ที่มา ข่าวสด
รายงานพิเศษ
1.อิสมาแอ อาลี / 2.ศรีสมภพ จิตรภิรมย์ศรี |
นักวิชาการและกรรมการอิสลาม ในฐานะคนพื้นที่และคลุกคลีกับปัญหาอย่างต่อเนื่อง มองข้อเสนอนี้ในมุมไหน อย่างไร
1.อิสมาแอ อาลี
ผอ.วิทยาลัยอิสลามศึกษา มอ.ปัตตานี
ความคิดเห็นที่เสนอต่อสาธารณะจากทุกฝ่ายเราต้องรับฟัง นำมาวิเคราะห์ความเป็นไปได้ว่าถูกต้องหรือไม่ จะแก้ปัญหาระยะยาวได้หรือไม่ ปัญหาหลักคืออะไร
นครปัตตานี อาจตอบโจทย์ได้บางอย่าง ผมให้เครดิตที่เสนอ แต่ประเด็นหลักที่ผมเข้าใจคือทำอย่าง ไรให้คนในพื้นที่รู้สึกภูมิใจในอัตลักษณ์ เอกลักษณ์ ภูมิใจในประวัติ ศาสตร์ชาติพันธุ์ โดยอยู่ในกรอบกฎหมาย
หากข้อเสนอเป็นอย่างที่กล่าวมาก็พอตอบโจทย์ได้ แต่ต้องศึกษาวิจัย สอบถามทั้งคนรับผิดชอบ ประชาชนในพื้นที่และส่วนที่เกี่ยวข้อง ว่ารูปแบบปัญหานี้จะแก้อย่างถาวรควรทำอย่างไร
ปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นมีหลายฝ่าย หลายหน่วยงานที่ศึกษาพบว่าไม่ใช่ความขัดแย้งศาสนา บางคนบอกต้องแก้ 1.ความเป็นมลายู 2.เอกลักษณ์ เพราะปัตตานีมีประวัติของตัวเอง 3.วัฒนธรรมที่แตกต่าง จะแก้อย่างไรให้คนในพื้นที่ได้สิทธิในการอนุรักษ์เรื่องเหล่านี้
การลงพื้นที่ของพล.อ.ชวลิต เราก็ต้องเปิดกว้างรับความช่วยเหลือ เพียงแต่จะตอบโจทย์ได้สมบูรณ์หรือไม่ อาจตอบได้ส่วนหนึ่ง เหมือนการมีศอ.บต. ที่อาจแก้เรื่องความเป็นเอกภาพของส่วนราชการที่ลงมาแก้ปัญหา แต่ปัจจุบันปัญหาพัฒนาไปมาก ศอ.บต.รูปแบบเดิมคงไม่สามารถตอบโจทย์ได้
ข้อเสนอจากฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้านยังไม่เห็นแนวทางที่จะตอบโจทย์ได้เลย เพราะปัญหาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ไม่ใช่ปัญหาระบบราชการ กองกำลัง หรือกองทัพ แต่เป็นปัญหาการเมืองที่ต้องแก้โดยวิธีทางการเมืองและน่าจะเป็นเหตุผลหลัก
รัฐบาล-ฝ่ายค้านขัดแย้งกัน ผมพอเข้าใจและรับได้ แต่ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้น่าจะจับมือกันแก้ไขเพราะเป็นเรื่องผลประโยชน์ชาติและเรื่องเร่งด่วน
การแก้ปัญหาต้องมีเอกภาพและได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่าย
3.หะยีอับดุลรอชัค อาลี /4.อัฮหมัดสมบูรณ์ บัวหลวง/5.อับดุลอาซิซ ตาเดอินทร์ |
2.ศรีสมภพ จิตรภิรมย์ศรี
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มอ.ปัตตานี
ผอ.ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้
มองแง่ปัญหาเชิงโครงสร้าง แนวคิดของพล.อ.ชวลิตอาจเป็นส่วนหนึ่งที่จะแก้ไขปัญหาได้ด้วย หากมองแบบให้สิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชนที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมท้องถิ่นและอัตลักษณ์ ก็แก้ปัญหาได้
ไม่ได้แปลกใหม่ เป็นข้อเสนอที่ทำให้การบริหารเหมือน กทม. พัทยา เป็นรูปแบบการปกครองท้องถิ่นตามกฎหมายการปกครองของไทย
เป็นทางเลือกหนึ่งในหลายรูปแบบที่นักวิชาการผู้ศึกษาวิจัยเรื่องนี้เสนอโมเดลมาแล้ว เช่น การบริหารในรูปแบบทบวง การปกครองพิเศษในภาคใต้ อาจมีกระทรวงขึ้นมาดูแลโดยตรง มีการเสนอเป็นเขตปกครอง พิเศษเหมือนอาเจะห์ อินโดนีเซีย หรือการปกครองพิเศษในจีน
