ตั้งแต่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป่านกหวีดให้สัญญาณพรรคการเมืองต่างๆ หาเสียงเลือกตั้ง หลังจากได้หมายเลขผู้สมัคร ส.ส.
มหกรรมหาเสียงเลือกตั้งผ่านมาแล้วเดือนกว่า
ต้องยอมรับว่าบรรยากาศในการหาเสียงในทุกเขตทุกพื้นท ี่ทั่วประเทศมีความเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ
จากช่วงแรกที่ดูกร่อยๆ เพราะทุกพรรคยังไม่ชัดเจนในเรื่องกฎเกณฑ์ กติกาใหม่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง
แต่ในช่วงหลังๆ เมื่อนักการเมืองเริ่มคุ้นกับระเบียบกติกา บรรยากาศการหาเสียงก็เริ่มลื่นไหลคึกคักมากขึ้น เป็นลำดับ
อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดือนกว่าๆที่หาเสียงกันมา แม้ยังไม่มีปัญหา เรื่องการใช้เงินซื้อเสียงอย่างโจ๋งครึ่ม
ยังไม่มีเหตุการณ์ในเรื่องการใช้อำนาจรัฐเข้าไปข่มขู่คุกคามผู้สมัคร ส.ส. อย่างโจ่งแจ้งชัดเจนแบบจะจะ
มีแต่เคลื่อนไหวแบบตามน้ำ
การเดินเกมทางลับของพรรคการเมืองต่างๆ การเคลื่อนไหวของฝ่ายอำนาจรัฐ รวมทั้งคณะกรรมการการเลือกตั้งในฐานะผู้คุมกฎ
เป็นแค่ลักษณะการคุมเชิง
ยังไม่ถึงเวลาใช้ยุทธศาสตร์โหมกระหน่ำ เพื่อผลในการเลือกตั้ง
เพราะเป็นที่รู้กันในหมู่นักการเมืองระดับเซียน สถานการณ์ช่วงเดือนกว่าที่ผ่านมาถือเป็นห้วงของการรณรงค์หาเสียง
เน้นการเดินสายปราศรัย โชว์หน้าโชว์ตัวผู้สมัคร
ขายนโยบาย เรียกความนิยม
แต่ในช่วงโค้งสุดท้าย 7 วันก่อนถึงวันลงคะแนนหย่อนบัตรเลือกตั้ง 23 ธันวาคม เป็นช่วงที่ทุกพรรคต้องเปิดยุทธศาสตร์เลือกตั้งที่แท้จริง
เพราะเป็นห้วงเวลาที่ต้องทำเสียงให้เป็นคะแนน
ด้วยเหตุนี้ ช่วงสัปดาห์สุดท้ายก่อนเลือกตั้ง จึงถือว่า
เป็นช่วง “7 วันอันตราย”
และก็อย่างที่สังคมทั่วไปรู้ๆกัน การทำศึกเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นการต่อสู้กันระหว่าง 2 ขั้วการเมือง
นั่นก็คือ ขั้วอำนาจเก่าพรรคไทยรักไทยเดิม ที่แปลงร่างมาเป็นพรรคพลังประชาชน กับขั้วพันธมิตรฝ่ายค้านเดิม พรรคประชาธิปัตย์และพรรคชาติไทย
เป็นการทำศึกแบบต่อเนื่อง หลังจากเคยต่อสู้กันมาถึงขั้นมีการบอยคอตการเลือกตั้ง พันธมิตรพรรคร่วมฝ่ายค้านประกาศคว่ำบาตร
ไม่ส่งคนลงสมัคร ส.ส.
