สถานการณ์เลือกตั้งกำลังเกิดภาวะอึมครึม ทั้งที่เพิ่งผ่านการเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตจังหวัดและในเขตไปเมื่อวันที่ 15-16 ธันวาคมที่ผ่านมา ด้วยจำนวนประชาชนไปใช้สิทธิลงคะแนนกว่า 2.9 ล้านคน จนหลายฝ่ายพูดไปในทิศทางเดียวกัน ว่า เป็นแนวโน้มทิศทางที่ดีเพราะคนตื่นตัวกับการเลือกตั้ง แต่มีปมประเด็นที่แทรกซ้อนขึ้นมา โดยมีผู้สมัครบางพรรคการเมืองได้ร้องเรียนกรรมการการเลือกตั้ง หรือกกต.ว่าการจัดเลือกตั้งล่วงหน้าขัดกฎหมาย โดยเฉพาะปมประเด็นในเรื่องการให้คนไปใช้สิทธิล่วงหน้าในเขต เพราะกฎหมายไม่ได้มอบอำนาจให้ดำเนินการได้ และประเด็นร้อนนี้ยังมีผลต่อเนื่อง เมื่อผู้สมัครอีกหลายคนได้ไปยื่นเรื่องต่อศาลปกครองให้พิจารณาว่า เป็นการผิดกฎหมายหรือไม่ ถึงขั้นขอให้ศาลมีคำสั่งว่า การเลือกตั้งล่วงหน้าเป็นโมฆะ ให้มีการจัดเลือกตั้งล่วงหน้าครั้งใหม่ และยังขอให้มีการเลื่อนการเลือกตั้งในวันที่ 23 ธันวาคมออกไปด้วย
เหตุผลของการยื่นฟ้องอ้างว่า กกต.เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้งตามมาตรา 10 ของ พ.ร.บ.กกต. แต่ปรากฏว่า กกต.กลับกำหนดให้มีการดำเนินการเลือกตั้งล่วงหน้า ณ ที่เลือกตั้งกลางในเขตเลือกตั้ง โดยที่ไม่มีอำนาจ เพราะไม่มีกฎหมายใดให้อำนาจไว้ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญ ปี 2550 พ.ร.บ.กกต. หรือพ.ร.บ.เลือกตั้งส.ส.และการได้มาซึ่งส.ว. โดยย้ำว่ารัฐธรรมนูญ มาตรา 99 วรรค 2 บัญญัติไว้เฉพาะการให้ใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้งที่ตนมีชื่ออยู่ และพ.ร.บ.เลือกตั้งส.ส.และการได้มา ซึ่งส.ว.ส่วนที่ 5 การลงคะแนนเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้ง ซึ่งมีบัญญัติไว้ในมาตรา 94-102 ก็กำหนดเรื่องเฉพาะการให้ใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้งทั้งสิ้น หาได้กำหนดให้ผู้มีสิทธิใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าในเขตเลือกตั้งแต่อย่างใดไม่ กรณีนี้จึงอาจเข้าข่ายใช้อำนาจในการจัดการเลือกตั้งตามอำเภอใจ ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมาย ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
กรณีที่เกิดขึ้นศาลปกครองได้รับคำร้องไว้และนัดไต่สวนในวันนี้ (19 ธ.ค.) ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าคำวินิจฉัยของศาลปกครองจะออกมาเป็นเช่นไร แต่กลายเป็นว่าได้ก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมต่อสถานการณ์และองค์กรที่จัดการเลือกตั้งอย่างกกต.แบบหลีกเลี่ยงไม่พ้น แม้กรรมการ กกต.บางท่านจะออกมาสำทับว่า ให้ดูว่าจุดใดสำคัญกว่ากัน เพื่อทำให้ประเทศเดินหน้าไปได้ พร้อมท้วงติงว่าการกระทำดังกล่าวทำให้ประเทศชะงัก และมองผ่านไปด้วยว่าเป็นขบวนการที่จ้องล้มกกต.และล้มเลือกตั้ง ท่ามกลางบรรยากาศการหาเสียงโค้งสุดท้ายอย่างขับเคี่ยวกันอย่างหนักของพรรคการเมือง และยิ่งก่อนหน้านี้ มีกระแสความพยายามขัดขวางไม่ให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น ด้วยความรู้สึกผวาว่าขั้วอำนาจเก่าจะกลับมาได้ ส่งผลให้เกิดความอึมครึมของการเลือกตั้งเที่ยวนี้เป็นอย่างมาก แต่มุมมองอีกจุดหนึ่งจากฝั่งนักกฎหมายกลับเห็นว่า บรรดา 5 เสือ กกต.ต่างก็มาจากสายตุลาการ จึงไม่น่าจะเกิดความผิดพลาดได้
อย่างไรก็ดี ในเรื่องดังกล่าวก็คงต้องรอฟังการวินิจฉัยของศาลปกครอง ที่จะมีผลต่อช่วงการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตยของประเทศ ขณะที่สังคมและภาคเอกชนต่างปรารถนาให้การเลือกตั้งเดินหน้าไปตามกระบวนการจนได้รัฐบาลใหม่ เพื่อเข้ามาบริหารจัดการ และที่สำคัญ เข้ามาฟื้นฟูประเทศจากความบอบช้ำที่ผ่านมา แต่ถ้าหากการดำเนินการเข้าข่ายไม่ถูกต้องตามกฎหมายก็ต้องยอมรับ เพราะหลักการสำคัญต้องยึดตัวบทกฎหมาย ดังเช่นในอดีตก็เคยมีคำพิพากษามาแล้วเมื่อครั้งการเลือกตั้งเมื่อ 2 เมษายน 2549 ที่ให้การเลือกตั้งครั้งนั้นเป็นโมฆะ แต่ก็คงนำเหตุการณ์ในอดีตมาเปรียบเทียบกับปัจจุบันไม่ได้ ด้วยปัจจัยและรายละเอียดต่างกัน แต่สิ่งที่มาเกิดทับซ้อนรอยคือความรู้สึกของสังคมที่รู้สึกว่า ความอึมครึมยังหนาทึบไม่จางลงไป ความวุ่นวายไม่รู้จบสิ้นเสียที แต่เชื่อว่าคนไทยพร้อมเผชิญอุปสรรคทุกอย่าง และดำเนินตามวิถีประชาธิปไตยที่ถูกต้อง อย่าเบื่อหน่ายไปกับสิ่งที่เกิดขึ้นที่เป็นเสมือนการทดสอบตัวเราเอง--จบ--
เพื่อไทย
Wednesday, December 19, 2007
สถานการณ์เลือกตั้ง‘อึมครึม'
บทบรรณาธิการ