โดยนายปกครอง News Chapraya
เรียกได้ว่าดัชนีการเมืองต้องเปลี่ยนอีกระลอก ภายหลังจากพ่อมดการเงิน “ราเกซ สักเสนา” ถูกส่งตัวกลับมาเมืองไทย ในคดียักยอกทรัพย์ธนาคารกรุงเทพพณิชยการ หรือบีบีซี
เหตุเพราะว่า “ราเกซ” คือกุญแจดอกสำคัญ ที่จะไขความกระจ่างของขบวนการเหลือบไรในคราบ “นักการเมือง” ที่สูบเลือดสูบเนื้อธนาคารบีบีซี จนต้องล้มไม่เป็นท่าเมื่อ 13 ปีก่อน
หากว่า “ราเกซ” ตัดสินใจให้การซัดทอด เพราะก่อนหน้านี้เขาเคยพูดไว้ว่า หากเขาโดนเมื่อไหร่ ก็จะแฉผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด
เพราะแน่นอนว่า ไม่ใช่เพียงราเกซคนเดียวที่ทำให้ธนาคารบีบีซีต้องเจ๊ง หากแต่มีขบวนการนักการการเมืองในนาม “กลุ่ม16″ ที่เกี่ยวพันในฐานะผู้ขอกู้ โดยส่วนหนึ่งอาศัยการเล่นแร่แปรธาตุจากที่ดินราคาถูก นำมาขอกู้เกินกว่าราคาประเมินชนิดสูงลิบลิ่ว
หากย้อนรอยคดีนี้กลับไป ตัว “ราเกซ” เอง เขามีบทบาทอย่างสูงในวงการเมืองและเศรษฐกิจ ในฐานะที่เป็นที่ปรึกษาให้กับ “เกริกเกียรติ ชาลีจันทร์” กรรมการผู้จัดการธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชยการ ซึ่งถูกทางการไทยยื่นฟ้องเมื่อปี 2539 ฐานร่วมกันยักยอกทรัพย์บีบีซีราว 75 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือราว 3,000 ล้านบาท อันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ธนาคารเก่าแก่ของไทยแห่งนี้ตกอยู่ในภาวะล้มละลายในปี 2538
การยักยอกทรัพย์ของ “ราเกซ” พร้อมพวก จะใช้วิธีการปล่อยกู้ที่มีความเสี่ยงสูงให้กับพรรคพวกที่เป็น”นักการเมือง”จำนวนหลายหมื่นล้านบาท จากนั้นจึง “ตบแต่งบัญชี” ให้มีผลกำไรนับร้อยนับพันล้านบาท ทั้งที่ขาดทุนย่อยยับ!
ต่อมา “บีบีซี” จึงล่มสลายลง เนื่องจากมีหนี้สินมหาศาลราว 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เกือบ 1.2 แสนล้านบาท) ในสมัยรัฐบาลบรรหาร ศิลปอาชา
และตามมาด้วยการปิดตัวของสถาบันการเงินกว่า 50 แห่งจนเป็นชนวนสำคัญให้เกิดการขาดความเชื่อมั่นในระบบธนาคารไทย และนำไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจการเงินในเอเชียหรือที่เรียกว่า “โรคต้มยำกุ้ง”ในปี 2540 ในสมัยรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ
หลังการปิดตัวลงของธนาคารบีบีซี พรรคฝ่ายค้านโดย “สุเทพ เทือกสุบรรณ” ได้นำทีมซักฟอกรัฐบาลบรรหาร พร้อมกับโยงเข้าหานักการเมือง “กลุ่ม 16″ เกี่ยวพันกับการปล่อยกู้ของบีบีซี ด้วยการนำเอาที่ดินที่ไม่มีราคามาค้ำประกันเงินกู้
จากนั้นจึง “ตบแต่งบัญชี” ให้มีผลกำไรนับร้อยนับพันล้านบาททั้งที่ขาดทุนย่อยยับ ส่งผลให้มีหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือเอ็นพีแอล และทำให้ “บีบีซี” ต้องล้มละลาย ถูกปิดกิจการ และถูกควบคุมโดยธนาคารแห่งประเทศไทย
ขณะที่ “กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ” ซึ่งขณะนั้นอยู่พรรคชาติพัฒนาและเป็นฝ่ายค้าน ก็ได้อภิปรายในสภากล่าวหาว่า พรรคชาติไทยที่มี “บรรหาร ศิลปอาชา” เป็นหัวหน้าพรรค ได้รับบริจาคเงินจาก “ราเกซ” นักการเงินชาวอินเดีย ผ่าน “สุชาติ ตันเจริญ” สมาชิกกลุ่ม 16 ซึ่งสังกัดพรรคชาติไทย
อันถือเป็นสิ่งต้องห้าม เพราะตามกฎหมาย ห้ามพรรคการเมืองรับบริจาคเงินจากชาวต่างชาติ ซึ่งมีโทษถึงขั้นถูกยุบพรรค !!!
สำหรับ “ส.ส. กลุ่ม 16 ” นั้นเป็นชื่อกลุ่มการเมืองที่เกิดจากการรวมกันของ “ส.ส. รุ่นใหม่” ในขณะนั้น หรือที่เรียกว่า “ยังบลัด” ในยุค 2535
ส่วนใหญ่เป็น ส.ส. พรรคชาติไทย พรรคชาติพัฒนา และพรรคเอกภาพ ได้ก่อตั้งกลุ่มขึ้นเมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2535 มี “สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ “เป็นหัวหน้ากลุ่ม
ขณะที่นักการเมือดังๆในกลุ่มได้แก่ เนวิน ชิดชอบ , ว่าที่ ร.ต.ไพโรจน์ สุวรรณฉวี , จำลอง ครุฑขุนทด , สุชาติ ตันเจริญ , สรอรรถ กลิ่นประทุม , ธานี ยี่สาร , วราเทพ รัตนากร , ฉัฐวัสส์ มุตตามระ
ปัจจุบันหลายคนยังมีบทบาทบนถนนการเมือง โดยเฉพาะ “เนวิน ” ที่เป็นแกนนำสำคัญในพรรคภูมิใจไทย ที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาลกับพรรคประชาธิปัตย์ในขณะนี้
ดังนั้น การที่ “ราเกซ” กลับมาปรากฏตัวในเมืองไทย และเตรียมขึ้นศาลเพื่อสู้คดี ก็เป็นที่น่าสังเกตว่า “ราเกซ” จะกล้าซัดทอดนักการเมืองคนใดหรือไม่
ขณะเดียวกันก็เป็นที่น่าจับตามองว่า รัฐบาลประชาธิปัตย์ ที่อภิปรายไว้เมื่อ 13 ปีที่แล้ว จะกล้าฟื้นฝอยหาตะเข็บหรือเปล่า
เพราะนั่นหมายถึงเสถียรภาพรัฐบาลที่อาจสั่นคลอนได้ เหตุเพราะนักการเมืองที่มีส่วนเกี่ยวพันกับคดีนี้เมื่อ 13 ปีก่อน บัดนี้ได้เป็นแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลแทบทุกพรรค ทั้งภูมิใจไทย , ชาติไทยพัฒนา , รวมใจไทยชาติพัฒนา และเพื่อแผ่นดิน
ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจหากจะเห็นท่าทีกระดี๊กระด๊าของพรรคเพื่อไทย ที่รีบเร่งปฏิกิริยา ขย่มซ้ำ ตอกลิ่มรอยร้าวในพรรคร่วมรัฐบาลทันที ด้วยการให้รีบประชาธิปัตย์จัดการกับนักการเมืองที่เกี่ยวพันกับบีบีซี
แต่หากมองอีกด้าน งานนี้อาจทำให้รัฐบาลมีเสถียรภาพมากขึ้นกว่าเดิมก็เป็นได้ หากว่าประชาธิปัตย์จะใช้เป็นตัวต่อรองกับพรรคร่วมรัฐบาล
กระนั้น ก็ต้องจับตามองอย่ากระพริบตา เพราะสถานการณ์การเมืองนับจากนี้จะเข้มข้นขึ้นทุกขณะ และพร้อมจะกลับตาลปัตรได้ตลอดเวลา
ขอบคุณที่มา