ข้อเสนอที่จะแก้ปัญหาได้ต้องลดเงื่อน ไขสงคราม เชื่อมโยงอัตลักษณ์ เรื่องท้องถิ่น ประวัติศาสตร์ชาติ พันธุ์ ศาสนา โครง สร้างการปกครอง การบริหาร ซึ่งจะแก้ปัญ หาเรื่องอำนาจรัฐ เรื่องความยุติธรรมได้ด้วย และจะทำให้สอดคล้องการปกครองส่วนท้องถิ่นได้ ต้องดูว่าเป็นโครงสร้างที่ท้องถิ่นมีส่วนร่วมได้อย่างไร
การบริหารจัดการปัตตานีมีหลายรูปแบบ หลายรัฐบาลที่ผ่านมาไม่ได้ดำเนินการ อาจไม่ไว้ใจคนชายแดนภาคใต้ มองว่าขัดแย้งรัฐธรรมนูญ ขัดหลักรัฐเดี่ยว ในรัฐธรรมนูญมาตรา 1
ความจริงสามารถเดินไปได้ด้วยกันกับรัฐเดี่ยวและการปกครองพิเศษ ไม่ขัดแย้งกัน แต่ใช้ความกลัวว่าขัดหลักการนี้เป็นข้ออ้าง รูปแบบการปกครองเป็นคนละเรื่องกับเรื่องความมั่นคง เรื่องทหาร
ส่วนกฎหมายที่แข่งกันเสนอเข้าสภาตอนนี้ มีร่างที่ก้าวหน้ากว่าของรัฐบาลคือ ร่างของน.พ.แวมาฮาดี แวดาโอะ ที่มีเรื่องสมัชชาประชาชน และร่างของนายนัจมุดดีน อูมา ที่ปรับโครงสร้างใหม่ทั้งหมด เป็นโครงการกระทรวงใหม่ทั้งชุด มีเรื่องการบริหารงานภูมิภาคและท้องถิ่นในรูปแบบของการบริหารงานแบบพิเศษ
ปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นต้องแก้ด้วยการเมือง การปกครอง การบริหารที่เป็นนโยบายใหม่ทั้งหมด ไม่เช่นนั้นจะไม่สอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่น ขณะที่ปัจจุบันเน้นที่การทหารเป็นหลัก
รัฐบาลน่าจะพิจารณาทางเลือกต่างๆ ศึกษารายละเอียดให้ประชาชนมีส่วนร่วมพิจารณาด้วย จะช่วยแก้ปัญหาภาคใต้ได้
3.หะยีอับดุลรอชัค อาลี
ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำ จ.นราธิวาส
อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)
พล.อ.ชวลิตยังไม่ได้อธิบายถึงรายละเอียดว่านครปัตตานี ตามแนวคิดของท่านเป็นอย่างไร
หากถามคน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เชื่อว่ามีแนวคิดเรื่องเขตปก ครองแบบ กทม. และเมืองพัทยา อยู่แล้ว แต่ต้องพิจาร ณาให้รอบคอบเรื่อง "จุดสมดุล" ของการกระจายอำนาจการบริหาร
ต้องคำนึงว่าฝ่ายนโยบายคือรัฐบาลและประชาชนทั้ง 3 จังหวัดมีความเห็นสอดคล้องต้องกันว่าควรอยู่ตรงไหน
ส่วนความหวาดกลัวว่าการแยกเป็นเขตปกครองพิเศษแล้วจะทำให้ไทยเสียดินแดนหรือการปกครอง
ต้องทำความเข้าใจร่วมกันตั้งแต่ระดับรัฐบาลและท้องถิ่น ไม่ว่ารูปแบบการปกครองจะออกมาอย่างไร ความสำคัญอยู่ที่ทุกคนต้องยอมรับได้ คงไม่ใช่เรื่องการเสียดินแดนอย่างที่ คิดกัน
การเสนอนครปัตตานีของพล.อ.ชวลิตเป็นเพียงนามธรรม เป็นจิตวิทยา ยังไม่ใช่แนวปฏิบัติที่คนทั้ง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าใจ ต้องนำไปพิจารณาผลดีผลเสีย ยังบอกไม่ได้ว่าสนับสนุนแนวคิดนี้หรือไม่ ขอศึกษารายละเอียดและฟังหลายฝ่ายว่ามีความคิดเห็นอย่างไร ข้อเสนอของพล.อ.ชวลิตยังไม่ตกผลึกพอที่จะให้คำตอบได้
สำหรับนโยบายกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น นายกฯ และรัฐบาลมีความตั้งใจดี แต่วันนี้นโยบายดังกล่าวยังไม่เป็นรูปธรรมเพียงพอ แต่ไม่ใช่เรื่องต้องมาตำหนิกัน เพราะทุกรัฐบาลมีนโยบายการแก้ปัญหาที่ต่างกัน
ถ้าให้ตอบวันนี้ยังไม่มีรัฐบาลไหนเข้าใจ เข้าถึงและพัฒนา อย่างแท้จริง ต้องปรับปรุงอีกมาก รัฐบาลต้องได้รับความร่วมมือจากฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
4.อัฮหมัดสมบูรณ์ บัวหลวง
อดีตคณะกรรมการอิสระ
เพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ(กอส.)
