WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Thursday, August 12, 2010

12สิงหา รำลึกพระยาทรงสุรเดช บรรพชนปฏิวัติ - "ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่า"

ที่มา Thai E-News



ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่า-นายทหารอ่านประกาศคณะราษฎรฉบับแรกที่1 เมื่อรุ่งเช้าวันที่ 24 มิถุนายน 2475 โดยมีนายพันเอกพระยาทรงสุรเดชเป็นนักยุทธวิธีคนสำคัญในการวางแผนยึดอำนาจโดยปราศจากการสูญเสียเลือดเนื้อ

โดย ทีมข่าวไทยอีนิวส์
12 สิงหาคม 2553

กล่าวแบบฟันธงก็ต้องว่า หากการปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475 ไม่ได้นายพันเอกพระยาทรงสุรเดชเป็นผู้บัญชาการ ก็คงไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่เราชนรุ่นหลังรับรู้ ฝ่ายประชาธิปไตยและสนับสนุนคณะราษฎร์ได้พากันถือเอาวันที่ 12 สิงหาฯอันเป็นวันเกิดของนักปฏิว้ติผู้อาภัพนี้ เป็น"วันรำลึกพระยาทรงสุรเดช" ด้วยเหตุที่ว่าเมื่อมีการรำลึกถึงสามัญชนไทย มักนับเอาวันเกิดเป็นวันสำคัญของท่านผู้นั้น ดังเช่น กรณีของสุนทรภู่ที่เกิดวันที่ 26 มิถุนายน ก็นับเป็นวันสุนทรภู่ เป็นต้น
เมื่อวันที่12 สิงหาคมของทุกปีเวียนมาถึง ก็ย่อมจะทำให้ประชาชนไทย ผู้รักชาติรักประชาธิปไตยทั้งมวล อดหวนรำลึกนึกถึงบุญคุณของนักปฏิวัติผู้นำสยามประเทศก้าวสู่ระบอบประชาธิปไตยไม่ได้
4ทหารเสือคณะราษฎร์-(จากซ้าย) นายพันเอกพระยาทรงสุรเดช,นายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา,นายพันเอกพระยาฤทธิอาคเนย์ และนายพันโทพระประศาสน์พิทยายุทธ์
นอกจากคุณูปการต่อบ้านเมืองแล้ว ยังนับเป็นบุคคลที่นักการทหาร นักการเมืองเอาเป็นเยี่ยงอย่างในการใช้ชีวิตด้วย เพราะท่านได้ชื่อว่าทำการเพื่อชาติ ไม่เบียดบังชาติและราษฎรแม้แต่น้อย

นายพันเอกพระยาทรงสุรเดช เป็นผู้นำสำคัญในการเปลี่ยนแปลงการปกครองพ.ศ.2475 โดยหากขาดท่านผู้นี้ ก็ต้องฟันธงได้เลยว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 จะไม่มีวันสำเร็จได้เลยในวันนั้น เนื่องจากเป็นผู้วางแผนบัญชาการปฏิวัติ

หลังการปฏิวัติสำเร็จลง พระยาทรงฯไม่ขอรับตำแหน่งใดในรัฐบาล ไม่ขอเพิ่มยศเป็นนายพล ไม่ขอคุมกำลังทางทหาร แต่ท่านถูกขอให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จึงจำต้องรับเป็น เพราะแสดงถึงความศรัทธาต่อระบอบการปกครองใหม่

แต่ในภายหลังสถานการณ์พลิกผันทำให้ชะตากรรมของพระยาทรงฯต้องถูกเนรเทศไปอยู่ในอินโดจีนของฝรั่งเศส คือเวียดนาม และสุดท้ายที่เขมร อย่างอนาถา ส่วนลูกน้องถูกประหารชีวิตไป 18 ศพ ( อ่านรายละเอียดกรณีนี้ คลิ้กที่นี่ )

แม้กระทั่งยามยากช่วงเกิดสงครามโลกครั้งที่2ขณะพำนักลี้ภัยในญวนและเขมร ต้องอยู่บ้านเช่าโกโรโกโส ปั่นจักรยานถีบ และทำขนมไทยขายเลี้ยงประทังชีวิต แต่เมื่อไทยตกอยู่ใต้การยึดครองของญี่ปุ่น ก็พยายามอย่างโดดเดี่ยวที่จะขับไล่ญี่ปุ่นอย่างมืดมนลำพัง

แม้ว่าต้องตกระกำลำบากในเขมรขนาดนั้น และเป็นเวลาที่ญี่ปุ่นเข้ายึดครองทั่วเอเชีย รวมทั้งเขมรและไทยด้วยนั้น ญี่ปุ่นได้ติดต่อลับๆจะให้นายพันเอกพระยาทรงสุรเดชกลับไปมีอำนาจโค่นล้มปฏิปักษ์ทางการเมืองของท่าน คือจอมพลป.พิบูลสงคราม ซึ่งญี่ปุ่นชักไม่ไว้ใจ แต่พระยาทรงฯปฏิเสธ เพราะเห็นเป็นการทรยศบ้านเมือง ยอมระกำลำบากดีกว่า อันนี้นับเป็นจิตใจที่น่าเชิดชูยิ่ง

สุดท้ายเมื่อสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้มีอำนาจขณะนั้นส่งนายทหารคนหนึ่งไปลอบวางยาพิษพระยาทรงฯถึงแก่ความตายในเขมร ทั้งที่มีหวังกำลังจะได้กลับจากการลี้ภัย สุดท้ายคุณหญิงของท่านและทหารคนสนิทต้องทำพิธีศพอย่างอนาถา ไร้กองเกียรติยศใดๆในต่างแดน

พระยาทรงฯเกิดเมื่อ12 สิงหาคม 2435 ขณะเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ท่านอายุย่าง 40 ปี และได้ชื่อว่าเป็นมันสมองในการทำปฏิวัติ 2475 และมีกำลังในการปฏิวัติจริงๆ โดยอาศัยยุทธวิธีลวงทหารมายึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครอง

คนไทยค่อนประเทศน่าจะลืมพระยาทรงฯไปแล้ว แต่วันที่12สิงหาคมนั้นได้ชื่อว่าเป็นวันที่คนไทยต้องรำลึกถึงพระยาทรงฯ บรรพชนปฏิวัติไทย ความต่อไปนี้ เก็บความจากหนังสือ"ชีวิตพระยาทรงฯในต่างแดน"เขียนโดยร้อยเอกสำรวจ กาญจนสิทธิ์ ทส.พระยาทรงฯซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่มาร่วมๆ25ปีแล้ว หากคลาดเคลื่อนประการใด ขอให้ผู้รู้ได้เสริมเพิ่มหรือแก้ไขด้วย

นักยุทธวิธีของคณะราษฎร์

หากเทียบกับการปฏิวัติใหญ่ในรัสเซีย มีเลนินเป็นผู้ชี้นำทางความคิด มีทร็อตสกี้เป็นนักยุทธวิธีปฏิวัติ ในเหตุการณ์2475นายปรีดี พนมยงค์ ก็คือผู้ชี้นำทางความคิด ส่วนนักยุทธวิธีที่วางแผนและลงมือปฏิวัติก็คือนายพันเอกพระยาทรงสุรเดช

พระยาทรงฯมีชื่อเดิมคือเทพ พันธุมเสน เป็นบุตรของร้อยโท ไท้ นายทหารกรมทหารปืนใหญ่ที่ 1 จบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยทหารบก จากนั้นได้ทุนไปศึกษาต่อวิชาทหารช่าง ที่ประเทศเยอรมนี เมื่อจบแล้วได้ยศนายสิบ แล้วจึงเรียนต่อระดับสัญญาบัตร ได้ยศร้อยตรี ก่อนไปประจำการที่กองทหารในเมืองมักเคเบอร์ก และเดินทางกลับประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2458

จากนั้นเริ่มรับราชการทหารจนได้รับพระราชทานยศเป็น ร้อยเอกหลวงรณรงค์สงคราม เมื่อ พ.ศ. 2461 และย้ายไปเป็นผู้บังคับการทหารช่างรถไฟ กองพันที่ 2 กรมทหารบกที่ 3 มีผลงานสำคัญคือ ก่อสร้างทางรถไฟสายเหนือ จากถ้ำขุนตานถึงสถานีรถไฟเชียงใหม่ ก่อสร้างทางรถไฟสายตะวันออก จากแปดริ้วถึงสถานีรถไฟอรัญประเทศ ก่อสร้างทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงนครราชสีมา ได้รับพระราชทานยศนายพันเอก และบรรดาศักดิ์เป็นพระยาทรงสุรเดช

เมื่อปี พ.ศ. 2475 ในการก่อการ2475ปัญหาคือคณะราษฎร์ไม่มีคนคุมกำลังทหารในมือเลย พระยาทรงฯซึ่งเป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนนายร้อย จึงลวงนักเรียนนายร้อยด้วยการปลุกให้ตื่นตั้งแต่ตี3แล้วบอกว่าจะพาไปฝึกภาคสนามที่พระที่นั่งอนันต์ พร้อมกับการที่นายพันเอกพระยาพหลฯไปลวงค่ายทหารให้นำกำลังทหารและรถทหารออกมาสมทบกัน และพระประศาสน์(ซึ่งใกล้ชิดกับพระยาทรง)ไปควบคุมตัวกรมพระนครสวรรค์ฯซึ่งทรงอำนาจในประเทศมาเป็นตัวประกัน

