ที่มา บางกอกทูเดย์ ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า คนบางคนอาจจะเห็นว่าเก้าอี้หรือตำแหน่ง เป็นเรื่องของสมบัติผลัดกันชม... แต่ใครบางคนกลับยึดติดคิดว่าเป็นเจ้าของส่วนตัว ที่ตราบยังมีลมหายใจจะไม่ยอมให้ใครมาพรากไป เข้าสูตรไหน หรือความคิดข้อใด รวมทั้งตรรกะอะไร คงเป็นเรื่องที่ยากจะบอกได้ แต่ที่แน่ๆ วันนี้เก้าอี้ผู้ว่าการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน หรือ “ผู้ว่าสตง.” กลายเป็นประเด็นที่ถูกจับตามองทั่วบ้านทั่วเมือง ทั้งๆ ที่เจตนารมณ์ของเก้าอี้นี้ คือ ไม่ต้องการให้มีการ “ยึดติด” หรือ “ผูกขาด” ดังนั้นจึงขีดเส้นบรรทัดฐานเอาไว้อย่างชัดเจนว่า คุณสมบัติสำคัญประการหนึ่งของ ผู้ว่า สตง. ก็คือจะต้องมีอายุไม่เกิน 65 ปี แปลเป็นไทยง่ายๆ ก็คือ ใครก็ตามหากมีอายุเกินกว่า 65 ปีแล้ว จะไม่สามารถเป็นผู้ว่า สตง.ได้ เพราะขาดคุณสมบัติ ซึ่งก็เป็นไปตามธรรมชาติ คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ซึ่งครองเก้าอี้ผู้ว่าการ สตง.มายาวนาน วันนี้ อายุได้ครบ 65 ปีแล้ว ซึ่งตามเจตนารมณ์ของกฎหมายและหลักแห่งกฎหมายปกติของ สตง. ก็คือ คุณหญิงจารุวรรณ จะต้องพ้นจากตำแหน่งโดยปริยาย แต่เพราะในรอบหลัง คุณหญิงจารุวรรณ ดำรงตำแหน่งผู้ว่า สตง. ด้วยอำนาจที่มาจากการทำรัฐประหารเมื่อ 19 กันยายน 2549 โดย คปค. ออกประกาศคำสั่ง คปค.ออกมาเป็นอำนาจพิเศษ ทำให้เกิดการตีความเข้าข้างแต่ละฝ่ายกันอุตลุดว่า แม้ คปค.จะเปลี่ยนชื่อหรือล้มหายไปจากสังคมไทยแล้วก็ตาม หลังจากที่สร้างความปั่นป่วนวุ่นวายเอาไว้มากมายหลายกรณี แต่คนหลายคนบอกว่า ประกาศของ คปค.จะตายไม่ได้ เพราะฉะนั้นต้องถือว่าคุณหญิงจารุวรรณ ยังต้องเป็น ผู้ว่า สตง. ต่อไปเรื่อยๆ จะ 65 ปี หรือ 70-80 ปีก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร เพราะมีประกาศ คปค. เป็นยันต์ ที่ขลังและเหนียวกว่ายันต์ใดๆทั้งสิ้น ต่อให้ยันต์เก้ายอด ยันต์ลิงลม หรือแม้แต่ยันต์ห้าแถว เที่ยวนี้ก็ยังเหนียวสู้ยันต์คำสั่งของ คปค.ไม่ได้ ดังนั้นเมื่อมีคนบางพวกยกคำสั่ง คปค.มาเป็นข้ออ้าง แถมมีกลุ่ม ส.ว.บางกลุ่มอ้างทฤษฎีว่าเห็นควรให้อยู่ต่อ ทำให้คุณหญิงจารุวรรณ ซึ่งเป็นคนหัวอ่อน เชื่อฟังจิ้งจกทัก คล้อยตามคนห้าม ก็เลยเลือกที่จะอยู่ต่อไปเรื่อยๆ เป็นอินฟินิตี้ แม้จะมีคนแนะว่าเพื่อความสง่างามให้ตัดสินใจให้เด็ดขาด ลาออกเองไปเลย เก็บของกลับไปบ้าน ดูซิว่าใครหน้าไหนจะไปลากกลับมา... แต่เป็นเพราะปักใจเชื่อในทฤษฎีที่ปรึกษา และบรรดาคนที่ทักท้วงรอบแรกไปแล้ว จึงทำให้คุณหญิงจารุวรรณ ไม่เลือกที่จะลุกจากเก้าอี้ด้วยความเด็ดเดี่ยว ก็เลยกลายเป็นประเด็นให้ถกเถียงกันวุ่นไปหมด แม้แต่ ส.ว.จอมตรวจสอบ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ก็ยังต้องเข้ามายื่นเรื่องให้มีการตรวจสอบให้ชัดเจนถูกต้อง เป็นได้ เป็นไม่ได้ เอาให้ชัดๆ กันโดยข้อกฎหมายที่แท้จริงไปเลย... ไม่ใช่มาปล่อยให้คนนั้นตีความอย่าง คนโน้นตีความอีกอย่าง ขณะเดียวกันนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส รองผู้ว่าการ สตง. ซึ่งต้องเป็นรักษาการผู้ว่า สตง. จึงอดรนทนไม่ได้ ต้องลุกขึ้นมาสู้ในเรื่องนี้ว่า คุณหญิงจารุวรรณ สมควรที่จะต้องพ้นจากตำแหน่งได้เสียทีแล้ว เพราะล่าสุด แม้แต่กฤษฎีกา ก็ยังฟันธงแล้วว่า คุณหญิงจารุวรรณ พ้นจากตำแหน่ง ผู้ว่า สตง.