WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Friday, August 13, 2010

การปฏิรูปของอภิสิทธิ์คือ การเกี่ยวข้าวในทะเลทราย

ที่มา Robert Amsterdam



โดย ใจ อึ๊งภากรณ์

Read more from สิทธิมนุษยชน

สิ่งหนึ่งที่ขบวนการเสื้อแดงยืนยันและพิสูจน์ตลอดคือ
พลเมืองธรรมดาไม่เคยโง่และไม่เคยที่จะไม่เข้าใจประชาธิปไตย
ดังนั้นเวลาพิจารณาคำว่า “ปฏิรูป” เราควรนิยามตามความเข้าใจของคนทั่วไป
ซึ่งย่อมจะมีความหมายในเชิงบวก คือ
เป็นกระบวนการที่จะ “ทำให้สังคมดีขึ้น”
แต่บ่อยครั้งชนชั้นปกครองพยายามปล้นขโมยคำว่า “ปฏิรูป” นี้ไปใช้ในทางตรงข้าม
เพื่อปกปิดวัตถุประสงค์แท้ของเขา

ตอนนี้ในอังกฤษ รัฐบาลพรรคอนุรักษ์นิยม ประกาศว่าจะ “ปฏิรูป” ระบบรัฐสวัสดิการ
เวลาผมและประชาชนจำนวนมากฟังคำพูดแบบนี้ เราจะหนาว
เพราะในความเป็นจริงข้อเสนอของเขาคือการทำลายมาตรฐาน
และการบริการประชาชนที่มาจากรัฐสวัสดิการ
มาตรการต่างๆ ของรัฐบาลอังกฤษในการตัดงบประมาณรัฐ
กระทำไปเพื่อที่จะให้พลเมืองจ่ายหนี้ที่รัฐก่อขึ้นจากการพยุงธนาคารในวิกฤตเศรษฐกิจ
มันเป็นการหลีกเลี่ยงการทวงเงินคืนจากธนาคารที่ปั่นหุ้นและเล่นการพนันจนเศรษฐกิจโลกพัง
มันเป็นการหมุนนาฬิกากลับ
มันควรจะเรียกว่าเป็นมาตรการถอยหลังที่ทำให้สังคมยาลง
มากกว่าที่จะเรียกว่าเป็น “การปฏิรูป”

ในสังคมไทยปัจจุบันภายใต้ความมืดและการข่มเหงของอำมาตย์เผด็จการ
มีการใช้คำว่า “ปฏิรูป” อีกครั้ง โดยนายกมือเปื้อนเลือดอภิสิทธิ์
ซึ่งต้องถือว่าเป็นการเปลี่ยนความหมายของคำว่า “ปฏิรูป” ไป 180 องศา
จากความหมายที่สังคมไทยยอมรับในยุคที่มีการร่างรัฐธรรมนูญปี ๔๐ ในยุคนั้นแน่นอน
มีการถกเถียงกันว่าจะปฏิรูปอะไรอย่างไร
แต่สังคมโดยรวมมีการยอมรับว่าต้องเปลี่ยนแปลงให้สังคมไทยมีสิทธิเสรีภาพมากขึ้น
สำหรับคนธรรมดาหลังจากที่อยู่ภายใต้อำนาจทหารและอำนาจคนใหญ่คนโตมานานเกินไป
นอกจากนี้เนื่องจากมันเป็นช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ
หลายคนมองด้วยว่าโครงสร้างเก่าๆ ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม
ที่กีดกันคนธรรมดา กลายเป็นอุปสรรค์ในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย
โดยรวมแล้วการร่างรัฐธรรมนูญปี ๔๐ ถือว่าเป็นความก้าวหน้าของสังคมไทย
ทั้งในวิธีการร่าง และผลที่ได้มา
อย่างไรก็ตามอิทธิพลของนักวิชาการที่สนับสนุนกลุ่มทุนใหญ่
(พวก “เสรีนิยม”) มีมากกว่าอิทธิพลของประชาชนธรรมดา
มีการให้ความสำคัญกับนักวิชาการ “ผู้รู้” มากเกินไป
และรัฐธรรมนูญปี ๔๐ ก็สะท้อนผลประโยชน์ของกลุ่มทุนใหญ่
และกลุ่มชนชั้นนำมากเกินไปด้วย เช่น
ในเรื่องการสนับสนุนกลไกตลาดแทนการบริการประชาชนโดยรัฐ
หรือการเสนอให้ ส.ว. และองค์กรอิสระ “ปลอดการเมือง”
ซึ่งเป็นไปไม่ได้และเป็นเพียงหน้ากากปิดบังอิทธิพลของกลุ่มทุน
และชนชั้นนำพวกที่ไม่เคยมาจากการเลือกตั้ง
นอกจากนี้การเพิ่มอำนาจของนายกรัฐมนตรี
และการเพิ่มอิทธิพลของพรรคเสียงส่วนใหญ่ในสภา
ที่มากับรัฐธรรมนูญปี ๔๐ เป็นสิ่งที่อาจไม่เป็นประโยชน์กับคนจน
โดยเฉพาะในกรณีที่รัฐบาลใช้นโยบายที่ไม่เป็นประโยชน์กับเขา
เนื่องจากการมีรัฐบาลที่เข้มแข็งมากขึ้นอาจทำให้รัฐบาลไม่ฟังประชาชนก็ได้
และโอกาสของพรรคการเมืองใหม่ๆ ของคนจน (ถ้ามี) ก็จะน้อยลง
แต่นั้นไม่ได้หมายความว่าเราต้องสนับสนุนรัฐประหาร ๑๙ กันยาแต่อย่างใด

