ที่มา Thai E-News
โดย ทีมข่าวไทยอีนิวส์
7 พฤศจิกายน 2552
คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อได้ออกแถลงการณ์กระตุกเปลว สีเงินกรณีปลดใบตองแห้งพ้นหน้าที่ เตือนะสื่อมวลชนต้องสามารถทำหน้าที่ได้อย่างเป็นอิสระ ปราศจากการถูกครอบงำจากภาคการเมืองและกลุ่มผลประโยชน์ เรียกร้องให้ชี้แจงและให้คนอ่านกดดัน ส่วน"ใบตองแห้ง"เผยถูกสั่งเลิกเขียนว่ายทวนน้ำ คอลัมน์สวนกระแสเถ้าแก่เปลว ซ้ำปรับสภาพการจ้างให้เลิกทำหน้าที่สัมภาษณ์ลงฉบับแท็บลอยด์ ย้ายไปอยู่ชายแดนเขียนข่าวบันเทิงดารา แล้วลดเงินเดือนวูบ เจ้าตัวจำต้องรับสภาพ นักกฎหมายแรงงานชี้เข้าข่ายปรับสภาพการจ้างไม่เป็นธรรม
คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) ออกแถลงการณ์ท้วงไทยโพสต์ กรณีถอดคอลัมน์ ‘ว่ายทวนน้ำ’ ของใบตองแห้ง ระบุกังขาต่อการยุติบทบาทคอลัมน์ว่ายทวนน้ำโดยฉับพลัน ซึ่งส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ที่ได้ตั้งปณิธานการทำหน้าที่สื่อมวลชนของตนเองไว้ว่าเป็นพื้นที่สื่อที่มี โดยแถลงการณ์มีรายละเอียด ดังนี้
แถลงการณ์คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.)
กรณีหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ยุติคอลัมน์ว่ายทวนน้ำ
การยุติคอลัมน์ว่ายทวนน้ำในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ นับแต่วันที่ 21 ตุลาคม 2552 เป็นต้นมา ส่งผลให้ผู้อ่านและสาธารณชนที่ติดตามการทำหน้าที่สื่อมวลชนของหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ด้วยความเชื่อถือต่อการนำเสนอข่าวสารและการเปิดพื้นที่ให้มีการแสดงความคิดเห็นอย่างเป็นอิสระตลอดมา ตั้งคำถามต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
อันเนื่องจากที่ผ่านมาผู้เขียนที่ใช้นามปากกาว่า “ใบตองแห้ง” ในฐานะผู้คุมคอลัมน์ว่ายทวนน้ำ ได้นำเสนอความคิดเห็นและแสดงจุดยืนทางการเมืองที่แตกต่าง ทั้งยังวิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่ของรัฐบาลอย่างตรงไปตรงมา กระทั่งกล้าแสดงจุดยืนที่ตรงกันข้ามกับผู้เขียนคอลัมน์คนอื่นๆ ในฉบับเดียวกัน ให้สังคมได้รับรู้มุมมองที่หลากหลาย
ดังนั้นสาธารณชนจึงย่อมมีข้อกังขาต่อการยุติบทบาทคอลัมน์ว่ายทวนน้ำโดยฉับพลัน ซึ่งส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ที่ได้ตั้งปณิธานการทำหน้าที่สื่อมวลชนของตนเองไว้ว่าเป็นพื้นที่สื่อที่มี “อิสรภาพแห่งความคิด”
