WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Saturday, August 2, 2008

ประวัติทฤษฎีการเมืองการปกครอง“จีนโบราณ” กับสังคมไทยปัจจุบัน

คอลัมน์ : บทความพิเศษ

สถานการณ์การเมืองในปัจจุบันนี้ มีอภิสิทธิ์ชน นักวิชาการ และชนชั้นสูงบางส่วน กล่าวอ้างว่า ประชาธิปไตยของไทยควรจะต้องมีการควบคุม “ตามแบบไทยๆ” เนื่องจากประชาชนไทยส่วนมากยังขาดความรู้และข้อมูล ทำให้ไม่สามารถเลือกผู้แทนที่ “ดี” ได้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องให้อำนาจอภิสิทธิ์ชนเหล่านี้ออกมาผ่านอำนาจของกระบวนการ “ตุลาการภิวัตน์” “วุฒิสภาที่มาจากการสรรหา” “องค์กรอิสระ” “นักวิชาการ” และ “องค์กรพัฒนาเอกชน (ที่ได้พยายามใช้ศัพท์ที่สวยหรูขึ้นว่า องค์กรภาคประชาชน)” และอำนาจทหารบางส่วน พยายามจำกัดสิทธิของ ส.ส. อันเป็นผู้แทนราษฎรที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามา ตัวอย่างเช่น การออกกฎหมายว่า “

หากกรรมการบริหารพรรคการเมืองใดกระทำทุจริตการเลือกตั้ง ให้ยุบพรรค และตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคการเมือง มิให้เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง (รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2550 มาตรา237)” หรือ “ห้ามมิให้ ส.ส. เข้าไปแทรกแซงข้าราชการเพื่อประโยชน์ของตนเองและผู้อื่น (รธน.50 มาตรา 266)” โดยอ้างว่าเพื่อ “ป้องกันการแทรกแซงอำนาจรัฐ”

ซึ่งมีอภิสิทธิ์ชนและนักวิชาการจำนวนมาก รวมถึงผู้ที่จงเกลียดจงชัง “นักเลือกตั้ง” ให้การสนับสนุน จนกระทั่งล่าสุด มีความพยายามทำลายรัฐบาล พรรคการเมือง แม้กระทั่งอธิปไตยของปวงชน โดยการเสนอให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาจากการเลือกตั้งเพียงร้อยละ 30 และมาจากการแต่งตั้งถึงร้อยละ 70

คำถามคือ การออกกฎหมายในลักษณะที่ควบคุมและลดทอนการใช้อำนาจของประชาชน และจัดการกับผู้ที่เดินออก “นอกกรอบ” ของตน โดยลักษณะ “ล้างโคตร” และดึงเอาผู้อื่นที่ไม่ได้รู้เห็นกับการกระทำผิด เพียงแต่มีความสัมพันธ์บางประการในด้านอื่นเข้ามารับโทษด้วย จะสามารถทำให้ผู้คนหวาดกลัวในอำนาจของกฎหมายจนต้องยอมสยบ ไม่ทำอะไรนอกลู่นอกทาง และทำให้ “บ้านเมืองสงบ” ตามที่ “อำนาจรัฐอำมาตยาธิปไตย” ต้องการหรือไม่?

และความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน ประชาชนกับรัฐ ผู้ปกครองและผู้ใต้ปกครอง ควรจะเป็นเช่นไร? ประชาชนจะมีอำนาจกำหนดความเป็นไปของรัฐได้มากแค่ไหน? หากให้รัฐปกครองด้วยอภิสิทธิ์ชนบางส่วน แล้วจะให้อำนาจแก่พวกเขามากแค่ไหน

ความจริงแล้ว ในประวัติศาสตร์โลก ได้มีการถกเถียงกันในหลายยุคหลายสมัยว่า รูปแบบการปกครองที่ดี และกฎหมายที่ดี ควรจะเป็นเช่นไร ตัวอย่างหนึ่งคือ ประวัติศาสตร์จีนสมัยยุคชุนชิว (742-481 ปีก่อนคริสตกาล) ได้มีการถกเถียงกันอย่างรุนแรงว่า ผู้ปกครองควรจะปกครองราษฎรเช่นใด ซึ่งสำนักคิดเชิงปรัชญาสำคัญ ที่มีทฤษฎีการเมืองการปกครองที่ทรงอิทธิพลในยุคนั้น มีสำนักดังต่อไปนี้