เมื่อนักเรียนทหารที่นายพันเอกพระยาทรงฯลวงมาสมทบกับรถทหาร และทหารจากค่ายที่นายพันเอกพระยาพหลฯลวงมา กับนายพันโทพระประศาสน์ฯควบคุมกรมพระนครสวรรค์มาที่นั่งอนันต์ฯได้ การปฏิวัติที่ปราศจากเลือดเนื้อก็กลายเป็นประวัติศาสตร์ของไทย

ในหนังสือบันทึกชีวิตพระยาทรงฯในต่างแดนนั้น พระยาทรงแสดงความเป็นนักยุทธวิธีอย่างเต็มที่ โดยพระยาทรงฯได้กล่าวว่าการปฏิวัติ2475เป็นเรื่องของยุทธวิธี ไม่ใช่ยุทธศาสตร์ ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ไม่ได้มาจากการตื่นตัวต้องการปฏิวัติของประชาชนเลย เพราะหากไปปลุกเร้าให้ประชาชนตื่นตัวขึ้นปฏิวัติ การกระทำเช่นนั้นจะทำให้ความลับรั่วไหลแล้วจะกลายเป็นกบฎ เหมือนเหตุการณ์กบฎร.ศ.130 (อ่านเพิ่มเติม:กรณีกบฎร.ศ.130ประวัติศาสตร์ยังคงตื่นอยู่เพื่อคนชั้นหลังเสมอ )

หลังการปฏิวัติพระยาทรงฯปฏิเสธที่จะขอรับยศเพิ่ม เช่นเดียวกับนายพันเอกพระยาพหลฯและคณะทุกๆคน ไม่ขอรับตำแหน่งคุมกำลังใดๆ ไม่ขอรับตำแหน่งทางการเมือง แต่ที่สุดก็จำนนรับตำแหน่งส.ส.จากการแต่งตั้ง เพื่อแสดงถึงความศรัทธาเชื่อมั่นต่อระบอบปกครองใหม่

ขัดแย้งกับปรีดีและแตกหักกับจอมพลป.ก่อนถูกเนรเทศ

เมื่อแรกหลังปฏิว้ติ นายพันเอกพระยาทรงฯอยู่ในปีกที่ไม่เห็นด้วยกับสมุดปกเหลืองเค้าโครงเศรษฐกิจของนายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งมีนโยบายรัฐสวัสดิการ โดยฝ่ายปฏิกริยาปฏิวัติโจมตีว่าเป็นนโยบายคอมมิวนิสต์แบบเดียวกับรัสเซีย อันมีผลให้นายปรีดีถูกเนรเทศไปฝรั่งเศสระยะหนึ่ง ก่อนจะได้กลับมามีอำนาจอีกครั้ง

ในพ.ศ.2476 เกิดกบฎบวรเดช นายพันโทแปลก ขีตสังคะ มีบทบาทสำคัญเป็นคนนำปราบปรามกบฎ และเปล่งบารมีขึ้นมา ในสายตาของพันเอกพระยาทรงเห็นว่านายพันโทแปลกนั้นเป็น"ทหารยศต่ำ แต่มักใหญ่ใฝ่สูง" ต่อมานายพันโทแปลกเพิ่มยศพรวดพราดและก้าวขึ้นเป็นนายกฯ แล้วถูกลอบสังหารหลายหน

นายพันเอกหลวงพิบูลฯ(ต่อมาเป็นจอมพลป.)สงสัยว่านายพันเอกพระยาทรงฯน่าจะเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง จึงได้มีคำสั่งให้พ้นจากราชการโดยไม่มีเบี้ยหวัดบำนาญ และบังคับให้เดินทางออกนอกประเทศ พร้อมด้วยร้อยเอกสำรวจ กาญจนสิทธิ์ ทส. ประจำตัว พร้อมกันนั้นได้มีการกวาดล้าง จับกุมผู้ที่ต้องสงสัย จำนวน 51 คน เมื่อเช้ามืด ของวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2482 และสั่งประหารไป18 ราย จึงเรียกกันต่อมาว่ากบฎ18ศพ (เดิมจะประหาร 21 ราย แต่ปล่อยไป3 ซึ่ง 1 ในนั้นคือกรมขุนชัยนาทฯ ซึ่งเป็นพระปิตุลาฯของในหลวง)

บั้นปลายอนาถาของนักปฏิวัติที่โลกลืม

นายพันเอกพระยาทรงสุรเดชพร้อมนายทหารคนสนิทเมื่อถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฏ จึงถูกให้ออกจากราชการโดยไม่มีเบี้ยหวัดและถูกบีบให้เดินทางออกนอกประเทศ ไปพร้อมกับ ร.อ.สำรวจ กาญจนสิทธิ์ โดยถูกควบคุมตัวขึ้นรถไฟไปที่ อ.อรัญประเทศ และเดินทางข้ามพรมแดนต่อไปยังกัมพูชา ซึ่งในขณะนั้นเป็นดินแดนในอาณานิคมของฝรั่งเศส และไปพำนักในเวียดนามระยะหนึ่ง

