WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Friday, November 6, 2009

บันทึกอดีตสหายเดือนตุลา(บทสุดท้าย): ตะวันตกที่ตะนาวศรี

ที่มา Thai E-News


โดย วันลา วันวิไล
ที่มา หนังสือตะวันตก
5 พฤศจิกายน 2552

สิ่งที่ผมทำอาจไม่มีคุณูปการใด ๆ เลย แต่อย่างน้อยก็เป็นการบอกกล่าวต่อสังคมว่า เราไม่ได้นิ่งเฉยดูดายกับความไม่เป็นธรรม วันนี้สงครามได้จบลงแล้ว แต่ความรุนแรงในสังคมไม่ได้ราบคาบลงด้วย วันข้างหน้าอาจไม่มีการก่อการเช่นนี้อีก แต่เชื่อว่าอุดมการณ์เพื่อสังคมคงไม่สูญหายไปไหน

ถ้าเป็นเพื่อนพี่น้องที่ไม่เคยรู้เห็นเรื่องเหล่านี้ก็ขอเพียงให้รู้ว่ามันเคย "มี" เรื่องเช่นนี้ก็พอแล้ว


17. บทสุดท้าย

เช้ามืดวันที่ 16 พฤศจิกายน 2519 ผมเดินทางจากกรุงเทพฯด้วยรถดีเซลรางจากสถานีบางกอกน้อย ไปถึงเขตชายป่าตะวันตกเมื่อมืดค่ำลงมี “สหาย” 4 คนมารับ จำได้ว่าหนึ่งในนั้นเป็นฝ่ายนำท่านหนึ่ง เดินเลียบไร่ชาวบ้าน และไต่ไปตามตีนเขาเตี้ย ๆ ด้วยความรู้สึกตื่นเต้น เมื่อถึงที่พักได้นอนเปลผ้าใบเป็นคืนแรก

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา 2 เท้าเดินย่ำไปในป่าเขา บางครั้งก็โดดเดี่ยวอ้างว้าง บางครั้งก็หัวเราะร้องเพลง มืดค่ำนอนใต้ผ้ายางหลังคา ใต้แสงเดือนดาวและเวิ้งฟ้าอันไพศาล

จนสิ้นสุดการเดินทางในป่าเปลี่ยวลงเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2523 รวมเวลาได้ 1,428 วัน

ทั้งหมดนั้นไม่รู้ว่าจะนับเป็นความอ่อนหัดหรือองอาจกันแน่ สิ่งที่ผมทำอาจไม่มีคุณูปการใด ๆ เลย แต่อย่างน้อยก็เป็นการบอกกล่าวต่อสังคมว่า เราไม่ได้นิ่งเฉยดูดายกับความไม่เป็นธรรม

แม้วิธีการจะผิดพลาดและเจ็บปวด แต่เราก็เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามแก้ไขปัญหา เราเป็นประชาชนของประเทศนี้และมีสำนึกบริสุทธิ์ต่ออนาคตของบ้านเมือง

ความรู้สึกร่วมกันของชนในชาติไม่ใช่เป็นนามธรรมแค่ “รวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย เป็นประชารัฐ” แต่ต่างรู้สึกเป็นเจ้าของแผ่นดินทั้งผืน ตั้งแต่ทุ่งดอกบัวตองที่ดอยแม่อุคอ เมฆหมอกแห่งทุ่งแสลงหลวง ลำน้ำน่านจากภูแว ลุ่มน้ำสงครามกับดอกจานสีสด ต้นกระชิดริมเทือกเขาตะนาวศรี และอำเภอสุไหงปาดี ที่นราธิวาส

วันนี้สงครามได้จบลงแล้ว แต่ความรุนแรงในสังคมไม่ได้ราบคาบลงด้วย วันข้างหน้าอาจไม่มีการก่อการเช่นนี้อีก แต่เชื่อว่าอุดมการณ์เพื่อสังคมคงไม่สูญหายไปไหน คนรุ่นหลังจะสืบทอดต่อไปด้วยความคิด ความเข้าใจและวิธีการเรียกร้องต่อสู้ต่าง ๆ กัน ตราบเท่าที่ผู้คนยังทุกข์ตรม และอำนาจรัฐยังไม่สามารถจัดการแบ่งสรรทรัพยากร และศักดิ์ศรีอย่างเป็นธรรม

สิ่งที่ผมได้รับจากป่าไม่ใช่ความสามารถในการทำมาหากิน ไม่ใช่ความสามารถในการคิด และไม่ใช่ความดีงามที่จะโอ้อวดใคร แต่เป็นความกล้าที่จะแสดงความรู้สึกรักความเป็นธรรม และกล้าที่จะไม่ยอมรับความบูดเบี้ยวของสังคม

ในวันเวลาที่ล่วงเลย ขณะที่เศรษฐกิจและสังคมพัฒนาไป คนจำนวนหนึ่งมีฐานะและความเป็นอยู่ดีขึ้น แต่ความคิดใฝ่หาความจริงกลับลดน้อยลง ผู้คนบ้านเมืองนี้ไม่ค่อยกล้าชี้ว่าสิ่งนี้เอา สิ่งนั้นไม่เอา และส่วนหนึ่งก็ถูกคำพูดเพียงไม่กี่คำว่า “ไม่เชื่อก็อย่าลบหลู่” ปิดปากเอาไว้

