ที่มา ไทยรัฐ นโยบายการเงินการคลังของประเทศที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวม มีเสียงเตือนถึงเรื่องของ อัตราดอกเบี้ย ที่จะเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในขณะที่ภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมจะมีภาระมากขึ้นตามมา ทิศทางเศรษฐกิจไทยในอนาคตจะเป็นอย่างไรไม่ใช่อยู่ที่ปัจจัยทางการเมืองอย่างเดียว แต่อยู่ที่การวางยุทธศาสตร์ของภาครัฐในการรับมือล่วงหน้าด้วย เช่น เรื่องของภาษี เป็นต้น
วันก่อน คุณประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รมช.คลัง ไปพูดให้ สมาชิกหอการค้าร่วมต่างประเทศถึงความพร้อมของประเทศไทยเพื่อก้าวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนไว้น่าฟัง
การผลักดันเศรษฐกิจจะต้องให้ ภาคธุรกิจเป็นผู้นำเข้าไปสู่นโยบายของรัฐ โดยผ่านทางนักการเมือง ที่จะต้องแลกเปลี่ยนข้อมูลความต้องการของภาคเอกชนและข้อมูลต่างๆที่มีอยู่ทั้งหมด เพื่อไปสู่การแข่งขันและความพร้อมที่จะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ที่มีส่วนแบ่งตลาดใหญ่กว่าในระบบการค้าระหว่างประเทศในภูมิภาคนี้ซึ่งจะมีมูลค่าสูงถึง 1.7 ล้านล้านเหรียญ และงบลงทุนของต่างประเทศในอาเซียนมูลค่าสูงถึง 6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ
ในด้านการส่งออกนั้นบ้านเรา มีการส่งออกเฉพาะในภูมิภาคนี้ ตัวเลขล่าสุดเมื่อเดือน มิ.ย. มียอดส่งออก 1.8 หมื่นล้านบาท หลังจากที่มีการยกเลิกภาษีระหว่างอาเซียนไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา เฉพาะประเทศฟิลิปปินส์มีการส่งออกเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 90 อินโดนีเซียเพิ่มขึ้นร้อยละ 89
เป็นการสะท้อนให้เห็นว่าการร่วมมือด้านเศรษฐกิจในอาเซียนนั้นจะมีผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมในภูมิภาคนี้อย่างชัดเจน ดังนั้นประเทศไทยก็จะต้องเตรียมตัวให้พร้อมกับการเคลื่อนย้ายอย่างอิสระของปัจจัยการผลิต การบริหารต่างๆ รวมถึงการลงทุน เงินทุน หรือแรงงานในระหว่างกลุ่มประเทศอาเซียน
ประเทศไทยจะแข่งขันกับประเทศอื่นไม่ได้ ถ้านักการเมืองขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความต้องการของภาคธุรกิจ จึงอยากให้ ภาคธุรกิจทำงานร่วมกับภาครัฐอย่างใกล้ชิด เพื่ออนาคตของประเทศ
สิ่งสำคัญคือการอำนวยความสะดวกให้กับภาคธุรกิจ มีการเร่งปรับปรุงกฎหมายหลายฉบับ ที่จะช่วยให้การดำเนินการทางธุรกิจคล่องตัวมากขึ้นทันกับการแข่งขัน
อาทิ กฎหมายใหม่ของกรมศุลกากร มีเป้าหมายเพื่อให้เกิดความโปร่งใส และมีความเที่ยงธรรมมากขึ้น แผนการปฏิรูปกรมศุลกากรเป็นการยกเครื่องการทำงานของกรมศุลกากรครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 135 ปี โดยรับฟังความเห็นจากฝ่ายต่างๆ สมาคมการค้า หอการค้า นำมาปรับปรุงแก้ไข
เราเสียโอกาสเพราะวิกฤติการเมืองที่ยาวนาน เมื่อสามารถที่จะปรับตัวรองรับกับความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้แล้วจึงต้องเร่งฟื้นฟูปรับปรุงเศรษฐกิจของประเทศให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงโดยทันที ไม่อยากจะใช้คำว่าสายเกินแก้ แต่มาถึงจุดนี้ เศรษฐกิจจะต้องนำการเมือง ในทิศทางที่จะต้องร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและเอกชน ไม่ใช่ยุคที่นักการเมืองมาชี้นิ้วบงการตามอำเภอใจ.
หมัดเหล็ก