เรื่องนครปัตตานี เป็นแนวคิดที่ดี น่าจะเป็นทางออกหนึ่งในการแก้ปัญหา
การขับเคลื่อนของพล.อ.ชวลิตมี 2 นัยยะ 1.การใช้วิกฤตปัญหาความอ่อนแอและความล้มเหลวของรัฐบาลในการแก้ปัญหา ภาคใต้ เป็นโอกาส 2.การเสนอทุนเดิมเรื่องความสำเร็จที่เคยมีไว้แก่คนมุสลิม โดยการให้โอกาสคนมุสลิมขึ้นมานั่งเป็นประธานรัฐสภา และรัฐมนตรี
งานหนักคือปัญ หาภาคใต้ต้องใช้การเมืองเป็นทางออก ซึ่งจำเป็นต้องแปลงสัญญาณความคิดในการแก้ไขปัญหาให้เป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด เช่น เรื่องการใช้กฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดกอย่างเต็มรูปแบบ การถอนหรือการเลิกใช้กฎหมายที่กระทบและล่อแหลมกับการทำลายสิทธิมนุษยชน การใช้กำลังทหารที่มากเกินความจำเป็น
ตลอดจนส่งเสริมการศึกษา การพัฒนารายได้ การพัฒนาการเมืองภาคประชาชน เพื่อนำไปสู่การปกครองที่ประชาชนต้องการตามรูปแบบการกระจายอำนาจอย่างสมบูรณ์แบบ
อย่าใช้หรือเล่นการเมืองเพื่อประโยชน์แก่งานการเมืองของพรรคหรือพวกเพียงอย่างเดียว
5.อับดุลอาซิซ ตาเดอินทร์
ที่ปรึกษาสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย
5 ปีที่ผ่านมา เหตุ การณ์ไม่ได้ดีขึ้น รัฐบาลต้องมีความกล้าหาญในการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของเขตปกครองพิเศษ โดยใช้กฎหมายและรัฐ ธรรมนูญของไทย ผมมองว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปได้
ถ้าจะเรียกว่านครปัต ตานี อาจถูกต่อต้าน แต่ถ้าเรียกว่าเขตปกครองพิเศษอย่างเช่นพัทยาหรือกทม. ให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ผมเห็นด้วย เนื่องจากสอดคล้องกับแนวคิดของภาคประชาชนและองค์กรต่างๆ ในพื้นที่
จริงๆ แล้วการปกครองที่ว่านั้นคือการกระจายอำนาจ
เนื่องจากที่ผ่านมาในพื้นที่ไม่ได้มีอำนาจในการปกครองอย่างแท้จริง ส่วนใหญ่ยังเป็นอำนาจที่มาจากส่วนกลางมากกว่า หากสามารถกระจายอำนาจลงพื้นที่ได้เต็ม ปัญหาต่างๆ ก็จะหมดลง
หากนำนโยบายดังกล่าวมาใช้ ความรุนแรงในพื้นที่ก็มี ความเป็นไปได้ว่าจะลดลง เนื่องจากประชาชนมีส่วนร่วมแก้ปัญหา