ที่มา thaifreenews
เมื่อสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)
ส่งหนังสือเวียนลงวันที่ 29 กรกฎาคม ถึงอธิการบดีมหาวิทยาลัยต่างๆ
เรื่องขอความร่วมมือเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมทางด้านการเมืองของแกนนำนักศึกษา
มีเนื้อหาระบุว่า
"ด้วยสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ได้รับเรื่องร้องเรียนกรณี
เกี่ยวกับการพิจารณาควบคุมการจัดแสดงละครเวทีทางด้านการเมืองของแกนนำนักศึกษา
สถาบันอุดมศึกษา
เนื่องจากปัจจุบันมีแกนนำนักศึกษา จัดแสดงละครเวทีเพื่อแสดงความคิดเห็นด้านการเมือง
ในลักษณะบิดเบือนสถานการณ์ทางการเมืองอันเป็นการปลุกระดมยั่วยุ
สร้างความแตกแยกในสังคม ซึ่งอาจก่อให้เกิดเหตุความไม่สงบภายในประเทศได้นั้น
สกอ.พิจารณาแล้วเห็นว่ากรณีเรื่องร้องเรียนดังกล่าว
เกี่ยวข้องกับการบริหารงานภายในสถาบันอุดมศึกษา
ซึ่งเป็นอำนาจของผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษาตามกฎหมาย
หรือข้อบังคับของแต่ละสถาบันอุดมศึกษา
จึงใคร่ขอความร่วมมือในการควบคุมสอดส่องดูแลการจัดแสดงละครเวที
ให้มีความเป็นกลางทางการเมือง หลีกเลี่ยงการปลุกระดมยั่วยุ
หรือสร้างความแตกแยกในสังคมและสร้างความเข้าใจกับนักศึกษาทุกระดับ
เพื่อสร้างความปรองดองให้เกิดความสามัคคีในสังคมและความสงบสุขภายในประเทศต่อไป"
หนังสือเวียนดังกล่าวของ สกอ. ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์
หรือการแสดงความเป็นห่วงขึ้นอย่างหลากหลาย
นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
แสดงความเห็นว่า หนังสือดังกล่าวอาจนำไปสู่ปัญหาในทางปฏิบัติของบางมหาวิทยาลัย
ที่อาจตีความถ้อยคำในหนังสือไปในแง่
ที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของนักศึกษาอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ
นายปริญญาแสดงความห่วงใยว่า
ผู้ใหญ่ไม่ควรกีดกันการแสดงออกทางการเมืองของนักศึกษา
และการชอบพูดกันว่าเด็กสมัยนี้ไม่สนใจการเมือง
แต่ไปสนใจเรื่องบันเทิงหรือเรื่องราวไร้สาระอื่นๆ นั้น
บางทีก็อาจเกิดมาจากการที่ผู้ใหญ่มีความกลัวมากเกินไป
จนนำไปสู่การปิดกั้นการแสดงออกทางการเมืองของนักศึกษาในท้ายที่สุด
ด้าน นายอำนาจ เย็นสบาย รองอธิการบดีฝ่ายเครือข่ายเรียนรู้เพื่อสังคม
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
ก็ตั้งข้อสังเกตในฐานะที่เคยมีประสบการณ์ผ่านเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ว่า
ถ้ารัฐบาลมีระเบียบออกมาอย่างนี้
จะคล้ายเป็นการย้อนเวลากลับไปในยุคสังคมเผด็จการครั้งอดีต
เพราะในสมัย 6 ตุลาฯ ก็มีการห้าม
และขอความร่วมมือจากสถาบันการศึกษาไม่ให้นักศึกษาแสดงความเห็นทางการเมืองเช่นกัน
สอดคล้องกับอดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย
อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และอดีตนักศึกษาในยุค 6 ตุลาฯ อีกคน อย่าง
นายจาตุรนต์ ฉายแสง ที่ระบุว่า
การออกหนังสือเวียนของ สกอ. นำไปสู่บรรยากาศที่เหมือนกับ
ยุคก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และยุคหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519
