ที่มา Thai E-News'Not even an ocean of blood can drown the truth.-แม้แต่การฆ่าเข่นจนเลือดท่วมมหาสมุทร ก็มิอาจทำให้สัจธรรมแพ้พ่าย'-”Mother”,Maxim Gorky
โดย นักข่าวชาวรากหญ้า
หลังเหตุการณ์ 19 พฤษภาคม 2553 ผ่านไปไม่นาน ผมไปปัดฝุ่นหยิบหนังสือนวนิยายเรื่อง"แม่"ที่ผมชื่นชอบมาพลิกอ่าน ก็พบว่าเหตุการณ์ในนวนิยายเรื่องนี้ช่างละม้ายกับสถานการณ์การเมืองในปัจจุบันอย่างน่าประหลาด
นวนิยายเรื่อง “แม่” นี้ แม็กซิม กอร์กี้ นักประพันธ์ชาวรัสเซีย เขียนขึ้นถ่ายทอดวิถีชีวิตการต่อสู้ของคนงานรัสเซีย เนื่องในวันเมย์เดย์(วันกรรมกร)ในปีพ.ศ. 2445 (ค.ศ.1902)รวมทั้งการเคลื่อนไหวต่อสู้ขององค์การจัดตั้งของพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย และการพิจารณาคดีสมาชิกพรรคภายหลังการเดินขบวนถูกปราบปรามลง
จากเหตุการณ์ดังกล่าวแมกซิม กอร์กี้ได้นำเหตุการณ์และบุคคลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องมาสร้างเรื่องขึ้นมาใหม่โดยใช้ศิลปะในการประพันธ์ โดยจำลองวิถีชีวิตของยอร์ด ซาโลมอฟและแม่ในชีวิตจริง มาเป็นตัวละครเอกคือปาเวล วลาสซอฟ บุตรชายและแม่ของเขา ซึ่งนวนิยายเรื่องดังกล่าวจัดเป็นงานศิลปะอันยอดเยี่ยมที่สะท้อนให้เห็นภาพการต่อสู้ของคนงานรัสเซียก่อนที่จะนำไปสู่การปฎิวัตในปี 2448 (1905) ซึ่งแม้จะประสบความพ่ายแพ้ในบั้นปลาย แต่ก็ได้รับชัยชนะอันยิ่งใหญ่ในปี 2460 ( การปฏิวัติรัสเซียปีค.ศ.1917)
กอร์กี้เริ่มเขียนนวนิยายเรื่อง “แม่” เมื่ออายุ 39 ปี โดยได้จัดพิมพ์จำหน่ายครั้งแรก เมื่อ ปีพ.ศ. 2450 หรือล่วงมาแล้ว 103 ปีผมอดเทียบเคียงกับการลุกขึ้นต่อสู้ครั้งใหญ่ในเหตุการณ์สงกรานต์เลือดพ.ศ.2552 ที่จบลงด้วยการปราบปราม และการเข้ามอบตัวของแกนนำ และเหตุการณ์ลุกขึ้นสู้ครั้งใหญ่ระหว่างเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2553 ที่จบลงด้วยความพ่ายแพ้ของนปช.แดงทั้งแผ่นดินไม่ได้...ปัญหามีอยู่ว่าในการลุกฮือขึ้นต่อสู้หนที่สามในอนาคตข้างหน้า ซึ่งเป็นหนที่สาม เราจะเป็นฝ่ายกุมชัยชนะแบบการปฏิวัติรัสเซียหรือเปล่า..??