จนทำให้เกิดการจ้างพรรคเล็กลงสมัครเพื่อหนีเกณฑ์คะแนนขั้นต่ำ 20 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในแต่ละเขต
กลายเป็นเหตุให้ตุลาการรัฐธรรมนูญพิจารณาตัดสินลงโทษยุบพรรคไทยรักไทย
พร้อมสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งอดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยทั้ง 111 คน
เป็นปมให้หลายพรรคเกิดความปั่นป่วนในการเลือกตั้งคราวนี้ เนื่องจากขาดบุคลากรการเมืองที่จะมาเป็นแกนนำพรรค
ทำให้นักการเมืองระดับแกนนำที่ติดกลุ่มบ้านเลขที่ 111 ติดโทษแบนเว้นวรรค การเมือง 5 ปี ต้องส่งลูก เมีย ญาติ พี่ น้อง และคนสนิท ลงสมัครแทน หน้าสลอนไปหมด
อย่างไรก็ตาม ในการทำศึกเลือกตั้งครั้งนี้ ขั้วอำนาจเก่าต้องเจอกับ สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปจากเดิม
เพราะเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกหลังจากมีการรัฐประหาร
เป็นการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ กติกาใหม่
มีคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือผู้คุมกฎชุดใหม่ ไม่ใช่ กกต.สีเทา เหมือนการเลือกตั้งที่ผ่านมา
ในขณะที่นายใหญ่ของขั้วอำนาจเก่าต้องไปบัญชาการอยู่ต่างประเทศ
แต่สิ่งที่ขั้วอำนาจเก่ายังไม่เปลี่ยนไป ก็คือ มีเงินทุนหนาแน่น และยังได้รับแรงหนุน จากผู้ชื่นชอบคลั่งไคล้นโยบายประชานิยม
ทั้งนี้ จากการสำรวจความเห็นประชาชนของโพลสำนักต่างๆ ที่เปิดโพยกันออกมาก่อนหน้านี้ ระบุตรงกัน
พรรคการเมืองขั้วอำนาจเก่ามีแต้มนำขั้วพันธมิตรฝ่ายค้านเดิม อย่างพรรคประชาธิปัตย์
ท่ามกลางสถานการณ์ที่การเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นการเลือกตั้งที่ไม่ปกติ เพราะเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกหลังการรัฐประหาร
แถมเป็นการรัฐประหารที่ไม่สะเด็ดน้ำ
ถ้าขั้วอำนาจปัจจุบัน ฝ่ายกุมอำนาจรัฐ ยังเดินยุทธศาสตร์เดิมเหมือน ในช่วงที่เข้ามายึดอำนาจการปกครอง
ยังเน้นการสกัดกั้นขั้วอำนาจเก่า
ถือว่า อันตราย
แต่ถ้าขั้วอำนาจปัจจุบัน ฝ่ายที่กุมอำนาจรัฐ ปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ หันมาใช้แนวการปฏิบัติทางกฎหมาย
เป็นเพียงผู้คอยช่วยเหลือ คอยให้สนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการ การเลือกตั้ง ไม่ใช้อำนาจแฝงตั้งท่าสกัดอำนาจเก่า
อันตรายก็จะน้อยลง
“ทีมข่าวการเมืองไทยรัฐ” ขอชี้ว่า ในช่วง 7 วันก่อนการเลือกตั้ง การเดินเกมต่างๆ ของพรรคการเมืองในการช่วงชิงคะแนนเสียง และการเดินแผนสกัดกั้น จากฝ่ายที่กุมอำนาจรัฐ จะมีความเคลื่อนไหวมากเป็นพิเศษ
เดือดอยู่ใต้ดิน
เดือดอยู่หลังฉาก
ทั้งนี้ จากการที่มีประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้งห้ามมีการเผยแพร ่ผลสำรวจคะแนน นิยมของพรรคการเมืองในช่วง 7 วันก่อนการเลือกตั้ง
นั่นหมายถึงว่า ตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 16 ธันวาคม ไปจนถึง ช่วงปิดหีบเลือกตั้งบ่าย 3 โมงของวันที่ 23 ธันวาคม