ใครที่ยังไม่ชัดเจนว่าแนว “เสรีนิยม” ขัดขวางเสรีภาพของประชาชนคนธรรมดาแค่ไหน
ควรตรวจดูว่าพวกนักวิชาการเสรีนิยมในไทยส่วนใหญ่ไปมีจุดยืนอะไรในปัจจุบัน
คำตอบคือเกือบ 100% ต้อนรับรัฐประหาร 19 กันยา
และเป็นเสื้อเหลืองที่ดูถูกและเกลียดชังคนจน
ก่อนหน้านั้นพวกนี้ก็ได้แต่โจมตีโครงการสามสิบบาทรักษาทุกโรค
และการบริการคนจน ว่าเป็นการ “ขาดวินัยทางการคลัง”
ทั้งๆ ที่เขาไม่เคยพูดแบบนี้กับเรื่องการขึ้นงบประมาณทหาร
ซึ่งเกิดขึ้นอย่างเร่งด่วนหลังรัฐประหารและภายใต้รัฐบาลอภิสิทธิ์

เราไม่จำเป็นต้องเรียนสูงจบปริญญาอะไรเพื่อเข้าใจว่า “การปฏิรูป”
ที่มาจากรัฐบาลอภิสิทธิ์จะไม่มีเป้าหมายเพื่อทำให้สังคมดีขึ้น
หรือเพื่อขยายสิทธิเสรีภาพ แค่ดูผลงาน
และที่มาในโลกจริงของรัฐบาลนี้ก็จะเข้าใจ เช่น
เราทราบว่ารัฐบาลนี้มาจากการทำรัฐประหารโดยทหาร
มาจากการบงการโดยทหาร ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง
เพราะไม่เคยครองใจประชาชนส่วนใหญ่
เป็นรัฐบาลที่สั่งทหารฆ่าประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตยไปเกือบ 90 ศพ
ทั้งๆ ที่ประชาชนเหล่านั้นไม่มีอาวุธ
เป็นรัฐบาลที่ปกปิดเซ็นเซอร์สื่อทุกชนิดอย่างที่ไม่เคยเซ็นเซอร์มากก่อน
เป็นรัฐบาลที่จำคุกคนที่มีความเห็นต่างภายใต้กฎหมายคอมพิวเตอร์
กฎหมายหมิ่นฯ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
และเป็นรัฐบาลที่ใช้สองมาตรฐานทางกฎหมายอย่างหน้าตาเฉย
ใช้ระบบศาลอย่างลำเอียง
ไม่คิดว่าตนต้องอธิบายอะไร โกหกไปเรื่อยๆ
สร้างซีดี ออกรายการโทรทัศน์ ทำอย่างหน้าด้านๆ
เพราะรู้ว่าไม่ต้องปรึกษาประชาชน ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง
และเพราะมีกระบอกปืนและรถถังหนุนหลัง

