WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Friday, August 13, 2010

นักปรัชญาชายขอบ : จิตสำนึกในความเป็น “ประชาชน”

ที่มา ประชาไท


วิกฤตความขัดแย้งทางการเมืองตลอด 4-5 ปี มานี้ เราอาจกล่าวได้ว่า เป็นความขัดแย้งระหว่าง “ชนชั้นปกครอง” กลุ่มอำนาจตามจารีตที่พยายามรักษา และหรือกระชับอำนาจของตัวเอง กับ “ชนชั้นผู้ถูกปกครอง” ที่พยายามเรียกร้องอำนาจในการปกครองตนเอง

อำนาจที่ฝ่ายแรกพยายามกระชับ คือ อำนาจในการชี้นำกำกับรัฐบาล (ทักษิณถูกชี้นำกำกับไม่ได้จึงถูกข้อกล่าวหา “ไม่จงรักภักดี ล้มล้างสถาบัน”) กำกับกองทัพ (วาทกรรม “ทหารของพระราชา”) กำกับศาล (วาทกรรม “ตุลาการภิวัตน์”) กำกับระบบราชการ (วาทกรรม “ข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว”) กำกับพสกนิกร ด้วยการสร้างกระแสนิยมกษัตริย์ และการใช้กฎหมายหมิ่นฯ ข้อกล่าวหา “ผู้ก่อการร้าย” “ขบวนการล้มเจ้า” ฯลฯ

ส่วนฝ่ายหลังพยายามทวงอำนาจของตนเองตามระบอบประชาธิปไตย ด้วยการต่อต้านรัฐประหาร เรียกร้องสิทธิเท่าเทียมทางการเมืองผ่าน “การเลือกตั้ง”

ซึ่งเราอาจกล่าวอย่างรวมๆ ได้ว่า สื่อ นักวิชาการ ปัญญาชน เอ็นจีโอ และประชาชนที่สนับสนุนฝ่ายแรก (ซึ่งหมายถึงสนับสนุนความชอบธรรมของรัฐประหารโดยปริยายด้วย) อาจเรียกได้ว่า เป็นฝ่ายที่มีจิตสำนึกในความเป็น “พสกนิกร” สูงกว่าจิตสำนึกในความเป็น “ประชาชน” ตามระบอบประชาธิปไตย

ส่วนสื่อ นักวิชาการ ปัญญาชน เอ็นจีโอ และประชาชนที่สนับสนุนฝ่ายหลัง (ซึ่งหมายถึงปฏิเสธความชอบธรรมของรัฐประหารโดยปริยายาด้วย) อาจเรียกได้ว่าเป็นฝ่ายที่มีจิตสำนึกในความเป็น“ประชาชน” ตามระบอบประชาธิปไตยสูงกว่าจิตสำนึกในความเป็น “พสกนิกร”

“พสกนิกร” หมายถึง ผู้อยู่ภายใต้อำนาจ หรือผู้ถูกปกครอง “ประชาชน” หมายถึงเสรีชนที่มีอำนาจปกครองตนเอง ในระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน (representative democracy) พรรคการเมืองคือสถาบันที่สะท้อนถึงจิตสำนึกในความเป็นประชาชน หรือเจตจำนงทั่วไปของประชาชนผู้มีอำนาจปกครองตนเอง

แต่ทว่าในสภาพการณ์ดังกล่าวนั้น เราแทบไม่ได้เห็นบทบาทที่ทำให้สังคมมั่นใจได้ของ “พรรคการเมืองของประชาชน” หรือพรรคการเมืองที่ยืนหยัดต่อสู้เคียงข้างประชาชนในการเรียกร้องอำนาจปกครองตนเองอย่างตรงไปตรงมา และอย่างเข้มแข็ง

พรรคเพื่อไทยนั้นอยู่ในสภาพที่อ่อนแอ แทบไม่อาจเป็นที่พึ่งในการเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบเพื่อความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นได้ ต่อให้การเลือกตั้งครั้งต่อไป (ถ้ามี) พรรคเพื่อไทยชนะ ก็คงเป็นเพียงแค่การเปลี่ยนขั้วของฝ่ายที่มายึดกุมอำนาจรัฐเท่านั้น เพราะจนบัดนี้ไม่ว่าคุณทักษิณ หรือพรรคเพื่อไทยล้วนแต่ไม่มีแนวคิดหรือนโยบายที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงระบบให้ประเทศนี้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นตามข้อเรียกร้องของประชาชนฝ่ายที่ออกมา “พลีชีพ” เพื่อปกป้องประชาธิปไตยแต่อย่างใด

ส่วนพรรคการเมืองอื่นๆ ไม่ต้องพูดถึง เพราะสำหรับพรรคเหล่านั้น สังคมนี้จะเป็นอย่างไรไม่สำคัญ คนจะตาย ระบอบประชาธิปไตยจะถูกทำให้พิกลพิการอย่างไรไม่สำคัญเท่ากับการที่พวกเขาจะได้ยึดครองอำนาจรัฐและได้กอบโกยผลประโยชน์หรือไม่