อีกทั้งเสียงสะท้อนทวงถามจากกลุ่มผู้อ่านภายหลังที่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ย่อมบ่งบอกถึงคุณภาพของกลุ่มผู้อ่านหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ที่เปิดกว้างทางความคิดและต้องการรับรู้ความคิดเห็นที่แตกต่างออกไป ตลอดจนตระหนักถึงเสรีภาพในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน
คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) เห็นว่าเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและสื่อมวลชนย่อมเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงอิสรภาพที่แท้จริงในวิถีสังคมประชาธิปไตย และสื่อมวลชนต้องสามารถทำหน้าที่ได้อย่างเป็นอิสระ ปราศจากการถูกครอบงำจากภาคการเมืองและกลุ่มผลประโยชน์ คปส.จึงมีข้อเสนอดังนี้
๑. บรรณาธิการ ผู้บริหารหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ควรชี้แจงให้สาธารณชนและกลุ่มผู้อ่านได้ทราบถึงสาเหตุและข้อเท็จจริงในการสั่งยุติบทบาทการนำเสนอความคิดเห็นของคอลัมนิสต์ดังกล่าว
๒. กลุ่มผู้อ่านหนังสือพิมพ์ที่ต้องการให้ผู้เขียนคอลัมน์ว่ายทวนน้ำมีโอกาสและพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างได้เช่นที่ผ่านมา ควรแสดงออกร่วมกันโดยสื่อสารไปถึงฝ่ายบริหารหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ให้รับรู้และพิจารณาทบทวน
ทั้งนี้ในวาระครบรอบสิบสามปีการก่อตั้งหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ในวันที่ 21 ตุลาคม 2552 คปส.ขอให้หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ยืนหยัดการทำหน้าที่สื่อมวลชนด้วยความเป็นอิสระและพร้อมเปิดพื้นที่ให้กับมุมมองที่แตกต่างหลากหลายเพื่อส่งเสริมสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนดังเช่นที่ผ่านมา
ด้วยจิตคารวะ
คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ
6 พฤศจิกายน 2552
ใบตองแห้งเผยถูกบีบจนต้องออก แต่ประนีประนอมให้เป็นฟรีแลนซ์
ผู้ใช้นามปากกา"ใบตองแห้งไทยโพสต์"ได้ส่งอีเมล์ฉบับหนึ่งถึงนายธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการนิตยสารฟ้าเดียวกัน และนายธนาพลซึ่งเป็นสมาชิกของ กระดานสนทนาชุมชนฟ้าเดียวกัน ได้นำมาเสนอในกระดานสนทนาดังกล่าว ดังต่อไปนี้
สืบเนื่องจากกระทู้ที่นายธนาพลตั้งไว้ในกระดานสนทนาชุมชนฟ้าเดียวกันว่า"แล้วไทยโพสต์ก็กลายเป็นดาวสยามสมบูรณ์แบบเมื่อเปลว สีเงิน ห้าม "ใบตองแห้ง" เขียนคอลัมน์ ล่าสุดมีอีเมลล์จาก คุณใบตองแห้ง ส่งมายังผมเพื่อชี้แจงสิ่งที่เกิดขึ้นดังต่อไปนี้
เรียนคุณธนาพล
ฝากชี้แจงในบอร์ดฟ้าเดียวกันซักหน่อยเถอะครับ ยังไม่อยากเข้าไปแจมในนามใบตองแห้ง(อดีต)ไทยโพสต์ ไว้อีกซักช่วงจะเข้ามา