ซึ่งรัฐบาลสมัยนั้นพยายามปิดกั้นสิทธิเสรีภาพทางวิชาการของนิสิตนักศึกษา
จนทำให้เกิดความกดดัน บีบคั้น
กระทั่งความรู้สึกร่วมของสังคมปะทุออกมาในการแสดงออกรูปแบบอื่นๆ
ตามความเห็นของนายจาตุรนต์ เรื่องการแสดงละครล้อเลียนนั้น
ถือเป็นการระบายออกตามปกติของสังคมที่ไม่ค่อยจะเป็นประชาธิปไตย
ซึ่งไม่สามารถพูดความจริงได้
แต่ต้องแสดงความเห็นออกมาในแนวล้อเลียน เสียดสี
ด้วยเหตุนี้ ยิ่งรัฐบาลไปปิดกั้นหรือกดดันการล้อเลียนเสียดสีดังกล่าว
ก็จะยิ่งทำให้นิสิตนักศึกษาหันไปแสดงออกในรูปแบบอื่น
หรือมีความกล้าคิดกล้าทำ กล้าเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น
ส่วนนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อย่าง
นายภัทรนันท์ ลิ้มอุดมพร ได้แสดงความเห็นว่า การส่งหนังสือเวียนดังกล่าว
หากมองในมุมของรัฐ
ก็ถือเป็นการออกคำสั่งควบคุมไม่ให้บุคคลแสดงออกทางความคิดผ่านงานศิลปะ
อย่างการแสดงละครเวที
ซึ่งอาจถูกรัฐมองว่ามีการนำเสนอเนื้อหาที่เป็นการสร้างความแตกแยกในสังคม
ทั้งที่นักศึกษาเพียงแค่จะพยายามนำเสนอข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเมืองผ่านการแสดงละครเวที
โดยไม่มีนัยยะอื่นใดแอบแฝงอยู่
ขณะที่ น.ส.วริศรา ดำรงเวช นิสิตชั้นปีที่ 4 คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ
นักแสดงละครเวที เรื่อง "แสงศรัทธาเหนือลำน้ำเจ้าพระยา" ที่มีเนื้อหาสะท้อนภาพ
การเมืองไทยยุคหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475
ผ่านชีวิตตัวละครผู้หญิงหลากหลายกลุ่ม
โดยมีตัวละคร "ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์" เป็นศูนย์กลางของเรื่อง
ซึ่งท้าทายแม่บทประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่อย่างน่าสนใจ
ก็สรุปความเห็นไว้อย่างหนักแน่นว่า
การควบคุมหรือจำกัดสิทธิของนักศึกษาในเรื่องการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง
ยิ่งจะทำให้เด็กเกิดความต่อต้าน และอยากจะแสดงออกมากขึ้น
ทั้งนี้ ผู้อยู่ในแวดวงละครเวทีของนักศึกษา เชื่อกันว่า
ละครเวทีที่ทำให้มีผู้ส่งเรื่องร้องเรียนไปยัง สกอ.
จนนำมาสู่การออกหนังสือเวียนอันถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางนั้น
น่าจะเป็นผลงานละครเรื่อง
"ดาลิต...ผู้เป็นที่รัก"
โดยนักศึกษาคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ซึ่งจะเปิดแสดงในช่วงเดือนกันยายนนี้
ละครเวทีเรื่องนี้เล่าเรื่องราวของ "อตุล" ตัวแทนของมนุษย์ที่ถูกตีค่าจากสังคมอินเดีย
ในยุคก่อนว่าเป็นพวก "จัณฑาล" จนถูกข่มเหงเหยียดหยันจากผู้คนที่เชื่อว่า
ตนมีวรรณะ คุณธรรม อำนาจ ความมั่งคั่ง และความแข็งแรงสูงกว่า
อตุลตัดสินใจกล้าลุกขึ้นมาทำในสิ่งที่แตกต่างจากจารีตและความเชื่อของผู้คน
ทว่าสิ่งที่ตามมา คือ
ความเกลียดชัง การแบ่งแยก ความสูญเสีย และกลับกลายเป็นความไร้ค่าเช่นเดิม
วันเวลาผันผ่านไปจนบ้านเมืองเปลี่ยนมาปกครองในระบอบ "ประชาธิปไตย"
แต่ความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ยังคงอยู่
เหล่า "จัณฑาล" เลือดใหม่จะทำอย่างไร หรือต้องใช้เลือดรดพื้นดิน?
พ้นออกไปจากพื้นที่ของสื่อกระแสหลัก หนังสือเวียนฉบับดังกล่าวของ สกอ.