การล้มละลายของความคิดแบบสังคมนิยมและปรัชญาชีวิตในทศวรรษ 70 ทำให้วิถีของทุนนิยมและปัจเจกชนนิยมเบ่งบานเต็มที่

สังคมก้าวผ่านสู่ปัญหาใหม่ที่เศรษฐกิจผูกติดกับทุนทั้งในและนอกประเทศจนมิติของสังคม วัฒนธรรม และการรวมกลุ่มเพื่อแก้ปัญหาโดยรวมอ่อนแอลง

วิธีคิดและการดำเนินชีวิตของผู้คนบิดเบี้ยวไป สิ่งศักดิ์สิทธิ วัตถุมงคล และพิธีกรรมเพื่ออภินิหารเต็มบ้านเต็มเมือง ครอบคลุมตั้งแต่วัยรุ่นยุคใหม่จนถึงคนที่ได้รับการศึกษาชั้นสูง

การขูดรีดเอาเปรียบกันกลายเป็นจริยธรรมใหม่ที่ได้รับการยอมรับในนามของเสรีทางการเงินและการค้า แม้การปกครองระบอบประชาธิปไตยจะก้าวหน้าไป แต่บุคลากรทางการเมืองยังล้าหลัง คดโกง และไม่สามารถจัดการหรือผลักดันปัญหาที่ซับซ้อนให้คลี่คลายได้

ผ่านมาหลายปีแล้ว ทุกครั้งที่ผมขับรถผ่านไปทางตะวันตก ยังคงมองทิวทัศน์ของเทือกเขาตะนาวศรีเสมอ ขุนเขายังคงยืนยงไม่ว่าคนจะอยู่หรือไป เฉกเช่นความรู้สึกงดงามยังคงซึมซับอยู่ในใจ ไม่ว่าใครจะชื่นชมหรือดูแคลน. . . .

ขอบคุณพระเจ้า ขอบคุณตะนาวศรีที่ทำให้ชีวิตผมไม่เรียบลื่นและเหลวไหลเกินไป

บทส่งท้าย


มีหนังสือหลายเล่มที่เขียนเกี่ยวกับการเข้าร่วมกับกองกำลังติดอาวุธของ พ.ค.ท. ในป่าเขา ทั้งในรูปของเรื่องเล่า บันทึก เรื่องสั้น และนวนิยาย ในจำนวนเหล่านั้น ส่วนมากมักจะถูกกลั่นกรองจากสายตาและทัศนะของนักเขียน ศิลปิน อดีตผู้นำนักศึกษาในยุค 14 ตุลา ตลอดจนผู้นำในขบวนการปฏิวัติ

ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ผมตั้งใจจะเขียนหนังสือสักเล่มหนึ่งเกี่ยวกับประสบการณ์ที่ได้เข้าร่วมขบวนการในป่ายุคหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา นั้น แต่ด้วยสายตาและทัศนะของผู้ปฏิบัติงาน "ระดับล่างสุด" เพื่อบอกเล่าเหตุการณ์ตามสภาพที่เกิดขึ้นจริง เชื่อมโยงกับความเข้าใจพื้นๆโดยไม่ต้องมีทฤษฎีวิเคราะห์ใดมาชี้นำ

อย่างไรก็ตาม ผมทิ้งบันทึกคร่าวๆไว้ร่วม 20 ปี จึงได้จับมาปัดฝุ่นแล้วเรียบเรียงเป็นหนังสือเล่มนี้ ด้วยความปรารถนาจะให้เหตุการณ์ผ่านไปให้เนิ่นนานพอที่จะให้เหลียวแลไปข้างหลังแล้วมองปรากฏการณ์ที่เคยเกิดขึ้นอย่างพินิจพิจรณาและไม่มีฉันทาคติ รวมทั้งเอาความรู้สึกนึกคิดในปัจจุบันที่เติบโตและเป็นผู้ใหญ่กว่าแต่ก่อนมาจับและอธิบาย

ผมไม่เคยเชื่อในหลักความเป็นกลาง แต่ไม่ได้ต้องการจะโน้มน้าวใครด้วยคำพูดเพียงไม่กี่คำ ทัศนะที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้ แม้จะเป็นเพียงความรู้สึก ไม่ได้มีข้อทฤษฎีทางวิชาการใดมาสนับสนุน แต่ผมก็เชื่อและคิดอย่างที่เขียน

แม้จะไม่ค่อยหวังว่าจะมีคนอ่านมากนัก แต่สำหรับผู้ที่ได้อ่าน ถ้าเป็นผองเพื่อนที่เคยผ่านร้อนหนาวคล้ายกันก็ให้ถือเสียว่าเป็นการอ่านแก้เหงาดีกว่าอยู่เปล่าๆ

ถ้าเป็นเพื่อนพี่น้องที่ไม่เคยรู้เห็นเรื่องเหล่านี้ก็ขอเพียงให้รู้ว่ามันเคย "มี" เรื่องเช่นนี้ก็พอแล้ว ผมไม่เคยต้องการคำถามและคำตอบที่ชัดเจน และเชื่อว่าสิ่งที่เราอยากรู้ต่อไปมันอยู่ในอนาคต

และการใฝ่หาของทุกคนมากกว่า @

*************
อ่านบันทึกครบชุดย้อนหลัง:
บันทึกอดีตสหายเดือนตุลา:ตะวันตกที่ตะนาวศรี