คอลัมน์: ฮอตสกู๊ป
คุยกับหมอบ้านนอก: นพ.กิติภูมิ จุฑาสมิต
ชื่อของเขาอาจดูคุ้นตา สำหรับคนที่สนใจบทความการเมืองในประชาไท จากคอลัมน์ปีกซ้ายพฤษภา สำหรับคอเพลงสากลยุคซิกซ์ตี้อาจรู้จักเขาในฐานะของแฟนพันธุ์แท้ The Beatles แต่ในขณะที่สถานการณ์การเมืองภายในประเทศลุกลาม จนกลายเป็นปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เราอยากให้คุณได้รับทราบทรรศนะของเขา ในฐานะของแพทย์ที่ทำงานประจำอยู่โรงพยาบาลชายแดนไทย-กัมพูชามากว่า 10 ปี นพ.กิติภูมิ จุฑาสมิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ
ถาม : มองปัญหาที่บานปลายจากปัญหาการเมืองภายในประเทศ จนมาเป็นปัญหาเรื่องพื้นที่ทับซ้อนตามแนวเขตชายแดนอย่างไร
ตอบ : จากประสบการณ์ที่ผมทำงานอยู่ในบริเวณพื้นที่ชายแดน ผมพบว่า คนที่มีถิ่นฐานอยู่บริเวณชายแดน จะมีความคิดในเรื่องพรมแดนน้อยมาก แทบจะเรียกได้ว่าไม่มีเลย ที่ผ่านมาพวกเขามีการไปมาหาสู่กัน สัมพันธ์กันแบบญาติมิตรโดยตลอด มีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจซื้อขายแลกเปลี่ยน มีบางคนแต่งงานอยู่กินสร้างครอบครัวร่วมกัน ผมเชื่อว่านี่เป็นสภาพความเป็นจริงในทุกพื้นที่ชายแดน และของทุกประเทศด้วย เว้นไว้แต่ว่า จะมีการเคลื่อนไหวสร้างทัศนคติที่ผิดพลาดโดยคนชั้นนำจากส่วนกลาง
ถาม : เมื่อมองในบทบาทของหน่วยงานราชการในพื้นที่ชายแดน ถ้ามีความขัดแย้งระหว่างประเทศขึ้น จะสร้างปัญหาให้กับการทำงานอย่างไร
ตอบ : มีแน่นอน ในฐานะของข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขที่ทำงานในพื้นที่ ก็ไม่ได้แตกต่างกับประชาชนในพื้นที่หรอกครับ พวกเราประสานความร่วมมือกันกับหน่วยงานสาธารณสุขของกัมพูชา ในทางสาธารณสุข เช่น การป้องกันการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ หรือกรณีการควบคุมโรคไข้เลือดออก และมาลาเรีย ที่คร่าชีวิตมนุษย์ไปจำนวนมาก ยุงมันไม่ได้รู้เรื่องพรมแดนหรอกครับ ไม่ได้มีลักษณะชาตินิยมว่าเป็นไทยหรือกัมพูชาด้วย การการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์เพื่อป้องกันหรือควบคุมโรคติดต่อที่ร้ายแรงนี้ จำเป็นต้องมีการประสานความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานด้านสาธารณสุขจากทั้ง 2 ประเทศ หากเกิดความขัดแย้งขึ้น การประสานความร่วมมือก็จะมีปัญหา การแพร่ระบาดของโรคติดต่อก็จะทวีความรุนแรงขึ้น
ผมมีโอกาสได้ร่วมงานและพูดคุยแลกเปลี่ยนกับข้าราชการทหารตำรวจในพื้นที่ ผมพบว่าเขาก็ไม่ได้ต้องการให้เกิดสงครามหรือภาวะขัดแย้งขึ้น ในพื้นที่ที่พวกเขารับผิดชอบอยู่หรอกครับ เพราะในสภาพปกติพวกเขาก็ทำงานหนักอยู่แล้ว ใน อ.ภูสิงห์ ก็มีกรณีการสร้างสถานกาสิโนในเขตกัมพูชา แต่มีพื้นที่ส่วนหนึ่งล้ำพรมแดนเข้ามาในไทย ซึ่งต้องมีการเจรจาเพื่อผลักดันแก้ไขปัญหา หรือในกรณียาเสพติดที่แพร่ระบาด ก็ต้องอาศัยความสัมพันธ์ประสานความร่วมมือกันกับทางกัมพูชา ภาระหน้าที่ที่พวกเขาต้องเผชิญมันหนักพอแรงแล้ว
ถ้ามีความขัดแย้งเกิดขึ้นจริง พื้นที่ชายแดนตั้งแต่อุบลฯ จนถึงตราด ก็คงจะมีปัญหาไปหมด
ผมคิดว่าพรมแดนเป็นสิ่งสมมติ เป็นจินตภาพของคนที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในที่ตรงนั้น คนที่ไม่ได้อยู่ชายแดน ไม่เคยแม้แต่จะลงมาสัมผัส กลับกลายเป็นคนที่มีอำนาจในการกำหนด ซึ่งพวกเขาอาจมองจากภาพถ่ายดาวเทียม แผนที่ สนธิสัญญา สันปันน้ำ หรืออะไรก็ตามแต่ เมื่อมีปัญหาความขัดแย้งจนเกิดความรุนแรงหรือเกิดสงคราม คนที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดก็คือคนในพื้นที่ ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นคนยากจนหรือข้าราชการชั้นผู้น้อย
ถาม : พอจะมีรูปธรรมปัญหาไหม
ตอบ : รูปธรรมก็มีอยู่แล้วไงครับ ผลจากการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ เรื่องเขาพระวิหารที่ อ.กันทรลักษ์ ทหารพรานขาขาดไปแล้วหนึ่งคน จะมีอะไรมาชดเชยขาข้างนั้นได้ครับ จะใช้เงินจำนวนเท่าไรถึงจะทดแทนได้ครับ จะมีใครช่วยบอกผมได้ อยากให้บรรดาผู้ที่บอกว่าหวงแหนผืนแผ่นดินไทยทั้งหลายมาตอบตรงนี้หน่อย คงจะพอเห็นได้ชัดขึ้นนะครับว่า ผลกระทบจากการสร้างกระแสคลั่งชาติ พูดตรงๆ นะครับ ตอนนี้ทั้งคนไทยและคนกัมพูชาที่อาศัยอยู่บริเวณพรมแดน ไม่ได้มองว่าพรมแดนเป็นปัญหาเลย แต่คนที่อาจมองว่าพรมแดนมีปัญหาก็คือ พวกคนเมือง คนชั้นกลาง ไม่ได้เจาะจงที่คนชั้นกลางไทยเท่านั้นนะครับ ที่กัมพูชาก็คงจะเหมือนกัน กรณีเผาสถานทูตไทยที่กรุงพนมเปญ เกิดจากกระแสชาตินิยมในลักษณะเดียวกันนี่แหละ ตอนนี้มีการปั่นกระแสการคลั่งชาติในไทย โดยบรรดาผู้นำภาคประชาชนทั้งหลาย ถ้าสมมติว่าเกิดการสร้างกระแสนี้ขึ้นด้วยที่กัมพูชาล่ะ จะเกิดอะไรขึ้น
ถาม : คุณพูดอย่างนี้อาจถูกมองว่าเป็นพวกไม่รักชาติ ไม่หวงแหนอำนาจอธิปไตย อาจถูกถามว่าเป็นคนไทยหรือเปล่า???
ตอบ : ผมคิดว่า “ชาติหรืออธิปไตย” มันไม่ได้จำกัดความหมายแคบๆ แค่เรื่องดินแดนเท่านั้น แล้ว “คน” ล่ะ สำคัญมากหรือน้อยกว่าพื้นที่ซ้อนทับในสายตาของคนชั้นนำ ในสายตาของคนที่ไม่เคยลงมาสัมผัสหรือพักอาศัยอยู่ในพื้นที่ คำว่าศักดิ์ศรีของประเทศกับชีวิตคน อย่างไหนสำคัญกว่ากัน
คำถาม : ถ้าเกิดภาวะสงคราม นึกสภาพออกไหมว่ามันจะเป็นอย่างไร
ตอบ : ยังนึกไม่ออกครับ แต่ในปี 2543 มีการปะทะกันในพื้นที่ประเทศกัมพูชา ติดกับ อ.ภูสิงห์ ที่ผมทำงานอยู่ เป็นการต่อสู้กันระหว่างกลุ่มพอล พต กับกลุ่มเฮง สัมริน ผลคือเราต้องพบกับผู้ลี้ภัยสงครามจำนวน 3,000 คน เราพบกับปัญหาเรื่องการดูแลคนเจ็บจำนวนมาก มันเป็นฝันร้ายของหลายๆ คน
ผมเจอทหารเขมรแดงคนหนึ่ง เขาถูกกับระเบิด ขาของเขาขาดทั้ง 2 ข้าง เราไม่มีความพร้อมพอที่จะรักษาชีวิตของเขาได้ จึงต้องส่งเขาไปที่โรงพยาบาลจังหวัด และเขาก็ไปเสียชีวิตที่นั่น สิ่งที่ผมไม่ลืมเลยก็คือ ในระหว่างที่ผมดูแลเขา ผมพบว่าเขากำลังสวดมนต์ ที่ผมรู้ก็เพราะเขาสวดด้วยภาษาบาลี เขาสวดด้วยภาษาเดียวกับที่คนไทยพุทธทุกคนสวด
(โปรดติดตาม วิพากษ์นักสันติวิธี นักวิชาการ จากความรุนแรงกรณีเขาพระวิหาร)
สัมภาษณ์โดย ศรายุทธ ตั้งประเสริฐ