกำลังจากป่าเขา สุดท้ายเราจึงเข้ายึดเมือง
ดอกไม้มักจะสวยเสมอ ไม่ว่ามันจะผลิดอกบานในฤดูอะไร แต่ผมมักจะชื่นชมดอกไม้เล็กๆในป่าหน้าหนาวเป็นพิเศษ ยามเงียบเหงาและเย็น ผมมักจะดูดอกไม้ คิดไป ฝันไป ผมรู้ว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะเกิดมาแล้วยิ่งใหญ่ และสมดั่งหวังแต่ผมก็ชอบที่บางครั้งตัวเองเพ้อฝัน เบื้องหลังความคิดและความฝัน นั่นคือความเปลี่ยนแปลง
เมื่อลมหนาวปี 2523 เริ่มพัด ผมก็เปลี่ยนไปอีกแล้ว
พวกเรา(นักศึกษา) ได้ข้อสรุปว่ายุทธศาสตร์ยุทธวิธีและวิธีการต่อสู้เช่นนั้นไม่อาจจะสำเร็จได้ ไม่อาจแก้ปัญหาได้ อาจสร้างปัญหาอื่นที่เลวร้ายยิ่งกว่าเดิมอีก ผมกับเพื่อนประมาณ 15 คนก็บอกกับ “สหายนำ” ขอออกจากป่าเป็นชุดแรก ที่เหลือราว 30 คนขออยู่ช่วยเกี่ยวข้าวก่อน พอลมหนาวระลอกสุดท้ายพัดผ่านพวกเขาก็ตามออกมาเป็นชุดที่สอง
หนาวลมพอสะท้านเบา ๆ
ทำให้ป่าเงียบวังเวง
แหงนหน้ามองภูเขาทิศใต้
เห็นไม้ไผ่ตายขุยสีส้มซีดตลอดแนวสันสูง
มันยอมตายทั้งหมดเพื่อทิ้งดอกและเมล็ด
ให้รุ่นหลังเติบโตขึ้นแทน
รุ่นใหม่ที่แข็งแรงกว่า งดงามกว่า
เช่นนี้ มันจึงดำรงพันธุ์ไผ่อันยอดเยี่ยม
ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนไปเช่นไร
ไม้ไผ่ยังคงเป็นหญ้าที่สูงกว่าหญ้าอื่นใด
ไม่ว่าลมหนาวจะพัดมาอีกหรือไม่
ไม้ไผ่ก็ไม่เคยกังวล
***************
บันทึกในตอนที่ผ่านมาทั้งหมด:
บันทึกอดีตสหายเดือนตุลา(8):รุกในยุทธวิธี/ปะตี้ทูโด๊ะ