WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Saturday, August 2, 2008

นิติศาสตร์ต้องเป็นธรรม(2)

คอลัมน์: ประชาทรรศน์วิชาการ

2.จากข้อสรุปงานวิจัยข้อที่ 4 นักกฎหมายขาดคุณธรรมหรือขาดความยุติธรรมนั้น ลองมาพิจารณาว่า คุณธรรมคืออะไร?

2.1 ความหมายของคุณธรรม

ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน 2525 คุณธรรม คือ สภาพ คุณงามความดี

โดยนิยามของ วอลเตอร์และคนอื่นๆ (Walters and others. 1966 : 801) และพจนานุกรมของลองแมน (Longman. 1995 : 1226) กล่าวว่า คุณธรรม หมายถึง ความดีงามของลักษณะนิสัย หรือพฤติกรรมที่ได้กระทำจนเคยชิน

ส่วน ดวงเดือน พันธุมนาวิน (2526 : 2) ได้ให้ความหมายของคุณธรรมว่า คุณธรรม หมายถึง สิ่งที่คนส่วนใหญ่ในสังคมเห็นว่าดี เช่น ความซื่อสัตย์ การมีวินัย การประหยัด เป็นต้น

ถ้านิติศาสตร์ขาดคุณธรรม เป็นภัยเพียงใด?

ถ้านักกฎหมายขาดคุณธรรมก็เป็นภัยอันมหันต์เช่นกัน ทั้งต่อประชาชนที่พึ่งกระบวนการยุติธรรม และต่อประเทศชาติ

ในเรื่องคุณธรรมนี้ ขอยกพระราโชวาทของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง ณ อาคารหอประชุมพ่อขุนรามคำแหงมหาราช วันจันทร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ 2543 (ภาคเช้า) มีใจความตอนหนึ่งว่า…

“การศึกษาในมหาวิทยาลัยนั้น มีเป้าหมายสำคัญที่จะปลูกฝังความเจริญงอกงามให้แก่บุคคลให้พร้อมทุกด้าน คือให้มีวิชาการระดับสูงสาขาใดสาขาหนึ่ง และให้มีคุณธรรม ความดีของกัลยาณชนอย่างหนักแน่น ความรู้กับคุณธรรมนี้เป็นของสำคัญคู่กัน ที่จะต้องฝึกฝนอบรมอย่างจริงจังให้เกิดมีเสมอกัน ถ้าบกพร่องไปอย่างใดอย่างหนึ่ง การศึกษาก็ไม่สำเร็จประโยชน์ อาจเกิดโทษเสียหายได้ร้ายแรง ข้อนี้ถ้าพิจารณาให้ดี ก็จะเห็นจริงว่า คนที่มีการศึกษาดี มีวิชาความรู้สูง แต่ขาดคุณธรรมนั้นเป็นภัยเพียงใด ส่วนคนซื่อตรงทรงคุณธรรม แต่ขาดความรู้ ความเฉลียวฉลาด ก็ไม่อาจทำงานใหญ่ที่สำคัญๆ ให้สำเร็จได้ จึงขอให้บัณฑิตทุกคนได้ศึกษาเรื่องความรู้และคุณธรรมที่กล่าวให้ทราบชัด แล้วฝึกหัดอบรมให้สมบูรณ์พร้อมขึ้นในตน จักได้ปฏิบัติตนปฏิบัติงานให้บังเกิดประโยชน์แท้จริงแก่ตน แก่ส่วนรวมต่อไป...”

ดังนั้น ในประเด็นปัญหาเรื่องคุณธรรมของนักนิติศาสตร์ จึงเป็นเรื่องใหญ่ที่จะต้องปลูกฝัง อบรมสั่งสอน และแก้ไขในการประกอบวิชาชีพ ทั้งเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่น และในเรื่องการใช้กฎหมายเพื่อให้เกิด “ความยุติธรรมที่เป็นธรรม”

2.2 ความหมายของความยุติธรรม
ความยุติธรรมคืออะไร เป็นสิ่งที่นักกฎหมายต้องพิจารณาและให้ความสำคัญอย่างมาก เพราะกฎหมายนั้นตราออกมาใช้บังคับเพื่อความเป็นธรรมในสังคม ความยุติธรรมนี้จะเอาอะไรมาเป็นปทัสถานของความยุติธรรมว่าพอดี หรือเพียงพอแล้ว เพราะเวลาพูดถึงความยุติธรรม ถ้าใช้สามัญสำนึกของตัวเองเป็นหลัก บางเรื่องก็อาจจะเห็นว่าไม่เป็นธรรม แต่ถ้าเอาสังคมส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ก็อาจเป็นธรรม เช่น กรณีออกกฎหมายเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย หรือเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ หากใช้บังคับแก่คนทั่วไปโดยไม่เลือกใช้เฉพาะกับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งแล้ว เช่นนี้ก็ย่อมถือว่ากฎหมายนั้นมีความยุติธรรมแล้ว

โดยทั่วไป ความยุติธรรมเป็นบางสิ่งบางอย่างที่ “รู้สึก” ได้ หรือรับรู้ได้โดย “สัญชาตญาณ” แต่ก็ยากที่จะอธิบาย หรือให้นิยามความหมายของสิ่งที่รู้สึกได้ดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม

ความหมายของคำว่า “ความยุติธรรม” มีความหลากหลาย รายละเอียดต่างๆ อาจศึกษาหาอ่านได้โดยตรงในวิชานิติปรัชญา ในที่นี้จะเพียงยกคำจำกัดความของนักกฎหมายหรือนักปราชญ์บางท่าน เช่น

เดวิด ฮูม (David Hume) อธิบายไว้ว่า ความยุติธรรมเป็นคุณธรรมอย่างหนึ่งที่มิได้ปรากฏขึ้นเองโดยธรรมชาติ แต่เป็นคุณธรรมที่เกิดจากการคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ (Artificial Virtue)

เพลโต (Plato : 427–347 B.C.) ปรัชญาเมธีชาวกรีก ในงานเขียนเรื่อง “อุดมรัฐ” (The Republic) ได้ให้คำนิยามความยุติธรรมว่า หมายถึงการทำกรรมดี (Doing well is Justice) หรือการทำสิ่งที่ถูกต้อง (Right Conduct)

อริสโตเติล (Aristotle) มองว่าความยุติธรรมคือ คุณธรรมทางสังคม (Social Virtue) ประการหนึ่ง ซึ่งเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และคุณธรรมเรื่องความยุติธรรมนี้จะใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต่อเมื่อมนุษย์ได้ปลดปล่อยตัวเขาเองจากแรงผลักดันของความเห็นแก่ตัวอย่างยิ่ง

อริสโตเติล แบ่งความยุติธรรมออกเป็น 2 ประเภท คือ

1.ความยุติธรรมโดยธรรมชาติ (Natural Justice) หมายถึง หลักความยุติธรรม ซึ่งมีลักษณะเป็นสากล ไม่เปลี่ยนแปลง ใช้ได้ต่อมนุษย์ทุกคน ไม่มีขอบเขตจำกัด และอาจค้นพบได้โดย “เหตุผลบริสุทธิ์” ของมนุษย์

2.ความยุติธรรมตามแบบแผน (Conventional Justice) หมายถึง ความยุติธรรมซึ่งเป็นไปตามตัวบทกฎหมายของบ้านเมือง หรือธรรมนิยมปฏิบัติของแต่ละสังคมหรือชุมชน ความยุติธรรมลักษณะนี้อาจเข้าใจแตกต่างกันตามสถานที่ และอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามกาลเวลาหรือตามความเหมาะสม

กฎหมายกับความยุติธรรมนั้นย่อมมีความสัมพันธ์กัน ดังที่พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ในพิธีพระราชทานประกาศนียบัตรแก่ผู้สอบไล่ได้วิชาความรู้ชั้นเนติบัณฑิต สมัยที่ 33 ปีการศึกษา 2523 ณ อาคารใหม่สวนอัมพร 24 ตุลาคม 2524 ตอนหนึ่งว่า...“ตัวกฎหมายก็ไม่ใช่ความยุติธรรม เป็นแต่เพียงเครื่องมือที่ใช้ในการประสิทธิ์ประสาทความยุติธรรมเท่านั้น ดังนั้นนักกฎหมายในการใช้กฎหมาย จึงต้องมุ่งหมายใช้เพื่อรักษาและอำนวยความยุติธรรม และการรักษาความยุติธรรมในแผ่นดินก็มิได้มีวงแคบอยู่เพียงแค่ขอบเขตของกฎหมาย หากต้องขยายออกไปให้ถึงศีลธรรมจรรยา ตลอดจนเหตุและผลตามเป็นจริงด้วย”

3.กฎหมายเป็นคำสั่งของรัฐาธิปัตย์จริงหรือ?
“กฎหมายคืออะไร?” หากถือว่ากฎหมายคือคำสั่งของรัฐาธิปัตย์ เมื่อไม่ปฏิบัติตามย่อมได้รับโทษ แล้วต้องถามต่อไปว่า “รัฐาธิปัตย์คือใคร?” ถ้าหากถือตามคำที่อธิบายว่า “รัฐาธิปัตย์ คือ ผู้มีอำนาจในบ้านเมือง” ผลก็จะออกมาเป็นที่น่าตกใจเป็นอันมาก เพราะกฎหมายจะกลายเป็น “สิ่งที่ผู้มีอำนาจสั่ง” และจะสั่งตามอำเภอใจอย่างไรก็จะเป็นกฎหมายทั้งนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้คำกล่าวที่ว่า กฎหมายเป็นที่พึ่งของประชาชนหรือหลักนิติธรรม (The Rule of Law) ได้อย่างไร

ซึ่ง ศ.ดร.หยุด แสงอุทัย เคยให้ความหมายของหลักนิติธรรมไว้อย่างน่าฟังว่า “กฎหมายเป็นใหญ่” หรือมีผู้แปลว่า “การปกครองของกฎหมาย” ถ้าเรายอมรับคำตอบที่ว่า กฎหมายคือคำสั่งของรัฐาธิปัตย์แล้ว “การปกครองของกฎหมาย” ก็จะหมายความว่า การปกครองของผู้มีอำนาจ กฎหมายเป็นใหญ่ ก็คือผู้มีอำนาจเป็นใหญ่ นักกฎหมายเป็นผู้รับใช้กฎหมาย ก็แปลว่า นักกฎหมายเป็นผู้รับใช้ผู้มีอำนาจ ถ้าผลเป็นอย่างนี้แล้ว ทุกคนก็จะต้องหวนกลับมาถามว่า ที่ว่า “กฎหมายเป็นคำสั่งของรัฐาธิปัตย์” นั้นถูกต้องจริงหรือ?

3.1 กฎหมายเป็น Will หรือเป็น General Will หรือ “อำนาจคือธรรม” หรือ “ธรรมคืออำนาจ”
ถ้ากฎหมายเป็นความต้องการของผู้มีอำนาจรัฐ กฎหมายก็เป็น Will หากกฎหมายเป็นเจตจำนงร่วมกันของประชาชนทั้งชาติ กฎหมายก็เป็น General Will ซึ่งเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่ถือว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน (Souverait? Populaire) และเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนกับการเมืองภาคพลเมือง

ในความหมายที่ว่า กฎหมายเป็น Will คือเอาความต้องการของผู้ปกครองเป็นใหญ่ อำเภอใจของผู้ปกครองเป็นใหญ่ แม้ความต้องการนั้นจะไม่ชอบด้วยธรรมและเหตุผล ดังนั้นกฎหมายที่เป็น Will หรือเจตนาของผู้ปกครองนี้ ส่วนใหญ่จึงเป็นกฎหมายในระบอบเผด็จการ ซึ่งกฎหมายจะไม่มีความมั่นคงแน่นอน แต่จะปรับเปลี่ยนตามใจของผู้มีอำนาจว่าต้องการให้กฎหมายเป็นอย่างไร

ในความหมายนี้เป็นการสะท้อนให้เห็นว่า “อำนาจคือธรรม” คือ “สิ่งที่ถูกต้อง” แม้จะไม่ชอบด้วยธรรมและเหตุผล สิ่งไม่ดีกลายเป็นสิ่งดีและถูกต้องได้ ซึ่งกฎหมายลักษณะเช่นนี้ ประชาชนย่อมไม่ต้องการ

ในความหมายที่กฎหมายเป็น General Will หรือเป็นเจตจำนงร่วมกันของประชาชนทั้งชาติ เป็นหลักสากลที่ยอมรับกันในประเทศที่เป็นเสรีประชาธิปไตย เป็นที่ยอมรับตามทฤษฎีอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน ซึ่งแสดงออกโดยผ่านระบบผู้แทนฯ ที่มาจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย

ดังนั้น การที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นการได้อำนาจรัฐมาจากตัวบทกฎหมาย คือรัฐธรรมนูญ หากรัฐบาลหรือรัฐสภา ออกกฎหมายใหม่ หรือแก้ไขกฎหมายที่ไม่ดีจึงเป็นเรื่องที่ถูกต้อง เพราะกฎหมายคือเจตจำนงร่วมกันของประชาชนทั้งชาติ ซึ่งเป็น General Will (ไม่ใช่ Will แบบกฎหมายในระบอบเผด็จการซึ่งออกตามอำเภอใจ) กฎหมายจะมีความแน่นอนมากกว่า เพราะผ่านการพิจารณาจากตัวแทนของประชาชน บนพื้นฐานของประโยชน์สาธารณะและความต้องการของประชาชนในรัฐ