1.ลัทธิขงจื๊อ หรือสำนักปราชญ์นิยม ซึ่งนำโดย ขงจื๊อ หรือชื่อจริงว่า ข่งชิว และสานุศิษย์สำคัญได้แก่ เมิ่งจื่อ เป็นต้น ในเชิงการปกครอง ลัทธินี้เชื่อว่าประเทศจะเจริญรุ่งเรือง หากผู้ปกครองและผู้ถูกปกครอง (ซึ่งสามารถแยกย่อยตามหลักความสัมพันธ์ 5 ประการ ได้แก่ ราชากับราษฎร บิดามารดากับบุตร สามีกับภรรยา พี่กับน้อง และเพื่อนกับเพื่อน) จะมีความสัมพันธ์ตามธรรมเนียมที่วางระดับและหน้าที่ของแต่ละบุคคลอย่างเคร่งครัด ซึ่งสำนักนี้อ้างว่า เป็นธรรมเนียมที่สืบต่อมาตั้งแต่ราชวงศ์โจวที่มาก่อน

โดยผู้ปกครองต้องมี “คุณธรรม” มีหน้าที่ “ให้โอวาท” แก่ผู้ถูกปกครอง ส่วนผู้ถูกปกครองต้อง “กตัญญู” ต่อผู้ปกครอง และมีหน้าที่ “น้อมรับคำสั่งสอนและกระทำตาม” แต่ว่าในขณะเดียวกัน ยังได้พยายามลดทอนอำนาจของเจ้าศักดินาใหญ่ ให้ต้องแบ่งอำนาจให้กับเจ้าศักดินาย่อยๆ เช่นเดียวกับกษัตริย์จีนราชวงศ์โจว ซึ่งมาก่อนสมัยชุนชิว และต้องรับฟังความคิดเห็นของ “สุภาพชน” ก็คือ ชนชั้นขุนนางและปัญญาชน ทำให้อำนาจในการบริหารไปตกอยู่ในมือของชนชั้นขุนนาง และเจ้าศักดินาขนาดเล็ก

2.ลัทธิเต๋า หรือสำนักมรรคนิยม ซึ่งนำโดย เหล่าจื้อ หรือชื่อจริงว่า หลี่ตาน มีสานุศิษย์ที่สำคัญได้แก่ จวงจื่อ เป็นต้น ในเชิงการปกครอง ลัทธินี้เชื่อว่า การปกครองที่ดีที่สุดคือการพยายามทำให้ผู้คนกลับไปใช้ชีวิตแบบใกล้เคียงกับบุพกาล คือ มีหน่วยเป็นหมู่บ้านขนาดเล็ก ที่พยายามให้อำนาจรัฐมีอำนาจปกครองน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ “ประเทศควรจะเล็ก ประชากรควรมีน้อย แม้มีเครื่องมือนับหมื่น ผู้คนก็ไม่รู้ว่าต้องใช้ประโยชน์ในยามใด... (ผู้คน) รู้เรื่องราวของหมู่บ้านใกล้เคียงแค่ผ่านเสียงไก่ขันและหมาเห่า” (เต้าเต๋อจิง บทที่ 80) และซึ่งใกล้เคียงกับความคิดของกลุ่มอนาธิปไตยในปัจจุบันอย่างยิ่ง

3.สำนักม่อ นำโดย ม่อจื่อ เป็นสำนักที่เชื่อในความเสมอภาคของมวลมนุษย์ โดยเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีสิทธิโดยกำเนิด เช่น สิทธิในชีวิต ทรัพย์สิน เป็นต้น ทุกคนไม่ควรใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง และรัฐต่างๆ มีความเท่าเทียมกัน ทุกคนและทุกรัฐต้องอยู่ด้วยความเคารพซึ่งกันและกัน

