ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับกรณีการตรวจสอบซีดีเทปเสียงของพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ที่มีการอ้างว่าพรรคพลังประชาชนได้มีการนำไปแจกจ่ายในพื้นที่ภาคอีสานและภาคเหนือนั้น สำหรับการพิจารณาของคณะกรรมการฯคงจะต้องดูว่า การแจกจ่ายซีดี ดังกล่าว ใครเป็นผู้แจก และซีดี ถือเป็นทรัพย์สินที่คำนวณเป็นเงินได้ตามมาตรา 53 ( 1) พ.ร.บ.เลือกตั้งส.ส.และการได้มาซึ่งส.ว. ที่ระบุห้ามมิให้ผู้สมัคร หรือผู้ใด จัดทำ ให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้แก่ผู้ใด เพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้แก่ตนเอง หรือผู้สมัครอื่น หรือพรรคการเมืองใดหรือไม่
นอกจากนี้คำพูดของพ.ต.ท. ทักษิณ ที่ปรากฏในซีดี ถือว่าเข้าข่ายมาตรา เดียวกัน ( 5) คือ หลอกลวง ใส่ร้ายด้วยความเท็จ หรือจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใด หรือไม่
หากการสอบสวนแล้วเสร็จก่อนการลงคะแนนเลือกตั้ง โดยกกต.พบว่าเป็นความผิด และผู้ที่ทำการแจกจ่ายเป็นผู้สมัคร หรือหัวคะแนน ผู้สนับสนุน ที่มีหลักฐานพิสูจน์ได้ว่า ผู้สมัครเกี่ยวข้อง รู้เห็นกับการแจกจ่ายซีดีนั้น มาตรา 103 ของพร.บ.เลือกตั้งส.ส.และการได้มาซึ่งส.ว. ระบุให้กกต. สั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ( ใบแดง) ผู้สมัครรายนั้น
เช่นเดียวกันหากการสอบสวนเสร็จสิ้นภายหลังการเลือกตั้งแล้ว แต่ยังไม่ประกาศรับรองผล หากผู้สมัครที่กระทำผิดรายนั้น เป็นผู้ที่ได้รับเลือกตั้งมา กกต.ก็อาศัยอำนาจตามมาตราดังกล่าวสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งได้ และสั่งเลือกตั้งใหม่ และตรงนี้หากกกต.พิจารณาต่อไปว่า การลงคะแนนเลือกตั้งส.ส.ในระบบสัดส่วนที่เกิดขึ้นในเขตพื้นที่ที่มีการกระทำผิดนั้นเป็นการลงคะแนนใช้สิทธิที่ไม่สุจริตและเที่ยงธรรม มาตรา 110 ของพ.ร.บ.เลือกตั้งส.ส.และการได้มาซึ่งส.ว. ก็ให้อำนาจกกต. ประกาศให้บัตรเลือกตั้งที่ลงคะแนนให้แก่พรรคการเมืองนั้นในในการเลือกตั้งแบบสัดส่วน เป็นบัตรเสียและมิให้นำมานับเป็นคะแนนทั้งนี้เฉพาะในเขตที่มีการกระทำการนั้น
อย่างไรก็ตามหากหลักฐานปรากฏเพียงว่า การแจกจ่ายซีดีดังกล่าว เป็นการกระทำของผู้อื่นที่ไม่สามารถหาหลักฐานอันควรเชื่อมาพิสูจน์ได้ว่าผู้สมัครรู้เห็น แต่ก็ทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม กกต.ก็สามารถสั่งให้เลือกตั้งใหม่ได้ โดยที่ผู้ได้รับเลือกตั้งยังคงมีสิทธิลงแข่งขันใหม่
ทั้งนี้หากผลสอบสวนปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า ว่าการแจกจ่ายซีดีดังกล่าวของผู้สมัคร หรือหัวคะแนน ผู้สนับสนุนของผู้สมัคร หัวหน้าพรรคการเมือง หรือกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน มีส่วนรู้เห็น หรือปล่อยปละละเลย หรือ ทราบถึงการกระทำนั้นแล้วมิได้ยับยั้ง หรือแก้ไขเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม มาตรา 103 วรรค 2 พ.ร.บ.เลือกตั้งส.ส.และการได้มาซึ่งส.ว. ก็ระบุให้ถือว่า พรรคกระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ให้กกต.ดำเนินการตามพ.ร.บ.พรรคการเมือง เพื่อเสนอคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคการเมืองนั้น และให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้น มีกำหนดเวลา 5 ปีนับวันที่มีคำสั่งให้ยุบพรรค
ซึ่งหากกกต. เห็นด้วยกับผลการสอบสวนดังกล่าวความผิดของพรรคพลังประชาชนตามมาตรา 103 วรรค 2 ของพ.ร.บ.เลือกตั้งส.ส.และการได้มาซึ่งส.ว. ที่กกต.จะต้องไปดำเนินตามพ.ร.บ.พรรคการเมืองนั้น จะตรงกับมาตรา 94 ( 1) ของพ.ร.บ.พรรคการเมืองที่ระบุว่า เมื่อพรรคการเมืองกระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ หรือกระทำการตามที่รัฐธรรมนูญให้ถือว่าเป็นการกระทำเพื่อได้ให้มาซึ่งอำนาจโดยวิธีการดังกล่าว อาจถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคได้
โดยกระบวนการนั้นก็จะเป็นไปตามมาตรา 95 ของพ.ร.บ.พรรคการเมืองเช่นกัน คือให้นายทะเบียนพรรคการเมืองโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้งแจ้งอัยการสูงสุด พร้อมด้วยหลักฐาน เมื่ออัยการสูงสุดได้รับพิจารณาแจ้ง ให้พิจารณาเรื่องดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง ถ้าอัยการสูงสุดเห็นสมควร ก็ให้ยื่นคำร้องเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคพลังประชาชน
ถ้าอัยการสูงสุดไม่ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้นายทะเบียนพรรคการเมืองตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง โดยมีผู้แทนจากนายทะเบียนพรรคการเมือง และผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐาน แล้วส่งให้อัยการสูงสุดเพื่อยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญต่อไป ในกรณีที่คณะทำงานดังกล่าวไม่อาจหาข้อยุติเกี่ยกับการดำเนินการยื่นคำร้องได้ภายใน 30 วันนับแต่วันที่แต่งตั้งคณะทำงาน ให้นายทะเบียนพรรคการเมืองโดยความเห็นชอบของกกต.มีอำนาจยื่นคำร้องเอง
และในการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญนั้น มาตรา 97 ของพ.ร.บ.พรรคการเมือง ก็ระบุว่า ในกรณีพรรคการเมืองต้องยุบเพราะเหตุอันเนื่องจากฝ่าฝืนมาตรา 94 ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารของพรรคการเมืองที่ถุกยุบไปจะจดแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือมีส่วนร่วมในการจดแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่อีกไม่ได้ ทั้งนี้ภายในกำหนดเวลา 5 ปีนับแต่วันที่พรรคการเมืองนั้นต้องยุบไป
และในมาตรา 98 ก็ระบุว่า การยุบพรรคตามมาตรา 94 หากปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า หัวหน้าพรรค หรือกรรมการบริหารพรรคการเมืองผู้ใดมีส่วนร่วม รู้เห็น ปล่อยปละละเลย หรือทราบถึงการกระทำดังกล่าวแล้วมิได้ยับยั้ง หรือแก้ไขการกระทำดังกล่าว ให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ของหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้น มีกำหนดเวลา 5 ปีนับแต่วันที่มีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมือง