ที่มา บางกอกทูเดย์ เรื่องหนึ่ง เป็นกรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐถูกกล่าวหาว่า...เรียกรับเงินเพื่อช่วยให้การเสียภาษีน้อยลง...คนที่ถูกเรียกเก็บภาษีก็เชื่อตามนั้น เงินจึงเข้ามาเกี่ยวข้อง มีการโอนเงินไปให้เจ้าหน้าที่เป็นเงินนับแสนบาท บัญชีนับเป็นหลักฐานทางเอกสารที่น่าเชื่อถือ...โดยเฉพาะเอกสารประกอบบัญชีนั้นเป็นสำเนาใบฝากเงินที่ธนาคารรับรองแล้ว...ย่อมน่าเชื่อเป็นที่สุด ถูกจับได้! แล้วมีการเปิดเผยสู่สาธารณะ...เจ้าหน้าที่รัฐคงตกใจให้ทนายคู่หูออกมายอมรับว่ามีเงินเข้าบัญชีจริง เป็นค่าบริการบางอย่าง ที่บอกรายละเอียดไม่ได้ ต่อมาคู่สมรสของเจ้าหน้าที่รัฐก็ออกมาแจงภายหลังว่า...เป็นค่าบริการงานบัญชีและวางแผนภาษี มิใช่เงินค่าวิ่งเต้นแก้การเสียภาษีแต่อย่างใด แปลกแต่จริง เพราะแม้คนจ่ายเงินจะมีบริษัทตามที่บอก แต่บริษัทนั้นพึ่งตั้งเมื่อวันที่ 7 ก.ค. 51 ด้วยทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท...วัตถุประสงค์ซื้อทรัพย์สินมาให้เช่า แล้วทำไมต้องเสียค่าวางแผนหรือทำบัญชีเป็นเงินนับแสนบาท ซึ่งการจ่ายเงินเกิดขึ้นวันที่ 20 เศษ เดือนปีเดียวกัน โดยทั่วไปการปิดบัญชีบริษัทจะทำกันสิ้นปี...กรณีนี้ก็ควรเป็น ธ.ค. 2551 ด้วยการรวมรายรับหักรายจ่ายคำนวณภาษีแล้วให้ผู้สอบบัญชีรับรองก่อนส่งเสียภาษีภายในสิ้นเดือน พ.ค. 2552 เวลาที่จะเสียภาษีก็อีกนานนับจาก ก.ค. 2551 และกว่าจะถูกตรวจสอบการเสียภาษีก็คงหลังจากยื่นงบบัญชีไปที่กรมสรรพากรแล้ว ดังนั้นที่อธิบายแก้ตัวกันว่า...เงินนี้เป็นค่าวางแผนภาษีหรือรับทำบัญชีนั้น ก็คงมีน้ำหนักน้อยไปหน่อย...แต่ก็อย่างว่าก็กำลังตกใจ อะไรๆ ก็อ้างเอาไว้ก่อน ยิ่งกล่าวอ้างอาจจะยิ่งเข้าตัว เพราะคำว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น ย่อมอยู่ในบังคับของกฎหมาย ป.ป.ช. ซึ่งผลของการรับเงินผ่านบัญชีธนาคารก็คงจะวนเวียนอยู่ในความครุ่นคิดที่วิตกกังวลอยู่พอควร และยังไม่นับเรื่องการต้องนำเงินนั้นไปเสียภาษีอีกด้วย อีกเรื่องหนึ่ง เป็นกรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐ แจ้งบัญชีทรัพย์สินครั้งหลังเพิ่มขึ้นกว่าครั้งแรกนับสิบล้านบาท โดยแจ้งว่าเป็นการลงทุนหุ้นในบริษัทที่ได้มาจากการนำเงินขวัญถุงไปลงทุน เงินขวัญถุงแจงว่า...ได้มาจากงานหมั้นงานแต่งด้วยจำนวนแขกหลายพันคน จึงได้เงินนับสิบล้านที่เอาไปลงทุนตามที่แจ้งบัญชีทรัพย์สินในครั้งหลัง แต่การไปแจ้งว่า...ได้นำเงินสด ๆ นับสิบล้านไปลงทุน ค่อนข้างผิดปกติ เพราะปัจจุบันใครจะเบิกถอนเงินสดจากธนาคารเกินสองล้านบาท ก็ต้องแจ้งตามแบบ ป.ป.ง. หรือจะใช้วิธีตามพรรคการเมืองหนึ่งด้วยการรับเงินบริจาคหลายร้อยล้านแบบไม่ลงบัญชี และเบิกเงินสดคราวละไม่เกินสองล้าน เพื่อเลี่ยงการกรอกแบบ ป.ป.ง. อย่างไรก็ตาม การอ้างว่านำเงินสดไปลงหุ้น ต้องพิจารณาทางด้านผู้รับเงินที่เป็นนิติบุคคลด้วย เพราะการนำเงินสดเกินสองล้านเข้าบัญชี ก็ต้องแจ้งเหมือนกัน แต่กรณีนี้อาจพิจารณาได้ไม่ยาก เพราะเงินที่ต้องเข้าบัญชีนั้น ก็ควรจะไปตรวจสอบหาหลักฐานได้ เว้นแต่การลงทุนที่แจ้งไว้ “ไม่มีอยู่จริง” เป็นเพียงการแสดงบัญชีทรัพย์สินที่ฝากไว้ในชื่อบุคคลอื่น แล้วพอมีจังหวะเรื่องเงินขวัญถุง ก็เลยสวมรอยว่าเป็นเงินที่ได้มาจากแขกเหรื่อหลายพันคนที่ทุกคนคงจ่ายเงินสดทั้งนั้น บัญชีกับเงินเรื่องหลังนี้จะดูเข้าใจได้มากขึ้น...ถ้าใครไปพิจารณาการโยกย้ายรายการบัญชีในนิติบุคคลที่อ้างว่ารับเงินสด เพราะอาจจะพบว่า...เป็นเพียงการปรับปรุงบัญชีจากเจ้าหนี้มาเป็นเงินลงทุนค่าหุ้น โดยผ่านบัญชีเงินสดก็เป็นได้!