โดยคุณหญิงทรงสุรเดช ต้องขายสมบัติเก่าส่งไปให้ประทังชีพ เมื่อสมบัติพร่องลง ต้องย้ายกลับมากัมพูชา อาศัยห้องเช่าโกโรโกโส ก่อนที่ต่อมาจะได้พักในตำหนักร้างของอดีตเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสที่พระยาทรงฯเคยช่วยชีวิตให้พ้นคมหอกคมดาบของญี่ปุ่นระหว่างการยึดครองในคราวสงครามมหาเอเชียบูรพา

ชีวิตพระยาทรงสุรเดชที่กัมพูชา ไม่มีทรัพย์เงินทองเหลือติดตัวอยู่เลย ต้องหาเลี้ยงชีพด้วยการทอดแหหาปลาเลี้ยงตัว และทำขนมกล้วยขนมไทยขายในตลาดสด ซึ่งต้องโม่แป้งด้วยตนเอง จากนั้นต้องปั่นจักรยานถีบไปมาเพื่อขายขนม(ซึ่งจะเห็นว่าต่างจากนายทหารนักทำรัฐประหารในระยะหลังที่มีทรัพย์สินเป็นร้อยล้านพันล้าน ทั้งที่ก็มักกล่าวหาว่านักการเมืองขี้โกง เลยเข้ามายึดอำนาจ...ประหลาดไหม?)

ช่วงสงครามไทยตกอยู่ใต้การยึดครองญี่ปุ่น นายพันเอกพระยาทรงฯไม่ล่วงรู้เลยว่าคนไทยทั่วโลกมีขบวนการใต้ดินเสรีไทยต่อต้านญี่ปุ่น เพราะถูกตัดขาดจากโลกภายนอก แต่ก็อุตสาหะดิ้นรนที่จะต่อต้านญี่ปุ่นเพียงลำพัง โดยคิดจะเดินข้ามประเทศไปแสวงหาความร่วมมือจากอเมริกาที่ตั้งฐานในจีน แต่ก็ต้องระงับไว้เพราะมืดแปดด้านอยู่คนเดียว

หลังสงครามจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของญี่ปุ่น จอมพลป.พิบูลสงคราม ซึ่งเดินนโยบายเป็นมิตรกับญี่ปุ่น ต้องพ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และถูกดำเนินคดีอาชญากรสงคราม นายพันเอกพระยาทรงฯซึ่งนับวันเดือนปีจะได้กลับสู่มาตุภูมิก็กลับไม่มีโอกาสนั้นเลย เมื่อมีนายทหารไทยคนหนึ่งอ้างว่า ไปศึกษาที่ญี่ปุ่นก่อนกลับไทยเลยแวะมาเยี่ยม แล้ววางยาพิษพระยาทรงฯตายด้วยความทรมานอนาถา และจัดทำพิธีศพเยี่ยงคนไร้ญาติ โดยถึงแก่อนิจกรรมลงในปี พ.ศ. 2487 ขณะมีอายุเพียง 52 ปี ที่ตำหนักร้างในกรุงพนมเปญ ซึ่งแพทย์ลงความเห็นว่าเสียชีวิตด้วยอาการโลหิตเป็นพิษ

ทส.พระยาทรงเขียนไว้ให้แปลความระหว่างบันทัด โดยตั้งข้อสงสัยไปในทำนองว่า ปฏิปักษ์ทางการเมืองคือจอมพลป.อาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับความตาย เพราะเมื่อสงครามมหาเอเชียบูรพายุติลง จอมพลป.ถูกดำเนินคดีอาชญากรสงคราม หากพระยาทรงได้กลับไทยและกลับสู่อำนาจ อาจเป็นอันตรายต่อจอมพลป.ได้

กระดูกของพระยาทรงฯกลับถึงประเทศไทย พร้อมกับบันทึกส่วนตัวที่กล่าวถึงการปฏิวัติ2475 และกลายมาเป็นหนังสือชื่อ "บันทึกพระยาทรงฯ:เมื่อวันปฏิวัติ24มิถุนายน2475"(อ่านบันทึกบางส่วน คลิ้กที่นี่ ) และหนังสือ "ชีวิตในต่างแดนของพระยาทรงฯ"ออกเผยแพร่ราวปีพ.ศ.2525

อัฐิของพระยาทรงฯถูกนำมาบรรจุไว้ที่วัดประชาธิปไตย หรือวัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน ซึ่งคณะราษฎรได้สร้างขึ้นหลังปฏิวัติ2475 ซึ่งบรรพชนปฏิวัติผู้วายชนม์ล้วนถูกนำอัฐิมาบรรจุที่วัดนี้ รวมถึงอัฐิของจอมพล ป. พิบูลสงคราม นาวาเอกหลวงศุภชลาศัย นายพันเอกพระยาฤทธิอัคเนย์ นายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายพันโทหลวงอำนวยสงคราม นายปรีดี พนมยงค์ นายเฉลียว ปทุมรส นายทวี บุญยเกตุ นายดิเรก ชัยนาม รวมทั้งนายกระจ่าง ตุลารักษ์ สมาชิกคณะราษฎรคนสุดท้ายที่เสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2552ที่ผ่านมา

