WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Monday, November 2, 2009

ฮุน เซนนอกตลาดสด โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

ที่มา มติชน



ในฐานะประเทศเล็กๆ ซึ่งต้องถูกขนาบข้างด้วยอำนาจที่เหนือกว่าทั้งสองฝั่ง กัมพูชาจะเอาตัวรอดได้อย่างไร?

ผมคิดว่านี่คือปัญหาใหญ่ของชนชั้นนำกัมพูชามาหลายศตวรรษแล้ว ความวิตกกังวลนี้ไม่ได้คิดขึ้นเอง แต่มาจากประสบการณ์จริงที่ผ่านมาในอดีตหลายร้อยปี แม้จนเมื่อไม่นานเกินความทรงจำนี้เอง ฝรั่งเศสบอกและคงจะสอดคล้องกับความคิดของเขมรด้วยว่า หากไม่มีฝรั่งเศส กัมพูชาคงถูกทั้งไทยและเวียดนามกลืนหายไปจากแผนที่โลกแล้ว

ฉะนั้น ประเด็นทางการเมืองที่สำคัญในกัมพูชา ไม่ว่าผู้นำจะเป็นใคร ก็ต้องรวมเอาการรักษากัมพูชาที่เหลืออยู่นิดเดียวนี้ให้รอดในฐานะประเทศเอกราชตลอดไป

หนทางหนึ่งที่ผู้นำกัมพูชาใช้ตลอดมา (ตั้งแต่ก่อนตกเป็นอาณานิคมฝรั่งเศส) ก็คืออาศัยเงื่อนไขในสถานการณ์การเมืองและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ในวงแคบๆ เฉพาะภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือในวงกว้างระดับโลกก็ตาม แต่สถานการณ์การเมืองและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้ประเทศเล็กๆ อย่างกัมพูชาสามารถเอาตัวรอดจากไทยและเวียดนามได้

ในระหว่างสงครามเย็น เจ้าสีหนุ (เมื่อทรงออกจากพระราชอิสริยยศกษัตริย์เพื่อดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี) ทรงเลือกที่จะสังกัดฝ่ายที่ "เป็นกลาง" เพราะรู้ว่ากัมพูชาไร้ความสำคัญทางเศรษฐกิจหรือยุทธศาสตร์เสียจนกระทั่ง สหรัฐคงปล่อยให้กัมพูชาเป็นกลางได้ต่อไป ในขณะเดียวกัน ก็ใช้ความเป็นกลางนี้เป็นอำนาจต่อรองกับไทย รวมทั้งนำเรื่องปราสาทพระวิหารขึ้นศาลโลก สิ่งที่กัมพูชาได้มาจากชัยชนะในครั้งนั้น ไม่ใช่แค่ตัวปราสาทพระวิหาร แต่คือการรับรองเส้นเขตแดนที่ไทยทำไว้กับฝรั่งเศส อันเป็นสิ่งที่กัมพูชาสามารถใช้เป็นกุญแจสำหรับไขล็อคอันเป็นข้อพิพาททางพรมแดนกับไทยได้อีกหลายจุดในอนาคต

เวียดนามในช่วงนั้นไม่น่าห่วงสำหรับกัมพูชานัก นอกจากถูกแยกประเทศเป็นเหนือ-ใต้แล้ว ยังมีสงครามระหว่างกันอย่างรุนแรง เพราะสหรัฐเข้าแทรกแซง

อย่างไรก็ตาม ยุทธศาสตร์ของสหรัฐเปลี่ยนไป เพราะต้องการปิดเส้นทางส่งกำลังบำรุงของเวียดนามเหนือให้เด็ดขาด จึงเกิดความจำเป็นที่สหรัฐจะต้องล้มล้างรัฐบาลภายใต้การกำกับของสีหนุลง แม้ว่ารัฐบาลกัมพูชาในช่วงนั้นเอาหูไปนาเอาตาไปไร่กับการละเมิดของสหรัฐ โดยทิ้งระเบิด "เส้นทางโฮจิมินห์" ส่วนที่อยู่ในประเทศกัมพูชาอย่างหนักก็ตาม