หากมีแคว้นใดที่กำลังจะเพลี่ยงพล้ำพ่ายแพ้ ทางสำนักม่อจะรีบรุดยกพลไปช่วยรัฐนั้นรบ แต่ว่าในแง่ทฤษฎีทางการเมืองนั้น สำนักม่อจื่อถือว่าความวุ่นวายเกิดจากผู้คนมีธรรมชาติที่จะคิดไม่ตรงกันว่าสิ่งใดถูก และสิ่งใดผิด การแก้ไขคือ ให้ผู้มีคุณธรรมที่สุดจะเป็น “โอรสสวรรค์” รวบรวมผู้คนมาอยู่ใต้โองการสวรรค์ ปกครองโดยผ่านระบบขุนนาง และคอยสั่งสอนให้ผู้คนมีศีลธรรม ลด ละ เลิกธรรมเนียมและการละเล่นฟุ่มเฟือยต่างๆ และจัดตั้งระบบระเบียบต่างๆ ให้ผู้คนสามารถดำรงชีพอยู่ได้

4.ลัทธิฝ่า หรือสำนักกฎหมายนิยม ซึ่งนำโดย ซางจวิน หรือชื่อจริงว่า ซางเอียง และ หานเฟยจื่อ สำนักกฎหมายนิยมมองว่า มนุษย์ส่วนใหญ่มีธรรมชาติเลวทราม เป็นหน้าที่ของ “ผู้ปกครอง” ต้องใช้การเขียนกฎหมายขึ้นเพื่อควบคุมทุกคนไม่ว่าชนชั้นไหน ให้อยู่ในระเบียบตามที่ผู้ปกครองต้องการ หากใครละเมิดจะต้องถูกลงโทษอย่างรุนแรง

นอกจากนั้นยังบังคับให้แต่ละครอบครัวขึ้นตรงเป็นหน่วยที่ถูกตรวจสอบโดยทางราชการ ซึ่งสำนักนี้เชื่อว่า “หากลงโทษรุนแรงไปถึงครอบครัวของผู้กระทำผิด จะทำให้ไม่กล้าทดลอง (ออกนอกขอบเขตกฎหมาย) และเมื่อไม่มีใครกล้าทดลอง (ออกนอกขอบเขตกฎหมาย) การลงโทษก็ไม่จำเป็น” (จาก “หนังสือของซางจวิน” บทว่าด้วยรางวัลและทัณฑ์)

ในยุคนั้น บางแคว้นได้นำเอาหลักการของสำนักคิดเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้ ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือ แคว้นฉิน ซึ่งนำเอาระบบของสำนักกฎหมายนิยมเข้าไปใช้โดยการปฏิรูปของ ซางจวิน ผู้นำสำคัญคนหนึ่งของสำนักกฎหมายนิยม ซางจวินนำระบบการลงโทษอย่างรุนแรงสำหรับผู้ที่กระทำผิดต่างๆ เช่น ใครฆ่าคน ครอบครัวของฆาตกรต้องโดนประหาร รวมถึงผู้ที่ทราบแหล่งกบดานแต่ไม่รายงานต่อทางการอีกด้วย

หากใครเป็นกบฏ อาจต้องตายหมดทั้งวงศ์ตระกูล และปูนบำเหน็จแก่ผู้ที่ช่วยเหลือทางราชการ พร้อมกันนั้นก็บัญญัติว่า หากใครวิพากษ์วิจารณ์กฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นในทางดีหรือทางร้าย จะต้องถูกประหารชีวิต เพื่อควบคุมให้ทุกคนต้องยอมรับกฎหมายโดยปราศจากความคิดเห็นทุกประการ

ต่อมาเมื่อ จิ๋นซีฮ่องเต้ แห่งแคว้นฉิน สามารถรวมแว่นแคว้นต่างๆ เป็นปึกแผ่น หนังสือเรื่อง “บันทึกประวัติศาสตร์” (Record of the grand historian) ของ ซือหม่าเชียน บันทึกว่า หลังจากที่จิ๋นซีฮ่องเต้ทำสงครามปราบปรามแคว้นอื่น และรวบรวมประเทศจีนขึ้นเป็นหนึ่งเดียว ได้นำกฎหมายของรัฐฉินที่โหดร้ายทารุณตามแนวคิดของสำนัก “กฎหมายนิยม” มาใช้ทั่วประเทศจีน ความหนักหน่วงของกฎหมายดังกล่าว