ฝ่ายจารีตนิยมและจิตนิยมบอกว่าเพราะพระยาทรงฯทรยศพระมหากรุณาธิคุณทำการล้มล้างระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จึงพบเคราะห์กรรมเลวร้าย

แต่ฝ่ายที่สนับสนุนและโปรประชาธิปไตยนับเอาว่าพระยาทรงฯเป็นบุคคลสำคัญของชาติ เพราะหากไม่มีพระยาทรงฯที่เป็นดั่งเสนาธิการในการปฏิวัติ ก็ไม่แน่นักว่าการปฏิวัติ24มิถุนายน2475จะสำเร็จราบรื่นไร้การนองเลือดอย่างที่เรารับรู้หรือไม่

ประกอบกับคุณงามความดีไม่ฉ้อราษฎร์ ไม่บังหลวง ฝ่ายประชาธิปไตยและสนับสนุนคณะราษฎร์ได้พากันถือว่าวันที่ 12 สิงหาฯอันเป็นวันเกิดของนายพันเอกนักปฏิว้ติผู้อาภัพนี้ เป็น"วันพระยาทรงสุรเดช" ด้วยเหตุดังนี้

อนึ่งสำหรับสามัญชนไทยมักนับเอาวันเกิดเป็นวันรำลึกถึงของท่านผู้นั้น ดังเช่น กรณีของสุนทรภู่ที่เกิดวันที่ 26 มิถุนายน ก็นับเป็นวันสุนทรภู่ ดังนั้นจึงถือเอาวันเกิด 12 สิงหาคม เป็นวันพระยาทรงสุรเดชด้วยประการฉะนี้

0000000


บันทึกพระยาทรงสุรเดช:ในวันปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475

พระยาทรงสุรเดชได้บันทึกจากความทรงจำถึงเหตุการณ์ปฏิวัติ 2475 ไว้ระหว่างลี้ภัยในเวียดนามและกัมพูชา เมื่อถึงแก่อสัญกรรมลง นายทหารคนสนิทได้นำบันทึกนี้กลับประเทศไทย และตีพิมพ์เผยแพร่ในระยะต่อมาอีกหลายสิบปี

โดยได้บันทึกเหตุการณ์ปฏิวัติ24มิถุนายนไว้อย่างละเอียด ซึ่งในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 นั้น พระยาทรงสุรเดชเป็นผู้ที่เชื่อมให้นายทหารระดับสูงที่มีแนวคิดเดียวกัน เช่น พระยาพหลพลพยุหเสนา เข้าร่วมกับคณะราษฎร ซึ่งตัวพระยาทรงสุรเดชเองเคยพูดว่า "
พวกข้าราชการชั้นผู้ใหญ่แทบทั้งหมด มุ่งแต่เพียงทำตัวให้โปรดปรานไว้เนื้อเชื่อใจจากพระเจ้าแผ่นดินไม่ว่าด้วยวิธีใด ตลอดทั้งวิธีที่ต้องสละเกียรติยศด้วย..."


ในแผนการเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น การประชุมในประเทศไทย คณะราษฎรได้ประชุมกัน 2 ครั้ง ครั้งแรกประชุมกันเพียงไม่กี่เดือนก่อนลงมือ ที่บ้านพักของพระยาทรงสุรเดชที่สะพานควาย

และครั้งที่ 2 ที่บ้านพักของ ร้อยโทประยูร ภมรมนตรี ที่ถนนเศรษฐศิริ ซึ่งพระยาทรงสุรเดชในตอนแรกนั้นได้เสนอแผนการว่า ใช้ทหารยึดพระที่นั่งอัมพรสถานซึ่งเป็นที่ประทับของรัชกาลที่ 7 ในเวลากลางคืน และขอถวายความอารักขาแก่ในหลวงในฐานองค์ประกัน แล้วบังคับให้ลงพระปรมาภิไธยพระราชทานรัฐธรรมนูญแก่ปวงชนชาวไทย แต่แผนนี้มีผู้ไม่เห็นด้วย เพราะระหว่างที่บุกเข้าไปอาจเกิดการปะทะกันกับทหารมหาดเล็กจนถึงขึ้นนองเลือด และผู้ก่อการได้ตกลงในหลักการของการปฏิวัติครั้งนี้คือ จะต้องพยายามมิให้เกิดการนองเลือด จะต้องไม่กระเทือนต่อพระเกียรติยศของพระมหากษัตริย์เกินควร และตกลงว่าจะทำการปฏิวัติในช่วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จแปรพระราชฐานประทับที่พระราชวังไกลกังวล

