ที่มา ประชาไท
เพื่อไทย
Wednesday, August 11, 2010
นักเรียน ม.5 เชียงรายไม่ต้องเข้าบำบัดจิต สถานพินิจฯ โทรแจ้งเด็กปกติดี
เจ้าหน้าที่สถานพินิจฯ เชียงรายโทรแจ้งแม่เด็ก ม.5 เช้าวันนี้ บอกไม่ต้องเข้ารับการบำบัดจิต 16 - 17 ส.ค.นี้ เพราะเด็กปกติดี ด้าน ผอ.สถานพินิจฯ แจงทำตามกระบวนการไม่มีเลือกปฏิบัติ ชี้สอบข้อมูลไม่ได้มุ่งเอาผิดหรือระบุเด็กเป็นโรคจิต ส่วนกระบวนการหลังส่งผลสอบ ตำรวจรวมข้อมูลส่งอัยการต่อไป
จากกรณี นักเรียนชาย อายุ 16 ปี ชั้น ม.5 โรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.เชียงราย เข้ารับการตรวจสภาพจิตกับเจ้าหน้าที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน จ.เชียงรายและถูกนัดให้เข้ารับการบำบัดจิตในวันที่ 16 - 17 ส.ค.นี้ อันเนื่องมาจากการร่วมกับกลุ่มนักศึกษาชูป้าย “เห็นคนตายที่ราชประสงค์” เพื่อคัดค้านการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และได้ถูกเจ้าหน้าที่ออกหมายจับและต้องเข้าให้ข้อมูลกับตำรวจ ในข้อหา “ชุมนุม หรือมั่วสุมกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป หรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยภายในเขตพื้นที่ ที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร่วมกันเสนอข่าวทำให้แพร่หลายซึ่งสิ่งพิมพ์ หรือสิ่งอื่นใดที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชน เกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน”
วันนี้ (10 ส.ค.53) แม่ของนักเรียนคนดังกล่าวให้ข้อมูลว่า เมื่อช่วงเช้าวันนี้เวลาประมาณ 9.00 น.ทางเจ้าหน้าที่ของสถานพินิจฯ ได้โทรศัพท์แจ้งให้ทราบว่าไม่ต้องนำตัวลูกชายไปรับการบำบัดตามที่นัดหมายในวันที่ 16 - 17 ส.ค.นี้แล้ว เนื่องจากผลการตรวจพบว่าสุขภาพจิตปกติดี แต่ผลการตรวจที่เป็นเอกสารยังไม่ได้รับเพราะขณะนี้อยู่ที่กรุงเทพฯ ยังไม่ได้เดินทางกลับเชียงราย ส่วนว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไรคงต้องมีการปรึกษากับกลุ่มที่โดนคดีด้วยกัน ส่วนตัวไม่แน่ใจว่าการพูดด้วยคำพูดเรื่องจะจบหรือไม่อย่างไร
เธอกล่าวด้วยว่าจากการได้เข้าไปให้ข้อมูลกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเมื่อวานนี้ (9 ส.ค.) ทำให้รู้สึกสบายใจขึ้นเพราะมีองค์กรด้านสิทธิฯ ยื่นมือมาให้ความช่วยเหลือ ให้ความเป็นธรรม ส่วนโน้ตบุ๊กที่ถูกเจ้าหน้าที่ยึดไปโดยอ้างว่าจะนำไปตรวจสอบหลักฐานเจ้าหน้าที่ก็ได้รับปากว่าจะนำมาคืนให้ นอกจากนั้นยังได้ประสานงานกับเจ้าหน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิฯ ไว้ว่าหากมีปัญหาเรื่องการคุกคามให้สามารถโทรศัพท์แจ้งได้
แม่ของนักเรียนชั้น ม.5 เล่าว่าก่อนหน้าที่จะมีการลงมาให้ข้อมูลต่อกรรมการสิทธิฯ รู้สึกว่าตัวเองและคนในครอบครัวถูกติดตามจากเจ้าหน้าที่อยู่เป็นระยะ และมีการโทรศัพท์มาสอบถามว่าได้มีการประสานงานขอความช่วยเหลือจากทางพรรคเพื่อไทยหรือไม่ ซึ่งก็ได้ตอบไปว่าไม่ได้มีความเกี่ยวข้อง หรือรู้จักและไม่ได้มีศักยภาพในการติดต่อประสานงานอะไร โดยเมื่อวันที่ 5 ส.ค.ที่ผ่านมาก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจไปที่โรงเรียนในช่วงเช้าและอาจารย์โทรแจ้งให้ทราบพร้อมทั้งตามหาตัวลูกชาย เนื่องจากลูกชายไปหาหมอที่โรงพยาบาลเพราะเจ็บขาแต่ไม่ได้แจ้งให้อาจารย์ไว้
ในวันที่ 6 ส.ค.ก่อนที่จะมีการทำกิจผูกผ้าแดงที่หอนาฬิกา จ.เชียงรายของ บก.ลายจุด เธอเล่าว่าทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้โทรหาและบอกว่าผู้กำกับต้องการจะพูดด้วย อีกทั้งยังบอกด้วยว่าตามกฎหมายจะต้องให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ แต่ส่วนตัวไม่รู้จะคุยอะไร เพราะได้ให้ข้อมูลทั้งหมดไปแล้วและได้ทำตามกระบวนการโดยส่งลูกชายไปตรวจที่สถานพินิจแล้วด้วย จึงไม่ขอคุยและได้สื่อสารกลับไปว่าหากต้องการจะนัดสอบข้อมูลก็ขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจส่งหมายนัดมาให้อีกครั้ง และในวันที่ 7 ส.ค.ซึ่งมีกิจกรรมผูกผ้าแดงเธอก็ได้พาลูกไปเข้าร่วมด้วย
