ที่มา ข่าวสด
คอลัมน์ เหล็กใน
ว่าการที่ นายราเกซ สักเสนา ผู้ต้องหา "ตัวพ่อ" ในคดียักยอกทรัพย์แบงก์บีบีซี ถูกส่งตัวจากแคนาดามาเข้าคุกเมืองไทย
ใครจะหายใจไม่ทั่วท้องกันบ้าง?
โดยเฉพาะนักการเมืองที่เคยมีส่วนรวมหัวกันปล้นเงินแบงก์บีบีซี จนกลายเป?นจุดเริ่มของวิกฤต "ต้มยำกุ้ง" เมื่อปี 2540 สะเทือนกันทั้งภูมิภาคเอเชีย
การกลับมาของนายราเกซ ทำให้ชื่อของนักการเมืองกลุ่ม 16 ถูกรื้อฟื้นนำมาพูดถึงอีกครั้ง
ถึงแม้บางคนในกลุ่ม 16 ได้วางมืออำลาจากการเมืองไปแล้ว
แต่ส่วนใหญ่ยังมีบทบาทสำคัญทั้งฉากหน้าและฉากหลัง อีกทั้งหลายคนยังเป็นแกนนำ "ตัวจริง" ของพรรคร่วมรัฐบาลชุดปัจจุบันอีกด้วย
ในส่วนของภาคการเมืองนั้น นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ และเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ คือหนึ่งในผู้ร่วมเขียนตำนานคดีแบงก์บีบีซี
ในฐานะผู้เปิดโปงขบวนการปล้นบันลือโลก ที่เป็นการร่วมมือกันระหว่างผู้บริหารระดับสูงของธนาคารและนักการเมืองกลุ่มหนึ่ง
ผ่านการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา เมื่อปี 2539
กระทั่งเวลาล่วงเลยมานานกว่า 10 ปี การเมืองบนพื้นฐานคำว่า "ไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร"
นายสุเทพยืนยันว่าภารกิจของตนเองเสร็จสิ้นสมบูรณ์ ไปแล้วตั้งแต่การอภิปรายครั้งนั้น
เมื่อนายราเกซ ถูกส่งตัวกลับมาดำเนินคดีในไทยจึงเป็นอำนาจหน้าที่ของตำรวจต้องดำเนินการ
ชัดเจนสำหรับท่าทีของ "เทพเทือก"
กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคภูมิใจไทย ตั้งแต่มาร่วมงานกันเป็นรัฐบาลก็ดำเนินไปในลักษณะสามวันดีสี่วันไข้มาตลอด
มีเรื่องกระทบกระทั่งกันอยู่เนืองๆ
ตั้งแต่เรื่องการรับจำนำพืชผลการเกษตร การแต่งตั้งผบ.ตร. การแก้ไขรัฐธรรมนูญ การโยกย้ายข้าราชการกระทรวงพาณิชย์ ล่าสุดเรื่องไล่ออกพนักงานการรถไฟฯ
ฝุ่นยังไม่ทันจางก็มีประเด็นเรื่องแบงก์บีบีซีโผล่แทรกขึ้นมาเขย่าความสัมพันธ์ของ 2 พรรคนี้อีก
โดยคราวนี้มีนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกฯฝ่ายเศรษฐกิจ และว่าที่เลขาธิการนายกรัฐมนตรีคนใหม่
เป็นกุญแจสำคัญที่จะไขไปสู่จุดไคลแมกซ์ของเรื่อง
การตัดสินใจของนายกอร์ปศักดิ์ไม่เพียงแต่เกี่ยวพันกับเกียรติภูมิส่วนตัว
แต่ยังเกี่ยวพันไปถึงเกียรติภูมิของรัฐบาลชุดนี้อีกด้วย