ทุกอย่างที่รัฐบาลนี้และทหารที่หนุนหลังรัฐบาลทำไป ไม่ใช่ “อุบัติเหตุ”
ไม่ใช่การ “รู้ไม่ถึง”
แต่เป็นการจงใจทำ แถมผู้ที่อภิสิทธิ์แต่งตั้งมาเพื่อควบคุมดูแล “การปฏิรูป”
(นายอานันท์ ปันยารชุน) เป็นคนที่รับใช้เผด็จการทหาร ร.ส.ช.
หลังการทำรัฐประหารปี ๓๔ เขาเป็นคนที่มองว่า
ชนชั้นปกครองมือเปื้อนเลือดไม่ควรถูกจับมาลงโทษ
(เพราะอภัยโทษให้สุจินดาที่ทำรัฐประหารและสั่งฆ่าคนในเหตุการณ์พฤษภา ๓๕)
เขาเป็นคนที่เคยแสดงความเห็นว่า
“ประชาธิปไตยไทยๆ” ไม่ต้องเป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์
เป็นคนที่คัดค้านสหภาพแรงงาน (ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของลูกจ้าง)
เป็นคนที่เคยพูดว่าพี่น้องมุสลิมมาเลย์ในภาคใต้ควร “ลืม”
เหตุการณ์นองเลือดตากใบ และเป็นคนที่มองว่าไม่ต้องยกเลิกกฎหมายหมิ่นฯ

ดังนั้นใครที่คิดว่ารัฐบาลนี้จะผลักดัน “การปฏิรูป” (ในความหมายที่คนธรรมดาเข้าใจ)
มีแค่สองประเภทคือ คนโกหก กับคนปัญญาอ่อน ….
แล้วทำไมนักวิชาการจำนวนมากจึงเข้าไปร่วมกับ “กระบวนการปฏิรูป” ของอำมาตย์??
ส่วนใหญ่เป็นคนที่หวังได้ชื่อเสียง หวังได้หน้า หวังได้ผลประโยชน์
หรือเป็นคนที่ให้ความสำคัญกับตัวเองเกินเหตุ พวกนี้เป็นคนโกหกชัดๆ
เป็นคนที่รับใช้ผู้เป็นใหญ่ไม่ว่าจะเป็นใคร และพร้อมจะเปลี่ยนจุดยืน
แล้วแต่ว่าใครมีอำนาจ เขาเป็นคนที่จงใจปิดหูปิดตา
และทำเป็นมองไม่เห็นสภาพสังคมไทยตอนนี้
และประกาศว่า “ความเลวทรามทั้งหมดเป็นการกระทำของรัฐบาลทักษิณ
และคนเสื้อแดงเป็นคนจนโง่ๆ ที่ถูกหลอกถูกซื้อ”

อีกส่วนหนึ่งของนักวิชาการที่เข้าร่วม อาจส่วนน้อย คือ
คนปัญญาอ่อนทางการเมือง ทำไมคนที่ไม่ได้สนับสนุนรัฐประหาร
หรือสนับสนุนพวกเสื้อเหลือง
และมีประวัติของการยืนเคียงข้างคนจน จึงปัญญาเสื่อมจนเลือกไปร่วมกับอภิสิทธิ์?
ไม่ใช่เพราะถูกซื้อ ผมรับรองว่าเขาบริสุทธิ์ใจ
แต่ถ้าเราจะเข้าใจพฤติกรรมของเขา
ต้องเข้าใจว่าเขาคิดว่าการล้มอำมาตย์และการสร้างรัฐไทยใหม่ที่เป็นประชาธิปไตย
หรือการลดบทบาททหารโดยสิ้นเชิง “ทำไม่ได้”
แต่ถ้าจะมีละครการปฏิรูปอย่างที่กำลังเกิด เขามองว่าถ้าเขาเข้าไปร่วมด้วย
มันอาจมีประโยชน์บ้าง ดีกว่าไม่ร่วม แต่เขาเข้าใจผิดมหาศาล
เพราะแทนที่จะเกิดประโยชน์ จะไม่มีอะไรเลยที่มีความหมายจริงๆ เกิดขึ้น
และเขาจะถูกใช้เป็นไม้ประดับ
เพื่อให้ความชอบธรรมกับการโฆษณาชวนเชื่อของอำมาตย์ต่างหาก