การประชุมกันหนที่ 2 ที่บ้านของร้อยโทประยูร ในวันที่ 12 มิถุนายน พระยาทรงสุรเดชจึงเสนอแผนการทั้งหมด 3 แผน

แผนที่ 1 ให้นัดประชุมบรรดานายทหารที่กรมเสนาธิการ หรือที่กรมยุทธศึกษา หรือที่ศาลาว่าการกลาโหม เพื่อประกาศว่าจะเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน ผู้ใดไม่เห็นด้วยก็จะเข้าควบคุมตัวไว้ ในระหว่างนั้นคณะผู้ก่อการฝ่ายทหารเรือและพลเรือนแยกย้ายกันไปคุมตัวเจ้านายและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่มากักตัวไว้ในพระที่นั่งอนันตสมาคมหรือบนเรือรบ

แผนที่ 2 ให้จัดส่งหน่วยต่าง ๆ ไปคุมตามวังเจ้านายและข้าราชการคนสำคัญ ในขณะเดียวกันให้จัดหน่วยออกทำการตัดการสื่อสารติดต่อ เช่น โทรเลข โทรศัพท์ และให้จัดการรวบรวมกำลังทหารไปชุมนุม ณ ลานพระบรมรูปทรงม้า โดยวิธีออกคำสั่งลวงในตอนเช้าตรู่แล้วประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครองต่อหน้าทหารเหล่านั้น และจัดนายทหารฝ่ายก่อการเข้าควบคุมบังคับบัญชาทหารเหล่านั้นแทนผู้บังคับบัญชาคนเดิมแล้ว ทหารก็คงจะฟังคำสั่งผู้บังคับบัญชาคนใหม่ต่อไป การณ์ก็คงสำเร็จลงโดยเรียบร้อยโดยมิต้องมีการต่อสู้จนเลือดนองแผ่นดิน

แผนที่ 3 ให้หน่วยทหารหนึ่งจู่โจมเข้าไปในวังบางขุนพรหม และเข้าจับกุมพระองค์กรมพระนครสวรรค์วรพินิตมาประทับที่พระที่นั่งอนันตสมาคม เพื่อเป็นประกันความปลอดภัยของคณะราษฎร และให้ดำเนินการอย่างอื่น ๆ ตามที่กล่าวแล้วในแผนที่ 2

ซึ่งทั้งหมดเห็นด้วยกับแผนที่2ควบกับแผนที่ 3 จึงตกลงทำตามนี้ และได้กำหนดวันดำเนินการในชั้นแรกว่าให้เป็นวันอาทิตย์ที่ 19 มิถุนายน

โอกาสในการลงมือยึดอำนาจการปกครองนั้น ต้องอยู่ในช่วงระยะที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปหัวหิน เพื่อทอดพระเนตรการทดลองการยิงปืนใหญ่ ซึ่งมีนายทหารชั้นผู้ใหญ่ แม่ทัพ นายกอง ไปร่วมในการประลองอาวุธในครั้งนั้นเป็นส่วนมาก

ส่วนการเข้าควบคุม จอมพล สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิตนั้น คณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้สืบทราบมาว่า จอมพล สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิตมักจะเสด็จประพาสลำน้ำเจ้าพระยาในวันเสาร์และจะเสด็จกลับในวันจันทร์ ถ้าดำเนินการในวันอาทิตย์ก็อาจจะไม่ได้พระองค์ท่านมาเป็นองค์ประกันจึงได้เลื่อนการปฏิบัติการไปเป็นวันอังคารที่ 21 มิถุนายน

ต่อมาที่ประชุมได้ตกลงเลื่อนวันปฏิบัติการไปเป็นวันพฤหัสบดีที่ 23 มิถุนายน เนื่องจากได้รับรายงานว่า ในวันอังคาร เรือรบยามฝั่งยังไม่กลับ หากตกลงทำการในวันพฤหัสบดีที่ 23 ก็จะขาดทหารเรือ

ในวันที่ 22 มิถุนายน ก็มีรายงานว่า บรรดาสมาชิกคณะราษฎรยังไม่พร้อมที่จะทำการยึดอำนาจในวันที่ 23 มิถุนายน ดังนั้นวันปฏิบัติจึงเลื่อนไปวันที่ 24 มิถุนายน แทน แต่ทั้งหมดก็ยังไม่รู้ว่า พระยาทรงสุรเดชจะนำทหารออกมาใช้ยึดอำนาจได้อย่างไร

บทบาทของพระยาทรงสุรเดชในวันที่เปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น คือ การปล่อยข่าวลวงและล่อหลอก เพื่อชักนำให้ทหารแต่ละกรมกองมาชุมนุมร่วมกันที่ลานพระบรมรูปทรงม้า เพื่อให้เข้าร่วมในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง อย่างไม่ขัดขืน

วันที่ 23 มิถุนายน พระยาทรงสุรเดชในฐานะเป็นอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิชาทหาร ของโรงเรียนนายร้อยทหารบก ได้ไปพบ พันโทพระเหี้ยมใจหาญ ผู้บังคับการโรงเรียนนายร้อย เพื่อขอให้นำนักเรียนนายร้อยทั้งหมดพร้อมอาววุธปืนบรรจุกระสุนไปที่ลานหน้าพระบรมรูปทรงม้าในตอนเช้าตรู่วันที่ 24 มิถุนายน เพื่อฝึกยุทธวิธีทหารราบต่อสู้รถถัง โดยจะใช้นักเรียนนายร้อยทำหน้าที่ทหารราบและนำรถถังจากกรมทหารม้ามาใช้ในการฝึก ต่อจากนั้นได้ไปพบผู้บังคับกองพันทหารราบที่รู้จักอีกสองคน เพื่อขอร้องให้นำทหารไปฝึกหน้าลานพระบรมรูปทรงม้าเวลาหกโมงเช้า และไปพบผู้บังคับการกองพันทหารช่างที่บางซื่อ เพื่อขอร้องให้นำทหารมาที่สนามหน้าโรงทหารในเวลาหกโมงเช้าเช่นกัน เพื่อจะนำไปฝึกต่อสู้กับรถถัง

เช้าวันที่ 24 มิถุนายน พระยาทรงสุรเดชตื่นตั้งแต่เวลา 4.00 น. และได้รับประทานข้าวผัดที่เหลือจากมื้อเมื่อคืน ก่อนออกจากบ้านไปพร้อมกับ ร้อยเอกหลวงทัศนัยนิยมศึก (ทัศนัย มิตรภักดี) ที่มารับถึงบ้านตามแผนที่วางได้ โดยได้บอกกับภรรยาตั้งแต่คืนก่อนว่าจะไปดู การสวนสนามที่หน้าพระลาน

จากนั้นแผนการนำทหารออกมาใช้เปลี่ยนแปลงการปกครองของพระยาทรงสุรเดชก็ได้เปิดเผยออกมาเป็นลำดับ ทั้งหมดในเวลา 5.00น. ก็ได้มุ่งหน้าไปยังกรมทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ สี่แยกเกียกกาย มีเป้าหมายเพื่อยึดรถเกราะ ยึดรถรบ ยึดคลังกระสุน และหลอกพาทหารเดินมาขึ้นรถบรรทุกของกรมทหารปืนใหญ่ ภายใต้การบังคับบัญชาของพระยาฤทธิอัคเนย์ ที่อยู่ใกล้กัน ก่อนจะเคลื่อนขบวนไปลานพระบรมรูปทรงม้า

เมื่อไปถึงกรมทหารม้า ด่านแรกที่จะต้องฝ่าไปให้ได้คือกองรักษาการณ์ที่ด้านหน้า สามทหารเสือ คือ พระยาทรงสุรเดช พระยาพหลพลพยุหเสนา และพระประศาสน์พิยายุทธ เข้าไปในกองรักษาการณ์ ถามหาตัวผู้บังคับการกองรักษาการณ์ แล้วผู้ก่อการก็พูดด้วยเสียงดุว่า

"เวลานี้เกิดกบฏกลางเมืองขึ้นแล้ว มัวแต่หลับนอนอยู่ได้ เอารถเกราะ รถรบ เอาทหารออกไปช่วยเดี๋ยวนี้"

ฝ่ายผู้บังคับการที่เป็นนายทหารชั้นผู้น้อย เมื่อเผชิญหน้ากับนายทหารชั้นผู้ใหญ่ซึ่งเคยเป็นอาจารย์มาก่อน ก็หลงเชื่ออย่างสนิทใจ ชั่วอึดใจเดียวเสียงเป่าแตรแจ้งสัญญาณเหตุสำคัญก็ปลุกทหารทั้งกรมตื่นขึ้นมาด้วยความโกลาหล

ช่วงเวลาแห่งความระทึกนี้ นายทหารผู้ก่อการต่าง ๆ ที่ได้รับมอบหมายหน้าที่ก็แยกย้ายกันไป

พระยาพหลพลพยุหเสนา ใช้กรรไกรตัดเหล็กที่เตรียมมาตัดโซ่กุญแจคลังกระสุนได้สำเร็จ ช่วยกันลำเลียงกระสุนออกมาอย่างรวดเร็ว

พระประศาสน์พิทยายุทธ ตรงไปยังโรงเก็บรถพร้อม ร.อ.หลวงทัศนัยนิยมศึก เร่งระดมให้ทหารสตาร์ตรถถัง รถเกราะ ออกมาโดยเร็ว

ร้อยเอกหลวงรณสิทธิชัย และพรรคพวกพากันขึ้นไปยังโรงทหาร เร่งให้ทหารแต่งเครื่องแบบโดยเร็วด้วยคำสั่งที่ว่า "ทหารไม่ต้องล้างหน้า แต่งเครื่องแบบทันที"