ส่วนที่ว่า “ธรรมคืออำนาจ” คือการใช้อำนาจโดยพิจารณาถึงความถูกต้อง ความเหมาะสม สมเหตุสมผล เป็นการใช้กฎหมายโดยคำนึงถึงความเป็นธรรม กฎหมายต้องเป็น “กฎหมายที่ดี” (Good Law) ถ้าเป็นกฎหมายที่ไม่ดีก็ยกเลิกได้ เช่น ประกาศของคณะปฏิวัติ หรือประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองฉบับใดที่ไม่มีความเป็นธรรม ก็ออกกฎหมายใหม่ ยกเลิกกฎหมายเก่าซึ่งเป็นกฎหมายเผด็จการได้

4.หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
ความหมายของ หลักนิติรัฐ โดยรวมหมายถึง หลักการปกครองโดยกฎหมาย มิใช่ปกครองตามอำเภอใจ และเป็นระบบที่สร้างขึ้นมา โดยมีวัตถุประสงค์ให้เป็นหลักในการป้องกันและแก้ไขเยียวยาการใช้อำนาจรัฐตามอำเภอใจของฝ่ายปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน
หลักนิติรัฐมีสาระสำคัญ 2 ประการ คือ

1.การใช้อำนาจรัฐทุกชนิดต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของกฎหมาย

2.มุ่งที่การใช้อำนาจรัฐทุกประเภท

หลักนิติธรรม

หลักนิติธรรม (Rule of Law) เป็นหลักกฎหมายที่มีมาตั้งแต่สมัยโรมัน นอกจากจะหมายถึง “การปกครองที่ทุกคนจะต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย” แล้ว ยังมีความหมายถึง “การแสวงหาความยุติธรรม ซึ่งเป็นเหตุเป็นผลกันตามธรรมชาติ หรือเป็นความยุติธรรมตามธรรมชาติ อันเป็นสิ่งที่มีความสำคัญและมีความศักดิ์สิทธิ์อยู่เหนือกว่าตัวอักษรของตัวบทกฎหมายนั้นเอง” อีกด้วย

หลักนิติธรรมมุ่งเน้นที่
1.การตีความเพื่อใช้กฎหมาย ต้องเป็นธรรม

2.มุ่งเน้นที่ความยุติธรรมที่อยู่เหนือกฎหมายลายลักษณ์อักษร
หลักนิติธรรมและหลักนิติรัฐนั้นอยู่ด้วยกัน หลักนิติรัฐก็อยู่ในหลักนิติธรรมนั่นเอง แต่แยกกันตรงไหน? แยกกันตรงที่หลักนิติรัฐมุ่งที่ฝ่ายใช้อำนาจรัฐ

“หลักนิติธรรม” เป็นคำที่แปลมาจากคำภาษาอังกฤษ คือคำว่า Rule of Law ความหมายที่แท้จริงของ Rule of Law ซึ่งเป็นหลักกฎหมายของอังกฤษนั้น อาจจะสรุปความได้ว่า หมายถึง “การปกครองโดยกฎหมาย กฎหมายเป็นใหญ่ ไม่ใช่อำเภอใจของผู้มีอำนาจปกครองเป็นใหญ่ ฝ่ายบริหาร (ของอังกฤษ) ซึ่งได้แก่ กษัตริย์และคณะรัฐมนตรีไม่มีอำนาจ หากไม่ได้รับความยินยอมจากรัฐสภา ซึ่งก็หมายถึง หากไม่มีกฎหมายให้อำนาจ ฝ่ายบริหารก็ไม่อาจกระทำการอย่างใดๆ ได้เลย”

ซึ่งเท่ากับหมายความว่า “การปกครองต้องมิใช่การปกครองตามอำเภอใจ”

ในประเทศไทย ในระยะแรกๆ นักกฎหมายได้รับการศึกษามาจากอังกฤษ จึงได้แปลคำว่า Rule of Law นี้ว่า “หลักนิติธรรม” ซึ่งนอกจากจะให้หมายถึงการปกครองโดยกฎหมายแล้ว ยังหมายถึง “การแสวงหาความยุติธรรมโดยอาศัยตัวบทกฎหมาย” ด้วย

รศ.ดร.ภูริชญา วัฒนรุ่ง
ภาควิชากฎหมายมหาชน
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง