ที่มา ไทยรัฐ
ผ่าสถานการณ์ "บิ๊กจิ๋ว" นำร่องเปิดเกมป่วนรอบบ้าน
เพียงแค่ 2-3 อาทิตย์ ที่โดดเข้ามารับหน้าเสื่อ
ทำหน้าที่เป็นตัวแทนคนใหม่ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
"บิ๊กจิ๋ว" พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานพรรคเพื่อไทย ก็สามารถสร้างข่าวครึกโครมได้อย่างต่อเนื่อง
เปิดฉากจากการเดินสายไปพบกับสมเด็จฯ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีประเทศกัมพูชา
ผลที่ตามมาก็อย่างที่เห็นๆ นายกฯ ฮุน เซน เล่นเกมตามน้ำ
ประกาศตัวเป็นเพื่อนแท้ของ พ.ต.ท.ทักษิณ เตรียมสร้างบ้านหรูในกรุงพนมเปญให้ พ.ต.ท.ทักษิณเข้าพำนัก
แสดงความเห็นอกเห็นใจอดีตนายกฯไทยที่ทำงานให้กับประเทศ แต่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ไม่มีแผ่นดินอยู่
ประกาศกร้าวหาก พ.ต.ท.ทักษิณเข้าไปพำนักในกัมพูชา รัฐบาลกัมพูชาจะไม่ส่งตัวในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนให้ทางการไทย เพราะมองว่าเป็นคดีการเมือง
ปมร้อนๆเรื่องนี้ กลายเป็นคิวแทรกทำให้การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพต้องกร่อยลงไปเยอะ
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชา เริ่มมีอาการสั่นคลอน
ล่าสุด นายกฯฮุน เซน ยังเดินเกมต่อเนื่อง ประกาศพระราชกฤษฎีกาแต่งตั้ง พ.ต.ท.ทักษิณเป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลกัมพูชา และเป็นที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ด้านเศรษฐกิจส่วนตัวของนายกฯฮุน เซน
ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างแรง
ถึงขั้นที่รัฐบาลไทย โดยกระทรวงการต่างประเทศ มีคำสั่งเรียกตัวเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงพนมเปญ กลับประเทศไทยทันที
ถือเป็นการประท้วงอย่างรุนแรง ลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูต
เพราะการกระทำของรัฐบาลกัมพูชาในครั้งนี้ ถือเป็นการแทรกแซงกิจการภายใน เป็นการไม่เคารพและยอมรับต่อกระบวนการยุติธรรมของไทย
เนื่องจากการกระทำใดๆของกัมพูชา ที่เกี่ยวกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่อาจแยกออกจากความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศได้ เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณเป็นผู้หลบหนีคดีอาญา และมีบทบาททางการเมืองในประเทศไทยอยู่ในเวลานี้
พร้อมทั้งทบทวนพันธสัญญา ข้อตกลงความร่วมมือ รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือต่างๆที่ประเทศไทยมีต่อกัมพูชา
ในขณะที่รัฐบาลกัมพูชา ก็แสดงอาการตอบโต้กลับทางการทูต เรียกตัวเอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทย กลับประเทศเช่นกัน
จากเรื่องความสัมพันธ์ของตัวบุคคล ระหว่าง พล.อ.