บางคนอาจมองว่าเวลาผมใช้คำว่า “ปัญญาอ่อนทางการเมือง” มันแรงไปหน่อย
ผมว่าไม่แรงไป เพราะใครที่ยอมคิดอะไรด้วยเหตุผล
หรือด้วยวิธีการคิดแบบวิทยาศาสตร์อย่างง่ายๆ ย่อมเข้าใจว่า
หลายๆ สิ่งหลายๆ อย่างในโลกมีเงื่อนไขจำเป็นก่อนที่มันจะเกิดขึ้นได้
ภาษาอังกฤษเรียกว่า Necessary Conditions ยกตัวอย่างเช่น
ถ้าจะปลูกพืชผล ต้องมีน้ำมีแร่ธาตุมีแสงแดด
หรือถ้าสัตว์กับมนุษย์จะมีชีวิตต้องมีออกซิเจนคือ
ต้องสามารถหายใจได้ ในเรื่องสังคมศาสตร์ก็เหมือนกัน
เราไม่สามารถปฏิรูปสังคมถ้าไม่มีประชาธิปไตย
และสิทธิเสรีภาพได้ “การปฏิรูป” จอมปลอมของอภิสิทธิ์
จึงเป็น “การเกี่ยวข้าวในทะเลทราย” เพราะในทะเลทรายปลูกข้าวไม่ได้แต่แรก
มันเป็นภาพลวงตาประเภทที่เกิดขึ้นกลางทะเลทรายร้อนๆ

ถ้าเราจะปฏิรูปสังคมไทยให้ดีขึ้น
เราจะต้องกำจัดลบทิ้งอิทธิพลของทหารในการเมืองและสังคมโดยสิ้นเชิง
เหมือนที่เป็นอยู่ในประเทศประชาธิปไตยทั่วไป
เราต้องสร้างเงื่อนไขไม่ให้ทหารทำรัฐประหาร
ทหารต้องไม่คุมสื่อ ทหารต้องไม่มีส่วนในการควบคุมสังคม
และทหารจะต้องไม่มีสิทธิ์อ้างสถาบันใดก็ตามเพื่อการทำลายประชาธิปไตย
ทหารต้องรับใช้ประชาชนอย่างเดียว ไม่มีเจ้านายอื่น
ดังนั้นการปฏิรูปบทบาททหารเป็นเรื่องสำคัญอันดับหนึ่งในกระบวนการปฏิรูป
โดยเฉพาะในบริบทที่ทหารแทรกแซงการเมืองและสังคมไทยมาตลอด
การปฏิรูปทหารหมายถึงการลดงบประมาณทหารอย่างถอนรากถอนโคนด้วย
แต่แน่นอนรัฐบาลอภิสิทธิ์ที่บงการโดยทหาร
และกรรมการปฏิรูปของอภิสิทธิ์ไม่มีวันพูดถึงเรื่องเหล่านี้เลย

ขณะนี้เราเห็นความเสื่อมเสียของระบบ “ยุติธรรม” และกฎหมายในไทย
ในระยะสั้นผู้ที่จะต้องรับผิดชอบต่อความเสื่อมเสียนี้คือ
ทหารและรัฐบาลปัจจุบัน
แต่ผู้พิพากษาและศาลก็มีส่วนสำคัญในการทำลายระบบยุติธรรม ดังนั้น
ถ้าจะปฏิรูปให้ไทยเป็นนิติรัฐ ต้องปลดผู้พิพากษาและศาลจำนวนมาก
และเลือกตั้งคนที่มีอุดมการณ์ในความเป็นธรรมทางกฎหมายเข้ามาแทนที่
พร้อมกันนั้นต้องลดอำนาจเผด็จการของศาล
โดยนำระบบลูกขุนมาใช้ตัดสินคดีต่างๆ
และต้องยกเลิกกฎหมายหมิ่นศาลที่ทุกวันนี้ใช้ป้องกันความไม่เที่ยงธรรมของศาล
อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องทำคือต้องยกเลิกความป่าเถื่อนของโทษประหาร
และลดเวลาในการพิจารณาคดีต่างๆ
เพื่อให้เกิดความยุติธรรมที่แท้จริง ไม่ใช่ว่าคดีต่างๆ จะลากไปเรื่อยๆ เป็นปีๆ
เพื่อให้โจรหากินกับกฎหมายและเพื่อข่มขู่คนที่ถูกกล่าวหา
โดยที่เขามีเมฆดำลอยอยู่เหนือชีวิตเป็นปีๆ
และเราต้องย้ำว่าผู้ถูกกล่าวหาย่อมบริสุทธิ์เสมอก่อนที่จะจบการพิจารณาคดี
ยิ่งกว่านั้นนักโทษทุกคน ไม่ว่าจะก่อนหรือหลังการพิจารณาคดี
จะต้องได้รับการปฏิบัติในลักษณะที่รักษาศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
ต้องไม่ถูกล่ามโซ่ และ
ต้องไม่ถูกบังคับให้แต่งชุดนักโทษที่ทำลายความเป็นมนุษย์
เวลาขึ้นศาลไม่ควรแต่งชุดนักโทษ
เพราะจะสร้างภาพล่วงหน้าว่าเป็นคนที่กระทำความ “ผิด”