ก็ได้ก่อให้เกิดเสียงสะท้อนกลับอย่างมากมายจากสมาชิกของชุมชนออนไลน์เฟซบุ๊กเช่นกัน
ซึ่งปรากฏทั้งในรูปแบบขำขันและการวิพากษ์วิจารณ์อย่างดุเดือดจริงจัง อาทิ
"กลัวกระทั่งละครนักศึกษา หึๆ"
(บทสนทนาโต้ตอบกับสถานะดังกล่าว 1 - "คงไม่ต้องถามแล้วว่าวันนี้
เรากำลังมีชีวิตอยู่ภายใต้เงาคิดแบบไหน ที่น่าสงสัยคือ ต่อไปจะต้องเจออะไรอีกบ้าง")
(บทสนทนาโต้ตอบกับสถานะดังกล่าว 2 - "และคาดว่าละครเวทีเรื่อง ดาลิต
ของวารสารฯ ธรรมศาสตร์ น่าจะเป็นเชื้อไฟสำคัญที่ทำให้ออกมาเต้นเร่าๆ กัน
ว่าแล้วก็ไปดูละครเวทีเรื่องนี้กันดีกว่า หมั่นไส้หนังสือเวียน ชิ")
"ถึงเพื่อนๆ น้องๆ วารสาร มธ. - ข่าวนี้เป็น "ดาลิต เอฟเฟ็กต์" หรือเปล่าเนี่ย?"
(บทสนทนาโต้ตอบกับสถานะดังกล่าว 1 - "คิดในแง่ดีนะ..ถ้าเค้าร้อนตัว
เพราะดาลิตจริง แสดงว่าละครเราต้องดีมากๆ และเนื้อหาฉลาดสุดๆ")
"เพิ่งได้รับโทรศัพท์จาก... ว่าสรุปแล้วข่าวที่มติชนลงเรื่องละครเวทีการเมืองนั้น
เป้าหมายสำคัญในการจับตามองอยู่ที่ "ดาลิต" ของวารสาร มธ.
และละครเวทีของ ม.กรุงเทพ เรื่องหนึ่ง"
(บทสนทนาโต้ตอบกับสถานะดังกล่าว 1 - "ทำเอาข้าพเจ้าอยากดูดาลิตเลย ฮ่าๆๆ")
(บทสนทนาโต้ตอบกับสถานะดังกล่าว 2 - "ชักอยากดูขึ้นมาเลย 555")
(บทสนทนาโต้ตอบกับสถานะดังกล่าว 3 - "ดีจัง โปรโมตให้ฟรี")
"การควบคุมการแสดงออกของนักศึกษาที่ขยายวงจากเรื่องการเมืองเป็นการแสดงละครแบบนี้คือ
ตัวอย่างว่ารัฐเดินหน้าควบคุมความคิดของสังคม
คำถามไม่ใช่อยู่ที่ระบอบปัจจุบันเลวร้ายแค่ไหน
แต่คือระบอบจะเดินหน้าเลวร้ายต่อไปอีกไกลขนาดไหนจนถึงจุดที่มืดมิดที่สุดของมัน"
(บทสนทนาโต้ตอบกับสถานะดังกล่าว 1 - "มืดที่สุดก็หมายความว่าใกล้สว่างแล้ว
อย่ากลัวที่จะมืดกว่านี้ เพราะความสว่างมันกำลังมาเยือน")
(บทสนทนาโต้ตอบกับสถานะดังกล่าว 2 - "น่าสนใจว่าละครเวทีนักศึกษาโดนเล่นก่อนหนังสั้น
(ทั้งที่ประเด็นบางอย่างในหนังสั้นน่าจะไปไกลและเล่นแรงกว่า) ทั้งนี้อาจเป็นเพราะ
1.ละครเวทีดูเป็นกิจกรรมที่แมสกว่าในสายตาของรัฐและสังคม?
2.รัฐยังติดกับความหลังเรื่องละครแขวนคอ? ฯลฯ")
(บทสนทนาโต้ตอบกับสถานะดังกล่าว 3 - "มันมาใกล้เราเข้าไปทุกทีๆ
การแสดงเสร็จก็จะต่อด้วย หนัง และ ทัศนศิลป์")
(บทสนทนาโต้ตอบกับสถานะดังกล่าว 4 - "สงสัยนี่เป็นขั้นตอนแรกของการปฏิรูปสื่อครับ...ฮา")
"ประโยคอมตะของ "ผู้ใหญ่ไทย" สไตล์คนดีศรีประเทศ "ไม่ได้ห้ามหรอกจ้ะ
แค่เตือนๆ จ้ะ (แต่อย่าทำนะมรึง คิดต่างจากกรูมรึงตาย)" "
http://info.matichon.co.th/weekly/member/wk_txt.php?srctag=MTIxMzA4NTM=
เพื่อไทย
Saturday, August 14, 2010
เสียงสะท้อนจาก "เฟซบุ๊ก" หลัง "สกอ." เตรียมคุมเข้มละครเวที นศ. ไม่ได้ "ห้าม" แค่ "เตือน" แต่อย่า "คิดต่าง"
โดย Porsche
อยู่ดีๆ เรื่องที่ไม่น่าจะเป็นเรื่องก็กลับกลายมาเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นอีกครั้งหนึ่ง