แล้ว โดยคุณพรทิพย์ จาละ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ระบุถึงผลการตีความคุณสมบัติการดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินของคุณหญิงจารุวรรณ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ส่งเรื่องให้ตีความว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่า คุณหญิงจารุวรรณพ้นจากตำแหน่งผู้ว่า สตง.ไปแล้ว เนื่องจากตามประกาศคณะกรรมการปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ฉบับที่ 29 ระบุว่า ให้ผู้ว่า สตง.ดำรงตำแหน่งถึงวันที่ 30 ก.ย.2550 จากนั้น ให้มีการสรรหาใหม่ภายใน 90 วัน โดยในระหว่างการสรรหาผู้ว่า สตง.คนใหม่ ให้อยู่ในตำแหน่งพลางต่อไปได้ ดังนั้นคุณหญิงจารุวรรณจึงอยู่ในตำแหน่งต่อไปได้อย่างมากแค่ 90 วัน อย่างไรก็ตาม คุณพรทิพย์ ยอมรับว่า สตง.เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ แต่ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกามีผลผูกพันเฉพาะส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจเท่านั้น ดังนั้นจะเชื่อความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาหรือไม่ ก็เป็นเรื่องของคุณหญิงจารุวรรณจะพิจารณาเอง แต่หากคุณหญิงจารุวรรณยังอยู่ในตำแหน่งต่อไป แล้วมีผู้นำเรื่องยื่นฟ้องศาล ก็จะต้องมีการแสดงความรับผิดชอบ หากศาลเห็นด้วยกับแนวทางของคณะกรรมการกฤษฎีกา ส่วนที่ว่าหากข้าราชการใน สตง.จะต้องฟังใครระหว่างนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส รักษาการผู้ว่า สตง. กับคุณหญิงจารุวรรณ คุณพรทิพย์ กล่าวว่า ส่วนใหญ่เมื่อคณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นไปแล้ว ทุกหน่วยก็จะรับฟัง ถ้าเป็นตนก็คงไม่ทำแล้ว ซึ่งหากคุณหญิงจารุวรรณยังอยู่ในตำแหน่งต่อ ข้าราชการใน สตง.มีสิทธิฟ้องร้องไล่คุณหญิงจารุวรรณได้หรือไม่ คุณพรทิพย์ กล่าวว่า ไม่แน่ใจข้าราชการ สตง.ถือเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงหรือไม่ แต่รักษาการผู้ว่า สตง.สามารถฟ้องร้องได้ เพราะเกี่ยวพันกับปัญหาการใช้อำนาจทับซ้อนกัน ไม่เพียงแค่ กฤษฎีกา ฟันธงชัดเจนแล้วเท่านั้น แม้แต่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ก็พูดชัดเจนว่า การตีความของทางคณะกรรมการกฤษฎีกาดำเนินไปเรียบร้อยแล้ว โดยได้ตีความว่าคุณหญิงจารุวรรณพ้นจากตำแหน่งแล้ว และระหว่างนี้รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินสามารถทำหน้าที่รักษาการ แต่จะเป็นการรักษาการและปฏิบัติหน้าที่ในเชิงของการบริหารจัดการองค์กร ไม่ใช่การทำหน้าที่ตามอำนาจหน้าที่ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ฉะนั้นจึงเป็นข้อสังเกตที่ทำให้ ครม.