ถ้าจะปฏิรูปสังคม เราควรจะมาคุยกันว่าจะใช้กฎหมายและเรือนจำ
เพื่อปกป้องประชาชนและสังคม หรือเพื่อลงโทษแก้แค้น
เพราะสังคมอารยะจะเน้นอันแรกเป็นหลัก การแก้แค้น
โดยเฉพาะด้วยความรุนแรง ไม่ใช่พฤติกรรมของสังคมอารยะ
อย่างที่มีคนอื่นพูดไปแล้ว “การแลกตาต่อตา
เพียงแต่ทำให้สังคมตาบอด” สังคมอารยะต้องเข้าใจว่า
ทำไมคนบางคนกระทำความผิด และต้องพยายามแก้ที่ต้นเหตุในสังคม
ดังนั้นสภาพของเรือนจำไม่ควรจะแย่อย่างในปัจจุบัน
และไม่ควรจำคุกคนที่ไม่เป็นอันตรายจริงๆ กับเพื่อนมนุษย์คนอื่น
การปฏิรูปการเมือง จะต้องรวมไปถึงการลดจำนวนคนที่ถูกคุมขัง
โดยเฉพาะคดีขโมยทรัพย์หรือยาเสพติด

ก่อนที่จะปฏิรูประบบยุติธรรมได้ สังคมเราจะต้องไม่มีนักโทษการเมือง
เพราะนักโทษการเมืองเป็นคนที่ถูกคุมขัง
ด้วยสาเหตุที่มีมุมมองทางการเมืองต่างจากชนชั้นปกครอง
การมีนักโทษการเมืองพิสูจน์ว่าไม่มีประชาธิปไตย
ดังนั้นใครที่อยากปฏิรูปสังคมไทย
จะต้องมีส่วนในการรณรงค์ให้ปล่อยนักโทษเสื้อแดงทั้งหมด
และจะต้องรณรงค์ให้ยกเลิกกฎหมายหมิ่นฯ
และกฎหมายคอมพิวเตอร์
และปล่อยคนอย่าง ดา ตอร์บิโด
คุณจะปฏิรูปอะไรได้ ถ้าไม่มีสิทธิ์คิดต่างจากอำมาตย์?

ถ้าจะปฏิรูปสังคม เราต้องกล้าทบทวนความคิดหลายอย่าง
ที่เคยถือว่า “จารึกบนแท่นหิน” เช่นเรื่องรัฐชาติ ภาษา และพรมแดน
หรือระบบการปกครอง
ตอนนี้เรามีวิกฤตในภาคใต้ วิกฤตนี้มาจากท่าทีของรัฐรวมศูนย์ไทย
ที่มีต่อคนที่มีเชื้อชาติ ภาษา วัฒนธรรม และศาสนา
ที่ไม่เข้ากรอบ “ความเป็นไทย” การทหารแก้ปัญหาภาคใต้ไม่ได้
เหมือนกับที่การทหารสร้างประชาธิปไตยไม่ได้
และการคลั่ง “ชาติไทย” เป็นสิ่งที่จะนำไปสู่ความรุนแรง
และการกดขี่คนอื่น เราน่าจะเรียนรู้ได้แล้วจากประสบการณ์ในภาคใต้
และจากประสบการณ์ความเลวทรามของพวกพันธมิตรฯ
ที่พยายามก่อสงครามกับประเทศเพื่อนบ้านกัมพูชาเรื่องเขาพระวิหาร
จริงๆ แล้วเขาพระวิหารใช้เป็นประโยชน์ร่วมกันได้ในเรื่องการท่องเที่ยว
ใช้มาอย่างนั้นในอดีตหลายปีแล้วด้วย
เพียงแต่เกิดปัญหาจอมปลอมเมื่อพวกหัวเพี้ยนคลั่งชาติ
ต้องการสร้างเรื่องเพื่อเบี่ยงเบนประเด็นโจมตีรัฐบาลไทยรักไทยเท่านั้น

