แม้ว่าศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จะประทับรับฟ้องคดีหวยบนดินไปแล้ว ซึ่งก็ต้องไปต่อสู้กันในทางคดี แต่ปัญหามันไม่ใช่แค่นั้น เพราะมีผลต่อ 3 รัฐมนตรีของรัฐบาลชุดนี้ด้วย
คือ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จากพลังประชาชน นางอุไรวรรณ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานจากพรรคประชาราช และนายอนุรักษ์ จุรีมาศ รัฐมนตรีช่วยคมนาคม
ข้อใหญ่ใจความอยู่ที่เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญได้กำหนดเอาไว้ว่าหากนายกฯ และรัฐมนตรีที่ถูกฟ้องร้องและศาลประทับรับฟ้องจะต้องหยุด “พักงาน” ทันที ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ใช้อำนาจฐานะตำแหน่งเอื้อประโยชน์ต่อรูปคดี
ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญในกระบวนการตรวจสอบนักการเมือง
แต่รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดว่าเป็นนายกฯหรือรัฐมนตรีแต่ระบุว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นั่นก็เกิดปัญหาทันทีเพราะมีการตีความเฉออกไปว่ากรณีนี้ หากไม่ได้เป็นรัฐมนตรี แต่เป็น ส.ส.ก็ถือว่าเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
หาก ส.ส.โดนคดีเช่นเดียวกันก็ต้อง “พักงาน” ด้วยนั่นประเด็นหนึ่ง
ขณะเดียวกันมีการพูดถึงการใช้อำนาจตามกฎหมายถูกต้องหรือไม่ เพราะกฎหมาย ป.ป.ช.ระบุว่าผู้ถูกกล่าวหาหากศาลประทับรับฟ้องก็ต้องพักงานทันที แต่กรณีนี้ปรากฏว่าการฟ้องร้องคดีนี้ดำเนินการโดย คตส. ซึ่งขณะนี้หมดวาระไปแล้ว
ดังนั้น จึงเกิดปัญหาว่าเมื่อเป็น คตส.จะต้องพักงานด้วยหรือไม่ ทั้งๆที่ คตส.ก็ใช้อำนาจตามกฎหมาย ป.ป.ช. นี่ก็ประเด็นหนึ่ง
และอีกประเด็นก็คือคดีหวยบนดินนั้นเกิดตั้งแต่รัฐบาลทักษิณ ซึ่งในการฟ้องร้องกันนั้น ปรากฏว่ากว่าจะลงเอยได้ก็ติดปัญหามาตลอด คดีนี้อดีตนายกฯเป็น 1 ในผู้ถูกกล่าวหาจากจำนวน 47 คน คตส.ยื่นสำนวนให้อัยการส่งฟ้อง ปรากฏว่าอัยการไม่ยอมอ้างว่าสำนวนยังไม่สมบูรณ์ให้สอบเพิ่มเติม
แต่ คตส.ไม่ยอม อ้างว่าสมบูรณ์แล้ว ต้องตั้งกรรมการร่วมแต่ก็ไปกันไม่ได้ จนเกิดศึกระหว่างอัยการกับคตส.
สุดท้าย คตส.ต้องยื่นฟ้องเอง
ยังไม่จบแค่นั้นเมื่อ คตส.ยื่นฟ้องปรากฏว่าศาลยังไม่รับทันทีแต่ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า คตส.มีที่มาถูกต้องหรือไม่ ต่ออายุถูกต้องหรือไม่ มีอำนาจหรือไม่ หากตีความว่าไม่ถูกต้องทุกอย่างก็จบ คดีความต่างๆก็ต้องยุติเพราะ คตส.เป็นองค์กรเถื่อน แต่ศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าชอบด้วยกฎหมาย และที่สุดก็ประทับรับฟ้องคดีนี้
แต่ 3 รัฐมนตรียังไม่ยอม “พักงาน” อ้างว่ากฎหมายยังไม่ชัดเจน หากไม่พักงานก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีโทษอะไรบ้าง จึงขอหารือ ครม.และให้กฤษฎีกาตีความว่าควรจะปฏิบัติอย่างไร
พูดง่ายๆยังไม่หยุดงาน แต่ขอตีความก่อน
จริงๆแล้วเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญนั้นชัดเจน เมื่อรัฐมนตรีถูกฟ้องร้องเป็นคดีจะต้องถูกพักงาน เพื่อให้การดำเนินการสอบสวนเป็นไปอย่างอิสระ ไม่มีอำนาจการเมือง ไม่มีอำนาจรัฐมนตรีเข้ามามีบทบาท หรือเข้ามาล้วงลูกส่งผลต่อรูปคดี
แต่เมื่อไม่ยอมรับก็ต้องหาทางดิ้นทุกรูปแบบ ทั้งๆที่รู้กันอยู่เต็มอก และประเด็นนี้มันจะต้องต่อเนื่องไปถึงคดีอื่นๆ แม้กระทั่งคดีของนายกฯสมัคร สุนทรเวช ที่จะชี้ขาดกันอีกไม่นานนี้ ดังนั้นบรรทัดฐานตรงนี้มันจะโยงไปถึงคดีอื่นๆที่จะตามมา
มันก็ครือๆกับคดี “ยุบพรรค”
ก็เลยต้องงัดวิชา “หัวหมอ” ออกมาประดาบกัน.
“สายล่อฟ้า”