“เขามาเพื่อให้กำลังใจ และอีกอย่างมันก็เป็นประเด็นของลูกเรา” เธอบอกเหตุผลของการเข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งได้สร้างความไม่พอใจให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยถูกตั้งคำถามว่าทำไมถึงพาลูกออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองอีก แต่ส่วนตัวแล้วเธอคิดว่าหากเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่เอาเรื่องในการแสดงออกของเด็กนักเรียนนักศึกษา เหตุการณ์คงไม่บานปลายถึงขนาดนี้
ด้านนางสาวสุมาลี ญาณภาพ ผู้อำนวยการสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดเชียงราย กล่าวยืนยันว่าได้มีการแจ้งผลการตรวจสุขภาพจิตและติดต่อไปยังแม่ของนักเรียนชั้น ม.5 คนดังกล่าวว่าไม่ต้องเข้ารับการบำบัดแล้วจริง ทั้งนี้การทำงานของสถานพินิจฯ ถือเป็นการดำเนินการตามปกติ ไม่ได้มีการเลือกปฏิบัติ ซึ่งกระบวนการหลังจากนี้ทางสถานพินิจฯ จะทำการสรุปข้อมูลที่ได้ส่งต่อให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยในส่วนของกระบวนการ ต่อไปพนักงานสอบสวนจะเป็นผู้สรุปสำนวนส่งอัยการ และอัยการจะเป็นผู้ทำหน้าที่พิจารณาว่าจะส่งฟ้องหรือไม่
“การตรวจสุขภาพ และตรวจสุขภาพจิต เป็นโปรแกรมเบื้องต้น ไม่ได้ระบุว่าเด็กทำผิด หรือเป็นโรคจิต เพียงแต่เป็นโปรแกรมบำบัดในการดำเนินชีวิตทั่วไป” นางสาวสุมาลีกล่าว
นางสาวสุมาลี กล่าวด้วยว่าสถานพินิจฯ เป็นเพียงผู้สรุปข้อเท็จจริงและจัดทำเป็นรายงานส่งไปยังเจ้าหน้าที่ ซึ่งเรื่องการตรวจสุขภาพจิตนั้นไม่ใช่ประเด็นหลัก และทางสถานพินิจฯ ไม่ได้มุ่งสอบสวนว่าเด็กได้กระทำผิดจริงหรือไม่ เด็กและเยาวชนไม่ว่าคดีอะไรก็แล้วแต่ ไม่ว่ากรณีทำผิดปกติทั่วไป หรือเป็นกรณีที่เกี่ยวกับทางการเมืองเช่นกรณีนี้ กระบวนการล้วนมีความเสมอภาคเหมือนๆ กัน
ในกรณีนักเรียนชั้น ม.5 นี้ นางสาวสุมาลี กล่าวว่า ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้แจ้งข้อกล่าวหาและมีการดำเนินคดี แต่ไม่ได้มีการจับกุม และได้แจ้งให้สถานพินิจให้ดำเนินการสอบข้อมูล ซึ่งตามกระบวนการฟ้องร้องต่อศาล หากไม่มีรายงานจากสถานพินิจฯ ศาลจะไม่รับฟ้อง ส่วนความรับผิดชอบของสถานพินิจนั้นก็เพียงทำรายงานส่งให้กับทางเจ้าหน้าที่ เด็กจะกลับมาอยู่ที่สถานพินิจอีกก็ต่อเมื่อศาลพิจารณาไม่อนุญาตให้ประกันตัว หรือมีคำสั่งให้เข้าฝึกอบรม หรือต้องควบคุมตัวตามหมายศาล หากไม่มี สถานพินิจก็หมดอำนาจและภาระรับผิดชอบ
เมื่อสอบถามถึงการแจ้งหรือต้องส่งเอกสารสรุปข้อมูลในกับทางครอบครัวของเด็กด้วยหรือไม่ ผู้อำนวยการสถานพินิจฯ กล่าวว่าไม่ต้อง เพราะสรุปข้อมูลดังกล่าวมาจากการให้ปากคำของเด็กและผู้ปกครอง ซึ่งได้มีการเซ็นรับทราบไว้แล้วตั้งแต่ภายหลังจากการสอบข้อมูล อีกทั้งเอกสารดังกล่าวถือเป็นเอกสารลับที่ส่งให้พนักงานสอบสวนที่เกี่ยวข้องเท่านั้น และศาลจะนำมาใช้เมื่อมีการพิจารณาคดี โดยเด็กสามารถจะทำการคัดค้านได้ในชั้นศาล
ทั้งนี้ นางสาวสุมาลีกล่าวยอมรับว่ากระแสข่าวของนักเรียนชั้น ม.5 คนดังกล่าวที่ต้องตรวจสุขภาพจิตนั้นส่งผลกระทบต่อองค์กร รวมทั้งเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน โดยเฉพาะคนที่ตั้งใจทำงานในหน้าที่ และในส่วนการบังคับบัญชา ที่ผ่านมาก็ได้มีการชี้แจงข้อมูลกับทางกรมกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนแล้วในเรื่องการทำงานตามบทบาทและกระบวนการ ซึ่งไม่ได้มีอะไรนอกเหนือจากความรับผิดชอบ ทั้งนี้ ในฐานะคนทำงานกับเด็กและเยาวชน มีเจตนาดีและมีความปารถนาดีกับเด็ก เจ้าหน้าที่ไม่ได้มีการเลือกปฏิบัติอีกทั้งการทำงานก็เป็นไปด้วยความผูกพัน