ผลสำรวจปชช.ของเอแบคโพลล์ระบุคนต้องการให้พปช.เป็นรัฐบาล ร้อยละ 93.6 เพื่อให้เข้ามาแก้ปัญหาเศรษฐกิจ พร้อมอยากเห็นปัญหายาเสพติดหมดไป
วันนี้(11ธ.ค.)ดร.นพดล กรรณิกา ผอ.ศูนย์วิจัยเอแบคนวัตกรรมทางสังคม การจัดการและธุรกิจ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยหลังจากได้ประมาณการจำนวนที่นั่งส.ส.แบบสัดส่วนที่พบว่า พรรคพลังประชาชนจะได้ 39ที่นั่ง พรรคประชาธิปัตย์จะได้ 33 ที่นั่ง และพรรคอื่นจะได้ 8 ที่นั่งไปแล้วนั้น
ผู้วิจัยได้ศึกษาความเป็นไปได้ต่อการเปลี่ยนใจเลือกพรรคการเมืองของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และการเปลี่ยนแปลงในผลแพ้ชนะเลือกตั้ง 2550 จากตัวอย่างผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศจำนวน 7,589 ตัวอย่าง ดังนี้
พบว่า ไม่ว่าประชาชนตั้งใจจะเลือกพรรคการเมืองใดก็ตาม ประชาชนส่วนใหญ่มีความเห็นเดียวกันคือ ต้องการเห็นเศรษฐกิจที่ดีขึ้นหลังการเลือกตั้ง ซึ่งมีกว่าร้อยละ 90 โดยจำแนกตามพรรคการเมืองที่ตั้งใจจะเลือกนั้น ผู้ที่ตั้งใจจะเลือกพรรคพลังประชาชนมีร้อยละ 93.6 ตั้งจะเลือกพรรคประชาธิปัตย์ มีร้อยละ 90.6 และตั้งใจจะเลือกพรรคอื่นๆ มีร้อยละ 88.5
ยังพบว่า ประชาชนอยากเห็นหลังการเลือกตั้งที่สำคัญประการหนึ่งคือความรักความสามัคคีของคนในชาติ ซึ่งทั้ง 3กลุ่มมีประมาณร้อยละ 80 และร้อยละ 75.3 ที่ตั้งใจจะเลือกพรรคประชาธิปัตย์ อยากเห็นสถานการณ์ใน 3จังหวัดชายแดนใต้ดี
อีกร้อยละ 76.3 ที่ตั้งใจจะเลือกพรรคพลังประชาชน อยากเห็นปัญหายาเสพติดหมดไป ขณะที่ผู้ที่ตั้งใจจะเลือกพรรคประชาธิปัตย์ มีสัดส่วนดังกล่าวคิดเป็นร้อยละ 68.1 และตั้งใจจะเลือกพรรคอื่นๆ มีอยู่ร้อยละ 67.7 ตามลำดับ
ผลการสำรวจพบว่า ประมาณร้อยละ 60 ของทั้งสามกลุ่ม ระบุอยากเห็นรัฐบาลใหม่ทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้ และเมื่อสอบถามถึงแหล่งข้อมูลที่ใช้ประกอบการตัดสินใจเลือกตั้ง พบว่ากลุ่มผู้ที่ตั้งใจจะเลือกพรรคพลังประชาชน ร้อยละ 57.2 ระบุแหล่งข้อมูลอันดับ 1 ได้แก่ หัวหน้าพรรคการเมือง รองลงมาร้อยละ 55.1 ใช้ข้อมูลจากคนในครอบครัว ร้อยละ 52.7 ใช้ข้อมูลจากผู้สมัครรับเลือกตั้ง และร้อยละ 50.7 ใช้ข้อมูลจากสื่อมวลชนที่วิเคราะห์ข่าว โทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์
กลุ่มที่ตั้งใจจะเลือกพรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 59.2 ระบุแหล่งข้อมูลที่ใช้คือหัวหน้าพรรคการเมือง รองลงมาร้อยละ 57.4 ข้อมูลจากสื่อมวลชนที่วิเคราะห์ข่าวโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ ร้อยละ 52.8 เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง และร้อยละ 50.6 คนในครอบครัวตามลำดับ
ร้อยละ 34.6 ของประชาชนเพศชายที่ถูกศึกษาระบุมีพรรคในใจแล้วแต่อาจเปลี่ยนใจได้ ขณะที่เพศหญิงมีสัดส่วนดังกล่าวร้อยละ 29.5
อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 41.0 ที่เป็นหญิงยังไม่ตัดสินใจว่าจะเลือกส.ส.จากพรรคการเมืองใด ขณะที่เพศชายมีกลุ่มผู้ที่ยังไม่ได้ตัดสินใจ ร้อยละ 35.9 เมื่อพิจารณาตามช่วงอายุพบร้อยละ 42.9 ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไปยังไม่ตัดสินใจว่าจะเลือกพรรคการเมืองใด ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงอายุอื่นๆ
ส่วนกลุ่มประชาชนจำแนกตามระดับการศึกษา พบว่ามากกว่า 2 ใน 3ของกลุ่มผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป มีพรรคการเมืองอยู่ในใจแล้ว ร้อยละ 37.3 ตัดสินใจแน่นอนแล้วจะเลือกพรรคการเมืองใด ขณะที่ร้อยละ 35.1 ยังมีโอกาสที่จะเปลี่ยนใจได้ ทั้งนี้ ร้อยละ 27.6 ยังไม่ได้สินใจว่าจะเลือกพรรคการเมืองใด ส่วนกลุ่มสำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี พบว่ามากกว่า 1 ใน 3 ยังไม่ได้ตัดสินใจจะเลือกพรรคใด
เมื่อจำแนกตามสภาพพื้นที่พักอาศัย พบร้อยละ 34.9 ที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้าน/ชุมชนดั้งเดิมในเขตเทศบาล มีโอกาสเปลี่ยนใจไปเลือกพรรคอื่น ถึงแม้จะมีพรรคอยู่ในใจแล้ว
สำหรับกลุ่มผู้ที่พักอาศัยอยู่ในหมู่บ้าน/ชุมชนเดิมนอกเขตเทศบาล พบว่าร้อยละ 42.6 ยังไม่ตัดสินใจเลือกพรรคใด ขณะที่ร้อยละ 38.9 ที่พักอาศัยอยู่ในชุมชนหมู่บ้านจัดสรรใหม่ ตัดสินอย่างแน่นอนแล้วจะเลือกพรรคการเมืองใดในการเลือกตั้งครั้งนี้
ผลการสำรวจพบว่า กลุ่มที่ตั้งใจจะเลือกพรรคต่างๆ นั้น มากกว่าครึ่งหนึ่งยังไม่ทราบว่า ส.ส.ของพรรคการเมืองที่ตนเองตั้งใจจะเลือกมีเบอร์อะไรบ้าง อาทิ ในกลุ่มผู้ที่ตั้งใจจะเลือก ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์นั้นร้อยละ 56.1 ยังไม่ทราบว่า ผู้สมัครของพรรคประชาธิปัตย์ในเขตของตนมีเบอร์อะไรบ้าง เช่นเดียวกัน ร้อยละ 63.3 ของผู้ที่ตั้งใจจะเลือกผู้สมัครจากพรรคเพื่อแผ่นดินก็ยังไม่ทราบเบอร์ของผู้สมัคร ร้อยละ 61.5 ยังไม่ทราบเบอร์ของ ผู้สมัครที่ตนจะเลือกจากพรรคมัชฌิมาธิปไตย และร้อยละ 58.2 ยังไม่ทราบเบอร์ของผู้สมัครที่ตนจะเลือกจากพรรคประชาราช ตามลำดับ
ขณะที่กลุ่มที่ตั้งใจจะเลือกพรรคพลังประชาชน มีร้อยละ 44.2 ระบุยังไม่ทราบเบอร์ของผู้สมัครที่ตนเองตั้งใจจะเลือก
ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ ผลวิเคราะห์พรรคการเมืองที่ประชาชนตั้งใจจะเลือกจำแนกตามจุดยืนทางการเมือง ที่พบว่า ร้อยละ 59.0 ของกลุ่มผู้ที่สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ จะเลือกพรรคพลังประชาชนในขณะที่ประมาณ 1 ใน 3 ของกลุ่มนี้ยังไม่ได้ตัดสินใจ
สำหรับในกลุ่มผู้ที่ไม่สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ร้อยละ 61.4 ตั้งใจจะเลือกพรรคประชาธิปัตย์ และร้อยละ 25.9 ยังไม่ตัดสิดใจเลือกพรรคใด
ที่น่าสนใจคือคนในกลุ่มที่เรียกตนเองว่า พลังเงียบ พบว่าประมาณ 2 ใน 3 คือร้อยละ 61.3 ยังไม่ตัดสินใจว่าจะเลือกพรรคใด ขณะที่ร้อยละ 18.1 จะเลือกพรรคประชาธิปัตย์ และร้อยละ 13.2 จะเลือกพรรคพลังประชาชน มีเพียงร้อยละ 7.4 ตั้งใจจะเลือกพรรคอื่นๆ
พีทีวี นิวส์
11 ธันวาคม 2550 เวลา 13:31 น.