เพราะนี่เป็นชีวิตจริง เจ็บจริง ตายจริง ติดคุกจริง ไม่เหมือนในนิยาย
นวนิยายเรื่อง"แม่"สำหรับผมแล้ว การดำเนินเรื่องที่เต็มไปด้วยเสน่ห์ บอกเล่าถึงผู้หญิงบ้านๆคนหนึ่ง มีผัวกรรมกรขี้เมาที่เลี้ยงเมียด้วยลำแข้ง มีลูกที่ต้องดูแล ไม่ใส่ใจกิจการบ้านเมืองอะไรเลย กระทั่งลูกชายของแกเข้าไปมีส่วนร่วมพัวพันกับขบวนการเคลื่อนไหวปฏิวัติเปลี่ยนแปลงประเทศรัสเซียภายใต้ยุคของ"ซาร์ผู้กระหายเลือด"...แม่ก็คอยห้ามคอยปรามคอยห่วง คอยบอกว่า"อย่าไปประท้วงกับเขาเลยนะลูก..แม่เป็นห่วง"
สุดท้ายลูกชายของแกก็เป็น1ในบรรดามวลชนอันคลาคล่ำที่ถูกการปราบปรามอย่างเหี้ยมโหดของทหารม้าคอสแซ็ก การถูกเข่นฆ่าล้อมปราบปรามในการเดินขบวนใหญ่ที่มีเพียงมือเปล่าๆ
นวนิยายกล่าวในตอนหนึ่ง..."เราทรุดลง เพื่อเป็นการเสียสละอันมีเกียรติ
ในการต่อสู้ที่มีกำลังไม่ทัดเทียมกันนี้
เราเสียสละทุกสิ่งที่เรามี
เพื่ออุดมการแห่งเสรีภาพ
อำนาจบาตรใหญ่ จักต้องพินาศ
ประชาชนจักต้องลุกฮือขึ้น"
เรื่องนี้ทำให้ผมอดนึกถึงฉากพฤษภาอำมหิต2553ของไทยไม่ได้ ขณะที่กองกำลังทหารของรัฐบาลดักซุ่มยิงด้วยปืนสไนเปอร์อย่างขี้ขลาดแต่หวังผล และขึ้นป้าย"เขตใช้กระสุนจริง"กับพวก"ผู้ก่อการร้ายเสื้อแดง"ที่มีแต่หนังสติ๊ก บั้งตะไล พลุไฟ และเผาควันจากยางรถยนต์เพื่ออำพรางตัวไม่ให้ถูกส่องด้วยสไนเปอร์ไม่ได้
ในนวนิยายเรื่องแม่นั้น ลูกชายของแก สมัครพรรคพวกคนหนุ่มสาว ทั้งนักศึกษาปัญญาชน คนงาน กรรมกร ถูกจับกุมคุมขัง แกนนำโดนกวาดเรียบ ไพร่ฟ้าตายเกลื่อน ถูกยัดเยียดเป็นผู้ก่อการร้าย
แต่แทนที่แม่จะร่ำไห้น้ำตาเป็นสายเลือดบอกว่าเป็นเรื่อวของ"เวรกรรม"อย่างที่เคย แม่ก็เปลี่ยนแปลงชนิดสั่นสะเทือนไปไปถึงรากเหง้าอุดมการณ์ ในตอนท้ายๆเรื่องผมชอบประโยคหนึ่ง(ที่แปลมาเป็นภาษาอังกฤษแล้ว)ที่ว่า'Not even an ocean of blood can drown the truth.-แม้แต่การฆ่าเข่นจนเลือดท่วมมหาสมุทร ก็มิอาจทำให้สัจธรรมแพ้พ่าย'
จากผู้หญิงธรรมดาๆพื้นๆไม่ได้มีจิตสำนึกทางการเมืองใดๆ จนกลายเป็นผู้มีสำนึกทางการเมือง สำนึกทางชนชั้น และสำนึกในการลุกขึ้นต่อสู้ของ"แม่"ในเรื่องนี้ ทำให้ผมนึกถึง"ผู้หญิง"เสื้อแดงจำนวนมากมายคณานับ ผู้หญิงเป็นกลุ่มท้ายๆที่ประกาศว่าพร้อมยอมตายในที่ตั้งเวทีราชประสงค์ .."ผู้หญิง"เป็นเสื้อแดงคนสุดท้ายที่ยืนหยัดอยู่หน้าเวที ..."ผู้หญิง"จำนวนมากที่ออกจากวัดปทุมวนารามเป็นคนท้ายๆ
และเป็น"แม่"เป็น"ผู้หญิง"ที่พลิกฟื้นลุกขึ้นมายืนหยัดต่อสู้ครั้งใหม่ที่พวกเราจะได้เห็นพวกเธอในทุกสนาม ไม่ว่าจะเป็นการเหมารถจากอุดร ขอนแก่น เชียงใหม่มาให้กำลังใจก่อแก้ว พิกุลทองลงสมัครเลือกตั้งส.ส. หรือเข้าร่วมกับบก.ลายจุดในกิจกรรมวันอาทิตย์สีแดง หรือกิจกรรมงานบุญงานรำลึกวีรชนเสื้อแดงต่างๆ
ประเทศไทยจะไม่มีวันหวนกลับไปเหมือนเดิมอีกแล้ว เมื่อมีคนอย่าง"แม่"หลุดออกมาจากนวนิยายของแม็กซิม กอร์กี้ และมามีชีวิตจริงๆอยู่เต็มไปหมดในเมืองไทยเวลานี้