ไม่กี่นาทีต่อมา ทหารม้าก็พร้อมแล้วที่ออกเดินทางไปขึ้นรถบรรทุกทหารภายในกรมทหารปืนใหญ่ที่ได้นัดแนะเอาไว้แล้ว พระยาฤทธิอัคเนย์สั่งให้ทหารปืนใหญ่ขึ้นรถ พระประศาสน์พิทยายุทธ นำขบวนรถถัง รถเกราะ รถขนกระสุนและปืนกลเบาราว 15 คัน ออกมาจากที่ตั้งกรม นำหน้าขบวนรถทั้งหมด มุ่งหน้าตรงไปยังลานพระบรมรูปทรงม้า สมทบกับทหารหน่วยอื่น ๆ ที่นัดหมายกันไว้

เมื่อขบวนรถบรรทุกทหารแล่นผ่านกองพันทหารช่าง ซึ่งเหล่าทหารกำลังฝึกอยู่บนสนามหน้ากองพัน พระยาทรงสุรเดชก็กวักมือพลางตะโกนเรียกให้ขึ้นรถ ผู้บังคับการทหารช่างเข้าใจว่าได้เวลาที่จะไปฝึกการต่อสู้รถถังตามที่ตกลงกันเมื่อเย็นวาน จึงสั่งทหารช่างขึ้นรถบรรทุกไปด้วย

ปฏิบัติการยึดกรมทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์สำเร็จลงอย่างรวดเร็วตามความคาดหมายภายในเวลาไม่ถึงครึ่งชั่วโมง มีคำถามมากมายว่า เพราะเหตุใดกองรักษาการณ์กรมทหารม้าจึงไม่ได้ทำอะไรเลย ทำไมยามคลังกระสุนจึงปล่อยให้พระยาพหลพลพยุหเสนา งัดประตูเอากระสุนออกไปได้ ทำไมนายทหารในกรมนี้จึงปล่อยให้นายทหารที่อื่นนำทหารของตัวออกไปได้โดยไม่แสดงปฏิกิริยาอันใดเลย

สำหรับคำตอบของคำถามนี้ พระยาทรงสุรเดชได้บันทึกเหตุการณ์ครั้งนี้ไว้ชัดเจนว่า

เป็นเพราะนายทหาร นายสิบ พลทหารเหล่านั้นเห็นด้วยในการปฏิวัติหรือ...เปล่าเลย ทั้งนายทหาร นายสิบ พลทหาร ไม่มีใครรู้เรื่องอะไรเลย ตั้งแต่เกิดมาก็ไม่มีใครเคยได้เห็นได้รู้ การปฏิวัติทำอย่างไร เพื่ออะไร มีแต่ความงงงวยเต็มไปด้วยความไม่รู้ และข้อนี้เองเป็นเหตุสำคัญแห่งความสำเร็จ ! สำหรับพลทหารทั้งหมดไม่ต้องสงสัยเลย เขาทำตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาของเขาโดยไม่มีข้อโต้แย้ง เขาถูกฝึกมาเช่นนั้น และหากนายทหารอื่นมาสั่งให้ทำโดยอ้างว่าเป็นคำสั่งของผู้บังคับบัญชา เขาก็ทำเช่นเดียวกัน ทำไมเขาจะไม่ทำ เพราะในชีวิตเป็นทหารของเขา เขายังไม่เคยถูกเช่นนั้น เพราะฉะนั้นเขาจะรู้ไม่ได้เลยว่าเป็นการลวง ในเมื่อเขาโดนเป็นครั้งแรก ...นายทหารทั้งหมดส่วนมากได้เรียนในโรงเรียนนายร้อยในสมัยที่ผู้อำนวยการฝ่ายทหารเป็นอาจารย์ใหญ่ เพราะฉะนั้นจึงมีความเคารพและเกรงในฐานผู้ใหญ่
00000000000000000000000

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง บรรพชนปฏิวัติ2475
-ฌาปณกิจคณะราษฎร์คนสุดท้าย ปลายทางบรรจุอัฐิกับผู้ร่วมก่อการ เผยวีรกรรมตำนานเสรีไทย
-ทายาท 24 มิถุนา(ตอน1) ศุขปรีดา พนมยงค์:เขาพยายามทำลายชื่อเสียงผู้ก่อการ เขามีทั้งกำลังคนกำลังทรัพย์แน่นหนามาก
-ทายาท24มิถุนา(ตอน2)พ.ต.พุทธินาถ พหลพลพยุหเสนา:ไม่มีหรอกที่ราชาธิปไตยจะเอาประชาธิปไตยมาให้
-ทายาทจอมพลป.:พอรัฐประหาร2490ก็หมดแล้วปฏิวัติ2475 และทายาทพระประศาสน์ผู้จับกรมพระนครสวรรค์วันปฏิวัติ