ที่มา ข่าวสด
ต่อไปนี้คือการฟื้นตัวของประ เทศใครประเทศมัน
จะช้าหรือเร็วขึ้นกับปัจจัยต่างๆ รวมถึง "กึ๋น" และ "ฝีมือ" ของแต่ละรัฐบาล
ในแง่ของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แม้แนวโน้มเศรษฐกิจ เป็นปัจจัยอันเป็นคุณ หรืออาจจะเรียกว่า "ตัวช่วย" อย่างดี
นักท่องเที่ยวเริ่มกลับมาแล้ว มีการโหวตให้ประเทศไทยเป็นเมืองน่าเที่ยวและคุ้มค่าระดับท็อปของเอเชีย
แต่การจะขยายปัจจัยที่ดี ให้เป็นผลสำเร็จที่ชัดเจน ยังมีอุปสรรคขวากหนามกองโตมโหฬาร ตั้งขวางทางอยู่
เรียกว่ามีโอกาส มีจังหวะ แต่ยิงไม่ได้ เพราะสถานการณ์จริง ไม่เหมือนฟุตบอลกระชับมิตร ที่มีตัวช่วยป้อนลูกให้ทำแฮตทริก
แต่ชีวิตจริง มีด่านสกัดที่เล่นเสียบเอาถึงตาย ทั้งภายนอกรัฐบาล ภายในพรรคร่วมรัฐบาล และภาย ในพรรคประชาธิปัตย์ด้วยกันเอง
ในขณะที่นายกฯอภิสิทธิ์เอง ก็เดินหมากผิดพลาด
ตั้งแต่ความโน้มเอียงไปทางกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิป ไตย ในขณะที่สีเหลืองสีแดง ยังไม่ยุติการเผชิญหน้า
การข่าวผิดพลาดอย่างรุนแรง ทำให้ตัดสินใจผิดพลาดจากการแต่งตั้งผบ.ตร.
กลายเป็นปัญหาสั่นสะเทือนอย่างลึกซึ้ง ข้ามปีงบประมาณ เดินหน้าไม่ได้ถอยหลังก็ไม่ได้
บุคคลสำคัญในพรรคประชาธิ ปัตย์ อย่าง นายนิพนธ์ พร้อมพันธุ์ ต้องลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการนายกฯ
ขณะที่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ก็ออกอาการเหน็ดหน่ายกับหัวหน้ารัฐบาลเต็มที
จากนักการเมืองต้นทุนสูง ที่หลายฝ่ายในสังคมให้การสนับสนุน ตอนนี้สถานการณ์เปลี่ยนไป
หลังจากดิ้นรนหาทางแก้ไขปัญหามาพักใหญ่ แต่ไม่เป็นผล
ขณะนี้ เริ่มมีกระแสข่าวจากภายในรัฐบาลว่า นายอภิสิทธิ์จะตัดสินใจยุบสภาในต้นปีหน้า 2553 นี้
จุดแข็งของนายอภิสิทธิ์ คือเรื่องการต่างประเทศ ซึ่งทำให้เสียงคุยโม้ของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ว่าตัวเองเป็นบุคคลที่ต่างประเทศซูฮกยกนิ้ว ต้องเงียบเหงาไปหลายเดือน
ก่อนจะกลับมาอีกครั้ง โดยประกบคู่มากับสมเด็จฮุนเซน
จุดแข็งของนายอภิสิทธิ์ กลายเป็นเป้าถล่มของฮุนเซนและพ.ต.ท.ทักษิณ
ตีไปที่ความอ่อนไหวต่อการยั่วยุของนายอภิสิทธิ์ และได้ผลระดับหนึ่ง
โดยเฉพาะกรณีล่าสุดคือการที่สมเด็จฮุนเซน มีประกาศ ตั้งพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นที่ปรึกษาส่วนตัวและที่ปรึกษา ประเทศกัมพูชา
ไทยใช้มาตรการแข็งกร้าว เรียกทูตกลับ เข้าทางกัมพูชาซึ่งเรียกทูตกลับเช่นกัน
ในครั้งนี้ เหตุเกิดก่อนที่นายอภิสิทธิ์จะไปราชการ ต่างประเทศครั้งสำคัญ ซึ่งจะเป็นไฮไลต์ในแง่ข่าวของรัฐบาลในห้วงเดือนพฤศจิกายน
คือไปเยือนญี่ปุ่น ไปประชุมผู้นำเอเปกที่สิงคโปร์ และเป็นประธานการประชุมผู้นำอาเซียน กับประธานาธิบดีบารัก โอบามา
คล้ายๆ ก่อนหน้านี้ การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่ชะอำ-หัวหิน ถูกบดบังด้วยเกมการเมืองจากสมเด็จฮุนเซนและพ.ต.ท.ทักษิณ
