ปฏิบัติการ “ยึดสภา” ของบรรดา “ม็อบ” ที่นำโดยนายจอน อึ๊งภากรณ์หรือ “จอน เอ็นจีโอ” ด้วยใช้บันไดพาดข้ามกำแพงรั้วรัฐสภาเข้าไปถึงบริเวณหน้าห้องประชุม จนวุ่นวายกันไปหมด
ถือเป็นการกระทำที่ไร้อารยะจริงๆ
ประเด็นก็คือบรรดาม็อบต่างๆเหล่านี้มีหลายกลุ่มผลประโยชน์ที่เกี่ยวพันกับกฎหมายที่ สนช.จะพิจารณาเรียกว่า “ม็อบหมู่”...ว่างั้นเถอะ ต้องการให้ สนช.ยุติการพิจารณา กฎหมายต่างๆ
เช่นกฎหมายเหล้า กฎหมาย ม.นอกระบบ กฎหมายมั่นคง กฎหมายวิทยุโทรทัศน์ กฎหมายแปรรูป ค้าปลีกและอีกหลายกฎหมายที่ สนช.ดองเอาไว้จนเปื่อย เพราะเกิดปัญหาขัดแย้งในแนวคิดและการทำงานที่ล่าช้า
ประเภทเช้าชาม-เย็นชามไม่ต่างไปจากสภาผู้แทนฯหรือวุฒิสภาครั้นพอใกล้เวลาจะหมดวาระ ก็เร่งกันที ดังนั้น ปัญหามันจึงมาประดังกันในตอนนี้ และ พ.ร.บ.บางฉบับเกิดปัญหาขัดแย้งใน สนช.และกลุ่มองค์กรภายนอก
ดังนั้น ม็อบกลุ่มนี้จึงเคลื่อนไหวให้ สนช.ยุติการพิจารณากฎหมายหรือลาออกไปเลย เอาไว้รอรัฐบาลพิจารณาดีกว่า แต่เมื่อ สนช.ยังคงดำเนินการประชุมเพื่อพิจารณา กฎหมายต่อไปตามหน้าที่
บรรดาม็อบเหล่านี้จึงไม่พอใจบุกเข้าไปในสภา ทำให้การประชุม สนช.ต้องยุติและเลื่อนไปประชุมวันรุ่งขึ้น
พูดง่ายๆ สนช.ก็ไม่ยอมและจะเดินหน้าทำงานต่อไป
ว่าที่จริงแล้วบรรดาเอ็นจีโอทั้งหลายนั้นล้วนมีความรู้ มีความคิดที่ก่อให้เกิดประโยชน์ ต่อสังคมไม่น้อย แต่เมื่ออยากให้ทุกอย่างเข้าระบบการเคลื่อนไหวแสดงออกเป็นเรื่องกระทำได้ แต่ไม่ใช่อยู่เหนือกฎหมายหรือใช้พลังไปกระทำเช่นนั้น
“จอน เอ็นจีโอ” แม้จะต่อต้านเผด็จการ แต่ก็ไม่ยอมไปร่วมกับม็อบ นปก.หรือ นปค. เพราะคงเห็นว่านั่นไม่ใช่วิธีการที่เหมาะสมในการเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่ต้องการแสดงออกในลักษณะประชาธิปไตย
แต่การบุกรุกสภาครั้งนี้...มันต้องเรียกว่าพวกอะไรดีครับ...
เวลานี้บ้านเมืองมันก็ยุ่งขิงจนหาทางออกกันแทบไม่ได้แล้ว นี่ยังมาสร้างปัญหาให้มันหนักและยุ่งยากเข้าไปอีก
อีกไม่กี่วันก็จะถึงวันเลือกตั้งแล้วก็น่าจะให้มันผ่านไปได้ด้วยดี ใครแพ้ชนะ ใครเป็นรัฐบาลก็มาว่ากันอีกที ไม่ใช่ทำอะไรเหมือนบ้านเมืองไม่มีขือแป ไร้กฎหมาย
การพิจารณากฎหมายของ สนช.ถือเป็นหน้าที่แม้ว่าจะมาจากคมช. ก็ตาม แต่ที่ผ่านมาก็หาใช่ว่า สนช.รับใช้ทหารอย่างสุดจิตสุดใจ มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยแม้กระทั่ง พ.ร.บ.มั่นคงถึงที่สุดไม่น่าจะผ่านเพราะเสียงคัดค้านกันมาก
แต่ทุกสิ่งทุกอย่างมันต้องมีเหตุมีผล สนช.ผ่านกฎหมายดีๆก็ไม่น้อย และกฎหมายดีๆ อีกหลายฉบับที่รอการพิจารณาก็ควรจะได้ผ่านออกมาใช้ ยังเห็นว่าสนช.ควรทำหน้าที่ต่อไป จนกว่าจะสิ้นวาระ
เพียงแต่การพิจารณากฎหมายจะต้องตระหนักถึงประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ ไม่ใช่กลุ่มผลประโยชน์หรือพวกพ้อง หรือเพื่อให้ทหารมีอำนาจเต็มๆโดยอ้างความมั่นคง
จริงๆแล้วใน สนช. เองนั้นก็เกิดปัญหาขัดแย้ง มีกลุ่มโน้น ก๊วนนี้ และพยายามที่จะสร้าง บทบาทครอบงำ สนช.ทั้งหมด หมายถึงว่า สนช.จะต้องเห็นด้วยกับกลุ่มนี้ทุกอย่าง แต่เมื่อไม่ได้รับการขานรับก็เลยตีรวนมาตลอด
อะไรไม่ว่า “ม็อบลุยสภา” ครั้งนี้มี สนช.ระดับบิ๊ก “ไฟเขียว” เสียด้วย
พูดง่ายๆสู้ไม่ได้ “ล้มกระดาน” มันเสียเลย.
"สายล่อฟ้า"
คอลัมน์การเมือง จาก http://www.thairath.co.th/#