นายพลลอนนอลจึงทำรัฐประหาร ภายใต้การสนับสนุนหรือแม้แต่กำกับควบคุมของสหรัฐ

ในปัจจุบัน สถานการณ์สงครามเย็นและสงครามเวียดนามสิ้นสุดลงแล้ว เวียดนามกลายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันซึ่งยิ่งคุกคามกัมพูชาได้สะดวกขึ้น ส่วนไทยเองก็เข้มแข็งขึ้นจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับเศรษฐกิจกัมพูชาที่ต้องประสบความพินาศย่อยยับภายใต้เขมรแดง และกัมพูชายังมีกรณีพิพาทหรือที่ตกลงกันไม่ได้เรื่องเขตแดนทั้งกับไทยและเวียดนาม

ท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างประเทศเช่นนี้ นายกฯฮุน เซน เลือกที่จะยอมอยู่ใต้บารมีของเวียดนาม แต่ในขณะเดียวกันก็คานอำนาจเวียดนามไว้ด้วยความสัมพันธ์ที่ดีกับจีน, เป็นส่วนหนึ่งของอาเซียน (ทั้งสองอย่างนี้คานไทยไปพร้อมกัน), นอกจากนี้ก็เปิดประเทศให้แก่การลงทุนของมหาอำนาจตะวันตก คำว่าเปิดประเทศในที่นี้ หมายถึงการสร้าง "ระเบียบ" ทางเศรษฐกิจและการเมืองที่นักลงทุนตะวันตกพอจะรับได้ กัมพูชามีทรัพยากรบางอย่างที่อาจดึงดูดตะวันตกได้ง่าย เช่น ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย เป็นต้น ฉะนั้น หากกัมพูชาสามารถให้สัมปทานแก่บริษัทตะวันตกได้ จึงมีความหมายแก่กัมพูชามากกว่าเงินอย่างมาก

นี่เป็นทางเลือกเดียวที่น่าจะดีที่สุดในการยับยั้งเวียดนามไว้ที่พรมแดน ซึ่งมีข้อพิพาทกันอีกหลายจุด และรวมพื้นที่ซึ่งใหญ่กว่าที่เป็นกรณีพิพาทกับไทยเสียอีก แต่อย่างน้อยก็น่าจะชะลอเวียดนามไว้ได้ในช่วงหนึ่ง จนกว่าสถานการณ์การเมืองและเศรษฐกิจระหว่างประเทศจะเปลี่ยนไป

สถานการณ์ขณะนี้เอื้อให้กัมพูชาจัดการกับไทยมากกว่า อย่างน้อยก็ทำให้เกิดเส้นเขตแดนที่ไทยยอมรับ และโดยกระบวนการที่นานาชาติยอมรับเช่นกัน เหตุดังนั้นจึงเกิดกรณี "พิพาท" ระหว่างไทยและกัมพูชาในหลายจุดตามพรมแดน ทั้งทางบกและทางทะเล ถ้าไม่นับบริเวณปราสาทเขาพระวิหารแล้ว ความขัดแย้งไม่ได้พัฒนาขึ้นเป็นกรณี "พิพาท"

การจัดการกับไทยนั้น กัมพูชารู้ดีว่าสงครามไม่ใช่คำตอบ นอกจากกองทัพกัมพูชาไม่อาจสู้ไทยได้แล้ว (เช่นไทยอาจยึดครองน่านฟ้ากัมพูชาได้ในไม่กี่วัน) ยังจะมีผลร้ายด้านเศรษฐกิจตามมาแก่กัมพูชาเป็นอันมาก ในทางตรงกันข้ามไทยเองก็น่าจะรู้เหมือนกันว่า สงครามไม่ใช่คำตอบ เพราะไทยจะต้องเผชิญสงครามยืดเยื้อซึ่งไทยไม่อยู่ในสถานะที่จะทำสงครามประเภทนั้นได้

กัมพูชาก็น่าจะรู้ดีว่า หากเกิดสงครามกับไทย กัมพูชาไม่อาจพึ่งพาเวียดนามได้เต็มที่ เพราะเวียดนามจะมีอะไรสูญเสียมากเกินกว่าจะช่วยกัมพูชาได้ อย่างน้อยก็ช่วยโดยเปิดเผยไม่ได้ หากเป็นสงครามยืดเยื้อ เวียดนามจะถูกมหาอำนาจกดดันจนกระทั่ง ก้าวแรกของการพัฒนาเศรษฐกิจที่ประสบความสำเร็จของเวียดนามจะพังลงมาหมด