ต้องเร่งกระบวนการที่จะสรรหาบุคคลใหม่ที่จะเข้ามาทำหน้าที่แทนคุณหญิงจารุวรรณ “คนที่ส่งไปให้ตีความนั้นคือสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินไม่ใช่รัฐบาล และกฤษฎีกาก็ได้ตอบความเห็นไป เมื่อหารือมาต่อไปก็ต้องปฏิบัติตาม” นายอภิสิทธิ์ กล่าว เจอหนักๆ ขนาดนี้ คุณหญิงจารุวรรณ ก็เลยต้องเล่นบทนางเอกช่อง 7 สี ว่าจริงๆ แล้วพร้อมจะพ้นตำแหน่ง แต่ที่ต้องทนต้องยื้ออยู่ต่อจนกระทั่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ นานานั้น เป็นเพราะได้รับการขอร้องจากผู้ใหญ่ให้อยู่ต่อ เลยกลายเป็นประเด็นในสังคมอื้ออึงขึ้นมาอีกรอบว่า “ผู้ใหญ่” ที่ว่านั้นเป็นใคร??? คุณหญิงจารุวรรณ ถึงต้องยอมทนอยู่ต่อตามคำขอ ซึ่งคุณหญิงจารุวรรณ ได้ให้สัมภาษณ์ นายดนัย เอกมหาสวัสดิ์ เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม ผ่านรายการวิทยุ ว่า ทำให้สังคมต้องตีความว่า ตกลงที่คุณหญิงจารุวรรณบอกว่าต้องอยู่ต่อเพราะมีผู้ใหญ่ขอนั้น จะหมายถึง น้องนักกฎหมายที่ สตง. หรือว่าหมายถึง นายอมร จันทรสมบูรณ์... กันแน่ งานเข้าทั้งน้องในฝ่ายกฎหมาย สตง. ที่วันนี้ นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส รักษาการผู้ว่า สตง.อยากเจอตัวเหลือเกิน และสังคมที่อยากจะรู้ว่า อะไรคือเหตุผลข้ออ้างของนายอมร ในการที่ขอให้คุณหญิงจารุวรรณนั่งเก้าอี้ต่อไปเรื่อยๆ เช่นนั้น อย่างไรก็ตามเรื่องวุ่นๆ ในการตีความข้อกฎหมายอย่างนี้ มีหรือจะไม่มีคนอยากฟังความเห็นของระดับปรมาจารย์อย่าง นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ก็เลยมีคนกระทู้เข้าไปที่เว็บไซต์ www.meechaithailand.com ว่า คำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกาเรื่องคุณหญิงจารุวรรณนี้ จะมีผลผูกพันผู้เกี่ยวข้องมากน้อยแค่ไหน หรือว่า ต้องส่งให้ศาล รธน. ตีความอีกรอบ ถึงได้ข้อยุติ นายมีชัย ตอบว่า “คณะกรรมการกฤษฎีกามีฐานะเพียงเป็นที่ปรึกษากฎหมายเท่านั้น เมื่อหน่วยงานของรัฐอยากได้ความเห็นทางกฎหมาย เขาก็ให้ไป ส่วนคนได้รับจะนำไปปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติก็เป็นเรื่องของคนนั้น ไม่มีอะไรบังคับ แต่ถ้าเป็นส่วนราชการของฝ่ายบริหาร ดูเหมือนมีมติคณะรัฐมนตรีกำหนดให้ปฏิบัติตาม แต่หน่วยงานที่ไม่อยู่ภายใต้ฝ่ายบริหาร จะปฏิบัติหรือไม่ก็ได้ ถ้าไม่ปฏิบัติ เวลาเกิดปัญหาหรือความเสียหายขึ้น ก็ย่อมต้องรับผิดชอบไปเอง จะอ้างว่าไม่รู้ก็คงไม่ได้” ดังนั้น ณ วันนี้ ที่คุณหญิงจารุวรรณ อ้างว่าถูกมอบหมายจากประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(คปค.) ฉบับที่ 29 ให้อยู่ตรงนั้น จะเป็นยันต์ หรือสามารถใช้เป็นกาวตราตุ๊กแก กาวตราช้าง ได้หรือไม่ ก็คงต้องให้คุณหญิงจารุวรรณ ถามใจตัวเองแล้วว่า คำว่า “สง่างาม” นั้นจะตีความว่าอย่างไร???
“บังเอิญมีน้องนักกฎหมายที่ สตง. มาบอกว่าพี่ดูให้ดี พี่พ้นไม่พ้นนะ ตอนนั้นเก็บของเตรียมพร้อมแล้ว งานเลี้ยงต้องเปลี่ยนจากคำว่าอำลาอาลัยเป็นกตัญญูนุสรณ์ ก็บอกว่าวันนี้พี่ไม่รู้นะ พี่ต้องถามผู้รู้ให้ถ่องแท้ก่อน พี่ไม่ทำอะไรผิดๆ ก็ขอเวลาไปดู เผอิญท่าน อ.อมร จันทรสมบูรณ์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา มาเองเลย นั่งรถมาบอกเลยว่าอย่าไปไหน ดูให้ดีก่อน ขณะนั้นกำลังเตรียมพร้อมเลี้ยงกันอยู่แล้วเลยต้องฉุกคิดขึ้นมา”