ประเด็นสำคัญๆ ที่ต้องพิจารณาในการปฏิรูปสังคมไทยมีอีกมากมาย
และไม่ใช่บทบาทหน้าที่ของบุคคลคนเดียวที่จะเสนอประเด็น
เรื่องอื่นที่สำคัญเช่นเรื่องสื่อ
โดยเฉพาะสิทธิเสรีภาพของวิทยุชุมชน สื่ออินเตอร์เน็ท
และบทบาทอันสมควรของโทรทัศน์สาธารณะ
เพราะปัจจุบันนี้โทรทัศน์ ไทย PBS นับว่าเป็นช่องที่น่าอับอายขายหน้าสากล
เนื่องจากเข้าข้างอำมาตย์และรัฐบาลอย่างเห็นได้ชัด
นอกจากนี้เราต้องกล้าตั้งคำถามว่า ทำไมทหารต้องมีสื่อของตนเองด้วย?

ถ้าจะปฏิรูปสังคม ต้องพิจารณาเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษา
และการเพิ่มสิทธิต่างๆ ของลูกจ้างในสหภาพแรงงาน…
รวมถึงสิทธิในความหลากหลายทางเพศของพลเมืองอีกด้วย
แต่นอกจากนี้เราต้องพูดกันถึงการกระจายรายได้
และการสร้างความมั่นคงในชีวิตผ่านระบบรัฐสวัสดิการ
และการเก็บภาษีก้าวหน้า
เพราะถ้าพลเมืองเราจะมีส่วนร่วมเต็มที่ในสังคม
เราต้องลดความเหลื่อมล้ำและกำจัดความยากจน
นี่คือแนวทางที่จะนำไปสู่ประชาธิปไตยแท้ ดังนั้น
การปฏิรูปจะขาดการพูดถึงรัฐสวัสดิการไม่ได้
แต่อย่าไปหวังว่ากระบวนการของอภิสิทธิ์จะลดความเหลื่อมล้ำเลย
เพราะอำมาตย์ทำลายประชาธิปไตยตั้งแต่รัฐประหาร 19 กันยา
เพื่อปกป้องอภิสิทธิ์ของเขาจากการเปลี่ยนแปลงใดๆ

ในโลกแห่งความเป็นจริงของสังคมไทย
ผู้ที่มีคุณสมบัติเพียงพอที่จะมีส่วนสำคัญในกระบวนการปฏิรูป คือ
ผู้ที่ใฝ่ฝันถึง “รัฐไทยใหม่” ที่ไม่มีอำมาตย์ในรูปแบบต่างๆ
ไม่มีการแทรกแซงการเมืองโดยทหาร มีประชาธิปไตยและเสรีภาพ
และไม่มี “ความเป็นเจ้าเป็นนายเหนือไพร่” คือ
มีความเท่าเทียมระหว่างพลเมืองทุกคนนั้นเอง
ความก้าวหน้าของสังคม
ไม่ใช่สิ่งที่เกิดจากผู้นำไม่กี่คน ไม่ใช่สิ่งที่เกิดจากนักวิชาการหรือนักกฎหมาย
และเราหวังอะไรไม่ได้จากพรรคเพื่อไทยในแง่ของการปฏิรูปสังคมอย่างจริงจัง
เพราะพรรคนี้เป็นเพียงแค่เงาจางๆ ของพรรคไทยรักไทย

การปฏิรูปเป็นสิ่งที่มาจากการเคลื่อนไหวของคนจำนวนมาก
ในสิ่งที่เรียกว่า “ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม”
คนเสื้อแดงเป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย
และเป็นขบวนการแท้จริงที่จะนำไปสู่การปฏิรูปสังคมให้ดีขึ้น
แต่ไม่มีอะไรเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ
ถ้าจะปฏิรูปสังคมในรูปธรรมต้องมีการถกเถียงแลกเปลี่ยน จัดตั้ง
(อาจต้องสร้างพรรคการเมืองใหม่ๆ ที่หลากหลาย)
และการเรียนรู้ร่วมกันในขบวนการเสื้อแดง
เพื่อให้เราเริ่มชัดเจนมากขึ้นว่าเราต้องการปฏิรูปสังคมไทยให้ไปในทิศทางใด