ฉะนั้น หนทางเดียวที่เหลืออยู่สำหรับกัมพูชาในการจัดการเรื่องเส้นเขตแดนและกรณีพิพาทกับไทยก็คือ การเจรจา

ประเด็นที่สำคัญกว่าการให้ที่พำนักแก่ทักษิณ แต่ได้รับความสนใจจากสื่อน้อยเกินไปก็คือ ฮุน เซน บอก พลเอก ชวลิต ว่า ข้อพิพาทเรื่องพรมแดนกับไทยนั้น จะอาศัยการเจรจาตกลงกันในระดับคณะกรรมการร่วมเรื่องเส้นเขตแดน แปลว่ากัมพูชาจะไม่ยกเรื่องนี้ขึ้นไปสู่ระดับนานาชาติ ตรงกับที่ไทยต้องการอยู่แล้ว และกัมพูชายังไม่เคยให้สัมปทานสำรวจก๊าซในอ่าวไทยแก่ใคร ความหมายก็คืออย่างน้อยข้อพิพาททางทะเลระหว่างกัมพูชาและไทยยังไม่ฉุกเฉินรีบด่วน ซึ่งก็สอดคล้องกับผลประโยชน์ของไทยเหมือนกัน

และขึ้นชื่อว่าการเจรจาแล้ว ย่อมหมายถึงอำนาจต่อรอง ในฐานะประเทศเล็กกว่าทั้งในทางเศรษฐกิจและการเมือง อำนาจต่อรองที่กัมพูชามีอยู่ไม่อาจทำให้กัมพูชาสามารถเจรจาอย่างเท่าเทียมกับไทยได้

ยกเว้นแต่ว่าไทยอ่อนแอทางการเมือง และในปัจจุบันไทยก็อ่อนแอทางการเมืองอย่างหนักด้วย กรุงเทพฯ ยังไม่อาจนำความสงบมาสู่สามจังหวัดภาคใต้ และกรุงเทพฯ เผชิญกับความแตกแยกทางการเมืองชนิดที่ไม่เคยประสบมาก่อนในสังคมสมัยใหม่ของไทย ดังนั้นความอ่อนแอของไทยในช่วงนี้จึงเป็นประโยชน์แก่กัมพูชา หากจะเกิดการเจรจาขึ้น

การแสดงความเป็นมิตรแก่ทักษิณของสมเด็จฯฮุน เซน จึงเป็นยุทธวิธีทางการเมืองที่จะรักษาความไม่ราบรื่นทางการเมืองของไทยเอาไว้ ยุทธวิธีนี้ต้องถือว่าทำได้อย่างฉลาดด้วย เพราะหากมีการเลือกตั้งทั่วไปในประเทศไทย แล้วพรรคเพื่อไทยได้จัดตั้งรัฐบาล รัฐบาลใหม่ของไทยก็จะไม่รู้สึกขุ่นเคืองกับกัมพูชา อีกทั้งกลุ่มไม่เอาทักษิณยิ่งหวาดหวั่นกับทักษิณที่มีมิตรอยู่ใกล้ๆ มากขึ้น จนกระทั่งป่วนเมืองอย่างหนักเพื่อไม่ให้เกิดความราบรื่นทางการเมืองแก่รัฐบาลใหม่ การเมืองไทยก็จะยังอ่อนแอด้วยความสับสนต่อไป ในทางตรงกันข้าม หากทหารกดดันการเมืองจนกระทั่ง ปชป.กลับมาจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ความกลัวทักษิณของรัฐบาลไทยก็จะดำเนินต่อไป และทำให้ประชาชนกลุ่มเอาทักษิณป่วนรัฐบาลใหม่อย่างไม่เลิกรา

ที่จริงแล้ว ฮุน เซนมีความเป็นมิตรกับทักษิณมากน้อยเพียงไร ไม่อาจทราบได้ แต่ความสัมพันธ์ที่ผ่านมาของคนทั้งสองใช่ว่าจะราบรื่นนัก ปฏิกิริยาของทักษิณหลังกรณีเผาสถานทูตไทยในพนมเปญนั้นแข็งกร้าวกว่าที่มิตรพึงกระทำต่อกัน และที่จริงกรณีนั้นก็เกิดขึ้นจากการหนุนหลังของ ฮุน เซนซึ่งประกาศตัวเป็นมิตรกับทักษิณเองในครั้งนี้