การสำรวจคะแนนนิยมทำได้เป็นการภายในของแต่ละสำนักโพล แต่ห้ามเผยแพร่ผลสำรวจ ถ้าเผยแพร่ออกมาผิดกฎหมายทันที
ประเด็นข้อห้ามตรงนี้ เปรียบเสมือนเป็นสัญญาณ เป็นเพดานที่เป็นตัวสะท้อนว่า ในช่วง 7 วันก่อนเลือกตั้ง
ปฏิบัติการทางลับของแต่ละฝ่ายจะเข้มข้น ดุเดือด เลือดพล่าน
สภาวการณ์จะเหมือนกับที่ทีมของเราเคยตอกย้ำไว้ว่า การเลือกตั้งหนนี้ เหมือนภาวะสงคราม
อำนาจเงินจะปะทะกับอำนาจรัฐ
อย่าลืมว่า เมื่อขั้วอำนาจปัจจุบันลงทุนทำรัฐประหาร ไล่ขั้วอำนาจเก่าออกไป แต่ไม่สามารถใช้อำนาจพิเศษควบคุมเบ็ดเสร็จได้ ไม่ว่าจะด้วยเหตุ เพราะกระแสสังคมในประเทศ หรือกระแสโลกไม่ยอมรับก็ตาม
โดยหลักของความเป็นจริง คนที่เป็นฝ่ายยึดอำนาจ คงจะไม่ปล่อยให้ฝ่ายตรงข้ามกลับคืนสู่อำนาจได้ง่ายๆ ส่วนจะใช้วิธีการไหนบ้างยังไม่รู้
ในขณะที่ขั้วอำนาจเก่าก็พยายามแก้เกม หาทางดิสเครดิต ออกมาโจมตีขั้วอำนาจปัจจุบันเป็นระลอกๆ
สถานการณ์อย่างนี้แหละ ที่เราบอกว่า อันตราย
เรียกได้ว่า “อันตรายใต้ดิน”
ขณะเดียวกัน ก็ยังมีเหตุอื่นที่จะทำให้เกิดสถานการณ์
อันตรายตามมาได้เหมือนกัน นั่นก็คือ ปัญหาในการทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง
ไม่ว่าจะเป็นกรณีแจกจ่ายวีซีดีหาเสียงของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในพื้นที่ภาคอีสานและภาคเหนือ ทั้งที่ติดโทษแบนทางการเมือง อยู่ในกลุ่มบ้านเลขที่ 111
กรณีปัญหาเรื่องการปลอมลายเซ็นนายสิทธิชัย โควสุรัตน์ รองหัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดิน ในใบสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคพลังประชาชาชน
กรณีปัญหาหัวคะแนนจ่ายเงินจูงใจให้คนไปฟังการปราศรัยหาเสียงของผู้สมัคร ส.ส.นครราชสีมา เขต 3 พรรคพลังประชาชน
กรณีการท้าทายของนายประแสง มงคลศิริ ผู้สมัคร ส.ส.อุทัยธานี พรรคพลังประชาชน ที่นำรูปของ พ.ต.ท.ทักษิณมาใช้ในการหาเสียง
สิ่งเหล่านี้ถือเป็นเรื่องอันตรายที่จะเกิดจากการถูกกฎหมายลงโทษ
โดยมีผู้คุมกฎ คือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง เป็น ผู้พิจารณาวินิจฉัย สามารถที่จะเชือดรายหัว ถ้าพบว่าทำผิดกฎหมายจริง
หรืออาจจะเหมารวมหมดแบบยกเข่ง ก็เป็นไปได้
ตรงนี้ คือ “อันตรายบนดิน”
นอกจากนี้ สถานการณ์ในช่วง 7 วันก่อนการเลือกตั้ง ยังอาจเกิด “อันตรายจากโรคแทรกทางการเมือง” ที่ไม่คาดฝัน
ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นภายใต้แรงขับเคลื่อนจากขั้วอำนาจเก่า จากขั้วอำนาจปัจจุบัน หรือจากฝ่ายอื่นที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับ 2 ขั้วอำนาจนี้ ก็เป็นไปได้
เช่น อาจมีม็อบเข้ามาก่อความวุ่นวาย เหมือนกับม็อบที่ปีนรั้วรัฐสภา บุกเข้าไปถึงหน้าห้องประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
แต่ที่น่าเป็นห่วงที่สุด และเคยเกิดขึ้นมาแล้ว นั่นก็คือ การใช้วิธีป่วนเมือง
วางระเบิด บึม บอมบ์ หวังผลล้มกระดานเลือกตั้ง
อย่างไรก็ตาม อันตรายจากปัจจัยเหล่านี้จะอันตรายเพิ่มมากขึ้นหรืออันตรายลดลง ก็ขึ้นอยู่กับผลการเลือกตั้งวันที่ 23 ธันวาคม
ที่สังคมต้องติดตามกันต่อไป.
"ทีมการเมือง"