โฉมหน้า ครม.เวอร์ชั่นปรับปรุงใหม่ของรัฐบาลชิมไปบ่อนไปจะดีขึ้น? หรือแย่ลง? หรือแปะเอี้ยเหมือนเดิม?? ประเด็นนี้ขอเก็บไว้ก่อนชั่วคราว เพราะยังมีควันหลงกรณี “สุวิทย์ คุณกิตติ” หัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดิน ที่ประกาศ ถอนตัวออกจากการร่วมรัฐบาล ที่ควรต้องหยิบมาวิจัยแก้เซ็ง ประเด็นแรก ก็คือการที่ “สุวิทย์” ใช้อำนาจหัวหน้าพรรคประกาศนำพรรคเพื่อแผ่นดินถอนตัวออกจากพรรคร่วมรัฐบาล แต่กลับโดน ส.ส.ในพรรคแข็งข้อไม่ยอมถอนตัวตาม คำถามคาใจก็คือ...ในฐานะหัวหน้าพรรคซึ่งได้รับมอบอำนาจจาก กก.บริหารพรรค ให้สามารถตัดสินใจแทนพรรค เสมือนเป็นมติพรรคได้เลย ฉะนั้น เมื่อหัวหน้าพรรคตัดสินใจประกาศ ถอนตัว ส.ส.สังกัดพรรคเพื่อแผ่นดินทั้ง 23 คน ก็ต้องปฏิบัติตาม แต่การที่ ส.ส.ลูกพรรคไม่ยอมถอนตัว ก็เท่ากับลูกพรรคมีเจตนาฝ่าฝืนมติพรรค ขัดคำสั่งหัวหน้าพรรคชัดเจน!! ประเด็นต่อไป ถึงแม้ ส.ส.ของพรรคส่วนใหญ่ยืนยันจะสนับสนุนรัฐบาล แต่ก็มี ส.ส.กลุ่มภาคใต้ และ ส.ส.สัดส่วนบางคนที่เห็นด้วยกับหัวหน้าพรรคได้ประกาศไม่สนับสนุนรัฐบาล และขอทำหน้าที่ฝ่ายค้านทันที พรรคเพื่อแผ่นดินจึงมี ส.ส.ที่สนับสนุน รัฐบาล และ ส.ส.ที่สนับสนุนฝ่ายค้านผสม อยู่ในพรรคเดียวกัน!! คำถามคือ... สถานะของพรรคเพื่อแผ่นดิน จะถือเป็นพรรคร่วมรัฐบาล? หรือเป็นพรรคฝ่ายค้าน? หรือเป็นพรรคผสม 2 ขั้วทูอินวัน?? ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์พรรคการเมือง!! ประเด็นที่สาม...การที่พรรคเพื่อแผ่นดิน มี ส.ส.สนับสนุนรัฐบาล และคัดค้านรัฐบาล อยู่ในสังกัดเดียวกัน การทำงานของ ส.ส.ในสภาฯก็เกิดปัญหาคาราคาซัง ส.ส.ที่ไม่ต้องการสนับสนุนรัฐบาล จะขอย้ายไปสังกัดพรรคฝ่ายค้านก็ไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 160 กำหนดว่า ถ้า ส.ส.คนใดลาออกจากพรรคการเมืองที่สังกัดจะต้องพ้นจากความเป็น ส.ส.ทันที!! หรือ ส.ส.กลุ่มที่สนับสนุนรัฐบาลอยากจะยุบพรรคเพื่อแผ่นดินไปรวมกับพรรคการเมือง อื่นก็ไม่ได้!! เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 104 กำหนดไว้ว่า ในระหว่างอายุของสภาฯ ห้ามไม่ให้พรรค การเมืองควบรวมกัน ก็เท่ากับ ส.ส.พรรคเพื่อแผ่นดิน 2 กลุ่ม ซึ่งมีจุดยืนตรงข้ามกันจำเป็นต้องทู่ซี้อยู่ร่วมกันต่อไปจนกว่าจะครบเทอม 4 ปี หรือจนกว่าจะมีการยุบสภาฯ “แม่ลูกจันทร์” สรุปว่าปรากฏการณ์ที่เกิดกับพรรคเพื่อแผ่นดินได้สะท้อนให้เห็นว่าระบบพรรคการเมือง ซึ่งเป็นเสาหลักรองรับระบอบประชาธิปไตย ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง!! พรรคการเมืองไม่จำเป็นต้องมีเอกภาพ หรือมีจุดยืนเดียวกัน ถึงเป็นพรรคฝ่ายรัฐบาล แต่ ส.ส.ก็มีสิทธิแหกค่ายไปสนับสนุนฝ่ายค้าน หรือเป็นพรรคฝ่ายค้าน แต่ ส.ส.ก็มีสิทธิแหกคอกไปสนับสนุนรัฐบาล เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 122 ระบุว่า ส.ส.ต้องไม่อยู่ในความผูกมัด หรืออาณัติ หรือความครอบงำใดๆ รัฐธรรมนูญมาตรา 162 เขียนย้ำชัดๆว่า ส.ส.ย่อมมีอิสระจากมติพรรค ส.ส.จึงไม่ต้องปฏิบัติตามมติพรรคอย่างเดิม ถ้าเป็นอย่างนี้ก็ไม่จำเป็นที่ ส.ส.จะต้องสังกัดพรรคการเมือง ประเด็นสุดท้าย... นายทุนพรรคหรือคนที่จ่ายเงินสนับสนุนพรรคย่อมมีสิทธิได้ โควตารัฐมนตรี โดยไม่ต้องมีอาวุโสทางการเมือง แถมไม่ต้องลงเลือกตั้งให้ลำบากลำบน สรุปว่าใครมีเงินเหลือใช้ก็เอาเงินไปอัดฉีด พรรคก็จะได้เป็นรัฐมนตรี เออ...มันก็สะดวกดีเหมือนกันนะโยม. แม่ลูกจันทร์