คอลัมน์ : Cover Story (1)
นิติฯ มธ. ย้ำชัดแผนที่ฝรั่งเศสทำ “ประเทศไทย” เสียดินแดน
รศ.ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช ภาควิชากฎหมายระหว่างประเทศ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตีแผ่ข้อเท็จจริงกรณีปราสาทเขาพระวิหาร วอนคนไทยมีสติ อย่าบ้าตามกระแส “คลั่งชาติ” ทำให้เป็นประเด็นทางการเมือง ใช้ถ้อยคำปลุกเร้าปลุกระดม จนข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเบลอไป ย้ำไทยต้องทำตามคำตัดสินของศาลโลก ไม่อย่างนั้นต้องถอนตัวจากสหประชาชาติ ยิ่งทำให้ประเทศเสียหายหนักกว่า ยัน 4.6 ตารางกิโลเมตร ไม่ใช่พื้นที่ทับซ้อน เพราะอำนาจอธิปไตยทับซ้อนไม่ได้ ชี้เป็นพื้นที่ต่างฝ่ายต่างอ้างสิทธิ์ ระบุ ม.190 เป็นปัญหาในทางปฏิบัติ เป็นช่องโจมตีของคู่แข่งทางการเมือง
*** ประเด็นเขาพระวิหารเป็นประเด็นทางด้านกฎหมายที่ทั่วโลกให้ความสนใจ หรือเป็นเรืองที่เกี่ยวกับกฎหมายระหว่างประเทศอย่างไร
ประเด็นข้อพิพาททุกวันนี้เป็นเรื่องของพระวิหาร ฉะนั้นในชื่อของคดีจะเป็น “ปราสาทพระวิหาร” แต่เผอิญว่าตัวปราสาทไปตั้งอยู่บนเขาที่มีชื่อเดียวกัน ซึ่งคนไทยจะเรียกว่าเขาพระวิหาร แต่ว่ากัมพูชาจะเรียกว่า ปราสาทพระวิหาร ถามว่าศาลโลกคืออะไร ศาลโลกมีอำนาจในการสั่งพิพาทระหว่างรัฐกับรัฐ คนที่จะมาใช้สิทธิเป็นโจทก์หรือจำเลยที่จะมาฟ้องศาลโลก จะต้องเป็นรัฐอธิปไตยเท่านั้น
คดีปราสาทพระวิหาร จริงๆ เป็นข้อพิพาทเหนือปราสาทเขาพระวิหาร แต่ตั้งประเด็นง่ายๆ ว่า ปราสาทเขาพระวิหารเป็นของไทย ต่อมาตอนหลังทางกัมพูชาเพิ่มให้ศาลโลกวินิจฉัยความถูกต้องของแผนที่ด้วย ซึ่งเป็นแผนที่ฝ่ายเดียวที่ฝรั่งเศสทำ ซึ่งทางศาลโลกก็ไม่ได้วินิจฉัย เพราะว่าส่งมาช้าเกินไป ถ้าศาลโลกมาวินิจฉัยประเด็นนี้เข้าไปด้วยจะยิ่งยุ่งเข้าไปกันใหญ่ เพราะฉะนั้นผมถึงบอกว่าทำไมตั้งชื่อว่าไตรภาค ปราสาทพระวิหาร ผมมองเป็นหนังสตาร์วอร์ มี 3 ภาค 1.คือคำพิพากษาของศาลโลกเมื่อปี 2505 เป็นภาคแรก 2.คือขึ้นทะเบียนมรดกโลก 3.ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต คือพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร ที่ต่างฝ่ายต่างอ้าง
ทั้ง 3 ภาคมีความสัมพันธ์กัน พื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตารางกิโลเมตร เกิดจากที่ไทยถือสันปันน้ำ ส่วนของเขาถือตัวแผนที่ จะไปสัมพันธ์ในภาคที่ 1 ส่วนภาคที่ 2 ไทยจะแย้งกันตั้งแต่คำพิพากษา ไปรับทำไมกับแถลงการณ์ฝ่ายเดียวของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แล้วโยงไปถึงแถลงการณ์ร่วม joint communique รวมไปถึงคำสั่งศาลปกครองที่คุ้มครองชั่วคราว เพราะในนั้นเขียนอ้างแถลงการณ์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เอกสารทุกอย่างของทั้ง 3 ภาคจะมีความสัมพันธ์กันหมด นี่คือความซับซ้อนของคดีนี้
ประเด็นแรก ที่เราต้องรู้คือ อยากให้ประชาชนคนไทยกลับไปอ่านคำพิพากษาของศาลโลกให้ดีๆ โดยเฉพาะประเด็นแรกที่บอกว่า ศาลพิพากษาให้ปราสาทพระวิหารตกอยู่ภายใต้อาณาเขตหรือดินแดนภายใต้อำนาจอธิปไตยของกัมพูชา
ถามว่าประเด็นนี้ชัดหรือยัง บางคนบอกว่าชัดแล้ว บางคนบอกไม่ชัด นักการเมืองบางท่านบอกว่าปราสาทเขาพระวิหารเป็นของกัมพูชา แต่พื้นที่เป็นของไทย เอาจริงๆ ตามความเห็นผมมองจากคำพิพากษาของศาลโลก ที่ยังไม่ได้ตัดสินแนวเส้นพรมแดนระหว่างไทยกับกัมพูชาเลย ศาลโลกตัดสินแต่เพียงเรื่องตัวปราสาทเท่านั้นที่ตกอยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยและดินแดนของกัมพูชา คือตัวอำนาจและดินแดนต้องไปด้วยกันในทางกฎหมายระหว่างประเทศ
ฉะนั้น ในปี 2505 เราเสียตัวปราสาท แต่ปัญหามันมีอยู่ว่า พื้นที่รองรับจะต้องเป็นของใคร ประเด็นนี้หลายคนถกเถียงกันว่า ตัวปราสาทเป็นของใคร แต่ไปตั้งอยู่ในดินแดนของไทย ตีความไปต่างๆ นานา แต่ที่ชัดๆ คือ ปราสาทเขาพระวิหารเป็นของกัมพูชา และรวมไปถึงพื้นที่รองรับใต้ตัวปราสาท
ประเด็นต่อมาที่เราต้องทำความเข้าใจในการพิพากษาคือ คำตัดสินของศาลโลก 9 : 3 คณะกรรมการ 9 ท่านบอกให้ปราสาทเขาพระวิหารอยู่ฝั่งเขมร หลายคนเข้าใจว่า 3 ท่านชี้ให้เป็นของไทย แต่เข้าใจผิด เพราะว่ามีเพียง 2 ท่านเท่านั้น ส่วนอีกหนึ่งท่านเป็นผู้พิพากษาชาวจีน บอกว่าประเด็นเรื่องดินแดนและอธิปไตยเป็นเรื่องซีเรียส แกตัดสินใจไม่ได้หรอกว่าจะเป็นคุณหรือโทษ จนกว่าข้อเท็จจริงจะยุติ ในเมื่อตัวแผนที่แย้งกันอยู่กับตัวสนธิสัญญา ท่านเป็นคนรอบคอบ บอกว่าแบบนี้ศาลตัดสินไม่ได้ ท่านจึงบอกว่าให้ศาลโลกไปแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญ ไปนำเสนอข้อเท็จจริงตรงนี้ให้กระจ่างและยุติเสียก่อน และนำเสนอข้อเท็จจริงให้ศาลทราบ ท่านจึงจะตัดสิน แต่ในเมื่อเสียงส่วนใหญ่เป็นแบบนี้ ท่านก็ไม่เห็นด้วย คะแนนจึงออกมาเป็น 9 : 3
*** คำพิพากษาเป็นอย่างไร ผูกพันไหม เราไม่ต้องปฏิบัติตามได้หรือไม่ จัดตั้งข้อสงวนได้ไหม
ในตัวธรรมนูญศาลโลก คือเป็นตัวกำหนดการทำงานของศาลโลก ในธรรมนูญในมาตรา 59 บอกว่า คำพิพากษาผูกพันคู่ความ มาตรา 60 บอกว่า คำพิพากษาเสร็จเด็ดขาด อุทธรณ์ไม่ได้ เหมือนกับคดีที่ดินรัชดาฯ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาจบศาลเดียว พูดง่ายๆ ว่าศาลของผู้ที่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองกับศาลโลกเหมือนกัน คือจบศาลเดียว ไม่มีการอุทธรณ์ฎีกา
เพราะฉะนั้นประเด็นคือว่า มันมีผลผูกพันแน่นอน ส่วนขั้นตอนที่ว่าประเทศที่แพ้คดีจะปฏิบัติตามหรือไม่นั้น ไม่ใช่เรื่องธุระของศาล เขาเลยไปใส่อยู่ในกฎบัตรยูเอ็นชาร์เตอร์ มันแยกออกจากกัน คือ ธุระของศาลแค่ตัดสินคดีเท่านั้นจบ ส่วนที่บอกว่าจำเลยจะปฏิบัติตามหรือไม่ จะต้องมีการบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาให้ไปอยู่ในกฎบัตรสหประชาชาติ ซึ่งมาตรา 94 ได้แบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ ข้อแรกสมาชิกจะต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาล ถ้าผมจำไม่ผิดผู้นำของไทยก็ออกแถลงการณ์ว่าไทยจำต้องยอมรับและปฏิบัติตาม คือ มาตรา 94 ของกฎบัตรสหประชาชาติ ถ้าเราไม่ปฏิบัติตามเราก็ต้องถอนตัวออกจากสหประชาชาติ นั่นจะกลายเป็นเรื่องราวใหญ่โต