ในสภาพที่พรรคการเมืองทุกพรรคล้วนอ่อนแอเช่นนี้ พรรคการเมืองที่น่าจะเป็น “เสาหลัก” ของประชาธิปไตยได้มากกว่า ควรจะเป็นพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่เก่าแก่ที่สุด มีความเป็นสถาบันทางการเมืองสูงที่สุด แต่พรรคการเมืองเช่นนี้กลับจับมือกับอำมาตย์ กองทัพที่ยึดวาทกรรม “ทหารของพระราชา” รับใช้อำนาจตามจารีต เพื่อกระชับอำนาจตามจารีตให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น โดยไม่คำนึงถึงชีวิตของประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตย

จึงเป็นเรื่องน่าเศร้าสำหรับสังคมไทยที่เรามีพรรคการเมืองเก่าแก่แต่ยืนอยู่ตรงข้ามกับประชาชนฝ่ายที่เรียกร้องประชาธิปไตย ในอดีตพรรคนี้เคยใช้ข้ออ้างปกป้องสถาบันเพื่อทำลายผู้นำประชาธิปไตย คือ “ปรีดี พนมยงค์” ปัจจุบันพรรคนี้ทำลายความชอบธรรมของการเรียกร้องประชาธิปไตยของประชาชน ด้วยข้อกล่าวหาเรื่อง “ขบวนการล้มเจ้า”

เมื่อพรรคการเมืองเก่าแก่จับมือกับ “ทหารของพระราชา” เพื่อยึดกุมอำนาจรัฐภายใต้การสนับสนุนของ พันธมิตร มวลชนเสื้อเหลือง สื่อ นักวิชาการ ปัญญาชน เอ็นจีโอ ที่มีจิตสำนึกในความเป็น “พสกนิกร” เหนือกว่าจิตสำนึกในความเป็น “ประชาชน” ตามระบอบประชาธิปไตย การกระชับอำนาจของชนชั้นปกครองตามจารีตเดิมจึงนำมาสู่เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ “เมษา-พฤษภาอำมหิต” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้!

แต่ทว่าในอีกด้านหนึ่งจิตสำนึกในความเป็น “ประชาชน” ที่ต้องการอำนาจในการปกครองตนเองตามระบอบประชาธิปไตยได้เกิดขึ้นอย่างลึกซึ้งกว้างขวางแล้ว หากฝ่ายชนชั้นปกครองยังเดินหน้ากระชับอำนาจอย่างหน้ามืดตามัวต่อไป ด้วยการใช้สรรพกำลังภายใต้การปลุกกระแสจิตสำนึกความเป็น “พสกนิกร” ความรุนแรงที่ยิ่งกว่า “เมษา-พฤษภาอำมหิต” คงไม่มีใครรับประกันได้ว่าจะไม่เกิดขึ้น

คำถามคือ ในสถานการณ์ที่ล่อแหลมเช่นนี้ “พรรคการเมืองของประชาชน” ไม่มีเลยหรือ?

พรรคเพื่อไทยสามารถที่จะพัฒนาเป็นพรรคการเมืองของประชาชนที่มีศักยภาพพอที่จะเปลี่ยนกองทัพให้เป็นกองทัพของประชาชน เปลี่ยนศาลให้เป็นศาลของประชาชน (เป็นอิสระจากการแทรกแซงของอำนาจฝ่ายรัฐบาลและอำนาจนอกระบบ) เปลี่ยนระบบราชการให้เป็นระบบราชการของประชาชนจริงๆ (ที่ไม่ใช่ระบบเจ้านายของประชาชน) เป็นต้น ได้หรือไม่?

แน่นอนว่า พรรคเพื่อไทยถูกทำลายจนอ่อนแอ แต่คุณทักษิณและพรรคเพื่อไทยก็พยายามใช้ประโยชน์จากมวลชนเสื้อแดงที่ต้องการประชาธิปไตยอยู่ตลอดมา ฉะนั้น จึงปฏิเสธไม่ได้ที่คุณทักษิณและพรรคเพื่อไทยจะต้องพัฒนาพรรคการเมืองของตนให้เป็นพรรคการเมืองของประชาชน ที่แสดงให้เห็นแนวคิดและนโยบายในการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างอำนาจให้ประเทศนี้มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

หรือเป็นพรรคการเมืองที่เป็นตัวแทนทางแนวคิดที่สามารถเป็นที่หวังของประชาชนได้ในการเปลี่ยนแปลงสู่ความเป็นประชาธิปไตย มากกว่าเป็นพรรคการเมืองที่รอจังหวะเข้ามาฉกชิงอำนาจรัฐเท่านั้น

หากทำไม่ได้เช่นนี้ พรรคเพื่อไทยก็เป็นได้เพียงพรรคการเมืองที่หวังเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ทางการเมือง จากการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของมวลชนเสื้อแดง และ/หรือเป็น “แนวร่วมด้านกลับ” ให้พรรคการเมืองเก่าแก่จับมือกับทหารของพระราชากระชับอำนาจตามจารีตเดิม เพื่อเดินหน้าสู่ความรุนแรงครั้งต่อไป!