ชวลิต พ.ต.ท.ทักษิณ นายกฯฮุน เซน บานปลาย กลายเป็นเรื่องกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
ไทย-กัมพูชา ขัดแย้งอย่างรุนแรง
ปรากฏการณ์ตรงนี้ ถือเป็นผลงานชิ้นเอกของ พล.อ.ชวลิต หลังหวนกลับเข้ามาเล่นการเมือง
รับงานจาก "นายใหญ่" เข้ามานำพรรคเพื่อไทย
และก็ตามมาติดๆกับคิวที่ "บิ๊กจิ๋ว" เดินทางลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมเสนอแนวทางแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
ชูธงจัดตั้ง "นครปัตตานี"
อ้างเป็นรูปแบบเขตปกครองพิเศษ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่สามารถดูแลตัวเองตามวิถีมุสลิม อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ
พร้อมขยายความ "นครปัตตานี" คือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบหนึ่ง ต้องกำหนดขึ้นมาโดยพระราชบัญญัติ ที่จะเขียนหรือมีรายละเอียดอย่างไรก็ต้องคุยกันก่อน
แถมด้วยการเสนอแนวคิดที่จะให้มีการนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้
ชี้เปรี้ยง นี่คือกระบวนการสันติภาพ ที่จะนำไปสู่ความสงบและสันติสุข
ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ตามมากระหึ่มเมือง ทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย
แต่ส่วนใหญ่จะออกมาในโทนโต้แย้งคัดค้าน เพราะมองว่ารูปแบบ "นครปัตตานี" ที่ พล.อ.ชวลิตนำเสนอ ไม่มีรูปธรรมที่ชัดเจน
ที่สำคัญ ทำให้เกิดความระแวงว่าเป็นแนวคิดที่ล้อมาจาก "รัฐปัตตานี" แปลงมาเป็น "นครรัฐปัตตานี" จนมาถึง "นครปัตตานี"
คาบลูกคาบดอกที่จะตั้งเป็นเขตปกครองพิเศษ เพื่อมุ่งไปสู่การเป็นรัฐอิสระหรือไม่ และจะส่งผลกระทบต่อเอกราชและอธิปไตยของไทยในอนาคตหรือเปล่า
เรื่องเหล่านี้ยังเป็นคำถาม และความกังวลของผู้คนส่วนใหญ่
ทั้งนี้ ถ้าพูดถึงยุทธศาสตร์ในเรื่องการจัดตั้งเขตปกครองพิเศษใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ เพื่อแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่
แนวคิดนี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเคยมีคนบางกลุ่มบางฝ่ายเสนอกันมาโดยตลอด
แต่ทุกรัฐบาล ฝ่ายความมั่นคงทุกยุค ฟันธงในแนวทางเดียวกันว่า
ยุทธศาสตร์อย่างนี้ สุ่มเสี่ยงที่จะนำไปสู่การสูญเสียดินแดน
เพราะไม่ใช่เรื่องของการตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ แต่เขตปกครองพิเศษเป็นเรื่องของการปกครอง ความมั่นคง และดินแดน
ที่อาจมีการผูกโยงกับเป้าหมายของคนบางกลุ่มที่ต้องการปกครองแบบรัฐอิสระประกาศจัดตั้งเป็นรัฐปัตตานี
แนวคิดนี้จึงถูกปฏิเสธ ไม่มีรัฐบาลยุคไหนขานรับ
ที่สำคัญ การจัดตั้งเขตปกครองพิเศษไม่ว่าจะใช้ชื่อ "นครปัตตานี" หรือชื่อใดก็ตาม โดยแนวทางขั้นตอนจะต้องมีการเสนอกฎหมาย ออกเป็นพระราชบัญญัติ ใช้เสียงข้างมากในสภาตัดสินชี้ขาด
ที่ผ่านมา พล.อ.ชวลิตเคยเป็นนายกรัฐมนตรี ในสมัยรัฐบาลพรรคความหวังใหม่
รวมทั้งเคยนั่งเป็นรองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง ดูแลแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในยุครัฐบาลพรรคไทยรักไทย ที่มี พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรี
คุมเสียงข้างมากในสภาฯ เบ็ดเสร็จเด็ดขาด
ทำไมถึงไม่เสนอกฎหมายเขตปกครองพิเศษจัดตั้ง "นครปัตตานี" ในช่วงนั้น
แต่กลับมาคิดและเสนอแนวทางในช่วงที่เพิ่งรับงานเป็นประธานพรรคเพื่อไทย มีสถานะเป็นฝ่ายค้านในสภาฯ
ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า การที่ "บิ๊กจิ๋ว" ออกมาเสนอตั้ง "นครปัตตานี" ในช่วงนี้ ต้องการอะไรกันแน่
ยิ่งไปกว่านั้น ในยุคของรัฐบาล "ทักษิณ" ที่มี พล.อ.ชวลิตเป็นรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง ดูแลปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
อดีตนายกฯทักษิณออกมากระแทกใส่กลุ่มก่อความไม่สงบ เป็นแค่โจรกระจอก
สั่งแก้ปัญหาด้วยการยกเลิกศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. ยกเลิกกองบัญชาการผสมพลเรือน ตำรวจ ทหาร หรือ พตท.43
ยัดตำรวจมือปราบลงไปในพื้นที่ เกิดคดีอุ้มฆ่า วิสามัญฆาตกรรม
จุดเชื้อให้สถานการณ์ความไม่สงบยิ่งรุนแรง เกิดเหตุการณ์ปล้นปืนค่ายทหาร โหมไฟใต้ให้ลุกโชน
จนเกิดเหตุการณ์ยิงถล่มกลุ่มก่อความไม่สงบในมัสยิดกรือเซะ ที่มีนายทหารใกล้ชิดของ พล.อ.ชวลิต อย่าง พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี รอง ผอ.รมน.ในขณะนั้น เป็นผู้สั่งการ
ยังไม่รวมถึงกรณีเหตุการณ์สลายม็อบตากใบ จับผู้ชุมนุมยัดใส่รถจีเอ็มซี จนขาดอากาศหายใจเสียชีวิตไปหลายสิบศพ
ปรากฏการณ์เหล่านี้ คือข้อเท็จจริงที่เกิดจากการปฏิบัติตามนโยบายของฝ่ายความมั่นคงในขณะนั้น
ซึ่งเป็นเรื่องที่ตรงกันข้ามกับแนวทางที่ พล.อ.ชวลิตออกมานำเสนอในตอนนี้
นี่คือความจริง ที่ยังไม่นานเกินไปจนทำให้คนในสังคมลืมเลือน
และด้วยเหตุนี้ การที่ พล.อ.ชวลิตออกมาจุดพลุเสนอตั้ง "นครปัตตานี" เพื่อแก้ปัญหาความไม่สงบชายแดนภาคใต้ จึงทำให้ถูกมองว่า ไม่ได้หวังผลในทางปฏิบัติ
แต่ทำเพื่อให้เกิดกระแส เกิดความเห็นแตกต่างในพื้นที่
พร้อมทั้งเป็นการดิสเคดิตรัฐบาลเรื่องการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการเร่งเกม เพื่อให้บรรลุเป้าหมายยุทธ-ศาสตร์ "ทักษิณ" ที่ต้องการกลับประเทศไทยโดยไม่มีความผิด ไม่ต้องติดคุก และได้ทรัพย์-สินที่ถูกอายัดเอาไว้คืน
ต่อรองให้ "อโหสิกรรม"
ถ้ายังไม่ได้ตามยุทธศาสตร์ ไม่มีการอโหสิกรรม
ก็ต้องเพิ่มดีกรีความเข้มข้นในการเขย่าประเทศไทย ให้หนักเข้าไปอีก
อย่างที่เห็นๆกัน สถานการณ์ในวันนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-กัมพูชา ร้าวฉาน ปะทุถึงขั้นลดความสัมพันธ์ทางการทูตกันแล้ว
กระพือปัญหาชายแดนภาคใต้ จุดประเด็นร้อนจัดตั้งเขตปกครองพิเศษ "นครปัตตานี"
นอกจากนี้ พล.อ.ชวลิตยังมีโปรแกรมไปพบปะกับนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ต่อด้วยการไปพบผู้นำประเทศพม่า
คาดเดาได้เลยว่า ถ้ายังไม่มีการอโหสิกรรมให้ "นายใหญ่" ก็จะต้องมีปรากฏการณ์ความยุ่งยากให้ประเทศไทย เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
เพราะทุกหมากเกมขับเคลื่อนของ "บิ๊กจิ๋ว" ประสานควบคู่อยู่กับ "ทักษิณ"
แน่นอน การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และยุทธวิธีเหล่านี้ ฝ่ายรัฐบาลที่กุมอำนาจรัฐก็รู้ แต่จะรับมือการเร่งเกมครั้งนี้ได้หรือไม่
มาถึงวันนี้ ยังมองไม่เห็นความชัดเจน
อย่างไรก็ตาม การเป็นรัฐบาลบริหารประเทศ ภารกิจสำคัญ คือการใช้กลไกอำนาจรัฐ แก้ปัญหาของประเทศชาติ
เมื่อมีเหตุการณ์ที่สร้างความปั่นป่วน สร้างปัญหาให้กับประเทศ
รัฐบาลต้องใช้ศักยภาพกลไกอำนาจรัฐที่มีอยู่คลี่คลายปัญหาให้ได้
แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า วันนี้รัฐบาลมีเอกภาพเพียงพอในการแก้ปัญหาหรือไม่ หรืออยู่กันแบบ ตัวใครตัวมัน รอแย่งสำรับกับข้าวกันอย่างเดียว.
ทีมการเมือง