อันที่สองบอกว่า เป็นมาตรการ Enforcement คือบังคับในกรณีที่ตัวเองไม่ยอมปฏิบัติตาม คือ ถ้ายอมปฏิบัติตามก็จบ แต่ถ้าไม่ปฏิบัติตามในรัฐที่ชนะคดีอย่างกรณีนี้ก็ร้องไปที่คณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติ ให้ออกมาตรการ Sanction ขึ้น ซึ่งจะกลายเป็นเรื่องใหญ่โตมโหฬาร
ประเด็นต่อมาคือว่า แถลงการณ์ฝ่ายเดียวของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ที่บอกว่า จะขอสงวนสิทธิ์ ถ้ามองว่าประเด็นนี้จะส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไหม ผมมองว่ามันไม่น่ามีผลอะไร เพราะสังคมไทยไม่ได้มีการตั้งคำถามโดยตรงว่า แถลงการณ์ฝ่ายเดียวของ คุณถนัด คอมันตร์ มันมีผลระหว่างประเทศไหม หรือมันเป็นเพียงการกระทำแค่ฝ่ายเดียวที่ผูกพันกัมพูชา ผูกพันศาลโลก อาจจะผูกพันแค่เพียงฝ่ายเดียว แล้วถ้าถามต่อไปว่า มันจะมีผลไปลบล้างคำพิพากษาไหม ผมมองว่าไม่มี เพราะว่าในนั้นเขียนไว้ว่า คำพิพากษาถึงที่สุดมันเสร็จเด็ดขาด มันจบอยู่ตรงนั้น ศาลตัดสินไว้ว่าอย่างไรให้ปฏิบัติตามนั้นแล้วกัน ศาลย้ำหลายครั้ง
ส่วนภาค 3 ผมมองว่ามันเป็นเรื่องของพื้นที่ ต่างฝ่ายต่างอ้างสิทธิ์ หลายคนใช้ว่าพื้นที่ทับซ้อน ผมไม่อยากใช้ เพราะว่าอำนาจอธิปไตยมันซ้อนใครไม่ได้ ในทางกฎหมายซ้อนกันยากมาก ผมเลยไปเลี่ยงคำอื่นว่า พื้นที่ที่ต่างฝ่ายต่างอ้างสิทธิ์ ตอนนี้ต่างฝ่ายต่างอ้างว่าเป็นของฉัน ตอนนี้เข้าใจว่ามีกลไกแก้ไข โดยมีการตั้งคณะกรรมการร่วมที่จะเข้ามาเจรจา ผมมองว่าคงต้องใช้เวลานาน และเข้าใจว่าบริเวณปราสาทเขาพระวิหารคงต้องใช้ระยะเวลาอีกนานกว่าจะปักปันเขตแดน
ส่วนประเด็นของการขอขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหาร มีส่วนเกี่ยวข้องกับกฎหมายระหว่างประเทศหรือไม่ ผมขอเรียนว่ามีส่วนเกี่ยวข้อง ในอนุสัญญา 1972 อนุสัญญามรดกโลก เขาบอกไว้เลยว่า ยังเคารพอำนาจอธิปไตยของรัฐอยู่ และไม่ใช่เป็นเรื่องเกี่ยวกับเขตแดนหรือแนวพรมแดน ทางยูเนสโกจะไม่เข้าไปยุ่ง เพราะว่าเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน เขาก็พิจารณาแค่ในเรื่องของวัฒนธรรมและในเรื่องของมรดกโลกเท่านั้นเอง
ผมเข้าใจว่าตอนนี้คดีปราสาทพระวิหารมันแย้งกันอยู่ เนื่องจากว่าในอนุสัญญามรดกโลกเขาให้หลักว่า มรดกโลกในส่วนที่เป็นวัฒนธรรมหรือธรรมชาติตั้งอยู่อาณาเขตไหน หลักมันมีอยู่แค่นี้ นอกนั้นก็มีสิทธิ์เสนอ ซึ่งถ้อยคำไปตรงกับคำพิพากษาของศาลโลกที่ผมเรียนไปก่อนหน้านี้ เหมือนกับพนมรุ้งของเราตั้งอยู่ที่ประเทศไทย เราเสนอไป กัมพูชาคงจะเห็นว่าถ้อยคำมันเหมือนกัน มันเป็นสิทธิ์ของเขา เขาเลยใช้สิทธิ์ตรงนี้ยื่นไป
ซึ่งเขาทำมาเป็นสิบปีแล้วตั้งแต่ปี 1993 หรือ 1994 ถ้าเราไม่ลงนามแถลงการณ์ร่วม เขาขอขึ้นทะเบียนได้อยู่แล้ว เพราะอนุสัญญามันเปิดช่องให้เขา
เราต้องมาทำความเข้าใจกันถึงยูเนสโกว่า เป็นทบวงการชำนาญพิเศษขององค์การสหประชาชาติ พูดง่ายๆ คือว่า มีสถานะเป็นองค์การระหว่างประเทศ และไม่ใช่เป็นองค์การระหว่างประเทศแบบเหนือรัฐ สั่งไม่ได้ ซึ่งอาจจะมีหลายประเทศที่ถอนตัวจากองค์การระหว่างประเทศ
ผมอยากจะวิงวอนพี่น้องประชาชนชาวไทยให้มีสติ และมีข้อมูลที่รอบด้านพอสมควร ไม่เช่นนั้นมันจะเกิดความวิตกกังวลต่างๆ นานา ตอนนี้เอกสารมันไม่นิ่ง รัฐบาลไม่ยอมทำให้มันเป็นชุดเดียว ต่างคนต่างอ้าง ตอนนี้มันสับสนปนเปไปหมด กลับมาประเด็นที่ว่า การจะถอนตัวออกจากองค์การระหว่างประเทศสามารถทำได้ ส่วนที่เสียเงิน เป็นการเสียเงินบำรุงสมาชิกซึ่งมีทุกองค์การ ประเด็นมันมีความซับซ้อนในแง่ที่ว่า ทรัพยากรหรือวัฒนธรรมมรดกตั้งอยู่ที่ประเทศไหน ประเทศนั้นมีสิทธิ์เสนอ ปรากฏว่ามันมีเกณฑ์อยู่อันหนึ่งที่คณะกรรมการมรดกโลกตั้งเอาเอง คือเกณฑ์เรื่องความสมบูรณ์ เป็นเกณฑ์ภายในที่คณะกรรมการมรดกโลกใช้พิจารณา
ซึ่งประเด็นนี้ทางเราพยายามเสนอเงื่อนไขที่ว่า คุณต้องคำนึงถึงส่วนประกอบอื่นๆ ที่ตั้งอยู่ฝ่ายไทยด้วย ไม่เช่นนั้นมันจะขัดกับเกณฑ์ที่คุณตั้งขึ้นมา ประเด็นมีความสลับซับซ้อน เป็นไปได้ที่เรื่องดังกล่าวจะลามไปถึงพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร แต่คงจะเป็นเรื่องของอนาคต คงจะอีกนานเพราะว่าเป็นประเด็นใหญ่ เพียงแต่ว่าตอนนี้มันยังมีความขัดแย้งกันอยู่ ระหว่างตัวแผนที่ 11 ฉบับ ซึ่งทางเขมรยึดถือมาตั้งแต่สมัยฝรั่งเศส ของไทยถือสนธิสัญญาปี 2407 ที่ใช้สันปันน้ำ ตรงนี้ผมคิดว่ายังคงต้องใช้กลไกของเจบีที คณะกรรมการร่วม ให้เจรจากันไปว่าจะทำอย่างไร ตอนนี้ในส่วนที่ผมเป็นกังวลคือพื้นที่อนุรักษ์ว่าพื้นที่ตรงนี้จะกินเข้ามาฝั่งไทยไหม และอำนาจการจัดการจะเป็นอย่างไร
ส่วนในเรื่องที่ผมอยากจะฝากให้ทุกคนมีสติ คือ เรื่องรักชาติ ผมเองเกิดไม่ทันในช่วงที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้น แต่รู้สึกเสียดาย และเสียใจ แต่ตอนนี้เราต้องกลับไปดูคำพิพากษาศาลโลก ต้องไปดูตัวธรรมนูญศาลโลก ต้องไปดูเอกสาร แต่ว่ามันอาจจะเป็นคำเรียกร้องที่ยากสำหรับประชาชน เพราะว่ากฎหมายเป็นกฎหมาย
ถ้าประเทศไทยบอกว่าเราจะไม่ปฏิบัติตาม ผมสงสัยว่าแล้วจะมีกลไกอะไรที่จะเอาตัวปราสาทเขาพระวิหารกลับคืนมา เพราะตัวแถลงการณ์ฝ่ายเดียวของ คุณถนัด คอมันตร์ บอกว่า จะเอาปราสาทเขาพระวิหารกลับคืนมาในอนาคต ซึ่งผมยังมองไม่ออกเลยว่ามันจะมีกลไกอะไร หรือว่าจะต้องถอนตัวออกจากสหประชาชาติแล้วเอากำลังทหารเข้าไป ซึ่งขนาดเราขอขึ้นทะเบียนปราสาทร่วม เขมรยังไม่ยอม เพราะฉะนั้นการจะไปเอาเขาพระวิหารคืนมา เขมรจะยอมหรือ ขนาดเราขอเป็นเจ้าภาพร่วม เขายังรังเกียจ เพราะฉะนั้นจะเอาปราสาทเขาพระวิหารคืนมาคงไม่ได้
การที่คนไทยทำใจรับไม่ได้กับเรื่องนี้ ผมมองว่าเราเองเป็นมาตั้งแต่ปี 2505 แล้วว่ากันตามกฎหมาย เราถือว่าคำพิพากษานั้นเป็นที่สิ้นสุด แต่ไม่ได้หมายความว่าคำพิพากษานั้นถูกต้องหรือไม่
โดยส่วนตัวผมมีความเห็นตรงกับตุลาการเสียงข้างน้อย โดยเฉพาะ เซอร์ เพอร์ซี เสปนเดอร์ (Sir Percy Spender) ชาวออสเตรเลีย ที่ชี้ให้เป็นของไทย ผมว่าท่านนี้การให้เหตุผลเขามีความละเอียดอ่อน และค่อนข้างที่จะเห็นใจฝ่ายไทย เพราะว่าช่วงนั้นทางฝรั่งเศสกำลังแผ่อิทธิพล และประเทศไทยก็ยังไม่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านแผนที่ จะไปโต้แย้งอย่างพระราชธิดาของเสด็จในกรม กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ก็เกรงว่าถ้าเราไปแย้งเขาอาจจะเป็นข้ออ้างในการลุกขึ้นมาเอาดินแดนอีก
ผมมองว่าฝ่ายไทยค่อนข้างโชคร้าย เพราะก่อนคดีปราสาทพระวิหาร เคยมีข้อพิพาทมาก่อนหน้านี้เรื่องแผนที่ไม่ตรงกับสนธิสัญญา ปรากฏว่าศาลโลกให้น้ำหนักกับสนธิสัญญามากกว่าให้น้ำหนักแผนที่ แต่มากรณีเขาพระวิหารศาลกลับฟังแผนที่ ผมก็ไม่เข้าใจว่าทำไมศาลถึงเปลี่ยนแนวทาง
ถ้าสมมติว่ากัมพูชาขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก
ได้ด้วยแถลงการณ์ร่วมของ นายนพดล ปัทมะ อดีต รมว.ต่างประเทศ ผมถามว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่บอกว่าทำผิดรัฐธรรมนูญมีผลไหม คำตอบคือไม่มี เพราะว่าอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยสนธิสัญญาในมาตรา 46 บอกว่า รัฐจะอ้างว่าตัวเองทำผิดขั้นตอนกฎหมายภายในทั้งหลาย เพื่อที่จะมาขอให้ความสมบูรณ์ในการแสดงเจตนาเสียไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นไม่มีทางที่กัมพูชาจะมาทราบว่าขั้นตอนเป็นอย่างไร ถ้ากิจการนั้นสำเร็จไปแล้วมาถอนกลับไม่ได้
ผมเข้าใจว่าประเด็นเรื่องปราสาทเขาพระวิหารกลายเป็นประเด็นทางการเมืองมาก มีการใช้ถ้อยคำปลุกเร้าปลุกระดม จนข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายมันเบลอไป คนไม่สนใจเรื่องของข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย เพราะคนไปให้ความสนใจเรื่องทางการเมืองเสียมาก
ส่วนประเด็นของมาตรา 190 ที่มีการคาดการณ์ว่าจะเสียดินแดน จากการที่ผมไปอ่านคำวินิจฉัย ผมรู้สึกว่าศาลรัฐธรรมนูญลังเลทั้งในแง่ของเหตุผล และลังเลตอนที่จะวินิจฉัย เพราะใช้คำว่า “อาจจะ” อยู่ประมาณ 3-4 ครั้ง ตอนที่วินิจฉัยแล้วบอกว่าเป็นสนธิสัญญาที่ “อาจจะ” ซึ่งในตัวบทมาตรา 190 ไม่มีคำว่า “อาจจะเปลี่ยนแปลง” มันต้อง “เปลี่ยนแปลง” เพราะฉะนั้นอาจจะเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ผมมองว่าการทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญตรงนี้เป็นการทำหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ ไปก้าวล่วงการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติ ไปเพิ่มถ้อยคำ
ส่วนประเด็นที่ 2 ถ้าไปอ่านแล้วเหมือนกับว่าศาลรัฐธรรมนูญอบรมรัฐบาล เหมือนกับการตำหนิ เหมือนกับรัฐบาลเป็นเด็กนักเรียนที่ไม่ได้ทำการบ้าน ไปดูการใช้ภาษาเหมือนกับการอบรมฝ่ายบริหาร ทั้งๆ ที่อำนาจของศาลคือการวินิจฉัยข้อกฎหมาย เช่น กล่าวว่า ถ้าไปขึ้นมรดกโลกจะทำให้คนของทั้งสองประเทศเกิดความขัดแย้ง ทำไมศาลรัฐธรรมนูญไปคิดแทนกัมพูชา
ศาลเองยังยอมรับในเนื้อหาสาระเลยว่า ไม่แน่ใจว่าจะมีบทเปลี่ยนแปลงในอาณาเขตไทยหรือเปล่า เพราะฉะนั้นในตอนท้ายของคำวินิจฉัยศาลจะใช้คำว่า “อาจจะ” ผมมองว่าเหมือนเป็นการไปเพิ่มถ้อยคำในตัวบทกฎหมาย และเหตุผลหนึ่งที่ศาลบอกว่ามีผลกระทบต่อความมั่นคง ซึ่งคำนี้มันมีความหมายกว้าง ดูยังไงครับว่ามีผลกระทบ
ผมมองว่าตอนนี้ศาลน่าจะถูกตรวจสอบบ้าง อย่างแรกเลยคือคำวินิจฉัยของศาล มันชอบด้วยกฎหมายหรือมีเหตุผลไหม อันนี้เป็นประเด็นหนึ่งที่สาธารณชนทำการตรวจสอบได้ อันที่สองที่ว่ามีการถอดถอนได้ไหม ในรัฐธรรมนูญของเรามีในกรณีที่กระทำผิดตำแหน่งหน้าที่ จงใจละเมิด อยู่ในข่ายถอดถอน มีกลไกทางสภาในการถอดถอน
ถ้ามาใช้ตุลาการภิวัตน์มากๆ ผมว่ามันจะเป็นอันตรายต่อศาลเอง ความน่าเชื่อถือหรือความศักดิ์สิทธิ์มันจะค่อยๆ ลดน้อยลง
*** ประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในวันนี้ หลังจากที่ คุณนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ไปทำแถลงการณ์ร่วม จนถูกวิพากษ์วิจารณ์กันมากว่าเราไปยกดินแดนให้กับเขมรหรือเปล่า ตรงนี้อยากให้อธิบายได้ไหม
ผมคิดว่าจุดที่ประชาชนสงสัยคือ ในตัวแถลงการณ์ร่วมนั้นมันมีคำว่า รอบๆ ปราสาท ซึ่งตรงนี้มันยังเป็นถ้อยคำที่มีความคลุมเครือว่ามันจะแค่ไหน เพียงใด อย่างไร ผมคิดว่าตรงนี้มันเป็นปัญหาทางเทคนิค ที่ทางกรมแผนที่ทหารหรือหน่วยงานที่เชี่ยวชาญที่สุดแล้วน่าจะออกมาชี้แจง ออกมาอธิบายว่า ที่บอกว่าพื้นที่รอบๆ ปราสาทนั้น มันตีความมากน้อยแค่ไหนอย่างไร มันผิดไปจากมติ ครม. หรือเปล่า แต่ทีนี้ในตัวแถลงการณ์มันบอกไม่ได้ มีเพียงว่าพื้นที่รอบๆ ตัวปราสาท ที่ต้องดูจากแผนที่ อีกอย่างตอนนี้เอกสารเรายังไม่นิ่ง แต่ละคนก็ต่างถือแผนที่ไว้มากมาย
ซึ่งทางรัฐบาลผมคิดว่าถึงเวลานี้น่าจะออกมาทำการชี้แจงอีกสักครั้งหนึ่ง เพื่อให้ประชาชนสบายใจ ให้มันได้ข้อยุติว่ามันรุกล้ำเข้ามาในดินแดนไทยหรือเปล่า เพราะอีกอย่าง เกณฑ์ของการตัดสินการเป็นมรดกโลกมันมีเกณฑ์อยู่อย่างหนึ่งที่เรียกว่า พื้นที่กันชน หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า พื้นที่อนุรักษ์ เหมือนกับการขึ้นทะเบียนใน จ.พระนครศรีอยุธยา มันจะต้องมีการอนุรักษ์พื้นที่รอบๆ ไว้ ไม่ให้ใครเข้าไปขายหมูปิ้ง เพราะเขากลัวว่าเดี๋ยวจะเข้าไปทำลาย ปัญหาคือว่า พื้นที่ตรงนี้มันจะเข้ามาในฝั่งไทยหรือเปล่า ตรงนี้ที่รัฐบาลจะต้องอธิบายและชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจ
*** เรื่องราวที่มันบานปลายขึ้นมาอย่างที่เกิดขึ้นในปัจุบัน เพราะว่ามีการปลุกระดมในม็อบ หรือแม้กระทั่งการอภิปรายในสภา ตรงนี้มองว่าอย่างไร
ผมคิดว่าตัวคำพิพากษาของศาลโลกมันมีผลไปแล้วว่า ตัวปราสาทนั้นตั้งอยู่ในดินแดนหรืออาณาเขตภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา ตั้งแต่ปี 2505 และเรามีมติ ครม. ออกมาใช้หัวเรื่องว่า ใช้ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลโลกในคดีปราสาทพระวิหาร แต่ทีนี้มันอาจจะมีปัญหาว่า ขอบเขตของคำพิพากษามันตีความมากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะตัวแนวรั้ว แต่ทีนี้รั้วมันไม่มีอยู่แล้ว มันต้องไปดูแผนที่ว่าเป็นอย่างไร
*** มีนักวิชาการบางคนออกมาบอกว่า ทำไมเราไม่เอาเอกสารหลักฐานใหม่ขึ้นไปสู้บนศาลโลก แล้วเอาคืนมาทั้งหมดเลย ทั้งพระตะบอง เขมราฐ ตรงนี้จะสามารถทำได้ไหม
มีนักวิชาการที่บอกว่าเพิ่งค้นพบหลักฐานใหม่ ที่จะไปหักล้างให้คำพิพากษานั้นเป็นโมฆะ ทีนี้ผมต้องอธิบายนิดหนึ่งว่า ในตัวธรรมนูญศาลโลกมาตรา 60 เขาบอกว่าคำพิพากษานั้นเป็นที่สุดแล้ว ไม่มีการอุทธรณ์ และขึ้นได้ศาลเดียว เหมือนกับศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ คือจบในศาลเดียว ไม่มีอุทธรณ์ฎีกา ทีนี้ปัญหาคือว่า มันมีอีก มาตรา 61 บอกว่า เปิดโอกาสให้พิจารณาคดีใหม่ภายใต้เงื่อนไข 2 ประการ คือ ค้นพบข้อเท็จจริงใหม่
ซึ่งค้นพบข้อเท็จจริงใหม่นั้นมันจะต้องมีผลต่อคดีด้วยนะ มีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงผลของคดี แล้วต้องมีการเสนอให้ศาลโลกพิจารณาภายใน 6 เดือน นับแต่วันที่ค้นพบข้อเท็จจริงใหม่ หรือภายใน 10 ปีจากวันที่พิพากษา ซึ่งระยะเวลาตรงนี้มันเลยมาแล้ว คือสิทธิในการที่จะขอพิจารณาคดีใหม่ตามมาตรา 61 พอผ่าน 10 ปีไปแล้วมันสิ้นสุดลง
*** ปัญหาตอนนี้คือเรื่องดินแดนที่มีข้อพิพาทกันอยู่ เพราะว่าศาลโลกยังไม่ได้ตัดสิน
ประเด็นนี้ผมคงจะตอบแทนรัฐบาลยาก เพราะว่าในพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร ซึ่งผมไม่อยากเรียกว่าพื้นที่ทับซ้อน เพราะว่าอำนาจอธิปไตยมันจะทับซ้อนไม่ได้ แต่ผมจะเรียกว่าพื้นที่ที่ต่างฝ่ายต่างอ้างสิทธิ์แล้วกัน อันนี้มันเกิดมาจากที่ประเทศไทยถือสนธิสัญญา ปี 2504 และปี 2507 ว่าให้ถือสันปันน้ำในการแบ่งเขตแดน ซึ่งถ้ายึดตามสันปันน้ำพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร จะเป็นของเรา แต่ทางกัมพูชาไปยึดถือแผนที่ที่ฝรั่งเศสทำ ซึ่งประเด็นนี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน
*** เรื่องการลงนามในแถลงการณ์ร่วมกรณีรัฐมนตรีคนอื่นๆ หากมีประเด็นในลักษณะนี้เกิดขึ้นอีก จะไม่มีใครกล้าไปลงนาม เพราะกลัว มาตรา 190 ตรงนี้เห็นว่าอย่างไร
มาตรา 190 นั้น ตอนที่เปิดให้ประชาชนลงประชามติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 2550 เหตุผลหนึ่งที่ผมไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้คือ มาตรา 190 ย้อนกลับไปดูได้เลยที่ผมเขียนวิจารณ์ไว้ในบทความ และผมยังทำนายด้วยว่า มาตรานี้ต่อไปจะเป็นอุปสรรคต่อการไปทำสนธิสัญญาระหว่างประเทศ และมาตรานี้ออกฤทธิ์ เพราะว่าทำไมครับ เพราะว่ามาตรานี้ไปกำหนด ไปควบคุมอำนาจในการทำสนธิสัญญา
ซึ่งเป็นฝ่ายบริหาร มาตรานี้ลองไปดูมันจะอยู่ในหมวดของคณะรัฐมนตรี แสดงว่าอำนาจในการทำหนังสือสัญญามันอยู่ในฝ่ายบริหาร ฝ่านนิติบัญญัติ หรือสภา มันเข้ามามีส่วนร่วมในบางกรณี คือ ให้ความเห็นชอบกับหนังสือสัญญาบางประเภท ตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับแรก เป็นอย่างนี้มาโดยตลอด แต่พอมาถึงรัฐธรรมนูญฉบับนี้ปั๊บคุมหนัก คุมทั้งก่อนทำ ระหว่างทำ หลังทำ และไปเพิ่มประเภทของหนังสือสัญญาว่าสภาจะต้องให้ความเห็นชอบ ซึ่งในตัววินิจฉัยบอกไว้ว่า 5 ประเภท แต่พอไปดูดีๆ แต่ละคนบอกไม่เหมือนกัน บางท่านบอก 8 บางท่านบอก 13 เพราะว่าที่เขียนไว้นั้นมันกว้างมาก และมันมีคำว่า “และ” “และหรือ” “หรือ” มันเลยไม่มีข้อยุติว่ามีหนังสืออะไรบ้างที่ต้องผ่านรัฐสภาก่อน
กรณีนี้มันมีขั้นตอนและรายละเอียดหยุมหยิมเยอะ ถ้ารัฐบาลลืม ลืมทำประชามติ ลืมชี้แจงต่อสภา ลืมเสนอกรอบการเจรจา ลืมให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูล นักการเมืองฝ่ายตรงข้ามจะอาศัยช่องตรงนี้มาบอกว่าทำผิดรัฐธรรมนูญ แล้วยื่นถอดถอน มาตรา 157 ตามมาอีก ตรงนี้ผมคิดว่าผู้ร่างอาจจะมีประสบการณ์ไม่ดีต่อนักการเมือง ในการไปทำข้อตกลงต่างๆ ก็เลยเขียนคุมไว้เข้มเลย แต่ไม่ได้เขียนให้กระชับ แต่ไปเขียนคลุมไว้ทั้งหมด มันก็เลยเกิดปัญหาอย่างที่เป็นอยู่
*** ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ อยากจะถามว่า คุณนพดลทำถูกหรือทำไม่ถูกเกี่ยวกับกรณีนี้
กรณีการทำแถลงการณ์นั้น ถ้าตามที่ท่านชี้แจงว่าแผนที่ที่เขมรทำมาตอนแรกมันพ่วงพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรเข้าไปด้วย ถ้าตอนนั้นเราไม่คัดค้านจะทำให้เกิดปัญหา เพราะว่ามันอาจจะรวมพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรไปเป็นส่วนหนึ่งด้วย แต่ทีนี้ทางรัฐบาลไทยไปต่อรองว่า เอาพื้นที่ 4.6 ออก แล้วให้ขึ้นเฉพาะตัวปราสาทเท่านั้น
ซึ่งเท่าที่ดูมันอาจจะน้อยกว่าเมื่อปี 2505 แต่ข้อเท็จจริงอันนี้เป็นเรื่องรายละเอียดนะ ตรงนี้เป็นเรื่องที่น่าเสียดายว่าจริงๆ แล้วสังคมไทยเราน่าจะฟังคำชี้แจงของรัฐบาลก่อน แต่ถึงอย่างไรในช่วงนั้นตัวรัฐบาลเองอาจถูกสังคมมองว่ามีภาพลักษณ์ที่ไม่ค่อยดี มันทำให้เกิดความรู้สึกว่ามีประเด็นทางการเมืองเข้ามา ส่วนเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยอาจจะรู้สึกกลัว เลยไม่มีใครกล้าออกมาพูด ออกมาชี้แจง ออกมาจัดเวทีสัมมนาชี้แจงให้ประชาชนรู้สึกว่าความจริงมันคืออะไร