แต่การประกาศความเป็นเพื่อนที่แสนดี ทำให้ฮุน เซนสามารถยืนยันได้ว่า ตนไม่ได้แทรกแซงกิจการภายในของไทย ไม่ขัดกับข้อตกลงของอาเซียน และที่จริงแล้ว ทักษิณก็ไม่ได้เป็นศัตรูของคนไทยทั้งประเทศ มีคนอย่างน้อยครึ่งหนึ่งหรือมากกว่านั้นคงยินดีกับคำแถลงของฮุน เซน อาจจะมากกว่าจำนวนคนไทยที่ยินดีให้จีนและฝรั่งเศสเปิดประเทศให้ที่พำนักแก่ท่านรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ และยินดีที่อังกฤษเปิดให้แก่ท่านอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์

และหากทักษิณฉลาดน้อยพอจะย้ายที่พำนักมาอยู่กัมพูชาจริง ก็เท่ากับเพิ่มไพ่ให้กัมพูชาอีกใบหนึ่งในการเจรจา ใช้การดำรงอยู่ของทักษิณในกัมพูชาเพื่อป่วนการเมืองไทยก็ได้ หรือถึงที่สุดขอให้ทักษิณเดินทางออกนอกประเทศไปเพื่อแลกเปลี่ยนกับบางอย่างในการเจรจาก็ได้

ฮุน เซนเลือกที่จะย้ำท่าทีนี้ด้วยตนเอง และเลือกที่จะแถลงในประเทศไทยด้วย หลังจากที่ได้แถลงผ่านปากของชวลิตและดูจะได้ผลน้อยเกินไปมาแล้ว

การกระทำเช่นนี้ของสมเด็จฯฮุน เซนถูกกล่าวหาว่าเสียมารยาททางการทูต

มารยาททางการทูตที่เราพูดถึงกันบ่อยๆ นั้น ที่จริงแล้วเกิดขึ้นในบริบททางการเมืองระหว่างประเทศของยุโรปในคริสต์ศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา และต่อมาก็ถูกเสริมด้วยความสัมพันธ์ระหว่างมหาอำนาจและประเทศอื่นในช่วงจักรวรรดินิยมในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ไม่มีมารยาททางการทูตที่เป็นสากลและนิรันดร์กาลในโลกนี้ ปัจจุบันมารยาททางการทูตถูกใช้เป็น "ภาษา" ที่แสดงความปกติ (normalcy) ของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จึงเป็นกติกาสำหรับทูต ไม่ใช่สำหรับผู้นำประเทศ อย่างน้อยเขาก็ฝึกทูตให้ผูกเน็คไทได้สวย และกินค็อกเทลเป็น

ครูสชอฟเคยถอดรองเท้าขึ้นทุบโต๊ะในที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ก่อนหน้านั้นขึ้นไป ญี่ปุ่นโจมตีสหรัฐก่อนให้ทูตไปยื่นคำประกาศสงคราม (เพราะอาศัยเวลาที่เหลื่อมกันเมื่อข้ามเส้นแบ่งวันกลางมหาสมุทรแปซิฟิก) จะหาตัวอย่างประเภทนี้ได้อีกมาก

ผู้นำประเทศจะแสดงท่าทีต่อต่างประเทศอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับข้อพินิจว่า ท่าทีนั้นๆ จะเป็นประโยชน์ต่อนโยบายต่างประเทศของตนมากน้อยเพียงไร จะข้ามหรืออยู่ภายใต้มารยาททางการทูตของตะวันตกเป็นเรื่องรอง

ผมคิดว่าคนไทยต้องเข้าใจเงื่อนไขการดำเนินนโยบายของฮุน เซนให้ดี ก่อนที่จะตอบโต้อะไร หากต้องการตอบโต้ด้วยสติปัญญา การก่นด่าอย่างเมามันไม่ช่วยให้รู้เขา และรู้เราแต่อย่างใด

หากนักการทูตไทย (และสื่อไทย) เก่งแต่การตอบโต้กันกลางตลาด สถานะของไทยบนโต๊ะเจรจาจะยิ่งอ่อนแอลง