ที่ต้องชี้แจงเพราะมีข้อโต้แย้งสับสนว่าผมลาออกหรือไม่ลาออก น้องปองที่น่ารัก (ฮา) ก็บอกว่าผมยังไม่ออก แต่ไปทำบันเทิง และมีคำชี้แจงทำนองว่าผมไม่ได้ออกไปไหนแค่ไปอยู่ข้างวง
ขอเรียนอย่างนี้ว่า ผมเขียนอะไรหลายอย่างในไทยโพสต์ ทั้งว่ายทวนน้ำ สัมภาษณ์แทบลอยด์ บันเทิง (ในฐานะคนชอบดูหนัง-แบบที่คุณรักในหลวงฯ เคยแซว อิอิ) แถมบางครั้งก็ช่วยเขียนข่าว หรือทำฉบับพิเศษ
เมื่อผมทราบว่าวีซ่าหมดอายุ ไม่ได้เขียนว่ายทวนน้ำอีก ผมก็ยอมรับโดยดี ไม่ได้ถามเหตุผล เพราะมองแบบน้ำครึ่งแก้ว ผมได้อิสระมาตั้ง 3 ปีกว่า ก็เป็นความใจกว้างล้นเหลือแล้ว แต่บอกว่าถ้าอย่างนั้นผมก็ควรงดสัมภาษณ์ด้วย เพราะจะสร้างความขัดแย้งเช่นกัน และผมก็คงนั่งกินเงินเดือนเปล่าๆ ไม่ได้ ก็ต้องลาออก เพื่อมีอิสระไปทำอะไรใหม่ๆ
ข้อตกลงนี้ทราบกันวงในมาเดือนกว่าแล้ว (ก่อนไปสัมภาษณ์สนธิ ลิ้มทองกุลเสียอีก) ก็ไม่มีใครคัดค้าน เพียงแต่มาคุยกันภายหลังว่า ผมจะทำบันเทิงอยู่ไหม ผมยังไม่อยากตกงานแบมือขอเงินเมียอย่างเดียว จึงบอกว่าทำได้ในลักษณะฟรีแลนซ์ แต่ไทยโพสต์เสนอว่าจะให้เป็นเงินเดือน โดยคิดเงินเดือนกันใหม่ (ลดลงจากเดิมมาก) ผมก็โอเค เพราะจะได้ไม่ยุ่งยากเรื่องการส่งภาษีส่งประกันสังคม
ฉะนั้นผมก็ไม่ได้ยื่นใบลาออกเป็นทางการ (ที่จริงอยู่ที่ไหนก็ไม่เคยยื่นใบลาออก มีแต่โบกมือบ๊ายบายว่าไปนะ เรื่องเอกสารไปจัดการกันเอง) นับแต่วันที่ 1 พ.ย. ถ้าดูบัญชีพนักงานผมก็ยังเป็นพนักงานที่รับเงินเดือนไทยโพสต์อยู่ แต่เป็นเงินเดือนใหม่ ข้อตกลงใหม่ ผมไม่มีตำแหน่งหน้าที่อะไรแล้ว ไม่เกี่ยวข้องกับโต๊ะข่าวการเมือง ไม่มีเก้าอี้นั่ง ไม่ต้องเข้าออฟฟิศ เขียนส่งทางเมล์ และมีอิสระที่จะไปทำงานที่อื่น (ไม่มีไม่ได้ ไม่งั้นอดตาย-ฮา)
ดังนั้นถ้าพูดว่าผมยังอยู่ ยังไม่ได้ออก ก็ถูกเหมือนกัน แต่ถูกครึ่งเดียว ที่ถูกคือผมออกมาอยู่ข้างนอก ทำงานอิสระ แต่ยังรับจ้างไทยโพสต์ในงานที่ไม่เกี่ยวกับการเมือง
อันนี้ชัดเจน ไม่ต้องส่งตีความตามพจนานุกรม (ฮา) และผมต้องชี้แจง ไม่เช่นนั้นใครๆ เข้าใจว่าผมยังทำงานไทยโพสต์อยู่ ผมก็จะหางานใหม่ไม่ได้ ข้อนี้สำคัญครับ
ใบตองแห้ง
ทางด้านนักกฎหมายแรงงานกล่าวว่า การที่ผู้บริหารไทยโพสต์ทำกับใบตองแห้งดังกล่าว ขัดต่อกฎหมายคุ้มครองสิทธิแรงงาน เพราะเป็นการปรับสภาพการจ้างงานโดยไม่เป็นธรรม ดูเจตนาแล้วหวังผลให้พนักงานลาออกเอง โดยที่ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงาน ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่า"ใบตองแห้ง"จะยกขึ้นมาต่อสู้ว่าถูกปรับสภาพการจ้างเพื่อบีบให้ลาออก แล้วไปขอค่าชดเชยตามกฎหมาย หรือสมยอมกับการกระทำดังกล่าว