ทำให้ผู้คนต้องทนทุกข์ทรมานอย่างยิ่ง เช่น หากกองทัพเดินทางไม่ถึงที่หมายตามกำหนด ให้ตัดศีรษะทั้งกองทัพ ใครไม่ไปเกณฑ์แรงงานมีโทษเท่าเทียมกับกบฏ แต่ว่า กฎหมายที่รุนแรงเช่นนั้นก็ยังไม่อาจปกป้องราชวงศ์ฉินได้ ผู้คนเริ่มทยอยกันก่อกบฏทันทีที่จิ๋นซีฮ่องเต้สวรรคต เนื่องจากการกดขี่และกฎหมายเช่นนั้นบีบให้จนตรอก ดังเช่นกรณีของ เฉิงเซ่อ และ อู๋กว่าง ผู้นำกบฏกลุ่มแรก ในหนังสือเรื่อง “บันทึกประวัติศาสตร์” กล่าวว่า เฉิงเซ่อและอู๋กว่างได้รับมอบหมายให้คุมทหารเกณฑ์ไปยังค่ายทหารในอีกมณฑลหนึ่ง แล้วเกิดติดฝน ไม่สามารถไปทันตามกำหนดได้ ซึ่งตามกฎหมายของราชวงศ์ฉินสมัยนั้น โทษของการเคลื่อนกองทหารไปถึงที่หมายล่าช้ากว่ากำหนดคือการตัดหัวทั้งกองทัพ ทั้ง 2 คนจึงปลุกระดมคนที่เหลือในขบวนว่า “ไปช้าโทษถึงตาย กบฏก็โทษถึงตาย ไยจึงไม่เลือกตายเพื่อประเทศชาติ หากต้องตายเช่นเดียวกัน?” และก่อกำเนิดเป็นกบฏกลุ่มแรก หลังจากนั้นการกบฏก็ลามไปทั่วทุกที่

เนื่องจากผู้คนจากแว่นแคว้นต่างๆ ที่ถูกราชวงศ์ฉินเข้ายึดครอง ไม่ยินยอมถูกกดขี่อีกต่อไป ทุกคนต่างรู้สึกว่าตนเองและญาติพี่น้องถูกรังแกจนถึงสุดเขตความอดทนแล้ว เหลือเพียงแค่จะตายอย่างไร ประกอบกับพระเจ้าฉินเอ้อซื่อฮ่องเต้ โอรสองค์ที่ 2 ของจิ๋นซีฮ่องเต้ ที่ขึ้นครองราชย์ต่อจากจิ๋นซีฮ่องเต้ ถูกขันที เจ้ากาว ควบคุมต่างหุ่นเชิด เจ้ากาวเข่นฆ่าผู้บริสุทธิ์ทั้งสามัญชนและขุนนางที่ซื่อตรง เพื่อรักษาอำนาจของตนเอง และฉ้อราษฎร์บังหลวงไปมากมาย

ในที่สุดก็ลอบปลงพระชนม์ฉินเอ้อซื่อฮ่องเต้ เพื่อเตรียมยก จื่ออิง ขึ้นเป็นฮ่องเต้พระองค์ใหม่ แต่จื่ออิงรู้ตัวว่าหากเจ้ากาวยังมีชีวิตอยู่ ตนต้องประสบชะตากรรมเดียวกับฉินเอ้อซื่อฮ่องเต้ จึงจับเจ้ากาวประหาร แม้กระนั้นก็ยังไม่สามารถต้านทานกระแสโค่นล้มราชวงศ์ฉินได้ ในที่สุดก็ต้องยอมจำนนต่อกองทัพของ หลิวปัง ซึ่งเข้ามายึดเมืองเซี่ยนหยาง ปิดฉากราชวงศ์ฉิน หลังจากสามารถปกครองประเทศจีนได้เพียงแค่ 15 ปีเท่านั้น

เมื่อผมอ่านประวัติศาสตร์ถึงจุดนี้แล้ว ก็เลยตั้งคำถามกับตนเองว่า “แล้วกฎหมายเช่นไรจึงจะทำให้บ้านเมืองสงบได้?” เมื่อผมอ่าน “บันทึกประวัติศาสตร์” ต่อ ก็ได้พบกับเรื่องราวที่น่าสนใจต่อจากสมัยของจิ๋นซีฮ่องเต้ ดังนี้

