นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช) แถลงรายงานภาวะสังคมไทยในไตรมาสที่ 3 (ก.ค.-กย. 2550) มีความโดดเด่นมิติด้านความมั่นคงทางสังคมที่พบว่า ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินลดลง พิจารณาจากคดีต่าง ๆ ได้แก่ ประทุษร้ายต่อทรัพย์ คดีชีวิตร่างกายและเพศ และคดียาเสพติด มี 69,853 คดี เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.58 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2549 ซึ่งมี 59,920 คดี โดยเฉพาะคดียาเสพติดสูงสุดจำนวน 38,537 คดี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี 2550 ส่งผลการกระทำผิดของเด็กและเยาวชนเพิ่มขึ้นด้วย โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ชายอายุ 15-18 ปี มีสาเหตุสำคัญจากการคบเพื่อนในกลุ่มติดยาเสพติด
นายอำพน กล่าวด้วยว่า ปัญหายาเสพติดจะเป็นมหันตภัยร้ายที่จะหวนกลับมา เพราะแนวโน้มความรุนแรงยาเสพติดเพิ่มต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2547-2549 โดยปี 2547 มี 55,472 คดี ปี 2548 มี 74,403 คดี โดยเฉพาะข้อหาครอบครองเพื่อจำหน่ายมีจำนวนสูงสุด แสดงให้เห็นว่ามีผู้กระทำผิดรายใหม่เกิดขึ้น เฉลี่ยถึงร้อยละ 19.3 ต่อปี ขณะเดียวกันผู้รับการบำบัดรายใหม่มีจำนวนเพิ่มขึ้นด้วย คือ ร้อยละ 12 ต่อปี ซึ่งวงจรยาเสพติดจะนำเข้ามาใช้กันเองในกลุ่มผู้ใช้แรงงาน และมีการลักลอบนำเข้าจากประเทศแหล่งผลิต มูลเหตุจูงใจผู้ค้ารายใหม่คือเงินและผลกำไร และที่น่าห่วงมาก คือ ผู้เสพผู้ค้าเป็นเยาวชนอายุ 18-24 ปี เป็นแรงงานและคนว่างงาน คาดการณ์ไว้ว่าปี 2551 เยาวชนอายุ 13-18 ปี จำนวนถึง 560,000 คน จะเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงเข้ามาเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ซึ่งมาตรการภาครัฐอย่างเดียวไม่มีพลังเพียงพอที่จะปราบวงจรนี้ได้ ต้องมีมาตรการแก้ปัญหาสังคมที่จะเป็นพื้นฐานครอบครัวให้มาก
"เรื่องความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สิน ชี้ให้เห็นถึงปัญหาเศรษฐกิจที่สังคมไทยกำลังเผชิญกับความเป็นอยู่ เศรษฐกิจรุมเร้า ของก็แพง การแก้ปัญหาในปัจจุบันรัฐบาลมุ่งแก้ภาพใหญ่ ภาพเศรษฐกิจผู้ประกอบการไม่มอง และการแก้ปัญหาในสังคมที่พบว่าครอบครัวเกิดภาวะที่ไม่อบอุ่น นำไปสู่ความไม่มั่นคงปลอดภัยในคดีต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น" เลขาธิการ สศช.กล่าว.
จาก สำนักข่าวไทย |