บทความโดย..ลูกชาวนาไทย
ผมจำได้ว่าแต่ก่อนสมัยที่ผมออกความเห็นอยู่ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ คอลัมน์ "เซี่ยงเส้าหลง" สมัยที่นายสนธิ ลิ้มทองกุล ยังดีอยู่ ไม่ได้บ้าเหมือนทุกวันนี้ ผมเป็นคนแรกๆ ที่เขียนความเห็นและบทความเกี่ยวกับการสนับสนุนให้ตั้งสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็น "เขตปกครองตนเองอิสระ" หรือ Autonomous Area แต่ผมเลิกความคิดนี้เมื่อมีการก่อความไม่สงบในภาคใต้ขึ้น และเกิดบ้ากระแส "ชาตินิยม" เช่นเดียวกับคนไทยทั้งหลาย
มาใน พ.ศ.นี้ ผมเบื่อหน่ายกับกระแสชาตินิยม และแนวคิดเรื่อง ราชอาณาจักรไทยต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน นี้เสียแล้ว เนื่องจากผม "สูญเสียศรัทธากับหลายสิ่งหลายอย่างในประเทศไทย" ทำให้ "ความคลั่งชาติ" ของผมลดน้อยลง เมื่อความคลั่งชาติ คลั่งบางอย่างลดลง ทำให้ผมมองปัญหาต่างๆ แบบเป็นมนุษย์มากขึ้น
ที่จริงการปกครองในโลกนี้ ก็ไม่จำเป็นต้องมีรูปแบบเดียว แบบรวบอำนาจไว้ที่ส่วนกลางอย่างเดียว ทั่วโลกมีรูปแบบการปกครองหลายแบบ เช่นแบบสหพันธรัฐ เช่น อเมริกา เยอรมนี อังกฤษ (สหราชอาณาจักรคือสหพันธรัฐ) และในเอเชียก็มีเช่นมาเลยเชีย สมัยก่อนประเทศไทย ก็แบ่งการปกครองออกเป็น เมืองเอก โท เมืองพระยามหานคร และหัวเมืองประเทศราช ประเทศไทยก็ยังคงยืนยงมาได้กว่า 700 ปี
แนวคิดเรื่องรัฐเดี่ยว เพิ่งจะมีมาหลังจากสมัยรัชกาลที่ 5 ที่เริ่มดึงอำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง ยกเลิกเมืองประเทศราช เช่น เชียงใหม่ น่าน ปัตตานี ต่างๆ ไป ก่อนหน้านั้นไทยก็เป็นรูปแบบสหพันธรัฐ ที่จริงเราเริ่มเป็นรัฐเดี่ยวเมื่อประมาณ 100 ปีมานี่เอง ไม่ได้นานเท่าใดนัก
ทุกวันนี้ประเทศทั่วโลกไม่มีเมืองขึ้นในด้านชื่อ แต่ระบบการปกครองก็ยังคงมีรัฐกึ่งอิสระ ที่เรียกว่า Autonomous Area ในหลายประเทศ เช่น จีน รัสเซีย อิตาลี สเปน เป็นต้น
ผมได้เคยศึกษาเรื่องนี้และอ่าน "ธรรมนูญเขตปกครองพิเศษ" ของหลายชาติ เช่น สเปน เขาจะมีกฎหมายพิเศษที่เรียกว่า Statute of Autonomy เช่น Statute of Autonomy of Catalonia เป็นต้น เหมือนกฎหมายรัฐธรรมนูญย่อยของเขตปกครองพิเศษนั้น ซึ่งตัวกฎหมายนี้จะกำหนดโครงสร้างของเขตปกครองนั้น เช่น มีสภา มีฝ่ายบริหารต่าง ๆ เป็นต้น อำนาจหน้าที่ ก็เป็นเรื่องกิจการภายใน เช่น การศึกษา สาธารณูปโภคต่างๆ รวมทั้งการเก็บภาษีบางอย่างด้วย ก็ไม่ได้ต่างอะไรมากมายกับ "พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร" อะไรนั่น เพียงแต่แนวคิดคนละอย่างเท่านั้นเอง แต่อำนาจหน้าที่ใกล้ๆ กัน แต่เขตปกครองพิเศษ อำนาจของ ราชการบริหารส่วนกลาง เช่น มหาดไทยอาจครอบคลุมไม่ถึงในเรื่องการปกครองภายในเท่านั้น ซึ่งมันก็ไม่สำคัญแต่อย่างใด
ที่จริง ปัตตานี เคยเป็นเมืองขึ้นของไทย หากเราจะให้กลับไปเป็นเมืองขึ้น "แบบประเทศราช" อีกครั้งหนึ่งก็ไม่เห็นจะมีปัญหาอะไร แต่อาจเรียกชื่อใหม่ เช่น เขตปกครองพิเศษ หรือ "นครปัตตานี" ตามแนวคิดของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นต้น
ทำไมประเทศไทยต้องเป็นรัฐเดี่ยว ในเมื่อแนวคิดนี้มันนำความสงบมาสู่มนุษยชาติในเขตนี้ไม่ได้
โลกนี้แคบลงทุกวัน และเหมือนเป็น "ยานอวกาศขนาดใหญ่" แม้จะกั้นห้องแยกกันอยู่ในยาน แต่มันก็ยังอยู่บนยานลำเดียวกันนั่นเอง แล้วเราจะไปแคร์ หรือโวยวายอะไรกับการที่ เอาผนังบางๆ มากั้นเขตให้คนในสามจังหวัดภาคใต้เขาบ้างไม่ได้ และเขาก็ยังคงอยู่ในห้องเดียวกับเรา เดินเข้าไปก็ไม่จำเป็นต้องผ่านประตู เพียงแต่กั้นเป็นที่เป็นทางให้ "มนุษยชาติกลุ่มนั้น" เท่านั้น
หากจะให้ก้าวหน้า (ที่จริงไม่ได้ก้าวหน้าสมัยโบราณก็เคยทำ) ก็ให้มีสุลต่าน ปัตตานี เป็นผู้นำศาสนาและทางวัฒนธรรมในท้องถิ่นก็ได้ แค่รับรู้สถานะกันเท่านั้น แต่ไม่ได้เป็นเอกราชแต่อย่างใด
ในอนาคตหากปัตตานีต้องการเป็นเอกราช ก็คงรบกัน (ตอนนี้ยังไม่เป็นก็รบกันตายหลายพันแล้ว) และผมคิดว่าพวกเขาก็คงไม่เสี่ยงที่จะรบ สู้อยู่แบบ "กึ่งอิสระ" และยอมรับอำนาจจากส่วนกลางบางระดับไม่ได้ อย่างน้อยปัตตานี ก็สามารถส่งสินค้า ค้าขายกับดินแดนส่วนอื่นๆ ของประเทศโดยไม่ต้องเสียภาษี เดินทางโดยไม่ต้องมีพาสปอร์ต เป็นต้น
คือแต่ก่อนกระแส "คลั่งชาติ" คลั่งบางสิ่งบางอย่างมันขวางอยู่ ทำให้ตาบอดไปพักหนึ่ง ตอนนี้ ผมไม่แคร์อะไรอีกแล้ว ประเทศวุ่นวายไม่สงบสักที เพราะกระแสบ้าบอพวกนั่นแหละ
สรุปผมเห็นด้วยกับแนวความคิดของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ในเรื่อง แนวคิดเกี่ยวกับนครปัตตานี
ตอนนี้ คนเสื้อแดง "ตาสว่าง" เยอะแล้ว เลิกครั้งบางสิ่งบางอย่างแล้ว ผมว่าคนเสื้อแดงสนับสนุนแนวคิดนี้ได้โดยไม่ยาก เลิกคลั่งชาติ กันเสียที แล้วทำสิ่งต่างๆ อย่างมีเหตุมีผล ในฐานะมนุษยชาติ ที่ต้องอาศัยอยู่บนยานอวกาศโลก ท่องไปในจักรวาลด้วยกัน จะเป็น นครปัตตานี หรือเขตปกครองพิเศษอะไร เราก็ยังอยู่ในโลกใบเดียวกัน