ครั้งนี้ เป็นจุดตกต่ำสุดอีกครั้งของความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา
ปัญหาไทย-กัมพูชาในครั้งนี้ แยกไม่ออกจากความเคลื่อน ไหวของพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ และพ.ต.ท.ทักษิณก็จริง
แต่พล.อ.ชวลิตและพ.ต.ท.ทักษิณ ถือเป็นศัตรูทางการเมืองของรัฐบาล แม้จะไปจับมือกับผู้นำต่างประเทศ ก็ยังถือเป็นปัญหาการเมืองระหว่างรัฐบาล
การจะนำเอาชื่อประเทศไทยไปตอบโต้ ยกฐานะบุคคลเหล่านี้เป็นศัตรูของประเทศ จะต้องใคร่ครวญอย่างรอบคอบ
อาจจะต้องผ่านกระบวนการให้ความเห็นชอบของตัวแทนประชาชน โดยนำเข้าหารือในสภาด้วยซ้ำ
แม้จะมีโพลระบุว่า ประชาชนสนับสนุนการตัดสินใจของนายอภิสิทธิ์ แต่รัฐบาลจะต้องพิจารณาปัญหาทั้งหมดจากผลประโยชน์ของประเทศไทยทั้งประเทศ ไม่ใช่เฉพาะรัฐบาลเท่านั้น
รัฐบาลที่ดี นอกจากจะต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีกับชาติมหาอำนาจ ชาติห่างไกล เพื่อนร่วมทวีปแล้ว
กับเพื่อนบ้านที่มีรั้วติดกัน ต้องคุยกันให้รู้เรื่องยิ่งกว่า
เพื่อประโยชน์ในการทำมาหา กินและไปมาหาสู่ของประชาชน และเพื่อเป็นพลังต่อรองร่วมกันของชาติจากภูมิภาคเดียวกัน
หากประโยชน์นี้เสียไป ก็ย่อมหมายถึงความเสียหายทางการเมืองของผู้นำรัฐบาลนั่นเอง
ในขณะที่จุดอ่อนของรัฐบาลนับวันยิ่งขยายใหญ่
จุดอ่อนของรัฐบาลผสม คือความ ขัดแย้งทางด้านผลประโยชน์ที่แตกต่างกันอยู่แล้วโดยพื้นฐาน
เพียงแต่ตอนที่มาจับมือร่วมกันตั้งรัฐบาล ปัญหานี้จะถูกเก็บซุกไว้ก่อน แต่จะค่อยๆปรากฏตัวออกมา และเพิ่มความรุนแรง แล้วแต่ความสามารถในการบริหารจัดการของพรรคแกนนำ
เวลาผ่านไป 10 เดือน สภาพที่เรียกกันว่า "เตะจานข้าว" ในวงรัฐบาล เพิ่มความถี่มากขึ้นเรื่อยๆ
ตั้งแต่เรื่องรถเมล์ 4 พันคัน ที่แม้จะอนุมัติแล้ว แต่พรรคแกนนำรัฐ บาลก็ตั้งเงื่อนไขวางยาเอาไว้
มาจนถึงเรื่องมันสำปะหลังในกระทรวงพาณิชย์ การหยุดเดินรถของสหภาพแรงงานการรถไฟฯ ที่ทำให้พรรคประชาธิปัตย์กับพรรคภูมิใจไทยงัดข้อกันอย่างรุนแรง
การกลับจากแคนาดามาสู่คุกไทยของนายราเกซ สักเสนา จำเลยระดับคีย์แมนของคดีธนาคารบีบีซี ที่เคยมีกลุ่ม 16 เป็นลูกค้ารายใหญ่ ก็สร้างบรรยากาศหวาดระแวงขึ้นภายในพรรครัฐบาล
ความแตกแยกในพรรคร่วมรัฐ บาล ผูกประสานกันไว้อย่างหลวมๆ ด้วยโอกาสในการเป็นรัฐบาล
มีอำนาจสั่งราชการ มีอำนาจสั่งใช้งบประมาณแผ่นดิน
ประกอบกับความไม่พร้อมที่จะเลือกตั้งในเร็ววัน เพราะพรรคเพื่อไทยยังครองความได้เปรียบในสนามเลือกตั้ง
ทำให้ต้องอยู่กันแบบวันต่อวันไปก่อน
ขณะที่ภายในพรรคประชาธิปัตย์เอง ก็เกิดความแตกร้าวจากความไม่พอใจวิธีการนำ วิธีการบริหารของนายอภิสิทธิ์
สภาพจึงกลายเป็นว่า นายอภิสิทธิ์ยังดำรงสถานะผู้นำอยู่ได้ ไม่ใช่เพราะผลงานหรือความนิยม
แต่เพราะทุกฝ่ายมีศัตรูร่วมคือพ.ต.ท.ทักษิณ หากรัฐบาลนายอภิสิทธิ์มีอันเป็นไป ก็จะเข้าทางพ.ต.ท. ทักษิณ
เกมในขณะนี้ จึงได้แก่การเร่งรัดเผด็จศึก จากอดีตผู้นำในแดนไกลอย่างพ.ต.ท.ทักษิณ
ขณะที่ขั้วรัฐบาลตั้งรับอย่างสะเปะสะปะ