หลิวปัง ในช่วงแรกเป็นแค่ชาวนาธรรมดาคนหนึ่ง ต่อมาได้มีโอกาสเป็นนายอำเภอและคุมกองทัพเล็กๆ เพื่อเข้าร่วมกับทัพพันธมิตร ต่อต้านราชวงศ์ฉินแห่งแคว้นฉู่เดิมที่เคยถูกราชวงศ์ฉินกลืนกินไป แต่ว่าเขาโชคดีได้โอกาสยึดครองเมืองเซี่ยนหยาง ราชธานีของราชวงศ์ฉินเป็นคนแรก เนื่องจากกองทัพหลักของราชวงศ์ฉินกำลังสาละวนกับการสู้รบกับกองทัพอื่นๆ แต่ว่าเมื่อเขาเข้าสู่เมืองเซี่ยนหยางแล้ว ก็ได้ออกกฎหมายใหม่มาทดแทนกฎหมายเก่าของราชวงศ์ฉินอันโหดร้าย กฎหมายใหม่มีแค่ 3 ข้อเท่านั้น คือ

1.ใครฆ่าคนตาย ให้ประหารเฉพาะฆาตกร

2.ใครทำร้ายคนให้บาดเจ็บ ให้จำคุก

3.ใครขโมยต้องชดใช้ของ

ซึ่งกฎหมายทั้ง 3 ข้อนี้ นับว่าทารุณน้อยกว่ากฎหมายในสมัยราชวงศ์ฉินมาก เนื่องจากแต่เดิมถ้าใครฆ่าคน คนในครอบครัวรวมถึงผู้ที่ทราบเบาะแสแต่ไม่แจ้งต่อทางการ จะต้องโดนลงโทษกันหมด ส่วนโทษทำร้ายคนอื่นให้บาดเจ็บและการขโมย อาจต้องถูกลงทัณฑ์อย่างรุนแรงถึงขั้นเสียอวัยวะ หรือเสียชีวิต หากทนการลงทัณฑ์ไม่ไหว ทำให้ผู้คนสรรเสริญมากว่า หลิวปังเลือกลงโทษตามควรแก่เหตุ และไม่ลงโทษผู้ที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดอย่างหว่านแหเช่นในอดีต การออกกฎหมายเช่นนี้ เป็นการสร้างความนิยมของหลิวปังในขั้นแรก

ซึ่งแม้ว่าหลิวปังจะไม่สามารถตั้งตัวขึ้นเป็นฮ่องเต้ได้ทันที เนื่องจากมีกลุ่มกบฏอื่นๆ ที่กล้าแข็งกว่ามาก เช่น กองทัพของ เซี่ยงหยี่ แต่ว่าหลิวปังก็สามารถบ่มเพาะความนิยมและความสนับสนุนได้ โดยมีกฎหมาย 3 ข้อดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้น จนสามารถรบชนะเซี่ยงหยี่ซึ่งเป็นศัตรู และขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ฮั่น ที่เป็นจุดเริ่มต้นของประเทศจีนอย่างแท้จริง หลังจากนั้น ราชวงศ์ฮั่นปกครองประเทศจีนได้ยาวนานรวมทั้งสิ้น 410 ปี

จากตัวอย่างในประวัติศาสตร์จีนที่ผมได้อ่านมา จะเห็นได้ชัดว่า ราชวงศ์ที่ใช้กฎหมายอย่างทารุณ กดขี่ประชาชนให้ตกเป็นทาสเฉกเช่นราชวงศ์ฉิน มีอายุแค่ 15 ปี ในขณะที่ราชวงศ์ฮั่นกลับอยู่ได้ถึง 410 ปี ย่อมเป็นข้อเตือนสติให้กับทุกคนว่า การปกครองและกฎหมายที่ปราศจากความยุติธรรม และลงโทษเกินกว่าเหตุนั้น ย่อมไม่อาจดำรงอยู่ได้นาน เพราะประชาชนจะลุกขึ้นมาต่อต้านในที่สุด

สลักธรรม โตจิราการ